เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2561 เวลา 08.30-13.00 น. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์กรเครือข่ายแรงงานประมาณราว 2,000 กว่าคน ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล หรือ Decent Work Day โดยเดินรณรงค์จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 5 ซึ่งระหว่างเคลื่อนขบวนได้มีผู้นำแรงงานจากองค์กรต่างๆขึ้นปราศรัยบนรถเวทีเพื่อสะท้อนปัญหาของแต่ละกลุ่มฯตลอดทาง โดยในปีนี้จะรณรงค์เพียงประเด็นเดียวคือ” ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง”เพื่อการรณรงค์ให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่าในสถานที่ทำงาน ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท.และเลขาธิการ สรส.กล่าวว่า ปัญหาการจ้างงานที่ไม่มั่นคงในปัจจุบันไม่มีเฉพาะในการจ้างงานภาคแรงงานในสถานประกอบการเอกชนเท่านั้นมันเริ่มคุกคามเข้าไปสู่แรงงานในภาครัฐ แรงงานในภาครัฐวิสาหกิจถูกแปรรูปลดบทบาทไปและเพิ่มบทบาทภาคเอกชน งานที่รัฐเคยทำก็ถูกถ่ายโอนไปให้ภาคเอกชนซึ่งเป้าหมายสูงสุดของเอกชนก็คือกำไรสูงสุด จึงทำให้ภาคประชาชนอยู่อย่างลำบากมากขึ้น ดังนั้นวันนี้เครือข่ายแรงงานจึงร่วมกันรณรงค์ประเด็น ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เพราะเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและส่งเสริมการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืนได้
เครือข่ายแรงงานได้ยื่น 1 หมื่นรายมือชื่อ และยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพียงข้อเดียวคือ ขอให้รัฐบาลยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง โดยมีนายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนมารับข้อเสนอ ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องเดิมไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ,ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามหลักการของ ILO ก็ยังต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป
ทางด้านสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (ALCT) ในเครือข่ายแรงงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม หรือ Just transition นำโดยนายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธาน ALCT ก็ได้ร่วมขบวนรณรงค์ในครั้งนี้และยื่นข้อเสนอต่อผู้แทนรัฐบาลเช่นกัน โดยมีข้อเรียกร้องเพื่อให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทยในการลดภาวะโลกร้อนตามพันธสัญญาข้อตกลงทางสากล ไม่กลับกลายเป็นการสร้างผลกระทบต่อแรงงานในประเทศไทยโดยขาดมาตรการรองรับ โดยมีข้อเสนอดังนี้
- ภาครัฐต้องสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้ทราบสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายลดโลกร้อน และสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดกลไกการแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่เพียงการกำหนดจากรัฐและฝ่ายทุนเท่านั้น
- ภาครัฐต้องมีการกำหนดมาตรฐานการจ้างงานในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อเอื้อให้เกิดการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมนั้นๆที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน
- ภาครัฐต้องมีนโยบายด้านการชดเชยอย่างเหมาะสมให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายลดสภาวะโลกร้อนในรูปแบบต่างๆ อย่างครอบคลุมเช่น การเลิกจ้างเนื่องจาการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงาน การลดการผลิตจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าแทนพลังงานฟอสซิลเป็นต้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “สร้างงานที่มีคุณค่า” ตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
- ภาครัฐต้องมีการจำแนกอุตสาหกรรมตามระดับความรุนแรงงานที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนโดยไม่เหมารวม เนื่องจากผลกระทบจากการจ้างงานในบางอุตสาหกรรมมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมควรมีระดับต่างๆ ทั้งการ ป้องกัน ปกป้อง บรรเทา แก้ไข และเยียวยา
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน