
ความหวัง ความฝันและข้อเสนอของคนทำงาน ต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งใหม่
สหภาพคนทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรและเครือข่าย 18 องค์กร
——————————————-
ประเทศไทยมีประชากรราว 71 ล้านคน จากข้อมูลรายงานผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชาชนไทยในเดือน ก.ค. 2565 ของสำงานสถิติแห่งชาติพบว่าประชากรไทยที่อยู่ในวัยแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่มีงานทำ 39.48 ล้านคน ผู้ว่างงาน 5.14 แสนคน และผู้ว่างงานที่รอฤดูกาล 0.21 แสนคน และถ้านับครอบครัวของพวกเขา กคนกลุ่มนี้คือคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ เป็นเจ้าของที่แท้จริงของประเทศนี้ พวกเขาสมควรได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลเอาใจใส่ประชาชน
แม้ว่าคนทำงานจะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะเป็นกลุ่มคน 99% ของประเทศ แต่ด้วยการถูกกีดกัน ไม่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองให้สามารถรวมตัวกันได้ ทำให้แม้คนทำงานจะเป็นคนส่วนใหญ่ แต่กลับมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย การบริหารประเทศน้อยมาก พรรคการเมืองในประเทศส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลและการสนับสนุนจากฝ่ายทุน หรือกลุ่มคน 1% ทำให้การกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย มาตรการ การบริหารประเทศเป็นไปในทิศทางที่ผู้ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองเหล่านั้นต้องการ พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาของผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกันออกไป
ปี 2566 ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง พรรคการเมืองต่าง ๆ กำลังจัดทำนโยบายพรรคเพื่อที่จะใช้ในการหาเสียงจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง พวกเราคนทำงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนจากพวกเรา ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสดีสำหรับพวกเราคนทำงานสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่จะต้องสะท้อนปัญหาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อดูว่าพรรคการเมืองใดบ้างที่จะยินดีที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาและรัฐบาลเพื่อนำเอาข้อเสนอของพวกเราไปดำเนินการให้ปรากฎเป็นจริง
สหภาพคนทำงานจึงร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ รวม 17 องค์กรที่ทำงานร่วมกันจึงได้สัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นโดยมีผู้แทนจากหลากหลายองค์กร และคนทำงานจากหลากหลายอาชีพ จนในที่สุดก็ได้จัดทำชุดข้อเสนอเชิงนโยบาย “ความหวัง ความฝันและข้อเสนอของคนทำงาน” เพื่อนำเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อนำไปจัดทำเป็นนโยบายของพรรคในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันเสาร์ที่ 18 มีนาคมนี้ และหลังจากนั้นผู้แทนองค์กรต่าง ๆ จะเดินสายไปยื่นข้อเสนอกับพรรคการเมืองทั้งหลาย
องค์กรผู้ร่วมเสนอ
- สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT)
- สหภาพไรเดอร์
- สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.)
- Nurses Connect
- เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)
- Equal Asia Foundation
- สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย)
- มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HomeNet Thailand)
- สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย (สพท.)
- เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
- กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
- Swing Thailand
- Empower Foundation
- กลุ่มทำทาง
- เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ (MWG)
- พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
- สหภาพคนทำงาน

ความหวัง และข้อเสนอ 8 หมวดของคนทำงาน
- การเลือกทำงาน รวมกลุ่ม-ต่อรองและมีรายได้ที่เป็นธรรม
- การเรียนรู้ รับข้อมูลและพัฒนาตนเอง
- การมีชีวิตและความปลอดภัยในสังคมและที่ทำงาน
- การมีปัจจัยดำรงชีวิตพื้นฐานของตนและครอบครัว
- การมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการยอมรับทางสังคม
- เสรีภาพในการแสดงออกต่อสังคมและที่ทำงาน
- การมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและที่ทำงาน
- การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกอัตลักษณ์ เพศสภาพ สภาพร่างกาย สภาวะสุขภาพ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม
หมวดที่ 1. สิทธิการเลือกงานและการมีงานทำ การรวมตัวเจรจาต่อรองและมีรายได้ที่เป็นธรรม
ความหวังของพวกเรา
เราหวังว่า
- ทุกคนในประเทศนี้จะมีโอกาสเข้าถึงงานอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
- เมื่อจบการศึกษา จะได้ทำงานตามที่เราฝันอยากทำ
- เราหวังจะมีความสุขกับการทำงานและการใช้ชีวิตในที่ทำงาน
- งานทุกงานในประเทศนี้จะเป็นงานที่เป็นธรรม (fair work) มีคุณค่า (decent work) และเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
- งานทุกงานจะต้องทำให้คนทำงานมีรายได้เพียงพอต่อตนเองและครอบครัว ค่าตอบแทนจะต้องเป็นค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยมีการกำหนดข้อตกลงการจ่ายที่ชัดเจน ไม่ควรมีใครต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
- ไม่มีงานใดถูกดูหมิ่นดูแคลนว่าต่ำต้อย งานทุกงานต้องได้รับการคุ้มครองและรับรองโดยกฎหมาย รวมถึงงานบริการทางเพศ หรือเซ็กส์เวิร์ก
- งานที่เราทำไม่ควรกินเวลาจนทำให้เราไม่มีเวลาพักผ่อน เรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว
- การทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องสมัครใจ โดยต้องได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
- เราหวังจะได้งานที่มีความมั่นคง และไม่มีใครต้องถูกเลิกจ้างหรือต้องตกงานอย่างไม่เป็นธรรม และหากต้องตกงานจะต้องมีระบบรองรับ เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี
- เราอยากเห็นประชาธิปไตยในที่ทำงาน ทุกคนที่ทำงานควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดสภาพการทำงาน ค่าจ้าง และสวัสดิการ โดยไม่ปล่อยให้นายจ้างเป็นผู้ตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียว
- เราหวังว่าสิทธิในการรวมตัวและเจรจากต่อรองร่วม ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานจะได้รับการส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองอย่างจริงจัง
- เราอยากเห็นสหภาพแรงงานในประเทศไทยได้รับการยอมรับ มีความเข้มแข็งและทำหน้าที่เป็นปากเสียงพิทักษ์ผลประโยชน์ให้กับคนทำงานหรือกลุ่มคนส่วนใหญ่ในประเทศ 99% อย่างได้ผล
ข้อเสนอของพวกเรา

- ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO
- ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม
- ฉบับที่ 155 ว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
- ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองมารดา
- ฉบับที่ 189 ว่าด้วยการการคุ้มครองงานบ้าน
- ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการใช้ความรุนแรงในที่ทำงาน
- ยกร่างกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่ให้หลักประกันการทำงาน ส่งเสริมและคุ้มครองคนทำงานทุกภาคส่วนทุกอาชีพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล
- ออกมาตรการบังคับใช้กฎหมาย และให้มีกลไกกำกับดูแลเพื่อให้คนทำงานทุกภาคส่วนทุกอาชีพได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และมีส่วนร่วม ตามหลักการงานที่มีคุณค่า (decent work) ของ ILO โดยเฉพาะอาชีพที่เปราะบาง เสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ เช่น แรงงานในระบบเหมาช่วง เหมาค่าแรง แรงงานนอกระบบ คนทำงานที่ถูกจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ พนักงานบริการทำความสะอาด พนักงานนวด รวมไปถึงผู้ค้าบริการทางเพศ ให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีสัญญาจ้างงานที่เป็นธรรม โปร่งใส เข้าถึง ตรวจสอบได้ มีความปลอดภัย มีหลักประกัน สวัสดิภาพในการทำงาน มีชั่วโมงการทำงานและเวลาพักผ่อนที่เหมาะสม มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือการบริหารงานอย่างเป็นธรรม
- ส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนทำงานประเภทต่างๆ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ การลดหรือยกเว้นภาษีอุปกรณ์ประกอบอาชีพ เช่น เครื่องไม้ เครื่องมือช่าง เครื่องดนตรี เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงเครื่องมือทำมาหากินได้ง่าย
- ค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างอย่างมีหลักการที่ชัดเจน โดยต้องเป็นอัตราเดียวที่บังคับใช้เท่ากันทั่วประเทศ โดยยึดถือเกณฑ์ ของ ILO ฉบับที่ 131 ที่กำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีของคนทำงานและครอบครัว และมีการปรับขึ้นอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีสิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และปรับปรุงระบบประกันสังคมให้เป็นการประกันสังคมถ้วนหน้า สำหรับคนทำงานทุกกลุ่มอาชีพเข้าถึงและได้รับสิทธิที่จะมีหลักประกันในการทำงานอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เช่น เงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง
- ในระยะยาว ยกเลิกการแบ่งแยกกลุ่มคนงานเป็น “ในระบบ-นอกระบบ” เพื่อดูแลแรงงานทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน
- ในระยะยาว รัฐต้องจัดให้มีระบบรายได้พื้นฐานทั่วหน้า หรือ ยูบีไอ (Universal Basic Income) เพื่อสร้างความเท่าเทียมและยกระดับชีวิตของผู้คนในสังคม
- รัฐบาลทำฐานข้อมูลแรงงานอย่างละเอียด แยกตามอาชีพ เพศ อายุ ช่วงวัย ภูมิภาค
หมวดที่ 2. การเรียนรู้ รับข้อมูลและพัฒนาตนเอง
ความหวังของพวกเรา
เราหวังว่า
- เราต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ฟรีจริง เข้าถึงได้จริง และพัฒนาตัวเราได้อย่างเป็นรูปธรรม
ข้อเสนอของพวกเรา
- ควบคุมเวลาการทำงาน เพื่อให้สามารถทำงาน 8 ชม. พักผ่อน 8 ชม. เรียนรู้ 8 ชม.
- ปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อให้ครูทำหน้าที่สอนอย่างจริงจัง และปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย มีเนื้อหาใช้ได้จริง และมีผู้สอนที่มีคุณภาพทัดเทียมกันในแต่ละสถานศึกษา
- ยกเลิกหนี้ กยศ. ให้เรียนฟรีตลอดชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียนโดยไม่มีหนี้การศึกษา
- บรรจุวิชาทักษะชีวิตจำเป็น เช่น การว่ายน้ำ การปฐมพยาบาล ในหลักสูตรการศึกษาเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต
- การศึกษาที่เท่าเทียม มีมาตรฐาน ครอบคลุมทุกช่วงวัย ใกล้บ้าน
- อบรมพัฒนาอาชีพฟรี รวมถึงมีเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้เรียน โดยหลักสูตรต้องส่งเสริมทุกอาชีพอย่างหลากหลาย ตรงความสนใจของผู้เรียน เช่น มีศูนย์ฝึกกระจายทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงให้ผู้เรียนร่วมออกแบบหลักสูตรเองได้
- เพิ่มงบประมาณสนับสนุนสำหรับซื้ออุปกรณ์การเรียน และจัดให้มีอินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับทุกคน ทุกพื้นที่
- ให้มีวิชาหรือหลักสูตรเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน การจัดตั้งสหภาพ ประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ เพศศึกษา ความหลากหลายทางเพศ และอัตลักษณ์ทับซ้อน ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น เช่น บรรจุหลักการ “งานที่มีคุณค่า” หรือ “ผลกระทบของเผด็จการ” ลงในหลักสูตร และอธิบายให้เห็นถึงความเชื่อมโยงต่อชีวิตของประชาชนทุกคน
- ส่งเสริมให้มีพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์กระแสรองที่หลากหลาย สะท้อนความเป็นท้องถิ่น และไม่ยึดติดกับประวัติศาสตร์กระแสหลักแบบชาตินิยม หรือราชาชาตินิยม รวมถึงให้มีพิพิธภัณฑ์แรงงานที่เข้าชมฟรีทุกจังหวัด
- ส่งเสริมวิชามนุษยศาสตร์ สุนทรียภาพ ศิลปะ ภาษา ทักษะสร้างสรรค์ พัฒนาการเด็กเล็ก ให้ผู้เรียนเลือกศึกษาตามความสนใจ เนื่องจากการศึกษาไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการเรียนรู้เพื่อเร่งเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียว
- ลดเวลาเรียนรู้ในห้องเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้นอกห้อง
- สนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มสมานฉันท์สังคมและเศรษฐกิจ หรือ SSE (Social Solidarity Economy) ของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ และมีพื้นที่สาธารณะเพื่อการศึกษานอกห้องเรียน

หมวดที่ 3. การมีชีวิตและความปลอดภัยในสังคมและที่ทำงาน
ความหวังของพวกเรา
เราหวังว่า
- มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรฐานเดียวที่ครอบคลุมแรงงานใน-นอกระบบ และมีหน่วยงานกำกับดูแลสิทธิแรงงาน
- อยากให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีประกันสังคม หรือมีค่าตอบแทนที่เพียงพอต่อการมีชีวิตอย่างมีคุณค่า
- อยากเลิกงานตรงเวลา มี work life balance
- มีความเป็นธรรมในการจ้างและเลิกจ้าง
- ได้เลือกตั้งตัวแทนคณะกรรมการประกันสังคม
- สังคมเปิดใจ ลดอคติ เห็นทุกอาชีพมีค่าและได้รับสวัสดิการในชีวิตและสังคมโดยไม่เปรียบเทียบค่าระหว่างอาชีพ คนขายบริการทางเพศจะไม่ผิดกฎหมายและได้เป็นแรงงาน
- ไม่อยากมีหนี้สินในวัยทำงาน
- อยากให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีความปลอดภัยในชีวิต มีสวัสดิการที่ดี มีหลักประกันชีวิตที่มั่นคง
- อยากมีรัฐสวัสดิการสำหรับบั้นปลายชีวิต
- ทุกคนมีสวัสดิการเพียงพอที่จะร่ำรวย รองรับความต้องการในชีวิตและได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่
- อยากให้รัฐดูแลเรื่องการศึกษาอย่างทั่วถึง เรียนฟรีจนจบปริญญา
- ให้ลูกหลานเจริญเติบโตในสถานแวดล้อมที่ดี มีความรู้ เอาตัวรอดได้ในอนาคต ห่างไกลจากยาเสพติด
- อยากมีสุขภาพแข็งแรง
- มีเมืองที่ดี ไม่ต้องการให้มีโจร ผู้ร้าย
- อยากเห็นคุณภาพอากาศที่ดี PM 2.5 หมดไป อากาศบริสุทธิ์เหมือนต่างประเทศ
- สังคมไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงและ LGBTQ+
- มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด จริงจัง เสมอภาค
ข้อเสนอของพวกเรา
- ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองคนทำงาน (เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ความปลอดภัยอาชีวะอนามัยในที่ทำงาน ประกันสังคม แรงงานสัมพันธ์) และรวบรวมให้เป็นฉบับเดียวที่สามารถคุ้มครองแรงงานทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง (ได้แก่ คนทำงานภาครัฐ คนทำงานของหน่วยงานในกำกับของรัฐ คนทำงานเอกชน คนทำงานอิสระและกึ่งอิสระ คนทำงานต่างสัญชาติ) พร้อมทั้งสร้างกลไกการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายให้ทันสมัยอยู่เสมอ
- ขยายขอบเขตกฎหมายแรงงานคุ้มครอง โดยให้รวมถึงการคุกคามทางเพศ หรือการคุกคามขู่เข็ญอื่น ๆ
- ออกกฏหมายเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายคนทำงาน ให้สามารถเจรจาต่อรองกับเจ้าของกิจการ นายทุน และรัฐได้อย่างยุติธรรม
- ลดชั่วโมงทำงาน ไม่ให้เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทุกสาขาอาชีพ
- สถานที่ทำงาน รวมถึงสถานที่จัดอีเวนท์ มหรสพ สถานบันเทิงต่างๆ ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สามารถป้องกันความเสี่ยงต่างที่อาจจะเกิดกับคนทำงานได้ เช่น การทะเลาะวิวาท โรคระบาด อุปกรณ์อันตราย
- เพิ่มความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อมในสังคมและที่ทำงาน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการให้ครอบคลุมและสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำประปาต้องดื่มได้ รับรอง พ.ร.บ. อากาศสะอาด จัดให้มีแสงสว่างในโรงงาน นิคมอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ เพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน และจัดให้มีทางลาดชัน ลิฟท์ ทางเดินสำหรับคนพิการ
- ขยายขอบเขตนิยามของสถานที่ทำงานให้ครอบคลุมรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย (เช่น ไรเดอร์ พนักงานกวาดขยะ คนงานก่อสร้างบนท้องถนน) และคนทำงานในทุกสถานที่ทำงานต้องได้รับการคุ้มครองประกันอุบัติเหตุตลอดเวลาทำงาน โดยไม่มีเงื่อนไขในการเข้าถึงสิทธิ
- เพิ่มค่าเสี่ยงภัย และการคุ้มครองคนทำงานระหว่างการเดินทางไปและกลับจากสถานที่ทำงานที่หลากหลาย
- คนทำงานทุกภาคส่วนต้องได้รับสวัสดิการการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงาน
- คนทำงานทุกคนได้รับค่าชดเชยอย่างเพียงพอในการดำรงชีพอย่างมีคุณค่าในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เช่น เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ
- กองทุนเงินทดแทนต้องคุ้มครองคนทำงานทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ
- เงินทดแทนควรได้รับการบริหารจัดการโดยกองทุนเอง ไม่ใช่โดยบอร์ดประกันสังคม
- ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากทหารเกณฑ์เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการกดขี่แรงงานโดยรัฐ และการใช้กฏหมายที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน
- ปฏิรูปตำรวจ-ทหาร-ศาล ให้โปร่งใส่ตรวจสอบได้ ยกเลิกระบบส่วยและตู้แดง
หมวดที่ 4. การมีปัจจัยดำรงชีวิตพื้นฐานของตนและครอบครัว
ความหวังของพวกเรา
เราหวังว่า
- ประเทศนี้จะมีระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่ประกันความสุขสมบูรณ์ของประชาชนทุกช่วงวัย จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
- เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิตมีพัฒนาการที่สมวัย
- ไม่มีใครต้องอดตายเพียงเพราะไม่มีคนช่วยป้อนอาหาร
- ไม่มีใครต้องป่วยตายเพียงเพราะยาราคาแพง หรือถูกปฏิเสธการรักษา
- ไม่มีใครต้องไปนอนข้างถนนเพียงเพราะถูกไล่ออกจากบ้าน
- ครอบครัวของของเราจะเปี่ยมไปด้วยความรัก ไม่มีใครในครอบครัวถูกกดดันหรือจำกัดอิสรภาพในการใช้ชีวิตเพราะไม่มีเงิน
- เราจะมีชีวิตวัยเกษียณที่สุขสบายไร้กังวล ไม่ต้องดิ้นรนไปจนตาย
ข้อเสนอของพวกเรา
ข้อเสนอด้านการตั้งครรภ์และมีบุตร
- เงินอุดหนุนสตรีตั้งครรภ์จวบจนคลอด 3,000 บาทต่อเดือน
- การยุติการตั้งครรภ์เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างปลอดภัยไร้เงื่อนไข
- เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เกิดถึงอายุ 6 ปี
- มีสถานเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน ใกล้ที่ทำงาน หรือใกล้สถานประกอบการ เวลาทำการของสถานเลี้ยงเด็กสอดคล้องกับการทำงาน ไร้การกีดกันสัญชาติ
- สิทธิลาคลอด 180 วัน ใช้ได้ทั้งผู้ตั้งครรภ์และผู้ช่วยเลี้ยง โดยมีการชดเชยรายได้ระหว่างลาคลอดไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต
ข้อเสนอด้านสุขภาพ
- ผ้าอนามัย ถุงยางอนามัย และเจลหล่อลื่นฟรีถ้วนหน้า
- ยกเลิกการกำหนดถ้วยอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
- มีบริการสุขภาวะทางเพศทั่วถึงถ้วนหน้าทุกช่วงวัย
- สิทธิในการตรวจสุขภาพประจำปีฟรีถ้วนหน้าทุกช่วงอายุ
- รวมทุกกองทุนสุขภาพ (ประกันสังคม ข้าราชการ บัตรทอง) เป็นหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว
ข้อเสนอด้านการเข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
- สิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินราคาย่อมเยาในพื้นที่เขตเมือง
- ที่อยู่อาศัย เช่าได้ในราคาย่อมเยา
- จำกัดการถือครองที่ดิน เพื่อกระจายการถือครองที่ดิน
- รัฐต้องรับผิดชอบชุมชนด้านอาชีพและที่อยู่อาศัยในกรณีบังคับย้ายที่อยู่อาศัย
ข้อเสนอด้านความมั่นคงในอาชีพ
- กำหนดให้ค่าตอบแทนแก่นักศึกษาในระหว่างที่มีการฝึกงาน รวมถึงการอุดหนุนค่าเดินทาง ค่าอาหาร และสวัสดิการอื่นๆ ตามความเหมาะสม
- กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครอบชีพจริง โดยต้องเป็นอัตราที่เลี้ยงตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีเงินเก็บ อย่างน้อยในอัตรา 723–789 บาทต่อวัน เท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำให้กลายเป็น “อัตราค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต” ตามมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า
- ค่าแรงเพียงพอสำหรับคนทำงานและครอบครัว สัมพันธ์กับรายจ่าย
- ชดเชยรายได้นักดนตรีกรณีที่มีประกาศห้ามแสดงมหรสพหรืองานสังสรรค์รื่นเริง
- ยกเลิกการกำหนดเครื่องดนตรีเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
- ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำสำหรับแรงงานนอกระบบ ไมโครเอนเตอร์ไพรส์เพื่อเข้าถึงอุปกรณ์การทำงาน (เช่น รถยนต์ หรือเครื่องดนตรี)
ข้อเสนอด้านความมั่นคงในการดำรงชีวิต
- ประกันรายได้ระหว่างว่างงานในอัตราค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต ในอัตรา 723–789 บาทต่อวัน
- บำนาญแห่งชาติ ผู้สูงอายุรับ 3,000 บาทต่อเดือน
- เบี้ยความพิการ 3,000 บาทต่อเดือน
- เพิ่มอัตราการจ้างผู้ช่วยคนพิการ ให้สอดคล้องกับสัดส่วนคนพิการ และการเข้าถึงบริการผู้ช่ายคนพิการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (personal assistance) ตัองไม่ถูกจำกัดหรือเลือกปฏิบัติด้วยอายุ เพศ สัญชาติ ประเภทความพิการ และระดับความพิการ
- รับประกันว่ารายรับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยให้ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
- ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สาธารณูปโภคพื้นฐานไม่ให้แพงเกิน
- ปฏิรูประบบโครงสร้างภาษีให้เป็นแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน
- ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้าและพลังงานทั้งหมด
ข้อเสนอด้านสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานในการดำรงชีวิต
- ขนส่งสาธารณะปลอดภัย ราคาถูกหรือฟรี มาตรฐานเดียวทั่วประเทศ สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของประชาชน ผู้พิการเข้าถึงได้
- รถขนส่งสาธารณะต้องเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าให้หมด
- ให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการเรียนรู้และทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมร่วมกันในชุมชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การแสดงศิลปะ ดนตรี การค้าหาบเร่แผงลอย
- ควบคุมธุรกิจไม่ให้ปล่อยมลพิษเยอะเกินไป ไม่เน้นการจ่ายค่าชดเชยคาร์บอนเครดิต
- การถือครองกรรมสิทธิที่ดินไม่เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำประปา
- น้ำประปาสะอาดดื่มได้ทั่วประเทศ
- ไฟฟ้าและน้ำประปาฟรีในกรณีที่มีมาตรการล็อคดาวน์ ควบคุมโรค
หมวดที่ 5. การมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการยอมรับทางสังคม
ความหวังของพวกเรา
เราหวังว่า
- เราอยากเห็นสังคมที่คนเท่ากัน ไม่ถูกแบ่งแยกด้วยอาชีพ สถานะทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานรูปแบบไหน เพศอะไร เชื้อชาติใด จะต้องได้รับการยอมรับ ได้รับความคุ้มครองจากรัฐอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม
- เกษียณอายุอย่างมีคุณค่า มีสวัสดิการรองรับ
- ยกเลิกการแบ่งแรงงานเป็น “นอกระบบ” กับ “ในระบบ”
- ไม่มีลูกจ้างชั่วคราว จะมีแต่ “ลูกจ้างประจำเท่านั้น”
- เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ผู้ประกันตนทุกคนต้องได้เลือกกรรมการเอง
- จะมีสิทธิสมรสเท่าเทียม สิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ หรือใช้คำนำหน้าชื่อที่เป็นกลางทางเพศ (เจนเดอร์ เอ็กส์) และขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศในการรับอุปการะบุตรและสถานะสมรส
- ไม่ถูกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ และไม่ถูกละเมิดความเป็นมนุษย์ด้วยกฎหมาย และนายจ้าง
- ผู้หญิง = คน มีสิทธิตัดสินใจควบคุมร่างกายตัวเอง ต้องเข้าถึงสิทธิยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ฟรี และเป็นธรรม
- ทุกคนจะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
- sex worker คืออาชีพหนึ่ง ต้องไม่ผิดกฎหมาย และเข้าถึงประกันสังคม
- สร้างความเป็นธรรมและคุ้มครองคนทำงานแพลตฟอร์มออนไลน์
- ประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 ต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน
- แรงงานต้องได้รับการคุ้มครองที่เท่าเทียมกัน ไม่เอื้อต่อนายทุน
ข้อเสนอของพวกเรา
- บรรจุหลักสูตรเรื่องสิทธิแรงงาน ส่งเสริมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถาบันการศึกษาด้านแรงงานระดับประเทศ
- ยกเลิกโรงเรียนเตรียมทหาร ยกเลิกข้อบังคับที่จำกัดเพศในการเข้าถึงตำแหน่งทางทหาร เข้าถึงการศึกษาทางทหาร
- ยกเลิกคำว่า “เจ้านาย นายจ้าง ลูกจ้าง” เปลี่ยนเป็นคำว่า “ผู้จ้าง ผู้รับจ้าง คนทำงาน”
- ผ่านร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และบังคับใช้จริงอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองผู้มีอัตลักษณ์ทับซ้อน
- ตรวจสอบทัณฑสถาน เรือนจำ สถานพินิจฯ เพื่อขจัดแรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ การค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิในเรือนจำ รวมถึงปรับปรุงให้เรือนจำเป็นสถานที่บำบัดขัดเกลาผู้กระทำผิดอย่างคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังด้วย
- สถานบริการยุติการตั้งครรภ์ (ทำแท้ง) ต้องให้บริการอย่างปลอดภัย เป็นมิตร และเคารพสิทธิของผู้ใช้บริการ รวมถึงในกรณีหมอไม่พร้อมให้บริการด้วยตนเอง ต้องมีระบบส่งต่อที่รวดเร็ว ไม่ตำหนิตีตรา ไม่เกลี้ยกล่อมให้ตั้งครรภ์ต่อ
- ยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานหรือการบังคับทำความเคารพ
- ยกเลิกโทษประหารชีวิต
- ส่งเสริมการเรียนรู้ปัญหาของทุกสาขาอาชีพเพื่อให้สังคมเคารพคุณค่าทุกอาชีพ
- สนับสนุนให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี (สวมกำไลข้อเท้า EM) หรืออดีตนักโทษที่พ้นโทษให้กลับเข้าสู่การประกอบอาชีพผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การเปิดโอกาสให้สมัครงาน (ยกเว้นอดีตนักโทษบางคดี เช่น คดีล่วงละเมิดทางเพศ)
หมวดที่ 6 เสรีภาพในการแสดงออกทั้งในสังคมและในที่ทำงาน
ความหวังของพวกเรา
เราหวังว่า
- ทุกคนจะมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในทุกพื้นที่รวมไปถึงในสถานที่ทำงาน โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิและถูกคุกคาม
- เราฝันถึงการกระจายอำนาจในทุกท้องที่ ให้ผู้คนในแต่ละพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการปกครองกันเอง ไม่ให้อำนาจรวมศูนย์กระจุกตัวอยู่กับส่วนกลางเท่านั้น
- คนทำงานมีพื้นที่ มีเวทีที่จะพูดคุยและเจรจาต่อรองกับรัฐ อภิสิทธิ์ชนและนายจ้างได้
- การชุมนุม การประท้วง และการนัดหยุดงานถือเป็นสิทธิพื้นฐาน เป็นเรื่องปกติที่สามารถกระทำได้
- เราหวังว่ากฎหมาย ม.112 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กลั่นแกล้ง ทำร้ายผู้คนที่เห็นต่างจะถูกยกเลิกไปในเร็ววัน
- เราหวังว่าสิทธิในการรวมตัว เจรจาต่อรองร่วมของคนทำงานทุกภาคส่วนจะได้รับการยอมรับอย่างจริงจังในประเทศนี้
- รัฐจะจัดสรรงบประมาณ พื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ร่วมกันในการจัดกิจกรรมแสดงออกทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ห้องสมุด หอศิลปะ พื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ผู้คนมาใช้และแสดงออกร่วมกัน
- เราหวังจะมีพรรคการเมืองที่คนทำงานเป็นเจ้าของ หรือเสนอตัวเป็นตัวแทนที่จะรักษาปกป้องผลประโยชน์ให้กับคนทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่ม 99%
ข้อเสนอของพวกเรา
- ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์
- ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 116 ว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น
- ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 117 ว่าด้วยการจำกัดเสรีภาพในการนัดหยุดงาน
- ยกเลิก พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมต้องไม่ถูกดำเนินคดี
- คุ้มครองสหภาพแรงงานและการชุมนุมในสถานประกอบการ โดย
- แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้
- การจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นสิทธิและเสรีภาพของคนทำงาน กระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงแรงงาน
- คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน ไม่ให้มีการบังคับเปิดเผยชื่อของผู้ก่อการ
- ยกเลิกความพยายามในการผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่ม (No NPO Bill)
- ปฏิรูปศาลและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะศาลแรงงาน
- การวิจารณ์รัฐต้องไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท
- คุ้มครองสิทธิการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ส่วนตัวของคนทำงาน เช่น การสักลาย การแต่งกาย
- ยกเลิกการบังคับแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันต่าง ๆ หรือแนวคิดชาติวัฒนธรรมเดี่ยว
- ยกเลิกกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนใต้
หมวดที่ 7. การมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและที่ทำงาน
ความหวังของพวกเรา
เราหวังว่า
- คนจะเท่ากัน จะเกิดความเสมอภาคเท่าเทียม
- สังคมจะปราศจากชนชั้น อำนาจสูงสุดจะเป็นของคน 99%
- ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
- รัฐจะนำภาษีของประชาชนมาบำรุงประโยชน์สุขของประชาชน
- จะมีรัฐบาลของคนทำงาน โดยคนทำงาน เพื่อคนทำงาน
- ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะสหภาพจะมีความเข้มแข็ง
- จะมีรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย และนักการเมืองจะทำตามสัญญา
- สังคมจะเข้าใจความสำคัญและให้เกียรติ คนทำงานด้านการดูแล (care giver) มากขึ้น
- สักวันหนึ่งแรงงานทุกคนจะมาอยู่ในสหภาพคนทำงานและมีอำนาจต่อรองกับรัฐและทุน
- จะมีพรรคแรงงานฝ่ายประชาธิปไตยที่ต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคน 99% สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
- จะมีการลงทุนและเศรษฐกิจเติบโตโดยไม่ทิ้งหรือกดขี่ขูดรีดคนทำงาน คน 99%
- คนทำงานทุกอาชีพจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีค่าแรงที่เป็นธรรม มีสวัสดิการครอบคลุม ทำงานอะไรก็ชีวิตดีมีความสุขได้
- คน 99% จะมีส่วนตัดสินใจในทรัพยากร
- จะมีทีมบริหารและรัฐบาลที่เข้าใจแรงงาน คนทำงาน และเห็นหัวประชาชน
- วงการภาพยนตร์ทั้งระบบจะได้รับการแก้ไขอุปสรรคและปัญหาอย่างครบวงจร และมีพื้นที่ให้ทุกความฝัน
- คุณภาพชีวิตของทุกคนจะดีขึ้น และสังคมจะเป็นธรรม
ข้อเสนอของพวกเรา
- สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
- บำนาญประชาชนถ้วนหน้าเทียบเท่าข้าราชการ
- สิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีถ้วนหน้าและมีคุณภาพเทียบเท่าข้าราชการ
- เอาผิดคณะรัฐประหาร การรัฐประหารนิรโทษกรรมไม่ได้ และไม่มีอายุความ
- ปฏิรูปศาล ให้ยึดโยงกับประชาชนคน 99%
- ปฏิรูปตำรวจทหาร ให้ยึดโยงกับประชาชนคน 99%
- ลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม เพิ่มงบสวัสดิการประชาชน
- ยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการ คสช.
- สว. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือเหลือสภาเดียว
- ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของเผด็จการ คสช
- ปลดล็อกท้องถิ่น อำนาจอยู่ที่ท้องถิ่น งบประมาณท้องถิ่น 50% ส่วนกลาง 50%
- สิทธิเรียนฟรีถ้วนหน้าถึงระดับมหาวิทยาลัย ด้วยคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม
- ขยายความครอบคลุมประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกคน
- ยกระดับสิทธิการรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และสิทธิข้าราชการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
- บอร์ดประกันสังคมมาจากการเลือกตั้งของคนทำงานทุกคน
- กฎหมายแรงงานฉบับเดียว ครอบคลุมคนทำงานทั้งหมด ทั้งรัฐและเอกชน
- กฎหมายควบคุมบริษัท ให้ปฏิบัติต่อชุมชนและแรงงานทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม
- กฎหมายสิทธิการมีส่วนร่วมบริหาร โดยให้บอร์ดบริหารครึ่งนึงมาจากการเลือกตั้งของคนทำงานในบริษัทและสถานประกอบการ (หรือเรียกว่า ‘โคดีเทอร์มิเนชั่น ลอว์’)
- กฎหมายประชามติที่ยอมรับอำนาจทางตรงของประชาชนคนทำงานในการเสนอ ให้ผ่าน หรือปัดตกกฎหมาย
- กฎหมายที่ยอมรับให้ประชาชนมีสิทธิปัดตก หรือระงับกฎหมายที่เอื้อบริษัททุนหรือนายทุนได้ง่ายและทันกาล
- กฎหมายที่กระทบต่อประชาชนคนทำงาน ต้องทำประชามติเสมอ
- กฎหมายรับรองให้คนทำงานทุกภาคส่วนจัดตั้งสหภาพแรงงาน และสามารถร่วมกันต่อรองหลายสหภาพฯ ได้
- กฎหมายบังคับให้ทุกบริษัทต้องต่อรองกับสหภาพแรงงานเสมอ
- สิทธิในการเข้าถึงแหล่งทุนเงินกู้อย่างถ้วนหน้าของแรงงานทุกภาคส่วน
- เลือกตั้ง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนคนทำงาน
- กฎหมายต้องกำหนดให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายและการจัดระเบียบพื้นที่ มีพื้นที่ทำการค้าอย่างถูกต้องที่ค้าขายได้จริง
- พ.ร.บ. กองทุนเพื่อประชาธิปไตยในเศรษฐกิจและที่ทำงาน ส่งเสริมสนับสนุนให้ทรัพยากรแก่เพื่อเพิ่มพูนจำนวนธุรกิจที่บริหารแบบสหกรณ์
- สิทธิการรวมตัวประท้วงหยุดงานเพื่อต่อรองกับรัฐและทุน
หมวดที่ 8. การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกอัตลักษณ์ เพศสภาพ สภาพร่างกาย สภาวะสุขภาพ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม
ความหวังของพวกเรา
เราหวังว่า
- จะมี ‘รัฐธรรมนูญสีรุ้ง’ ที่พูดถึงสิทธิสมรสเท่าเทียมสำหรับทุกคน
- ทุกคนจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมในทุกมิติ ไม่แบ่งแยกและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ฐานะ ชนชั้น อาชีพ สภาพร่างกาย สุขภาพ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม
- ผู้ทำแท้งจะไม่มีโทษทางอาญา และไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการ
- ผู้ใช้แรงงานจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและทำงาน เช่น แรงงานหญิงได้รับโอกาสการทำงานเท่ากับผู้ชาย
- สังคมเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงและผู้มีเพศหลากหลายจะได้รับโอกาสเท่าผู้ชาย
- ชีวิตของเราจะถูกคุ้มครองตั้งแต่เกิดจนตาย
- การข้ามเพศและผ้าอนามัยเป็นรัฐสวัสดิการฟรี
- ผู้ติดเชื้อ HIV จะไม่ถูกดูหมิ่น รังเกียจ หรือถูกบังคับตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน
- ผู้ค้าบริการทางเพศ (sex worker) ทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย มีสิทธิแรงงาน
- จะไม่มีชนชั้นในระบบราชการ และพนักงานราชการเข้าใจปัญหาของประชาชน
- รัฐมีทรัพยากรพื้นฐาน เช่น การศึกษา ที่ดินทำกิน เตรียมไว้ให้ประชาชนทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน และกระจายทรัพยากรพื้นฐานนั้นอย่างเท่าเทียม มีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอของพวกเรา
- สิทธิแรงงานและสิทธิทางสุขภาพพื้นฐานต้องคำนึงถึงผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น สิทธิการข้ามเพศ สิทธิการครอบครองและใช้ของเล่นทางเพศ (หรือเซ็กส์ทอย) และสิทธิลาป่วยเนื่องจากประจำเดือน
- ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ว่าด้วยความผิดของผู้ทำแท้ง และขยายสถานบริการทำแท้งปลอดภัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้เข้าถึงสิทธิทำแท้งปลอดภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- ยกเลิกระบบไบนารี่ หรือการจำกัดให้มีเฉพาะชาย-หญิง ในการระบุคำนำหน้าชื่อ โดยเพิ่มคำนำหน้าที่เป็นกลางทางเพศ หรือ ‘เจนเดอร์ เอ็กส์’ ด้วย
- ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ขจัดระบบส่วยตำรวจ และคุ้มครองผู้ค้าบริการทางเพศ หรือเซ็กส์เวิร์กเกอร์ ในฐานะแรงงาน
- ผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม (ไม่เอา พ.ร.บ. คู่ชีวิต), ร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และร่าง พ.ร.บ. อัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด
- ขยายสิทธิลาคลอดโดยได้รับเงินชดเชยเป็น 180 วัน โดยให้มารดาและคู่ครองแบ่งกันได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้หญิงจะถูกเลิกจ้างด้วยเหตุตั้งครรภ์หรือลาคลอดอยู่ฝ่ายเดียว รวมถึงสอดส่อง ปราบปราม ลงโทษนายจ้างที่เลิกจ้างผู้ตั้งครรภ์อย่างไม่เป็นธรรมด้วย
- รัฐต้องจัดให้มีทรัพยากรพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ประชาชนทุกคนในมาตรฐานเดียวกันและเข้าถึงได้ง่าย เช่น สถาบันการศึกษา พื้นที่สาธารณะ รถขนส่งสาธารณะ
- ทรัพยากรพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่รัฐจัดให้ หรือที่เอกชนจัดให้ในสถานประกอบการ ต้องคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของแต่ละบุคคลอย่างเข้าใจและเป็นมิตร เช่น ห้องน้ำที่เป็นกลางทางเพศ หรือติดตั้งอุปกรณ์สำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ
- ยกเลิกศาสนาประจำชาติทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ ต้องไม่บังคับเรียนศาสนาในสถานศึกษา และยกเลิกการห้ามขายแอลกอฮอล์หรืองดงานรื่นเริงในวันสำคัญทางศาสนา
- รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในการงานอาชีพ และแก้ไขกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาโดยเร็ว เช่น ยกเลิกการระบุเพศในประกาศรับสมัครงาน การไม่บังคับแต่งกายตามเพศกำเนิดในที่ทำงาน การอนุญาตให้ผู้หญิงสมัครเป็นนักเรียนเตรียมทหาร นักเรียนนายสิบทหารบก นักเรียนจ่าทหารเรือ นักเรียนจ่าอากาศ นักเรียนนายร้อย จปร. นักเรียนนายเรือ หรือนักเรียนนายเรืออากาศได้
- รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบทำเอกสารอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย โดยเน้นการส่งเสริมให้ถูกกฎหมายมากกว่าปราบปรามจับกุม และต้องรับรองว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงาน ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ
- ขยายสิทธิเลือกตั้งให้คนไร้สัญชาติในไทย พระภิกษุสงฆ์ และผู้ต้องขังในเรือนจำ