สวัสดีปีใหม่ “ยาม” อาชีพที่ถูกลืม

ช่วงปีใหม่เป็นช่วงที่คนงานหลายคนได้มีโอกาสหยุดงานและกลับไปเยี่ยมเยียนครอบครัวที่ต่างจังหวัดแม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นช่วงที่คนงานหลายคนรอคอย แต่ก็มีคนงานอีกอาชีพหนึ่งที่ไม่สามารถกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัดได้นั่นก็คืออาชีพงานในภาคบริการโดยเฉพาะ อาชีพรักษาความปลอดภัย (รปภ.) หรือที่เราเรียกกันจนชินปากว่า “ยาม”เนื่องเพราะภาระหน้าที่การงานที่จะต้องรักษาความปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆ ตามที่ได้รับผิดชอบโดยมีอาวุธคู่กายเพียงกระบองไม้หนึ่งอัน หรือบางบริษัทอาจมีมีดพกให้หนึ่งเล่ม ในขณะที่พิทักษ์รักษาทรัพย์ให้กับผู้อื่นหารู้ไม่ว่าทรัพย์ของตนถูกขโมยไปโดยไม่รู้ตัว
 
“ยาม”เป็นอาชีพที่ไม่ต้องพึ่งพาวุฒิการศึกษา ไม่จำกัดอายุและมีรายได้ที่ค่อนข้างสูงคือตกวันละ 250-300บาท ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลแลกกับต้องทำงานวันละ 12 ช.ม.โดยไม่มีวันหยุดที่แน่นอน  แต่ภายในรายได้ที่คิดว่าสูงนั้นแท้จริงเป็นรายได้ที่ต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำในพื้นที่เสียอีก อาชีพยามไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มาตรา 65 ให้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างต่อชั่วโมง เช่นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 205 บาทหารด้วย 8ช.ม.ก็จะได้ ช.ม.ละ26.625 บาททำงานวันละ12 ช.ม.ก็จะได้ค่าจ้าง 307.50 บาท ดังนี้ก็เห็นว่าค่าจ้างที่ได้รับจริงนั้นหายไปวันละ7.50-57 บาท 
 
บริษัทรักษาความปลอดภัยมักเป็นกิจการของตำรวจและทหารทั้งที่ยังอยู่ในราชการและที่อยู่นอกราชการภายใต้เงื่อนไขสภาพการจ้างและสวัสดิการที่ไม่ต่างกันมากนัก อีกทั้งอาชีพยามมักจะต้องย้ายสถานที่ในการไปประจำการอยู่บ่อยๆตามแต่ทางบริษัทต้นสังกัดจะส่งตัวไป ส่วนวันไหนอยากหยุดพักหรือต้องการไปทำธุระก็อาศัยแลกเปลี่ยนกะกันเพราะหากต้องหยุดงานก็จะโดนหักเงินค่าจ้างหรือสวัสดิการอื่นๆอีก เหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนทำงานยามขาดอำนาจในการต่อรอง 
เงื่อนไขการจ้างงานอย่างนี้มีให้เห็นโดยทั่วไปหรืออาจกล่าวได้ว่าบริษัทรักษาความปลอดภัยเกือบทั้งหมดละเมิดสิทธิคนงานโดยจ่ายค่าจ้างไม่ครบโดยที่เจ้าหน้าที่สวัสดิการคุ้มครองแรงงานไม่เคยมีการตรวจสอบหรือให้ความรู้ในเรื่องสิทธิแก่คนงานอาชีพเหล่านี้ที่มีเงื่อนไขทางกฎหมายที่ต่างจากแรงงานในภาคการผลิต ซึ่งมีไม่มากนักและเป็นกลุ่มที่ชัดเจน จะอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่พอในการตรวจสอบไม่ได้ แต่คงต้องยอมรับในความบกพร่องและไม่มีการวางแผนงานในเชิงบูรณาการหรือต้องพูดกันตรงๆว่าทำแต่งานเฉพาะหน้า ปัญหาของคนงานจึงเปรียบเหมือนคนไข้เรื้อรังที่รอเพียงวันตายโดยมีหมอรักษาตามอาการให้ยาไปตามมีตามเกิดโดยไม่มีการตรวจหาสาเหตุของโรคอย่างแท้จริงและไม่มีการแนะนำคนไข้ให้เข้าใจถึงบ่อเกิดของโรคเพื่อตัดวงจรของโรคไม่ให้โรคกลับมาระบาดอีก
อาชีพยามเป็นอาชีพที่ต้องสุ่มเสี่ยงอันตรายแต่ผลตอบแทนน้อย  และมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานยังไม่มี  เป็นอาชีพที่เกื้อหนุนอาชีพอื่นๆ เหมือนคนปิดทองหลังพระไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่า  ซึ่งคนทำงานทุกคนไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งใด อาชีพใด การศึกษาระดับใด ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งนั้น
ดังนั้น อาชีพ “ยาม” ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญ และคุณค่าของคนทำงานอาชีพยามก็ไม่ต่างกับคนที่ทำงานอาชีพอื่นๆ 
 
มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ สมุทรสาคร-นครปฐมรายงาน
………………………………………………………………………………