สถานการณ์และแนวโน้มการจ้างงานในภาคพลังงานของไทย

สรุปเวทีเสวนา “ลดโลกร้อนกับการจ้างงาน การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2561 เวลา 09.00-12.30 น. ณ โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา สี่แยกพญาไท กรุงเทพฯ จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2561 เวลา 09.00-12.30 น. มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้ร่วมกับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “ลดโลกร้อนกับการจ้างงาน การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” ณ โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา สี่แยกพญาไท กรุงเทพฯ

กล่าวเปิดเสวนาเรื่อง “ลดโลกร้อนกับการจ้างงาน การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” โดย
นายทวีป กาญจนวงศ์ ในฐานะประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และดร.สเตฟาน โครบอท อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (
FES) ได้กล่าวว่า

“มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นหุ้นส่วนที่ดีของ FES ผมรู้สึกดีใจที่ทางมูลนิธิให้ความสนใจเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม วันนี้มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลายภาคส่วน ทั้งตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ภาครัฐ กระทรวงแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ นักวิจัย โดยภาคส่วนที่สำคัญคือ สหภาพแรงงาน ทางเยอรมันเรียกว่าหุ้นส่วนทางสังคม

สำหรับหลายปีก่อนได้ทำงานให้กับ FES ประเทศไทย มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งช่วงนั้นเป็นเวลาเดียวกันกับที่เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ความร่วมมือในครั้งนั้นทำให้เกิดผลลัพธ์และความสำเร็จหลายส่วนตามมา

เมื่อมา ณ ตอนนี้มีอีก 1 ประเด็นที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่เราจะมาแลกเปลี่ยนกัน คือ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ที่ทาง FES  เยอรมันมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ และได้มีโอกาสต้อนรับคณะจากไทยที่ไปศึกษาดูงานที่เยอรมนีเมื่อ  2 สัปดาห์ที่แล้ว ได้ทราบมาว่าได้ไปเยี่ยมชมเหมืองถ่านหินของเยอรมัน ถือว่าเป็นพื้นที่ที่อ่อนแอของเยอรมัน ซึ่งกลายเป็นอุตสาหกรรมในอดีตไปแล้ว ก็จะคล้ายคลึงกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะมีการเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมัน

ดังนั้นเราต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ซึ่งในการเปลี่ยนผ่านนี้ต้องลงทุน เช่น ด้านการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน ผมขอต้อนรับทุกท่านอีกครั้ง และหวังว่าเวทีนี้ทุกคนจะแลกเปลี่ยนกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

การบรรยายเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม-บทเรียนจากเยอรมนีและข้อคิดสำหรับประเทศไทย

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม-บทเรียนจากเยอรมนีและข้อคิดสำหรับประเทศไทย” ดังนี้

(1) ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นร่วมสมัยที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก นานาประเทศต่างเห็นพ้องกันว่า จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤติโลกร้อน ที่กำหนดไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ปี พ.ศ.2558 และข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศปี พ.ศ.2558 และในส่วนของประเทศไทยก็ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) และมีแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ.2558-2593)

(2) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ออกรายงานว่า โลกจะต้องยอมเปลี่ยนอย่างรุนแรงทั้งวิธีการใช้พลังงาน การคมนาคมขนส่ง การก่อสร้าง เพื่อหลีกหนีจากภาวะเลวร้ายที่สุดของภาวะโลกร้อน โดยเตือนให้ทั่วโลกช่วยกันปกป้องไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง มีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2561 William Nordhaus (วิลเลียม นอร์ดาส) นักเศรษฐศาสตร์ที่มีผลงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น 1 ใน 2 ของผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลดังกล่าว

(3) ขบวนการแรงงานในระดับสากลจึงได้พัฒนากรอบแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมหรือ Just Transition ขึ้นมา และประสบความสำเร็จเบื้องต้นในการรณรงค์ให้ข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศยอมรับว่า จะต้องคำนึงถึงประเด็นนี้

(4) การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมจากโครงสร้างปัจจุบันไปสู่โครงสร้างใหม่ โดยภาคพลังงานขยายตัวในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆได้หดตัวลงอย่างมาก ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม จึงคือการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้นมาเป็นคาร์บอนต่ำ หรือการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน

(5) แม้การเปลี่ยนผ่านจะสร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ แต่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้น และเป็นแหล่งจ้างงานของแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดเล็กและกลางที่แรงงานยังไม่มีความพร้อมในด้านทักษะแรงงานและการเงิน ที่จะพัฒนาไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความเสี่ยงที่จะว่างงานหรือมีรายได้น้อยลง

(6) สำหรับความหมายของคำว่า “ความเป็นธรรม”

  • อมาตยา เซน กล่าวว่า การค้นหาความเป็นธรรมที่สมบูรณ์เป็นเรื่องลำบาก ความไม่เป็นธรรมเป็นสิ่งที่ชัดเจนกว่า เราจึงควรค้นหาความไม่เป็นธรรมที่รุนแรง แล้วไปแก้ไขเสีย
  • คึกฤทธิ์ ปราโมท กล่าวว่า ความเป็นธรรมนั้นเกิดขึ้นได้ยาก ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมายที่ กำหนดประโยชน์ที่แต่ละคนพึงมีพึงได้
  • ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กล่าวว่า ความเป็นธรรมเป็นความเห็นไม่ใช่ความจริง การค้นหาความเป็นธรรมนั้นยากมาก ความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้มีหนทางเดียว คือ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาเจรจาหารือในรูปแบบการสานเสวนา (dialogue) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

(7) การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม จึงหมายถึง การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง แรงงาน และผู้บริโภค ได้มีส่วนร่วมในการคัดสรรเทคโนโลยี และเจรจาจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกัน

(8) บทเรียนจากประเทศเยอรมนี พบว่า

  • เยอรมนีให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานมาแต่ยุควิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1977 ซึ่งในขณะนั้นเป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องการลดภาระการพึ่งพิงน้ำมันที่มีราคาแพง
  • ในปี 2011 เกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะในประเทศญี่ปุ่นระเบิดขึ้น เยอรมันจึงตัดสินใจปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในปี 2029
  • การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส โดยตั้งเป้ายุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และยุติการใช้พลังงานถ่านหินลงภายในปี 2050 โดยหันไปผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
  • ประเทศเยอรมนีสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 28 จากเป้าที่ตั้งไว้ร้อยละ 50-95 % ภายในปี 2050 ในขณะที่ต้นทุนค่าพลังงานไม่ได้แพงขึ้น
  • การจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 330,000 งาน ในปี ค.ศ.2015 ยกเว้นพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ยังไม่สามารถแข่งขันราคากับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเทศจีน
  • ภาคถ่านหินมีบทบาทน้อยลงในภาพรวมระดับประเทศ ทั้งแง่การเป็นแหล่งรายได้และการจ้างงาน แม้ว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีความสำคัญกับภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตอยู่มากพอควร เพราะกระจุกตัวใน 3 ภูมิภาคเท่านั้น คือ เลาซิทซ์ (จ้างงาน 8,300 คน หรือร้อยละ 5 ของผู้มีงานทำในอุตสาหกรรมของภูมิภาค), ลุ่มแม่น้ำไรน์ (จ้างงาน 9,300 คน หรือร้อยละ 10.2 ของผู้มีงานทำในอุตสาหกรรมของภูมิภาค)  และ โคโลญจน์ (จ้างงาน 2,400 คน หรือร้อยละ 17.5 ของผู้มีงานทำในอุตสาหกรรมของภูมิภาค) ทั้งนี้ทั้ง 3 ภูมิภาคต่างก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่เหมือนกัน
  • การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของเยอรมนีไม่ได้เกิดขึ้นจากการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของเยอรมนีเข้มแข็ง ส่งผลให้ประชาชนปรับตัวได้ง่ายและเพียงพอ อย่งไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านกระทบแรงงานจำนวน 1 ใน 7 ของแรงงานทั้งประเทศ ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านนี้จะต้องนำเรื่องความยุติธรรมทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย เครื่องมือสำคัญ คือ ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการถกเถียงแสดงความคิดเห็นกัน
  • เยอรมนีได้ตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการเจริญเติบโตการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการจ้างงาน มีตัวแทนจากภาครัฐ นักวิชาการ สหภาพแรงงาน รวม 28 คน ตั้งเป้าหมายที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงในแต่ละปี ราคาพลังงานที่เหมาะสม ภาคเศรษฐกิจใหม่จะมีลักษณะอย่างไร ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร จะมีมาตรการหรือสวัสดิการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางลบและครอบครัวอย่างไรบ้าง
  • คณะกรรมการชุดนี้ทำงานตั้งแต่กรกฎาคม-ตุลาคม 2018 นอกจากนั้นยังมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายพันธมิตรภาคประชาสังคมด้านภูมิอากาศ มีองค์กรคลังสมองหลายแห่งมาช่วยกันศึกษาค้นคว้าให้ข้อมูล
  • สำหรับสวัสดิการรองรับกรณีว่างงาน คือ เงินจากประกันการว่างงานที่จ่ายร้อยละ 80 ของเงินเดือนในระยะเวลา 1 ปี หลังจาก 1 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์ค่าครองชีพ นอกจากนี้ยังมีเงินจากกองทุน EU เงินช่วยเหลือจากภาครัฐกรณีปิดกิจการ เงินชดเชยกรณีถูกลดชั่วโมงการทำงานลง การแจกเงินให้ประชาชนทุกคนเอาไปปรับทักษะและคุณวุฒิด้านการศึกษา
  • บทบาทสหภาพแรงงานในช่วงการเปลี่ยนผ่าน มีข้อเรียกร้อง 5 ข้อดังนี้ เงื่อนไขการจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนจะต้องดีเหมือนภาคพลังงานถ่านหิน 2. ต้องมีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก่อน 3. ต้องมีการสนทนาระหว่างภาครัฐ ภาคส่วนอื่นๆ และจะละเลยภาคแรงงานไม่ได้ 4. ต้องมีการอบรมทักษะใหม่ให้กับแรงงาน 5. ต้องดูแลสวัสดิการให้กับแรงงานที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ เช่น แรงงานที่มีอายุมาก

(9) เมื่อมาพิจารณาข้อคิดสำหรับประเทศไทย มี 9 ประการ ได้แก่

  • คนไทยต้องตระหนักว่าโลกร้อนเป็นปัญหาและเป็นปัญหาใหญ่ ไม่แก้ไขไม่ได้ และต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รอช้าไม่ได้ ต้องไม่ห่วงแต่ปัญหาเศรษฐกิจ
  • ภาครัฐต้องแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ ออกนโยบายเพื่อไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม
  • การเปลี่ยนผ่านต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม ต้องมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย
  • การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญให้คนในสังคมเข้าใจ
  • ข้อมูลและงานวิจัยมีความจำเป็นโดยเฉพาะแสดงลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน
  • ภาคประชาสังคมต้องคิดก่อนการณ์ สร้างเครือข่าย ตรวจสอบการทำงานภาครัฐ ประสานผลประโยชน์ต่างๆ
  • ความมั่นคงในการจ้างงานและสวัสดิการแรงงานมีแนวโน้มลดลง
  • พลังงานหมุนเวียนช่วยลดความจำกัดด้านพลังงาน เป็นโอกาสอันดีที่พลังงานหมุนเวียนจะเข้าไปช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น
  • แนวคิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสามารถนำมาประยุกตใช้ในบริบทของการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 0 เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไม่มีใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 

การเสวนาเรื่อง สถานการณ์และแนวโน้มการจ้างงานในภาคพลังงานของไทย ข้อเท็จจริง ประสบการณ์และความคิดเห็น

ดำเนินรายการโดย นางสาวอรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ พิธีกรสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ข้อเท็จจริง ประสบการณ์และความคิดเห็น คือ ประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเยอรมันมองว่าถ่านหินเป็นอดีต แต่ประเทศไทย ถ่านหินเป็นปัจจุบันหรืออนาคต ที่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไว การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมอนาคต การจ้างงานจะเป็นอย่างไร เราอยู่ในสังคมใหม่ โลกใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เรามุ่งไปสู่เศรษฐกิจใหม่แต่คนงานก็ต้องไม่ควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

การมองประเทศไทยในวันนี้ จึงคือการมองอนาคต มองการจ้างงานในภาคตลาดแรงงานทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม การรับมือ ทิศทางต่างๆจะเหมือนเยอรมันหรือไม่ สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจะส่งผลต่อการจ้างงานอย่างไรบ้าง วิทยากรแต่ละคนมาจากการทำงานคนละภาคส่วน ก็จะมีมุมมองน่าสนใจที่หลากหลาย รวมถึงบทบาทของภาคประชาสังคมด้วยว่าจะเป็นอย่างไร

นางสาวสุกัญญา ภู่พัฒนากุล ผู้อำนวยการกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน

ตอนแรกที่ได้รับเชิญก็มองว่ายังไม่ชัดเจนในภารกิจที่ตนเองรับผิดชอบว่าเกี่ยวข้องอย่างไร ก่อนไปเยอรมันก็ไปดูข้อมูลจากเวบไซต์ว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอย่างไร ทำให้เข้าใจมากขึ้นในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ มาจากกระทรวงแรงงาน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจส่งผลต่อทุกฝ่ายแน่นอน ไม่ว่าภาคส่วนใดๆ ทั้งรัฐ ประชาสังคม สถาบัน องค์กร เขาตื่นตัวมากในเรื่องการเปลี่ยนผ่าน ทั้งในเรื่องที่ผ่านมา ทั้งเทคโนโลยี และโฟกัสไปที่ภาคพลังงานว่าให้ความสำคัญมากถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ว่าเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร

เยอรมันพร้อมมากในเรื่องการศึกษา มีคณะกรรมการต่างๆมากำหนด ศึกษาในประเด็นต่างๆ มีมาตรการอย่างไรในการรองรับ ก็เลยรู้สึกว่าในฐานะหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงแรงงาน ต้องกลับมามองในส่วนประเทศไทย หากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะต้องทำอย่างไรโดยเฉพาะในด้านพลังงาน ที่ไม่ใช่มองแค่เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรูปแบบใหม่เท่านั้น ทำอย่างไรที่จะเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อภาคแรงงาน แล้วจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

หากดูข้อมูลในส่วนพลังงาน พบว่า ข้อมูลกระทรวงแรงงานยังให้ความสำคัญน้อย ทั้งๆที่ก็มีส่วนผลกระทบ พบว่า ในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนผ่าน คือ ที่ใช้ถ่านหินลิกไนท์หรือการใช้คาร์บอน ประเทศไทยก็ไปตาม คือ ประเทศพัฒนาใช้ได้ ไทยก็ต้องใช้ได้ แต่จริงๆเขาจะปิดแล้ว เรากำลังเปิด มันสวนทางกันมาก

ข้อมูลกระทรวงพลังงานพบว่า เรานำเข้าลิกไนท์มากกว่า นำมาผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม 51 % ผลิตไฟฟ้า 49 %

ต่อมาเมื่อมามองในภาคการจ้างงาน พบว่า มีคนงาน 54,890 คน แบ่งเป็น

  • กิจการเหมืองแร่และเหมืองถ่านหิน 1,556 คน อยู่ที่แม่เมาะ 96 %
  • การผลิตน้ำดิบและก๊าซธรรมชาติ 27,831 คน คิดเป็น 7 %
  • การทำเหมืองแร่/โลหะ 753 คน คิดเป็น 4 %
  • การทำเหมืองแร่/เหมืองหินอื่นๆ 22,056 คน คิดเป็น 2 %
  • กิจกรรมที่สนับสนุนการทำเหมืองแร่/ปิโตรเลียม 2,694 คน คิดเป็น 9 %
  • ไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำและระบบปรับอากาศ 13,597 คน แบ่งเป็นการผลิตและจ่ายไฟฟ้า 13,061 คน คิดเป็น 96 % และการผลิตก๊าซและอื่นๆ 536 คน คิดเป็น 4 %

ต่อมาเมื่อมามองในภาคการจ้างงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการขนส่ง

  • ภาคการผลิตจำนวน 548,573 คน แบ่งเป็นการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือ 138,472 คน คิดเป็น24 % การผลิตยานยนต์ 290,505 คน คิดเป็น 52.96 % การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า 119,596 คน คิดเป็น 21.80 %
  • การจ้างงานในภาคการขนส่ง 233,362 คน แบ่งเป็นการขนส่งทางบกและการขนส่งทางท่อลำเลียง 202,893 คน คิดเป็น 9 % การขนส่งทางน้ำภายในประเทศ 30,469 คน คิดเป็น 13.1 %

ดังนั้นการศึกษาถึงการเปลี่ยนผ่านในการจ้างงาน ผลกระทบที่เกิดขึ้น นโยบายในการรองรับ ภายหลังการเลือกตั้งจะเปลี่ยนไหม เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป

ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ก็เข้าใจสิ่งที่ภาคประชาสังคมได้รับผลกระทบ นอกจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลแล้ว ก็ได้มีการรับฟังความต้องการด้านแรงงาน และตระหนักถึงมาตรการในการเตรียมความพร้อมต่างๆ สำรวจการจ้างงาน ดำเนินไปแล้วเมื่อต้นปี 2561 การคัดแยกทักษะต่างๆในการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน เป็นต้น

ดร.รณรงค์ ภู่อยู่ สำนักพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคที่สำคัญคือภาคพลังงาน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กฎหมายที่สนับสนุน คือ  พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535  ซึ่งนำมาสู่การมีพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) กำหนดอาคารควบคุม พรฎ.กำหนดโรงงานควบคุม มีกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงาน , คุณสมบัติผู้ตรวจสอบพลังงาน, คุณสมบัติผู้รับผิดชอบพลังงาน ,มาตรฐานด้านประสิทธิภาพ ,การใช้พลังงานในเครื่องจักร อุปกรณ์, กำหนดวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ,มาตรฐานการออกแบบอาคาร

โดยการจัดการพลังงานมี 8 ขั้นตอน คือ จัดตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน , ประเมินสถานภาพการจัดการพลังงานเบื้องต้น , กำหนดนโยบายและประชาสัมพันธ์ , ประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน, กำหนดเป้าหมายและแผนการอนุรักษ์พลังงานและแผนฝึกอบรม , ดำเนินการตามแผนและตรวจสอบ ,วิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผน , ตรวจติดตามและประเมินระบบการจัดการพลังงาน , ทบทวน วิเคราะห์และแก้ไขข้อบกพร่องของระบบ โดยมีผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน ดำเนินการจัดการพลังงาน , ผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษา และผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ทำงานร่วมไปด้วย

ขณะเดียวกันยังมีแผนบูรณาการด้านพลังงานของประเทศไทย คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย , แผนอนุรักษ์พลังงาน , แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก , แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ , แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง , แผนอนุรักษ์พลังงาน ทั้งการบังคับ ร่วมมือ สนับสนุน ลดความเข้มข้นของการใช้พลังงาน 30 % , มีแผนพลังงานทดแทน เพิ่มขึ้น 30 %  ทั้งด้านไฟฟ้า 9 % ความร้อน 17 % เชื้อเพลิงชีวภาพ 7 % ตลอดจนมีนโยบายพลังงาน 4.0

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าสถานการณ์การจ้างงานด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระจายอยู่ในทั้งภาคก่อสร้าง เดินเครื่อง ดูแลรักษา เตรียมวัตถุดิบ ที่ต้องการคนเพิ่มมาก

ขึ้น โดยเฉพาะการสร้างเมือง smart city ที่ใช้พลังงานทดแทนเพื่อประหยัดพลังงาน

ตอนนี้ในประเทศไทยคาดการณ์ว่าน่าจะมีการจ้างงานโดยตรงในปี 2562 ประมาณ 27,415 คน กระจายทั้งในภาคชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ และลม

ส่วนการจ้างงานทางอ้อมจากการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เช่น การผลิตแผงโซล่าเซลล์ การพัฒนาธุรกิจการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ การนำแผงโซล่าเซลล์ไปรีไซเคิล  การผลิตหม้อไอน้ำและอุปกรณ์ระบบชีวมวล กาารจัดระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า การผลิตวัตถุดิบพลังงานหมุนเวียน เข่น ข้าว อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา

กล่าวได้ว่าพลังงานหมุนเวียนจึงสามารถสร้างงานที่มีคุณค่าได้ เพราะมีความต้องการต่อเนื่อง ต้นทุนค่าแรงงานไม่ใช่ต้นทุนหลักของอุตสาหกรรม ความเสี่ยงในการทำงานไม่มากนัก ได้ผลตอบแทนที่ดี แต่ก็พบว่าในอีกด้านหนึ่ง บางงานก็ไม่ต้องการทักษะฝีมือ อาจถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรได้ง่ายเช่นกัน , การทำงานบางส่วนยังมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย, ยังไม่มีการกำหนดพัฒนามาตรฐานเส้นความก้าวหน้าในงาน, มีข้อขัดแย้งกับชุมชม กระทั่งขาดการรวมตัวในภาคแรงงาน

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงานในหลายเรื่อง เช่น ฝึกอบรมต่างๆ

สำหรับในเรื่องเหล่านี้ถือว่าประเทศไทยเป็นของทุกภาคส่วนต้องคุยกัน เวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้น ภาครัฐเตรียมตัวในหลายลักษณะไม่ว่าในกระทรวงไหน ก็ต้องมีความพร้อมรองรับในเรื่องนี้

นางสาวธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานกับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

เวลาพูดเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ทุกการเปลี่ยนผ่านต้องเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นี้คือหลักการ Just Transition ส่วนในประเทศไทยมีการเปลี่ยนผ่านหลายเรื่อง เช่น จ้างงานที่มั่นคงไปสู่ไม่มั่นคง ประชาธิปไตยไปสู่เผด็จการ กระทั่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่รัฐบาลไปทำข้อตกลงปารีสต่างๆ และมีกำหนดนโยบายต่างๆต่อประชาชน แต่มีข้อสังเกตว่า รัฐบาลไม่ได้มีการสื่อสารพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง อย่างในเยอรมัน มีคนตกงานหลักหมื่น เป็นเรื่องใหญ่ แต่ในประเทศไทย แม้มีตัวเลขถึงหลักล้านแต่ทำอะไรกันอยู่ กระบวนการมีส่วนร่วมยังไม่เกิดขึ้น ต้องคุยกันเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ

ต่อมาในเรื่องบทบาทสหภาพแรงงานกับการทำงานกับภาคประชาสังคม ที่ผ่านมาเราไม่ได้ต่อสู้แค่โบนัส สวัสดิการ เราพูดเรื่องสังคมในภาพรวม เช่น ของแพง แต่มาวันนี้สินค้าแพง น้ำมันแพง เรายังนิ่งเฉย ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญของสหภาพแรงงานแต่กลับให้ความสนใจน้อย และกฎหมายก็ทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอลง

การเปลี่ยนผ่านในหลายอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า จะได้รับผลกระทบ คนงานก็ยังไม่รู้ ประกันสังคมยังไม่เป็นธรรม ในเยอรมันจ่ายตามค่าจ้างสุดท้ายและจ่ายเพิ่มอีก 1 ปี แต่ประเทศไทยให้คนงานเผชิญชีวิตตนเอง สหภาพแรงงานต้องปรับตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อสังคม อยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ เพราะเราเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว เมื่อมีการไล่รื้อพื้นที่ เป็นพื้นที่ดินของพ่อแม่เรา เราจะกลับไปสู่ชนบทอย่างไร จะทำเกษตรได้ไหม ปัญหาไม่ได้ถูกแก้เป็นองค์รวม แก้เป็นเรื่องๆมาตลอด

การจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป หุ่นยนต์มาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ไหม การจับจ่ายใช้สอยลดลง สังคมจะได้รับผลกระทบมากขึ้น เหล่านี้ต้องคุยกันไม่ใช่การจัดการที่ยังไม่มีนโยบายรองรับผลกระทบที่ยังไม่ชัดเจนแบบทุกวันนี้ การจัดตั้งสหภาพแรงงานจะมีหน้าตาแบบใหม่อย่างไร เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์แบบใหม่ และกฎหมายที่ยังไม่เป็นธรรมอยู่

บทเรียนจากการไปเยอรมัน พบว่า การเปลี่ยนผ่านที่จะเป็นธรรมต้องอยู่ในสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการ เพราะจะขาดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ต้องเป็นเรื่องรับผิดชอบทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ทำ EIA ที่ยังไม่รอบด้าน ต้องคำนึงถึงแรงงาน นายจ้าง ภาคเกษตร ว่าจะกระทบอย่างไรบ้าง

เมื่อมาดูประเทศไทย ต้องไม่ใช่แค่พูดคุย แต่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมกับสังคม การเปลี่ยนผ่านต้องรองรับคนแบบใหม่ กระทรวงศึกษาธิการมีการปรับหลักสูตรรองรับหรือไม่อย่างไร การสื่อสารของรัฐบาลต่อคนในประเทศ ไม่ใช่แค่ไปรับข้อตกลงเท่านั้น และต้องเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่สังคมประชาธิปไตย ให้การเปลี่ยนผ่านประชาชนได้เป็นธรรมได้จริง

ประวัติศาสตร์เยอรมัน กระบวนการแรงงานคือการสร้างสังคมที่เท่าเทียม เรียกร้องรัฐสวัสดิการ  แรงงานต้องยุ่งการเมือง เพราะการเมืองเกี่ยวกับเรา และการเมืองเท่านั้นที่กำหนดกติกาในสังคม สหภาพแรงงานอาจไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด แต่เราจะขับเคลื่อนการเรียนรู้ไปร่วมกัน

นายชัยพงษ์ โฉมเฉลา เครือข่ายแรงงานกับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

ตนเข้ามาร่วมงานกิจกรรมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ปี 2017 ก็มีคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน เกี่ยวอะไรกับอุตสาหกรรมยานยนต์  เกิดความสงสัย ต่อมามีการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีงานวิจัยต่างๆ ฝึกการเก็บข้อมูลต่างๆ มองสถานการณ์ในกลุ่มยานยนต์ พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบต่อทุกภาคส่วน เช่น การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า กระทบห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ สิ่งที่อันตราย คือ แรงงานยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้

เวลานำเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างการผลิต ทุกคนในห้องจะถามว่า ที่ทำอยู่เกี่ยวกับโลกร้อนอย่างไร พบว่า นี้คือการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีนโยบายต่างๆในการลดโลกร้อน ก็มีคำถามมาที่กลุ่มยานยนต์ว่าจะทำอย่างไร เพราะการผลิตรถยนต์ทำลายโลกมาก ในกลุ่มยานยนต์วางแผนไว้ 20 ปี แต่จากข้อมูลบอกว่า 13 ปี นายจ้างมีแผนรองรับในการปรับโครงสร้าง กำลังแรงงานในการลดโลกร้อนเหล่านี้ ถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงมาก หุ่นยนต์ลงทุนครั้งเดียว 1-5 ปี ก็คุ้มทุนแล้ว แต่ลงทุนกับแรงงาน ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงการจ้างงานจึงเกิดขึ้น ดังนั้นแรงงานต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ด้วย

การลงพื้นที่ในหลายๆพื้นที่ พบว่า เวียดนามพูดเรื่องพลังงานเป็นหลักไม่ได้พูดเรื่องผลกระทบภาคแรงงาน ไปสงขลา พบว่า การท่าเรือน้ำลึกแม้สร้างเศรษฐกิจ สร้างโอกาสคนพื้นที่มีงานทำ เราคิดแบบนี้ด้วยซ้ำ หรือโรงไฟฟ้าชีวมวล เกษตรกรจะมีงานทำ ป้อนงานเข้าโรงไฟฟ้า สร้างเศรษฐกิจพื้นที่ แต่กลับพบว่า ปัญหาคือสร้างความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ คิดเห็นไม่ตรงกัน ทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว กระทบไปทั้งหมด

ความท้าทาย คือ จะทำอย่างไรให้คนตระหนักและทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการมีข้อเสนอนโยบายระดับต่างๆ ตั้งแต่สถานประกอบการ อุตสาหกรรม ระดับชาติ ปัญหาที่ผ่านมา การคิดนโยบายมาจากคนไม่กี่คน ทำให้ส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมกับเรา ต้องไม่คิดแค่ปัจเจกในการอยู่รอด แต่ต้องทำให้สังคมรอดแบบยั่งยืนร่วมด้วย

รวมถึงในเรื่องโอกาสการจ้างงานในภาคพลังงานทดแทน จะมีหน้าตาอย่างไร เรื่องนี้ในไทยก็ยังไม่ได้คุยกัน รวมถึงผลกระทบจากคนตกงาน เช่น ค่าชดเชยจากภาครัฐ จากบริษัทที่เสียโอกาสในการทำงาน การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดต้องมีกองทุนสนับสนุนโดยตรง

สิ่งที่เห็นจากเยอรมัน คือ แก้ไขเรื่องพลังงานก่อนเรื่องอื่นๆ และสำคัญ คือ การมีส่วนร่วมจากคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ การสร้างเครือข่ายแต่ละภาคส่วนจึงสำคัญ ที่เยอรมันแรงงานไม่ยุ่งการเมือง แต่สร้าง power ให้พรรคการเมืองมาหา แต่ประเทศไทยบริบทแต่ละส่วนต่างกัน

นางนันทวัน หาญดี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดฉะเชิงเทรา

ด้านภาคประชาสังคมที่ทำงานกับเครือข่ายเกษตรกรรายย่อย ก็มีคำถามว่าจะเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมอย่างไร การทำงานที่ผ่านมาคงไม่ได้พูดเรื่องประเด็นใดประเด็นหนึ่ง พลังงานเป็นแค่เรื่องหนึ่งเท่านั้นในสังคมไทย เราชอบมองการพัฒนาที่แยกส่วนกัน ไม่ได้มองในเชิงระบบที่กระทบทั้งหมด ประเด็นพลังงานไม่ได้เกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่พลังงานในประเทศไทยเป็นพลังงานขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เกษตรกร เพราะไปตั้งในพื้นที่ทั้งสิ้น มีแหล่งน้ำ แต่ไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่า มีเกษตรกร มีชุมชน ใช้ทรัพยากรร่วมกับเรา ที่เราต่อต้านคือโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มาก

ความเปราะบาง คือ ทรัพยากรน้ำมีจำกัด และมีโครงการขนาดใหญ่ไปลงทุนอยู่แล้ว เป็นปัญหาเดิมอยู่แล้ว ทิ้งของเสีย โรงไฟฟ้าถ่านหินก็มีตัวอย่างจากที่อื่นๆ โลกร้อน การใช้น้ำ ของเสียในรูปขี้เถ้า มลพิษที่แพร่กระจาย และกระบวนการการเข้าไปมีส่วนร่วมประชาชนไม่มี คิดและตัดสินใจโดยคนกลุ่มเดียวที่ตัดสิน คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วม มุมมองจากพื้นที่ คือ ชุมชนต่อต้าน เพราะไม่ได้เป็นหุ้นส่วนในการกำหนด
ทิศทางการขับเคลื่อนร่วมกัน นี้คือเรื่องที่เกิดขึ้น

มองแค่ว่า เป็นเรื่องการเสียสละ คนในพื้นที่ เจ้าของพื้นที่ ได้รับผลกระทบโดยตรง ต้องเป็นคนตัดสินใจส่วนใหญ่ ไม่ได้แค่มองว่าเป็นร้อยเป็นพันเท่านั้น ต้องไม่มองกรอบคิดแบบเดิม ไม่อย่างนั้นเราจะเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมไม่ได้เลย

เขาพูดเศรษฐกิจสีเขียว แต่ไทยสวนทางทุกเรื่อง แม้ลงนามสัญญาต่างๆจำนวนมาก การศึกษายังแยกส่วน  ประเมินผลกระทบแค่โครงการ ทั้งๆที่โครงการตั้งในพื้นที่ต้นน้ำ ไม่ได้มองในเชิงยุทธศาสตร์และศักยภาพพื้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่

คนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมสร้างเศรษฐกิจฐานราก แต่รัฐบาล การเมือง กลับให้ความสำคัญเศรษฐกิจระดับบน กลุ่มทุนขนาดใหญ่ เป็นแนวคิด 30 ปีที่แล้ว 4.0 เป็นฐานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ไม่สร้างความยั่งยืนทั้งหมด และรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้มาจากการตัดสินใจของประชาชน การรับฟังประชาชนเป็นศูนย์ กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษลิดรอนสิทธิทุกเรื่อง มาเรียกร้องชุมนุม 5 คนก็ทำไม่ได้ รวมทั้งเราตระหนักกันมากน้อยแค่ไหน ภาคพลังงานยังไม่เห็นคนกลุ่มอื่นๆ สนใจแต่เรื่องประเด็นตนเอง โลกร้อนยังเป็นเรื่องไกลตัวทั้งๆที่สำคัญมาก

โลกในอนาคต บทบาทภาคประชาสังคมมีความสำคัญอย่างมาก เพราะไปเพิ่มขีดความสามารถเป้าหมายที่อ่อนแอให้เข้าถึงข้อมูล รวมกลุ่มให้เข้มแข็ง ให้เสียงดังขึ้น มีข้อเท็จจริงเชิงวิชาการในการสนับสนุนข้อมูล เราอยากเห็นประเทศไทยก้าวไปสู่ประชาธิปไตย รัฐบาลเผด็จการต้องถูกรื้อ โดยเฉพาะกฎหมายที่เอารัดเอาเปรียบ ขาดการมีส่วนร่วม ต้องสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาคเกษตรกรรมจะสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปกป้องอาหาร ต้องเชื่อมโยงสร้างความเข้าใจตรงนี้ ทั้งการปรับตัว รับมือ รักษาฐานการผลิตอาหารในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกผูกขาด ที่ทุกคนเข้าถึงอาหารได้ ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เราเป็น HUB ของอาหารของโลกได้ จะบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างไร ไม่ใช่การนำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

หลังจากที่วิทยากรอภิปรายเสร็จ ผู้เข้าร่วมในเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหลากหลายพื้นที่ในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การจ้างงานในภาครัฐวิสาหกิจ , การไล่รื้อในภาคเกษตรกรรมจากนโยบายการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ , การปรับผังเมืองต่างๆรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

บันทึกโดย : บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม

27 ตุลาคม 2561