นโยบายหลักของสหพันธ์แรงงาน ยาน ยนต์แห่งประเทศไทย (สยท.) ที่มีแผนงานจะควบรวมสหภาพแรงงานในส่วนของคนงานโลหะในประเทศไทย ให้เป็นหนึ่งสหภาพแรงงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการแรงงาน
วันพุธที่ 4 พฤษภาคม2554 นาย ประสงค์ อังสุรัตน์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ (สยท.) กล่าวต่อสมาชิกสหภาพแรงงาน ทีไอดี ในการอบรมสัมมนา เรื่อง รูปแบบบริหารสหภาพแรงงาน ในการรวมตัวของกลุ่มคนงานต่างๆ ที่ห้องสโมสรชั้นสองโรงอาหาร บริษัท ไทยอินเตอร์เนชั่นแนลไดเมคกิ้ง จำกัด (ทีไอดี) สมุทรปราการ โดยสรุปได้ดังนี้
สหภาพแรงงานคืออะไร
สหภาพแรงงาน คือ องค์กรที่คนงานร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อคุ้มครองและแสวงหาผลประโยชน์และรักษาสิทธิอันชอบธรรมของคนงาน โดยมีผู้แทนที่คนงานคัดเลือกเข้ามาบริหารจัดการกันเอง มีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้างหรืออำนาจรัฐ
รูปแบบของสหภาพแรงงาน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1.สหภาพแรงงานตามสาขาอาชีพ สมาชิกจะประกอบไปด้วยคนงานที่ทำงานอยู่ในอาชีพแบบเดียวกัน โดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างคนเดียวกันหรือไม่ เช่น อาชีพช่างก่อสร้าง อาชีพรับจ้างในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เป็นต้น สหภาพแรงงานแบบนี้ เป็นรูปแบบที่ใช้กันมากในโลก เนื่องจากจุดกำเนิดของสหภาพแรงงานในยุคแรกๆ ก็มีที่มาจากคนงานในอาชีพเดียวกันรวมตัวกันเพื่อกำหนดค่าแรงงานในอาชีพของกลุ่มตนเอง ทำให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น
2.สหภาพแรงงานแบบมีนายจ้างคนเดียวกัน สมาชิกจะประกอบไปด้วยคนงานที่ทำงานให้กับนายจ้างคนเดียวกัน โดยไม่คำนึงว่าจะมีการทำงานที่แตกต่างกันอย่างไร โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกในเฉพาะที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น สหภาพแรงงานแบบนี้ เริ่มมีการเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก ต่อมาได้ขยายไปในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศไทยด้วย เนื่องจากมีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นไปลงทุนมากจึงนำรูปแบบของสหภาพแรงงานแบบญี่ปุ่นไปเผยแพร่ในประเทศเหล่านั้นด้วย รูปแบบของสหภาพแรงงานแบบนี้ เกิดขึ้นหลังแบบแรกราว 50 ปี
ข้อสังเกตุ หลักการของสหภาพแรงงาน ต้องเป็นองค์กรอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง ดังนั้น การตั้งสหภาพแรงงานในแบบที่สอง จึงไม่สอดคล้องกับคำว่า องค์กรอิสระ
ในประเทศไทยปัจจุบัน สหภาพแรงงานส่วนใหญ่ จดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานประเภทกิจการแต่ในการดำเนินงาน กลับมีรูปแบบเป็นสหภาพแรงงานที่ขึ้นตรงกับนายจ้างของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันเอง และก่อให้เกิดปัญหาความอ่อนแอในกระบวนการแรงงานไทยทุกวันนี้
ความเข้มแข็งของกระบวนการแรงงาน ในประเทศไทย มีคนงานที่ขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ประมาณ 9.5 ล้านคน และมีแรงงานนอกระบบประกันสังคมราว 24 ล้านคน แต่มีคนงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานราว 4 แสนคนโดยมีสหภาพแรงงานมากถึง 1,200 กว่าแห่ง (ในประเทศบราซิล 1 สหภาพฯมีสมาชิกราว 2 ล้านคน) มีสภาองค์การลูกจ้าง 13 แห่ง ด้วยกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทยที่ใช้กันอยู่ ทำให้กระบวนการแรงงานไม่มีความเป็นเอกภาพ และอ่อนแอ ขาดอำนาจต่อรองที่แท้จริง
ทางออกเพื่อคนงานในอนาคต องค์กรแรงงานในประเทศไทย ที่มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่สหภาพ สหพันธ์ สมาพันธ์ สภาแรงงาน และกลุ่มแรงงานต่างๆ แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นองค์กรใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังมีสมาชิกไม่มาก และยังมีความทับซ้อนกันอีกด้วย ดังนั้นการที่จะมีเพียงสหภาพแรงงานแห่งเดียว แต่สามารถรวบรวมคนงานเข้าเป็นสมาชิกจำนวนมากได้ สามารถสร้างอำนาจต่อรองที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับได้ นั่นคือคำตอบว่า สหภาพแรงงานเท่านั้นที่จะเป็นองค์กรของคนงานที่มีพลังอย่างแท้จริง และต้องไม่มีการแบ่งแยกว่าจะเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนใดก็ตาม ก็สามารถรวมกันเป็นสหภาพแรงงานเดียวกันได้ ในปัจจุบันคนงานในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยตรง ราว 4 แสนคน หากทุกคนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเดียว จะสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้างได้อย่างสูง และจะไม่มีใครมาล้มล้างได้โดยง่าย แต่ในปัจจุบัน คนงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นกิจการที่สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับต้นๆ มีคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 4-5 หมื่นคนเท่านั้น และยังมีสหภาพแรงงานมากกว่า 50 สหภาพ 2 สหพันธ์ และ 1 สภาแรงงาน เมื่อต่างคนต่างมีองค์กรของตนเอง จึงมักมองแต่ปัญหาภายในของตนเองเป็นหลัก ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ และไม่มีความเข้มแข็ง เราจึงยังพบว่า มีคนงานในประเภทกิจการยานยนต์ที่ยังถูกละเมิดสิทธิ และมีปัญหาพิพาทแรงงาน ถึงขั้นปิดงาน นัดหยุดงาน อยู่เสมอ ซึ่งท้ายที่สุดคนงานมักต้องพบกับความสูญเสีย บอบช้ำ หรืออาจตกงานในที่สุด
ดังนั้น ทางออกของคนงานจากความอ่อนแอไปสู่ความเป็นเอกภาพที่เข้มแข็งได้ จึงต้องรวมกันเข้าเป็นเพียง 1 สหภาพ เท่านั้น จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ การนำเอาสหภาพในกลุ่มยานยนต์ที่มีมากมายหลายแห่งมารวมกัน จะทำให้มีการนำทรัพยากรต่างๆ ของทุกที่มาบริหารจัดการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนต่างๆ จำนวนสมาชิกที่เป็นปึกแผ่นขึ้น รวมไปถึงการรวมผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาช่วยกันบริหารสหภาพแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปัจจุบัน หลายๆสหภาพ มักพบปัญหาว่าขาดผู้นำที่มีความสามารถมาบริหาร เพราะไม่มีคนอยากมาทำงานด้านนี้มากนัก และทำให้องค์กรไม่เติบโต
อุปสรรคของการรวมตัว ปัจจุบัน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้กำหนดรูปแบบสหภาพแรงงานไว้เป็น 2 แบบ ได้แก่1. สหภาพแรงงานที่มีสมาชิกที่เป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน และ 2. สหภาพแรงงานที่มีสมาชิกเป็นลูกจ้างของนายจ้างที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า ใน 1 สหภาพแรงงาน อาจมีสมาชิกที่มาจากหลายบริษัทฯก็ได้ ไม่จำเป็นว่า 1 สหภาพแรงงาน จะต้องจำกัดการรับสมาชิกเฉพาะในบริษัทฯเดียวกันเท่านั้น แต่เมื่อมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในแต่ละบริษัทฯแล้ว กฎหมายก็อนุญาตให้สหภาพแรงงานตั้งแต่ 2 แห่ง สามารถรวมกันเป็นสหภาพแรงงานเดียวกันได้ ภายใต้รูปแบบที่กำหนดไว้ 2 แบบข้างต้น ในมาตรา 109 วรรคสาม ได้กำหนดว่าสหภาพแรงงานที่จะควบรวมเข้าด้วยกัน ต้องได้รับมติจากที่ประชุมใหญ่ และยังต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนด้วย ซึ่งจากการศึกษาในกระบวนการควบรวมแบบนี้ พบว่า มีอุปสรรคมาก ดังนั้นวิธีการที่ง่ายที่สุด คือ การให้สมาชิกที่ใดที่หนึ่งลาออกจากสหภาพแรงงานเดิม แล้วไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกในอีกสหภาพแรงงานหนึ่ง และให้ดำเนินการเลิกสหภาพแรงงานเดิมโดยให้สมาชิกบางส่วนที่ยังไม่ลาออก จัดการประชุมใหญ่แล้วมีมติเลิกสหภาพแรงงานโดยทันที ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อย มีความมั่นคงกว่า
อุปสรรคที่สำคัญที่สุด คือ ผู้นำของแต่ละองค์กรที่อาจยึดติดความเป็นผู้นำ เกรงว่าตำแหน่งต่างๆที่เป็นอยู่จะลดหายไป อำนาจในการจัดการลดลง ดังนั้นจึงต้องทำให้ผู้นำมีความเข้าใจในลัทธิสหภาพแรงงานอย่างถูกต้อง มีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง หากสามารถยอมรับได้เช่นนี้ ปัญหาอื่นๆเช่น ความแตกต่างของค่าบำรุง สวัสดิการสมาชิก การบริหารจัดการ หรือการยื่นข้อเรียกร้อง ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ เพราะสามารถปรับปรุงข้อบังคับให้เหมาะสมเป็นที่ยอมรับได้
สำหรับสมาชิกที่ส่วนมากจะมีความรู้น้อยกว่าผู้นำ ต้องมีการจัดการให้ความรู้โดยมีผู้นำองค์กรเป็นผู้แนะนำ ซึ่งโดยส่วนใหญ่สมาชิกมีความยอมรับ เชื่อถือในตัวผู้นำอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากในการดำเนินการ
ผลกระทบต่อนายจ้าง โดยหลักการแล้ว หากคนงานรวมกันเป็นสหภาพแรงงานเดียว การเจรจาต่อรองกับนายจ้าง จะยกระดับเป็นการเจรจากันในกลุ่มอุตสาหกรรม ปัญหาความขัดแย้งจะมีน้อยลง การนัดหยุดงาน หรือปิดงานก็แทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย เว้นแต่เป็นการขัดแย้งกันในระดับนโยบาย ซึ่งอาจต้องมีการแสดงพลังบ้าง แต่ก็จะไม่ยืดเยื้อ และไม่เกิดความเสียหายรุนแรงทั้งสองฝ่าย
ดังนั้น ผลกระทบด้านลบต่อนายจ้างแล้ว จึงถือได้ว่าไม่มี ตรงกันข้ามนายจ้างกลับบริหารงานได้ง่ายขึ้น สามารถวางแผนการทางธุรกิจได้ชัดเจน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีมากกว่าปัจจุบัน
สรุป การรวมตัวของคนงานในแบบสหภาพอุตสาหกรรม เป็นทางเลือกที่ดีในการขจัดปัญหาแรงงานและเป็นผลดีทั้งของนายจ้างและลูกจ้างในอนาคต ที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
นาย ธีระวุฒิ เบญมาตย์ ประธานสหภาพแรงงานทีไอดี กล่าว การอบรมสัมมนาในครั้งนี้ ทางสหภาพแรงงานได้ทำข้อตกลงกับทางบริษัทตั้งแต่ปี พศ.2551ให้มีการอบรมสมาชิกของสหภาพแรงงาน ในเวลาวันทำงาน โดยที่ผ่านมาทางสหภาพแรงงานทีไอดี ได้มีการอบรมสมาชิกมาตลอด เพื่อเสริมสร้างอาวุธทางปัญญา สร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกของสหภาพแรงงาน เป็นการพัฒนาองค์อีกรูปแบบ ในการเสริมสร้างความเป็นเอกภาพขององค์กรสหภาพแรงงาน
นาย พรหมกฤต จันดี นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวสมุทรปราการ รายงาน