สับมาตรการรัฐ หนุนนายจ้างล้มบนฟูก แฉ นายจ้างฉวยโอกาส “เหตุสุดวิสัย”ไม่จ่าย75%

ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด-19 ตั้งวงเสวนาออนไลน์ เรื่อง ” ประกันว่างงาน 62% มาตรการล้มบนฟูก ซุกปัญหาแรงงานใต้พรม” จวกยับ มาตรการรัฐหนุนนายจ้างฉวยโอกาส อ้างเหตุสุดวิสัย ไม่เลิกจ้าง ไม่ใช้มาตรา 75 ไล่ลูกจ้างรับเงินประกันว่างงานลูกเดียว แนะตั้งคณะทำงานตรวจสอบร่วมแก้ปัญหา

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2563 เวลา 10.30-11.30 น.เสวนาเชิงแถลงข่าวออนไลน์ เรื่อง ” ประกันว่างงาน 62% มาตรการล้มบนฟูก ซุกปัญหาแรงงานใต้พรม” จัดโดย ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด-19 โดยมีการถ่ายทอดสดผ่าน https://www.facebook.com/voicelabour.org ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อมีการประกาศกฎกระทรวงแรงงานของมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกอบการ โดยเจตนาประกันสังคม เพื่อที่จะให้มีการดูแล โดยกองทุนประกันสังคมมีอยู่  3 กองทุน กองที่หนึ่ง คือ เจ็บป่วยคลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย กองที่สอง คือ สงเคราะห์บุตร และชราภาพ  กองที่สาม ว่างงาน ซึ่งในประกาศนั้นได้เพิ่มเติมในเหตุสุดวิสัย เพื่อที่จะนำเงินประกันสังคมออกมาใช้ ในกรณีที่นายจ้างใช้ปิดกิจการ หรือที่ภาครัฐประกาศปิด ซึ่งได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นกิจการโรงแรม หรือบริษัท ห้างร้านต่างๆ ร้านอาหาร คลับบาร์ต่างๆ ที่มีการสั่งปิด หากนายจ้างสั่งปิด ซึ่งสถานประกอบการเหล่านี้จะยังไม่ได้เงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ซึ่งได้รับค่าจ้าง 75% ที่ประกันสังคมมอง และส่วนของผู้เจ็บป่วย และต้องพักที่บ้านในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้าง หลังจากประกาศมาแล้วได้ขยายวงกว้างออกไป เดิมมองเพียงกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐประกาศเท่านั้น

มีผู้ประกอบการ บางส่วนที่ฉวยโอกาสในมาตรการดังกล่าว ที่ให้หยุดกิจการไม่จ่ายเงิน ให้ลูกจ้างไปติดต่อขอเงินจากกองทุนประกันสังคมเอง ซึ่งในประกาศกฎกระทรวงได้มีการเพิ่มเติมว่า เดิมหากลูกจ้างลาออกจะได้สิทธิประโยชน์ 30% ไม่เกิน 90 วัน หากเลิกจ้างได้ 50% ไม่เกิน 180 วัน ซึ่งได้มีประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้จากเดิม 30% เป็น 62% ไม่เกิน 90 วัน และจากเดิม 50% เป็น 70 % ไม่เกิน 200 วัน ซึ่งก็เห็นด้วยในส่วนของคนที่นายจ้างหยุดงานไม่จ่ายค่าจ้าง ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงว่า ควรได้รับเงินเยียวยาตรงนี้จากประกันสังคม แต่มีสถานประกอบการหลายแห่งที่นำตรงนี้มาเป็นประโยชน์ โดยในสมาชิกตนเอง มีนายจ้างเรียกลูกจ้างเข้าไปคุยเป็นรายบุคคล ให้หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง บางที่นายจ้างออกใบรับรองว่า หยุดกิจการให้ไปรับเงินที่ประกันสังคม แต่บางที่ไม่รับรองการหยุดกิจการให้พนักงานเซ็นต์รับทราบว่า ให้หยุดกิจการเพื่อให้ไปรับเงินประกันสังคม นายจ้างรอบจัดแบบนี้มี ซึ่งลูกจ้างได้ร้องเรียนมาที่สภาฯด้วย ”นายมานิตย์ กล่าว

นายมานิตย์ กล่าวอีกว่า การที่นายจ้างใช้การหยุดกิจการชั่วคราวโดยอ้างเหตุสุดวิสัย เพื่อไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง และให้ไปรับเงินจากประกันสังคม เป็นการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง โดยการโยนให้มารับสิทธิที่ประกันสังคมซึ่งตอนนี้มีเงินในกองทุนกรณีว่างงานอยู่ราว 1.6 แสนล้านบาท หากจ่ายสิทธิประโยชน์เพียง 3 เดือน หากทุกสถานประกอบการให้ลูกจ้างมาใช้ประกันสังคมไม่ว่าจะ 62 % หรือ 70% คิดว่าเงินไม่น่าจะเพียงพอ หากสถานการณ์ถึงเดือนกันยายน 2563 จะใช้เงิน 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งเงินปัจจุบันมีแค่เพียงพอแน่ เกินเงินที่มีในกองทุนว่างงานอีกด้วย ด้วยเริ่มแรกรัฐมองเพียงว่า นำเงินมาช่วยเหลือสถานประกอบการ และลูกจ้างที่รัฐสั่งให้หยุดเท่านั้น หรือผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยจากโควิด-19 ซึ่งคงไม่มากนัก แต่หากว่าทุกสถานประกอบ มาใช้กองทุนคงอยู่ไม่ได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องมีการทบทวนว่า กลุ่มไหนที่กระทบจริง เพื่อการแก้ไขปัญหาถูกกลุ่มเป้าหมายเพื่อการดูแล ซึ่งไม่เห็นด้วยกับสถานประกอบการที่ฉวยโอกาสสถานการณ์โควิด-19 ไม่จ่ายเงินให้ลูกจ้างตามมาตรา 75 แล้วให้มารับเงินประกันสังคมเพียง 62% การที่นายจ้างให้หยุดอยู่บ้านโดยอ้างปัญหาโควิด-19 ลูกจ้างน่าเห็นใจมาก “นายจ้างเหมือนกับบังคับให้หยุด โดยที่สถานประกอบการยังสามารถที่จะดำเนินกิจกรรม และดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งคิดว่า หากจะทำให้ถูกต้องควรมีคณะทำงานที่เป็นกลไกตรวจสอบการได้รับผลกระทบกับปัญหาโควิด-19 นั้นมากน้อย หรืออย่างไรด้วยหลายๆสถานประกอบการฉวยโอกาส เอาเรื่องผลกระทบโควิด-19 อ้างเหตุสุดวิสัยมาเพื่อจะไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามมาตรา 75 จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้อง หันหน้ามาพูดคุย ปรึกษาหารือกัน เพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์เอง หากถึงเดือนกันยายน 2563 สถานการณ์กลุ่มยานยนต์อาจมีคนตกงานร่วม 7.5 แสนคน หากรวมทั้งหมดก็จะมีคนตกงานหลายล้านคน คนกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลอย่างไรจากภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร

ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าวิตกด้วยสถานการณ์ตรงนี้จะอยู่กับเรา 2-3 ปี ส่วนเศรษฐกิจที่มีนักเศรษฐศาสตร์กล่าวกันไว้คือ ต้องใช้เวลาพลิกฟื้นอีกราว 5 ปี ในระหว่างนี้คนไทยไม่ว่า จะในระบบหรือนอกระบบ ผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือ 40 จะดำรงชีวิตอยู่อย่างไร จึงอยากเสนอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการเยียวยาไม่ว่าจะ 5,000 บาท และทบทวนประกันสังคมด้วย เนื่องจากเงินประกันสังคมที่ส่งสมทบมาจากนายจ้าง และลูกจ้างร้อยละ 5 ส่วนภาครัฐจ่ายไม่เท่ากับสองส่วน แต่การบริหารที่ล่าช้าในหลายเรื่อง ต้องไม่ลืมว่า “คนท้องหิวลำบากจำนวนมาก จึงอยากให้ทบทวนมาตรการความช่วยเหลือ” และทบทวนกฎกระทรวงด้วยว่า ให้ดูแลในส่วนที่เดือดร้อนจริงๆ และตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบไม่ให้นายจ้าง หรือสถานประกอบการฉกฉวยโอกาส เพื่อการตรวจสอบตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายไตรภาคี เป็นการสร้างความถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสจากนายจ้าง ในการเอารัดเอาเปรียบคนงาน ซึ่งเขาควรทำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจ่ายค่าจ้าง 75% ตามมาตรา 75 ”

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด -19 นั้นส่งผลกระทบกับประชาชนทุกคนไปทั่ว และรัฐบาลเองก็มีมาตรการการช่วยเหลืออย่างบุคคลทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจะได้รับคนละ 5,000 บาท ซึ่งในส่วนของผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมที่ไม่ได้รับเงิน 5,000 บาท เพราะรัฐมองว่า รัฐเองได้จ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้ว เลยให้เป็นภาระหน้าที่ในส่วนของกองทุนประกันสังคม มาตรการการจ่ายเงินให้กับกิจการที่ได้รับผลกระทบ ผลจาการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการประกาศผ่านกฤษฎีกาแล้วว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นสถานการณ์สุดวิสัย ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ ก็จะเป็นสองส่วน คือส่วนที่หนึ่งรัฐสั่งให้ปิด ลูกจ้างสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบต้องไปรับเงินจากประกันสังคม กรณีว่างงาน หากมองในภาพรวมก็เป็นประโยชน์ “เมื่อคนงานได้รับความเดือดร้อน เขาเป็นผู้จ่ายเงินสมทบประกันสังคม ซึ่งก็ควรช่วยเหลือเขาเมื่อประสบปัญหา” กับส่วนที่สอง กิจการที่รัฐไม่ได้สั่งปิด ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องยอมรับว่า มีบางส่วนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจะจริงหรือไม่จริงก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบต่อไป ควรมีกลไกตรวจสอบตรงนี้ ซึ่งบางทีมีนายจ้างบางส่วนมีการบิดเบือนไม่เดือดร้อนจริง แต่มาอ้างเหตุสุดวิสัย ที่รัฐบาลไม่ได้สั่งปิด แต่ให้ลูกจ้างไปใช้ประกันสังคม

“การที่กฎกระทรวงที่ออกมาก็เป็นความพยายามที่จะช่วยลูกจ้างก็เป็นส่วนที่ดีอยู่แล้ว เพราะเขามีสิทธิที่จะได้รับจากประกันสังคม จะมากหรือน้อยต้องมีการพูดคุยกัน แต่ประเด็นที่ใครไปหาประโยชน์จากกฎกระทรวงนี้ โดยที่ไม่ได้มีผลกระทบอย่างแท้จริง คิดว่าต้องหาแนวทางในการจัดการปัญหาเหล่านี้ต่อไป ในประเด็นข้อเสนออยากให้กฎกระทรวงนี้มองไปถึงแรงงานทุกภาคส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคม เขาไม่ได้ 5,000 บาท ซึ่งเมื่อเขาอยู่ในระบบประกันสังคม คือใครบ้าง แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่มองเพียงจุดเดียวต้องมองว่า สมาชิกผู้ประกันตนทั้งหมดต้องได้รับการเยียวยา และในส่วนที่อ้างเหตุสุดวิสัย โดยที่รัฐบาลไม่ได้สั่งปิด และไม่ได้มีปัญหาจริง และไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการหยุดกิจการอย่างชัดเจน และยังไม่ชัดเจนว่า จะเลิกจ้างหรืออย่างไร และผลักปัญหาให้ลูกจ้างไปรับเงินประกันสังคมอย่างเดียว รัฐบาลต้องมีมาตรการหรือระบบในการที่จะแก้ไข” นายสาวิทย์กล่าว

นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า ประชากรในประเทศไทย 67 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ใช้แรงงาน 40 กว่าล้านคน มีทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และอีกส่วนหนึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ 3-4 ล้านคน สถานการณ์ตรงนี้เป็นจังหวะการเริ่มต้น หลังจากนี้จะเป็นผลกระทบระยะยาว เรื่องกฎกระทรวงที่ออกมาก็ยังมีปัญหา จากการที่เราได้รับค่าชดเชยประกันว่างงานในการเลิกจ้างร้อยละ 70% เป็นเวลา 200 วัน ส่วนคนที่หมดสัญญาจ้างได้เพียง 90 วัน รับเงิน 62% เท่านั้น ความเดือดร้อนเป็นความเดือดร้อนเท่ากัน จะช่วยกันอย่างไร เรื่องแรงงานข้ามชาติยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ ได้รับผลกระทบเมื่อกิจการปิดจะได้รับค่าชดเชยอย่างไร ด้วยกฎหมายกำหนดให้หานายจ้างให้ได้ภายใน 30 วัน เมื่อเปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ก็ต้องกลับประเทศ แต่ก็กลับไม่ได้ เนื่องจากปิดพรมแดน ยังมีประเภทที่เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้อย่างประมง สัตว์น้ำ ยังมีแรงงานนอกระบบที่อยู่ในมาตรา 40 และไม่อยู่นั้นล้วนเป็นปัญหาทั้งนั้น คิดว่า ในส่วนของการดำเนินการเป็นเพียงเริ่มต้น ยังมีปัญหาอีกมากมาย ซึ่งหลังจากที่ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ได้เสนอแล้วว่า ภายใต้สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จะใช้การบริหารแบบปกติคงไม่ได้ต้องมีกลไกพิเศษขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้เพื่อพูดคุยประเด็นต่างๆ สิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นทั้งผลกระทบ และการฟื้นฟูที่จะเกิดขึ้นใช่อยู่แค่นี้ และมีระยะยาว ซึ่งต้องมีมาตรการที่เร่งด่วน จะต้องมีการเคาะมาตรการดูแลเยียวยาผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติทุกลุ่มที่ควรได้สิทธิก็ต้องได้สิทธิ แม้แต่คนที่เข้าเมืองไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ในฐานะเราเป็นมนุษย์ หลักสิทธิมนุษยชน คุณธรรมตรงนี้เราจะช่วยเหลือกันอย่างไร เช่นเดียวกับคนไทยที่ไปตกอยู่ในต่างแดนประเทศต่างๆก็ให้ความช่วยเหลือจึงคิดว่า ในมิติของความช่วยเหลือนอกจากแรงงาน ที่ช่วยกัน กลุ่มชาติพันธ์ที่ไม่มีสัญชาติ ต้องเห็นต่อมนุษยธรรมในการช่วยเหลือ “ส่วนเงินทองที่จะช่วยเหลือก็ต้องเป็นวิธีการในการหาแนวทางกันต่อไป” ความช่วยเหลือต้องไม่เลือกปฏิบัติ ความเดือดร้อนนั้นมันเท่าเทียมกันโดยเฉพาะคนยากคนจนรายได้น้อย ควรพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนเหล่านี้เป็นหลัก

นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการ จ.ภูเก็ต เล่าว่า ในส่วนของโรงแรม หรือภาคการท่องเที่ยวด้วย ลูกจ้างในจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่มาจากภาคการท่องเที่ยว และบริการ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวก็กระทบหมด การที่มาตรการรัฐที่ออกมา สิ่งที่ต้องการคือ ความชัดเจน และขยับในเร็ว หรือขยับให้ไว ซึ่งเป็นเรื่องของปากท้องของคน ยิ่งรอนานล่าช้ายิ่งลำบากมากขึ้น ยิ่งสับสน และในส่วนของธุรกิจโรงแรมอำนาจการจ่ายก็ไม่เท่ากัน บางสถานประกอบการก็เป็นสาขาของต่างประเทศ ก็มีสายป่านมีเงินทุน ส่วนนักธุรกิจเจ้าของโรงแรมเฉพาะในท้องที่ บางที่ต้องกู้แบงค์มาเพื่อทำธุรกิจ การที่ไม่มีเงินทุนสำรองจากเหตุการณ์นี้ก็คงกระทบมากทีเดียว ซึ่งก็เห็นใจทุกฝ่ายเห็นใจทั้งรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง แต่ก็มองว่า “นาทีนี้คนที่ลำบากสุดคือลูกจ้าง” เนื่องจากไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินใช้ เรื่องปากท้อง การกินอยู่จึงสำคัญ

“สิ่งที่อยากเห็นคือเรื่องมาตรการเยียวยา เงินที่จะเยียวยาต้องเอาให้ชัดและรวดเร็วและทั่วถึง ถัดมาคือเรื่องถุงยังชีพ ปัจจุบันมีปัญหาอยู่บ้างในส่วนของภูเก็ตในส่วนของทะเบียนบ้านมีเพียง 3 แสนกว่าคนเท่านั้น แต่ในความจริงมีคนที่มาอาศัยทำงานอยู่อีกหลายแสนคน พอแจกถุงยังชีพบางเทศบาลก็ยึดติดกับประชากรของตนเองในพื้นที่ แต่มีพนักงานโรงแรมบางส่วนที่มาต่างพื้นที่ แต่มาอยู่ในเขตพื้นที่ ทางเทศบาลไม่สามารถจะแจกถุงยังชีพให้เขาได้เพราะติดเงื่อนไขของงบประมาณกับจำนวนประชากร อยากให้ผู้เกี่ยวข้องคำนึงถึงคุณธรรมที่จะต้องให้ทุกคนมีกินมีใช้ก่อนเพราะเขาก็มาทำงานเพื่อเศรษฐกิจในพื้นที่และประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติก็ควรจะดูแลเขาด้วย” นายวิจิตร กล่าว

นายวิจิตร ยังกล่าวอีกว่า การที่ประกันสังคมให้รับสิทธิว่างงาน62% หรือที่นายจ้างปิดงานจ่าย 75% ก็ต้องการให้รัฐออกมาตรการออกมาให้เร็วมากขึ้น เพราะได้น้อยอยู่แล้วยังได้ช้าอีกเท่ากับไม่ได้เลย ยิ่งทำให้เขาแย่มากลงไปอีก ซึ่งปัจจุบันนี้จังหวัดภูเก็ตปิดจังหวัดร้อยเปอร์เซนต์ ปิดทุกตำบล ทำให้ไม่สามารถที่จะเดินทางข้ามไปมาได้ เข้าใจว่า “เจ็บแล้วจบ” แต่ว่า หากปล่อยให้ยืดเยื้อออกไปคนก็จะไม่มีงานทำ หากรัฐไม่มีมาตรการมารองรับที่ชัดเจนก็จะสร้างปัญหาให้กับรัฐเองต่อไป และสร้างปัญหาให้กับลูกจ้างนายจ้างด้วย ซึ่งจะทำอย่างไรให้จังหวัดภูเก็ต กลับมาสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ภูเก็ตประกาศปิดถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งจะมีการเปิดบางพื้นที่ บางตำบล เพื่อที่จะเดินทางไปมาด้วยกันได้ เพื่อการทำงาน หรือค้าขายได้ อย่างไรต้องขยับการแก้ไขให้รวดเร็วกว่านี้ และอาจต้องมีการลัดขั้นตอนบ้างด้วยสถานการณ์ไม่ปกติจะใช้กฎหมายปกติคงไม่ได้

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์พิเศษคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เกี่ยวกับกฎกระทรวงนั้น การสะท้อนสภาพปัญหาของผู้ใช้แรงงานนั้น มีความชัดเจน แต่เพียงว่า สถานการณ์การเลิกจ้างในช่วงนี้มีความคลุมเครือ เป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างบางคนใช้สถานการณ์นี้ ในการที่จะไม่จ่าย โดยผลักภาระไปให้กับประกันสังคม ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากมีผลกระทบแล้วไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะถือว่า มีระบบประกันสังคมรองรับอยู่ แต่หากคิดดูแล้ว หากมองเพียงประเด็นโควิด-19 อย่างเดียว ก็จะเป็นประเด็นที่กระทันหัน หากมองขึ้นไปก่อนเกิดโควิด-19 นั้น จะพบว่า เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในช่วงขาลง จีดีพีติดลบ2% แต่ช่วงโควิด -19 ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 6% เพราะสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งหมายความว่า ภาคธุรกิจบางส่วนเริ่มเผชิญปัญหาแล้ว จนมาถึงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งนายจ้างเองบางส่วนก็ประสบปัญหาจริง

“สถานการณ์นี้ก็เปิดโอกาสให้นายจ้างบางคนแทนที่จะต้องจ่ายตามมาตรา 75 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือว่า จะเลิกจ้างแล้วจ่ายค่าชดเชย กลับผลักสิทธิตรงนี้ให้ไปเป็นของประกันสังคมในการรับภาระแทนนายจ้าง ตามที่กระทรวงประกาศให้สถานการณ์โควิด-19 เป็นสถานการณ์สุดวิสัย สิ่งที่เราขาดคือ จะทำอย่างไรที่เราจะเข้าไปตรวจสอบตรงนี้ และคิดว่ามีแอบแฝงมากแน่นอน และสิ่งที่เป็นห่วง คือโควิด-19 จะอยู่กับเราไปตลอดเหมือนไข้หวัดใหญ่ แต่ที่เผชิญอยู่คือ ปัญหาที่ซ้อนมาและหนักอีกด้วย เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาจริง เพราะฉะนั้นเงินว่างงานจึงต้องดูกันดีๆ ที่เป็นปัญหาไม่ใช่อยู่ที่กฎกระทรวง แต่ว่าประกันสังคมเป็นระบบที่ต้องปฏิรูปองค์กรด้วย ” รศ.ดร.วรวิทย์ กล่าว

รศ.ดร.วรวิทย์ เสนอว่า อันแรก โควิด-19 ที่วิกฤติอาจเป็นแบบไข้หวัดใหญ่ที่เราต้องอยู่กับมันในอนาคต ซึ่งช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้เป็นภาระของรัฐบาลที่จะมาสงเคราะห์คนที่ได้รับผลกระทบ โดยมาตรการเยียวยา ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนจุดอ่อนว่ารัฐไม่มีนโยบายทางสังคม ที่จะรองรับปัญหาแบบนี้มาก่อน จึงเป็นบทเรียนให้ต้องคิดว่า ประเทศไทยน่าจะมีค่าใช้จ่ายทางสังคมในกรณีนี้อย่างไร เพื่อลดภาระรัฐบาลที่ต้องมาสงเคราะห์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

อันที่สอง จากการที่ดูปัญหานี้จะยาว ด้วยโควิด-19 เกิดจากปัญหาภายนอก ภายในปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ดิ่งลงเหว หากเศรษฐกิจยังติดลบที่ 6% การส่งออกยังเป็นปัญหา สิ่งที่นำมาคือปัญหาการว่างงานขนาดใหญ่ที่จะตามมา ซึ่งประกันสังคมจะมีบทบาทอย่างไร

อันที่สาม คือผู้ใช้แรงงาน ต้องนำโอกาสนี้มาปฏิรูประบบประกันสังคม หากปล่อยให้ระบบประกันสังคมอยู่ภายใต้อำนาจของคนอื่น การที่รัฐบาลกูเงินเมื่อไรจะใช้คืน และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้กองทุนคำนึงแค่รายรับรายจ่าย และการขาดทุนของกองทุนประกันสังคม แต่จริงๆแล้วประกันสังคมมีมิติการตัดสินใจทางการเมือง และสังคม ซึ่งวันนี้ก็สะท้อนค่อนข้างชัดเจน ฉะนั้นควรมีการรื้อโครงสร้างประกันสังคมอันนี้ใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ประกันตนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

จากนั้นได้มีการแถลงข่าว โดย นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล นายสาวิทย์ แก้วหวาน และนายวิจิตร ดาสันทัด ในฐานะผู้แทนได้อ่าน แถลงการณ์ ข้อเสนอต่อมาตรการการแก้ไขปัญหาแรงงานในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 โดย ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด-19 ประกอบด้วย องค์กรแรงงาน นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดำเนินต่อเนื่องมาในปัจจุบันมีผลกระทบต่อแรงงานทุกประเภท  ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือแรงงานในระยะเฉพาะหน้า แต่มาตรการต่างๆ ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้การเยียวยาไม่บรรลุผล จึงเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ทีจะต้องระดมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิดซึ่งประกอบด้วยองค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ได้มีการศึกษาข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นและมีข้อเสนอต่อมาตรการการแก้ไขปัญหาแรงงานในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับแรงงานในระบบและนอกระบบดังต่อไปนี้

1.ข้อเสนอการบรรเทาผลกระทบต่อแรงงานที่เป็นลูกจ้างในระบบประกันสังคม

            1.1 ในปัจจุบันมีการหยุดกิจการชั่วคราว ในธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือในบางกิจการนายจ้างมีการใช้สิทธิปิดกิจการชั่วคราวโดยอ้าง “เหตุสุดวิสัย” ตามมาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งๆที่ยังมีความสามารถจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้ลูกได้ตามปกติอยู่ โดยมีการปฏิบัติใน 4 ลักษณะคือ 1) จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างปิดกิจการชั่วคราวร้อยละ 75  2) จ่ายเงินในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 75 โดยทำข้อตกลงสภาพการจ้างเป็นรายบุคคล  3) จ่ายเงินให้เฉพาะในวันที่ลูกจ้างมาทำงานเท่านั้น ตามอัตราค่าจ้างที่ตกลงกัน  และ4) งดการจ่ายสวัสดิการที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร เป็นต้น และส่งผลการดำเนินชีวิตที่ยากลำบากของลูกจ้างมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังพบกรณีการเลิกจ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานเหมาค่าแรง  สัญญาจ้างชั่วคราว  แรงงานรายวัน แต่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่นๆ ตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ และให้ลูกจ้างไปร้องเรียนผ่านกระบวนการยุติธรรม ที่มีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าจะได้รับเงินดังกล่าว

1.2 ในปัจจุบันได้มีการออกกฎกระทรวงเรื่องการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ทั้งนี้ภาคีฯ มีความห่วงใยว่าสถานประกอบการบางแห่งอาจมีการฉวยโอกาสผลักภาระให้กองทุนประกันสังคม โดยอ้างเหตุสุดวิสัยจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามประกาศฉบับนี้ เพื่อให้ลูกจ้างรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ62 จากกองทุนประกันสังคม แทนที่นายจ้างจะปิดกิจการชั่วคราว ตามมาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างปิดกิจการชั่วคราวร้อยละ 75

 ข้อเสนอคือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ต้องจัดตั้งกลไกที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน สหภาพแรงงาน ลูกจ้าง ภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาสังคม เพื่อตรวจสอบสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเคร่งครัด

1.3 สำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จะพบปัญหาที่มีความซับซ้อนกว่าแรงงานไทย ดังนี้

1.3.1  แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และจ่ายสมทบประกันสังคมมาไม่ถึง 6 เดือนใน 15 เดือน จะไม่มีโอกาสได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงาน

1.3.2 แรงงานข้ามชาติและแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานไทยพลัดถิ่น ที่ไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานในกิจการที่ยกเว้นประกันสังคมและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ได้ เพราะกำหนดให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น

1.3.3. พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ได้กำหนดระยะเวลาในการเปลี่ยน/หานายจ้างใหม่ภายหลังที่ลูกจ้างเลิกจ้าง/ไม่ต่อสัญญาจ้าง ภายใน 30 วัน จึงส่งผลต่อการเข้าถึงประโยชน์ทดแทนการว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 , การไม่สามารถหางานใหม่-นายจ้างใหม่ได้ในช่วงเวลาวิกฤติ ตลอดจนไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง ส่งผลต่อการผลักให้กลายเป็นแรงงานไม่ถูกกฎหมายและต้องหลบซ่อนในประเทศไทยต่อไป

ข้อเสนอคือ

ขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาดำเนินการจัดตั้งกลไกการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในรูปแบบของคณะทำงานความร่วมมือในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในช่วงการระบาดของโรคโควิด และจัดทำแผนรองรับการฟื้นฟูการจ้างงานหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบอย่างรอบด้าน

1.4 ข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาว

1.4.1 ควรมีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ในการทำหน้าที่ในการบริหาร จัดการจากภาครัฐ เพื่อประกันสังคมให้มีความโปร่งใส มีระบบธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ มีประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกันตน โดยให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อให้สามารถเป็นหลักประกันด้านสวัสดิการให้แก่แรงงานในภาวะวิกฤติได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

1.4.2 พิจารณาจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงทางรายได้ของผู้ประกันตน เพื่อให้สามารถจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างครบตามจำนวนในภาวะวิกฤต

2.ข้อเสนอการบรรเทาผลกระทบต่อแรงงานนอกระบบ

            2.1 มาตรการจ่ายเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน พบว่า มีปัญหาเรื่องระบบการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ทำให้แรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากยังคงไม่ได้รับการเยียวยา

ข้อเสนอคือ

             2.1.1 กรณีผู้มีสิทธิ์แต่ไม่ได้รับเงิน ซึ่งมีการยื่นร้องเรียนเข้ามา ต้องมีการพิจารณาใหม่โดยรวดเร็วและยืดหยุ่น และควรมีการปรับปรุงระบบการคัดกรองที่เป็นปัญหาโดยเร็วเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อแรงงานนอกระบบซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่แล้ว

2.1.2 พิจารณาหลักเกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาใหม่สำหรับการจ่ายเงินในเดือนถัดไปโดยขยายให้ครอบคลุมประชากรวัยทำงานทั้งหมดรวมถึงเกษตรกรที่ไม่ใช่บุคลากรของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และผู้อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33

2.2 แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ต้องสูญเสียอาชีพและรายได้จากมาตรการจำกัดการใช้พื้นที่สาธารณะ การห้ามรวมกลุ่มสังสรรค์ และการให้ทำงานที่บ้าน(Work from home) ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการขาดรายได้ที่ไม่อาจทดแทนได้โดยการให้เงินเยียวยาเพียงเดือนละ 5,000 บาท

ข้อเสนอคือ

2.2.1    รัฐต้องพิจารณาเรื่องการผ่อนปรนพื้นที่การทำงานภาคบริการและการใช้พื้นที่สาธารณะโดยมีการจัดระเบียบอย่างเหมาะสมเพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถกลับมาทำงานมีรายได้โดยเร็ว

2.2.2 รัฐควรมีมาตรการสนับสนุนในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในภาวะที่แรงงานอกระบบไม่สามารถหารายได้ตามปกติ เช่นการมีนโยบายบังคับหรือขอความร่วมมือให้มีการผ่อนปรนค่าเช่าร้านอาหารและสถานประกอบการรายย่อย ลดค่าเช่ารถรับจ้างสาธารณะ พักชำระหนี้ทั้งในและนอกระบบ ฯลฯ

รายนามองค์กรลงนามสนับสนุนมี ดังนี้

  1. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
  2. สภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย
  3. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
  4. สมาพันธ์แรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย
  5. สมาพันธ์แรงงานเด็นโซ่ประเทศไทย
  6. สมาพันธ์แรงงานอีซูซุประเทศไทย
  7. สมาพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย
  8. สมาพันธ์แรงงานไทยซัมมิทแห่งประเทศไทย
  9. สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการ จ.ภูเก็ต
  10. สหพันธ์แรงงานโตโยต้าประเทศไทย
  11. เครือข่ายสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเครื่องเรือนและคนทำไม้แห่งประเทศไทย
  12. สหภาพแรงงานยานยนต์และอะไหล่อีซูซุ ประเทศไทย
  13. สหภาพแรงงานคูคาติ มอเตอร์ประเทศไทย
  14. สหภาพแรงงานโตโยต้า โกเซประเทศไทย
  15. สหภาพแรงงานไอซินสัมพันธ์
  16. สหภาพแรงงานโตโยต้าประเทศไทย
  17. สหภาพแรงงานผู้บริหารโตโยต้าประเทศไทย
  18. สหภาพแรงงานซูมิโตโม รับเบอร์
  19. สหภาพแรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย
  20. สหภาพแรงงานเอสซี
  21. สหภาพแรงงานฮีโน่ประเทศไทย
  22. สหภาพแรงงานสยามโตโยต้า
  23. สหภาพแรงงานไทยดีคัล
  24. สหภาพแรงงานโรเด้นสต๊อกประเทศไทย
  25. สหภาพแรงงานไทยออโต้คอนเวอร์ชั่น
  26. สหภาพแรงงานรถยนต์มิติซูบิชิแห่งประเทศไทย
  27. สหภาพแรงงานล็อกไทยโอโรเทกซ์
  28. สหภาพแรงงานไพโอเนียร์แห่งประเทศไทย
  29. สหภาพแรงงานทีทีเคโลจิสติกส์ ประเทศไทย
  30. สหภาพแรงงานโบการ์ทไทยแลนด์
  31. สหภาพแรงงานเอ็ฟซี
  32. สหภาพแรงงานผู้บริหารฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย
  33. สหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย
  34. สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมกระจกแก้ว และเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย
  35. สถาบันแรงงานเพื่อการค้นคว้าวิจัยและฝึกอบรม มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
  36. สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
  37. มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์
  38. มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน
  39. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
  40. มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
  41. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
  42. องค์กรคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม
  43. วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  44. ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

รายนามบุคคลลงนามสนับสนุน

  1. ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
  3. รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
  4. รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์พิเศษ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  5. รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  6. ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  7. ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  8. ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
  9. ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ ชายทวีป คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  10. ผศ.ตะวัน วรรณรัตน์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  11. ดร.โชคชัย สุทธาเวศ อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  12. อ.อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
  13. อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  14. ดร.อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดี วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  15. ผศ.พิมพ์ณัฐชยา สัจจาศิลป์ อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  16. อ.สุนี ไชยรส รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
  17. อ.ภัทรมน สุวพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา สถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  18. ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  19. อ.ชิราภรณ์ วรรณโชติ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  20. นายกฤษฎา ธีระโกศลพงศ์นักวิชาการอิสระ
  21. นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม
  22. นางสาวจุฑิมาศ สุกใส นักวิชาการอิสระ
  23. นายวิทยา ไชยดี นักวิจัยอิสระ
  24. นายอดิศร เกิดมงคล นักวิชาการเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
  25. นายบัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง

รายงานโดย วาสนา ลำดี