สรุปเสวนา เรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับ 6 มีนาคม 2560: ก้าวไปข้างหน้าหรือย่ำอยู่กับที่” วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.00-15.00 น. ณ ห้องคริสตัล บอลรูม โรงแรมฮอลิเดย์อินน์สีลม ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ จัดโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ประเทศไทย (SC)
สรุปโดย : นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.00-15.00 น. ณ ห้องคริสตัลบอลรูม โรงแรมฮอลิเดย์อินน์สีลม ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ประเทศไทย (SC) จัดเสวนาเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับ 6 มีนาคม 2560: ก้าวไปข้างหน้าหรือย่ำอยู่กับที่” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เข้าใจสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับ 6 มีนาคม 2560 (2) เปรียบเทียบสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับ 6 มีนาคม 2560 ว่าเป็นไปตามหลักการอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 หรือไม่ อย่างไร (3) อภิปราย ประเมินและถกเถียงต่อร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับ 6 มีนาคม 2560 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานโดยตรง (4) เพื่อจัดทำข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับ 6 มีนาคม 2560 สรุปสาระสำคัญแต่ละช่วงของการเสวนาได้ดังนี้
(1) ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดเสวนา
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงงานไทย
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ใช้บังคับมากว่า 40 ปี มีกฎหมายหลายมาตราที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะถ้าย้อนไปตั้งแต่ที่มีการแบ่งแยกองค์กรแรงงานภาคเอกชนกับภาครัฐวิสาหกิจออกจากกัน ตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ที่ในเดือนเมษายน 2534 รัฐบาลในขณะนั้นได้ดำเนินการออก พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 เพื่อยุบเลิกสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ไม่มีสิทธิแจ้งข้อเรียกร้องและร่วมเจรจาต่อรอง และไม่มีสิทธิรวมตัวกับสหภาพแรงงานเอกชน และนี้ทำให้ขบวนการแรงงานจึงเกิดความแปลกแยกกัน แน่นอนแรกๆยังไม่เท่าไหร่ ยังมีการเชื่อมประสานการทำงานกันอยู่ โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535
ผลจากการขับเคลื่อนของภาครัฐวิสาหกิจกว่า 9 ปี ก็ทำให้ได้ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ขึ้นมา แรงงานรัฐวิสาหกิจมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจ และมีสิทธิแจ้งข้อเรียกร้องได้ แต่กฎหมายยังคงแบ่งแยกสิทธิการรวมตัวของแรงงานเอกชนกับรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิมมาจวบจนปัจจุบัน สถานการณ์เหล่านี้จึงทำให้พนักงานหรือสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเชื่อว่า เอกชน รัฐวิสาหกิจ มีบริบทการทำงานที่ต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายคนละฉบับ แน่นอนในอีกทางหนึ่งในภาครัฐวิสาหกิจบางส่วนบางกลุ่มก็พยายามปรับเปลี่ยน ชี้ให้เห็นความอ่อนแอของการไม่รวมตัวกัน มีการล้มสหภาพแรงงาน ทำให้ในที่สุดสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. จึงมาเป็นสมาชิก คสรท. และขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน
สำหรับจุดยืนในเรื่องกฎหมายแรงงานสัมพันธ์นั้น คือ ต้องเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันที่หลักการเดียวกัน มีความสอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 แน่นอนทาง คสรท.เองก็มีการขับเคลื่อนมาตั้งแต่สมัยฉบับสีม่วงแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะรัฐก็มักจะบอกว่าต้องมีกฎหมายภาครัฐมาประกบ มาพิจารณาร่วมกัน เมื่อพิจารณาร่วมกันก็ยำไปยำมาก็เละ กฎหมายคนงานหลายฉบับที่เสนอไปผ่านกฎหมายเข้าชื่อ ก็เหมือนเดิม เอามายำ หลักการก็หายไป
ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาก็มีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะก่อนมีรัฐประหารปี 2557 ท้ายสุดกฎหมายฉบับนี้โดยภาครัฐก็กำลังจะเสนอเข้าสู่สภา ทางคสรท. และสรส. ก็คัดค้าน จนในที่สุดก็มีการถอนออกมา กระทรวงแรงงานได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยผู้นำภาคส่วนต่างๆ ทั้ง สรส. และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้ง คสรท. ซึ่ง คสรท. และสรส. ได้ยืนยันกฎหมายฉบับเดียว ครอบคลุมแรงงานทุกประเภท ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ สรส.ก็ส่งผู้แทนเข้าไป คสรท.ก็ส่ง แต่นั้นเองเสียงข้างน้อยย่อมแพ้เสียงข้างมาก เมื่อต้องตัดสินใจว่าจะแยกหรือรวมกฎหมาย สุดท้ายก็แยกกฎหมายคนละฉบับ
ต่อมามีการประชุมที่ สรส. และมีมติให้แยกการทำงานจากกระทรวงแรงงานออกมา เพราะในหลักการยังไม่ได้ ทาง คสรท. และสรส. จึงถอนออกจากคณะทำงาน และในที่สุดคณะทำงานของกระทรวงเองก็ยกร่างเสร็จ และนำมาสู่การประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ซึ่งมีพี่น้องแรงงานบางส่วนได้เข้าไปรับฟังมาบ้างแล้ว และต่อมาเมื่อวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2560 คณะทำงานพิจารณาร่างกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็ได้แก้ไขร่างกฎหมายอีกครั้งหลังรับฟังความคิดเห็นแล้ว
ดังนั้นการจัดเสวนาขึ้นมาในวันนี้ สำหรับพวกเราก็ต้องไตร่ตรองและใคร่ครวญ แต่โดยส่วนตัวของผมคือ ยังยืนยันหลักการว่ากรรมกรแบ่งแยกไม่ได้ ทุกคนเป็นพี่น้อง จำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับเดียว สุดท้ายชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็รับใช้ชนชั้นนั้น กฎหมายเป็นเครื่องมือทางชนชั้น ใครมีอำนาจก็ใช้กฎหมาย ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีก็ต้องพิจารณาร่วมกัน
คสรท. ก็อาจต้องไปคุยกันหลังจากวันนี้ว่าจังหวะก้าวของขบวนการแรงงานจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และในระหว่างนี้ก็มีความพยายามจะจัดตั้งสหภาพแรงงานผู้ประกันตนขึ้นมา ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายประกันสังคม ที่วันนี้ก็ยังไม่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะการขยายอายุรับบำนาญชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี พูดง่ายๆคือ ส่งเงินสมทบกันจนตายก็ไม่ได้ชราภาพ หรือเกษียณอายุหรือออกจากงานก็สิ้นสุดผู้ประกันตน ทำไมต้องสิ้นสุด ทำไมไม่ได้รับสิทธิต่อไป
ท้ายที่สุดผมเคารพคนที่ยกร่างกฎหมาย เช่น พี่ตุลา ปัจฉิมเวช คนงานผ่านการถกเถียงมาหลายยุคหลายสมัย อย่าสับสนการต่อสู้เพราะที่ผ่านคงไม่มีอะไรที่จะแย่ไปกว่ากฎหมายปี 2518 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เราไม่ควรลืมหลักการเดิม จุดยืนของเรา เพราะการแก้ไขเป็นรายมาตรา ผมเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใดเหมือนที่ผ่านมาก็ยำกันไม่รู้กี่ร่างจนไม่เหลืออะไร และก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อร่างนี้เข้าไปแล้วจะถูกตัดตอนแบบไหนอย่างไรอีก จากที่กล่าวทั้งหมดเหล่านี้คือที่มาที่ไปของการจัดเวทีเสวนานี้ขึ้นมา คสรท. จึงได้ร่วมกับโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ประเทศไทย (SC) ในการเชื้อเชิญวิทยากรหลายๆภาคส่วนมาให้ความรู้ร่วมกัน
(2) เสวนา “ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับ 6 มีนาคม 2560 : ก้าวไปข้างหน้าหรือย่ำอยู่กับที่”
ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสรท.
กระบวนการในการทำร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับของรัฐบาลนี้ใช้เวลาพอสมควร คำถามคือ
พี่น้องแรงงานได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากน้อยอย่างไร มีประเด็นที่เราต้องถกเถียง ใส่ใจ ขับเคลื่อนกันต่ออย่างไร เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญ เวทีการเสวนาจะเริ่มต้นด้วยการรับฟังสาระสำคัญ แนวคิด และวิธีการที่จะเดินต่อ ประกอบด้วยวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ นายณรงค์ฤทธิ์ วรรณโส ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนากฎหมาย กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.), นายสนธยา เผ่าดี ผู้จัดการทั่วไปบริษัทนิตโต้ มาเทค (ประเทศไทย) จำกัด และนายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ที่ปรึกษาในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน สำหรับการตั้งชื่องานเหมือนเป็นปลายปิดพอสมวร ว่าจะก้าวไปข้างหน้าหรือย่ำอยู่กับที่ แต่อย่างไรก็ตามสามารถอภิปรายได้อย่างเหมาะสมตามมุมคิดแต่ละท่าน
นายณรงค์ฤทธิ์ วรรณโส ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนากฎหมาย กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ที่ผ่านมาหลายคนคงได้รับฟังมาบ้างแล้ว ซึ่งทางกระทรวงแรงงานได้จัดมาแล้ว 2 ครั้ง อีกทั้งยังได้เผยแพร่ทางเวบไซด์ซึ่งยังสามารถรับฟังได้โดยตลอด เพราะเป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สามารถรับฟังได้จนถึงชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นอกจากนั้นทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยอนุกรรมาธิการแรงงานก็จัดรับฟังไปแล้วเมื่อมีนาคม 2560 เช่นเดียวกัน
ทุกคนทราบดีว่ากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 2518 มีระยะเวลา 40 ปี มีความพยายามในการปรับปรุงแก้ไขโดยตลอดแต่ไม่สำเร็จ มีการผลักดันหลายๆฝ่ายทั้งทางนายจ้าง ลูกจ้าง แม้กระทั่งทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเอง สถานะร่างตอนนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานฝ่ายกฎหมายในกระทรวงแรงงาน ซึ่งทางนายจ้างได้ยื่นคัดค้านมาหลายมาตรา
กระบวนการต่อจากนี้ คือ เมื่อทางกระทรวงแรงงานยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และต่อด้วยการพิจารณาในคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเข้าพิจารณาในเดือนกันยายน 2560 ซึ่งร่างกฎหมายนี้จะเข้าพร้อมกับร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของภาครัฐวิสาหกิจ้
เมื่อมาพิจารณาโครงสร้างกฎหมาย จะมี 5 ส่วน รับรองการรวมตัวของนายจ้างลูกจ้างในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็รองรับไว้ในรูปแบบสหภาพแรงงานหรือรูปแบบอื่นๆที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ในส่วนที่ 2 คือ การวางหลักเกณฑ์ในการยื่นข้อเรียกร้อง ข้อตกลงสภาพการจ้าง เดินไปแล้วกระบวนการจะไปจบตรงไหน การใช้สิทธิปิดงาน การนัดหยุดงาน การเจรจาไกล่เกลี่ย การระงับข้อพิพาท เรื่องที่ 3 การคุ้มครองสิทธิผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้าง แต่ก็คุ้มครองฝ่ายนายจ้างด้วย ในแง่นิติสัมพันธ์กฎหมายต้องคุ้มครองทุกฝ่าย แต่กฎหมายที่ออกมาทั่วโลกมักคุ้มครองผู้ถูกกระทำมากกว่า เรื่องที่ 4 คุ้มครองแล้ว มีกระบวนการคุ้มครองเยียวยาอย่างไร สามารถนำคดีจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สู่ศาลแรงงานได้ เรื่องที่ 5 มีกลไกในการจัดการคุ้มครอง เช่น คณะรัฐมนตรีสามารถออกกฎกติกาได้ มีคณะกรรมการฝ่ายต่างๆในการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ก่อนตอบคำถามว่าก้าวหน้าหรือถอยหลัง ผมเห็นว่าในส่วนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับนี้มีความก้าวหน้า ได้แก่
กระบวนการยื่นข้อเรียกร้อง มีการแก้ไข ปรับปรุง เช่น การกำหนดระยะเวลายื่นข้อเรียกร้อง ต้องยื่น
กี่วัน , สมาชิกที่ถอนตัวระหว่างยื่นข้อเรียกร้องไม่ครบ 15 % ก็ยังสามารถดำเนินการต่อได้ , เรื่องระยะเวลามีความยืดหยุ่นยาวนานขึ้น จาก 3 วัน เป็น 5 วัน เป็นต้น , เรื่องของที่ปรึกษาไม่ต้องขึ้นทะเบียน เพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมแทรกแซง คุณสมบัติไม่ครบ เพราะที่ผ่านมาไม่มีบัตรที่ปรึกษามีโทษ , ในมาตรา 22 เพิ่มทางเลือกในการระงับข้อพิพาท เอาปัญหาในทางปฏิบัติมาเขียนไว้ในกฎหมาย เช่น เอาข้อตกลงที่ตกลงไม่ได้ เอาไปตกลงกันเองหรือให้พนักงานประนอมไปไกล่เกลี่ย หรือจะตั้งผู้ชี้ขาด หรือจะใช้สิทธิปิดงาน หยุดงาน เพื่อระงับข้อพิพาทแรงงานที่เปิดกว้างขึ้น ต่อมาเมื่อใช้สิทธิปิดงานก็ต้องปิดทุกส่วน ไม่ใช่แค่บางส่วน ทำให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองมากขึ้น
มีคณะกรรมการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เพิ่มขึ้นมาซึ่งกฎหมายเดิมไม่มี มีอำนาจหน้าที่เรื่องการส่งเสริมเรื่องการวางยุทธศาสตร์ การคัดเลือกผู้แทนไปประชุม ILO รวมถึงการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ , ในส่วนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ได้ปรับปรุงมาก แก้ไขในส่วนกระบวนการพิจารณาคำวินิจฉัยมากกว่า , เรื่องการกระทำไม่เป็นธรม มีการปรับปรุงแก้ไขตั้งแต่การจัดตั้งสหภาพแรงงาน เมื่อนายจ้างรู้มีการโยกย้ายหน้าที่ ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย , การปิดงาน มีการระบุเรื่องการห้ามเลือกปฏิบัติ เอาคำพิพากษาศาลฎีกาปี 59 ที่วางบรรทัดฐานไว้มาปรับปรุงในข้อนี้
เรื่องการตั้งสหภาพแรงงาน ไม่กีดกันเรื่องสัญชาติแบบกฎหมายเดิม แต่อย่างไรก็ตามการรับฟังความคิดเห็น 2 เวทีที่ผ่านมา ในประเด็นนี้นายจ้างไม่ค่อยเห็นด้วย รวมถึงบอร์ดบริหารก็ไม่ควรมี ซึ่งในร่างนี้ ฝั่งนายจ้างไม่เอาด้วย ถ้าเข้า สนช. ประเด็นนี้ก็ต้องมีการถกเถียงต่อไป
กระบวนการยื่นข้อเรียกร้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน เช่น สัญญาจ้างสิ้นสุดตามระยะเวลาหรือเกษียณอายุ ยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องขออำนาจศาลเลิกจ้างแล้ว เพราะไม่ใช่เรื่องกลั่นแกล้งใดๆเหล่านี้คือภาพรวมร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่นี้ทั้งหมด
วันนี้จะถือว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคแรงงานก็เป็นเรื่องที่ยินดี ว่ามีความคิดเห็นต่อร่างประเด็นไหนบ้าง สมมติว่าวันนี้จัดเวทีเสร็จแล้ว ก็สามารถนำความคิดเห็นนี้นำเข้าสู่พิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ เดิมทีกระบวนการในชั้นกฤษฎีกาเป็นกระบวนการปิด แต่ในยุคปัจจุบันก็เปิดกว้าง สามารถให้ข้อมูลต่อกฤษฎีกาได้โดยตรง หรือในชั้นกรรมาธิการก็มีการรับฟังเช่นกัน ก็เปิดการรับฟังได้ ที่ผ่านมาก็เห็นในหลายฉบับ ถ้าดูในมาตรา 77 จะเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะรับฟังตลอดกระบวนการก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ถามว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดหรือแย้งกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 หรือไม่ ในอนุสัญญาเป็นเรื่องหลักการ เวลามาแปลงเป็นกฎหมาย ก็เป็นมุมมองที่จะถกเถียงกันได้ ถ้าดูในรัฐธรรมนูญหมวดสิทธิเสรีภาพ หลักการในกฎหมายจะรองรับสิทธิเสรีภาพไว้เป็นหลักก่อน แล้วค่อยมาเขียนข้อยกเว้น ข้อยกเว้นก็เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายหนึ่ง และรักษาความสงบเรียบร้อยของอีกฝ่ายหนึ่งในภาพรวม แต่จะขอบเขตแค่ไหนอย่างไรก็ต้องตีความพิจารณาต่อไป
มีการคุยกันว่า หลายเรื่องเป็นการแทรกแซงหรือไม่อย่างไร เช่น ที่ปรึกษาปัจจุบันต้องมีคุณสมบัติกำหนดไว้ มีอายุที่ปรึกษา 2 ปี ตัวอย่างเช่น การไปขึ้นทะเบียนถือว่าแทรกแซงหรือไม่ เพราะคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องต้องมีความรู้ด้านแรงงานพอสมควร เพื่อให้กระบวนการเดินต่อไป ไม่ใช่การยุยงให้เกิดข้อพิพาทแรงงาน เอาค่าทนาย ค่าที่ปรึกษา แต่ในอีกมุมหนึ่งคือ ไม่ต้องกำหนด เพราะเขาไว้วางใจแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา ก็ต้องยอมรับเขา จะไปควบคุมกำกับกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไร นี้ก็เป็นมุมมอง 2 ฝ่าย ที่มองต่างกัน เป็นต้น
ในเชิงประวัติศาสตร์ของกฎหมาย คือ ปี 2534 มีการปฏิวัติ มองว่าผู้นำแรงงานบางคนไปยุยงส่งเสริมให้เกิดข้อพิพาทแรงงาน สร้างความวุ่นวาย ก่อม็อบ ไม่รู้จิตวิญญาณกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ รัฐก็มองแบบนั้น และออกคำสั่ง รสช. มาควบคุม เป็นต้น เหล่านี้มีที่มาที่ไป ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แบบนี้เรียกว่าจะไปแทรกแซงหรือไม่ อย่างไร
ดังนั้นเวลาอ่านอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ต้องอ่านควบคู่ไปกับรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมถึงปฏิญญาต่างๆ เช่น ทางยุโรปที่วางหลักการเรื่องสิทธิการรวมตัวไว้ ที่ผ่านมาการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ลูกจ้างถูกเอารัดเอาเปรียบ อนุสัญญา ILO จึงเกิดขึ้นมา แต่ก็มีข้อยกเว้นกำหนดไว้ แต่เวลาเอามาใช้ มองว่าต้องคุ้มครองทั้งหมด ซึ่งต้องดูข้อยกเว้นด้วย เช่น ในเรื่องมาตรา 4 มีเรื่องข้อยกเว้นว่าถ้าเป็นลูกจ้าง พนักงานของรัฐ หน่วยงานรัฐ ต้องไปออกกฎกติการับรองการรวมตัวของพนักงานไว้
เช่น ข้าราชการ ก็มีการร่างการรวมตัวไว้เป็นพระราชกฤษฎีกาแต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ มีการกำหนดว่าหน่วยงานต่างๆต้องไปออกกฎเกณฑ์การรวมตัว เช่น พยาบาลกระทรวงสาธารณสุข เป็นพลเมืองชั้น 2 พยายามให้รัฐบาลบรรจุเป็นข้าราชการ ถ้าสัญญาจ้างแบบ 4 ปี ไม่มีงบจ้างก็จะตกงาน ส่วนราชการก็ต้องไปออกกฎกติกาภายใน 1 ปี เป็นต้น การรวมตัวก็ให้ทุกหน่วยไปออกเอง แต่กระทรวงแรงงานอาจมีไกด์ไลน์ในการดำเนินการ
เรื่องของการรวมตัวนอกจากสหภาพ สหพันธ์ สภาองค์การลูกจ้าง ก็ยังรวมตัวในรูปแบบอื่นๆได้ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น หรือไปร่วมกับกิจกรรมกลุ่มอื่นๆได้ ในรัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิเหล่านี้ไว้
ร่างนี้กระทรวงแรงงานเองก็ได้มีกระบวนการ re-check ว่าสอดคล้องอนุสัญญาหรือไม่อย่างไร เรียนว่าเรามีผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาเรื่องนี้อยู่ และจะส่งดราฟไปให้ ILO comment เพื่อ re-check ในเรื่องนี้ ลำพังการให้ความเห็นจากฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง ย่อมมีมุมมองที่แตกต่างกันคนละข้าง คนที่จะให้น้ำหนัก คือ องค์การแรงงานระหว่างประเทศโดยตรง
สำหรับในส่วนหลักการที่เขียนว่าสอดคล้องกับ ILO 87 98 ถ้าเนื้อในไม่สอดคล้องกับหลักการก็ปรับให้สอดคล้องได้ แต่อยู่ที่มุมมองตีความ ร่างเดิมในกฤษฎีกาก็อ้างอิงเรื่องนี้อยู่
แต่ในร่างก็ยังระบุเรื่องการห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองของสหภาพแรงงาน ในคณะทำงานก็มีการพิจารณาว่าขอบเขตขนาดไหนอย่างไร เช่น สหภาพแรงงานไปผลักดันเชิงนโยบาย ไปยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เป็นเรื่องการเมืองไหม ? เหล่านี้เป็นเรื่องสาธารณะ แต่ไม่ใช่การสนับสนุนพรรคการเมือง
กรณีคณะกรรมการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์มีการล็อคสเปคไว้หรือไม่ อย่างไร เสนอว่าท่านก็ให้ความคิดเห็นมาว่าไม่ครอบคลุมลูกจ้างกลุ่มอื่นอย่างไร และกระบวนการได้มาเป็นอย่างไร
อีกทั้งร่างนี้รวมลูกจ้างเหมาค่าแรงเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เดิมทีไปจำกัดกลุ่มนี้ ในปัจจุบันมีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงมากขึ้น ก็ยื่นข้อเรียกร้องได้ หรือในเรื่องระดับบน ระดับล่าง ที่ยังแบ่งแยกอยู่ในสหภาพแรงงาน ILO มองว่าไม่ขัด เป็นการวมกลุ่มของแต่ละระดับที่แตกต่างกัน ถ้ารวมกัน บนจะไปครอบงำล่างหรือไม่ อย่างไร
เรื่องการสื่อสารภาษาไทยในกลุ่มแรงงานข้ามชาติถือว่ายังไม่นิ่ง มีการคุยกับผู้แทนการค้าอเมริกา มองว่าไม่จำเป็น แต่ถ้าไกล่เกลี่ยก็ต้องใช้ภาษาไทยในการเจรจา ส่วนการทำงานที่กำหนดในเรื่อง 3 ปีคือการนับระยะเวลาการทำงาน 2 ปี ต่อ 2 ปี มันไม่นิ่ง จึงต้องให้ 3 ปี
ความสมดุลในการออกแบบกฎหมาย กับมุมมองเรื่องการแทรกแซงจากรัฐ เช่น การมีกองทุนช่วยเหลือ มีหนังสือพบนายจ้าง ก็ต้องไปดูตัวบทกฎหมาย ว่ารัฐมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน อย่างไร หรือที่มากรรมการ ก็อาจเสนอมา เช่น เลือกตั้งแบบบอร์ดประกันสังคม ก็เสนอมาได้
ดังนั้นถือได้ว่าวันนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะการรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งมาตรา 77 ทำให้ตั้งธงใหม่ได้ ทำกระบวนการใหม่ได้ ตอนนี้ที่จะเกี่ยวข้องคือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และรัฐบาลที่เข้ามาจะอิงยุทธศาสตร์ชาติเป็นสำคัญ
สำหรับในส่วนการเสนอกฎหมายภาคประชาชน จำเป็นต้องรอกฎหมายลูกอยู่ บทเรียนปี 50 คือมีการเสนอกฎหมายภาครัฐประกบด้วย ก็เกิดปัญหา บางทีแนวคิดสุดโต่ง ก็เลยต้องออกในรูปกฎหมายลูกทั้งหมด
นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ที่ปรึกษาในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน
ก้าวไปข้าวหน้าหรือย่ำอยู่กับที่ พบว่า ก้าวไปนิดเดียว เพราะได้เติมนู่นนี่เข้ามา สำหรับผมคือเรื่องเล็กไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับการทำกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ถ้าเทียบกับฝ่ายแรงงานทำ คือ การรื้อกรอบความคิด ถ้าภาษาพี่ตุลา ปัจฉิมเวช คือ การปะผุมากกว่าไม่ได้ปรับวิธีคิด สร้างวิธีคิดใหม่ และถ้ามาดูในหลักการและเหตุผลที่เขียนว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ แต่เมื่อมาดูสาระ ไม่ได้แก้ไขปัญหาฉบับ 2518 ที่เราร่างในยุคสงครามเย็น เราใช้กรอบความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ กลัวแรงงานมาก มองเป็นแรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานจีน มีการควบคุม มองแรงงานเป็นเรื่องการควบคุมทั้งๆที่กรอบคิดเรื่องแรงงานสัมพันธ์ในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม คือนายจ้าง นายทุน ลูกจ้าง ผลประโยชน์มันขัดกัน ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสีย ไม่ใช่การอยู่แบบใครได้ แต่จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ ออกกฎหมายให้อยู่กับร่องรอย ทำให้คนที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน อยู่ด้วยกันได้
เมื่อมาดูการแก้ไขที่ระบุในเหตุผล กำหนดไว้ใหญ่ แต่ในสาระน้อยมาก และยังไม่ตอบโจทย์อนุสัญญาฉบับที่ 87 รัฐยังเข้ามาแทรกแซงหลายเรื่องอยู่ ต้องขออธิบดีอนุญาต ทั้งๆที่ ILO ฉบับที่ 87 คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิ กฎหมายต้องส่งเสริม ไม่ใช่มาริดรอนสิทธิ ยังริดรอนสิทธิหลายส่วน เรามีคนงาน 40 ล้านคน กลับถูกจำกัด แม้รัฐธรรมนูญรับรอง คนงานรวมตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ ต่อรองในการทำกิจกรรม ทำข้อตกลงร่วมกัน เป็น collective bargaining ต้องกลับไปที่จุดเริ่มจริงๆว่า เรามีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไปเพื่ออะไร
เราควรไปดูประเทศที่มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ดี เช่น ในยุโรป ในสแกนดินีเวีย จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี สังคมที่ดี สังคมมีความประชาธิปไตย คุณภาพชีวิตแรงงานที่ดี แต่ผมเข้าใจได้ว่า ใครร่างกฎหมายก็เป็นไปตามชนชั้นนั้น ดังนั้นเมื่อลูกจ้างมีส่วนร่วมน้อยทำให้ต้องฝ่าข้ามเรื่องนี้ การใช้กรอบความมั่นคงแห่งชาติมาจับ ไม่ได้ใช้กรอบสิทธิมนุษยชน เมื่อใช้ฐานที่ผิดก็นำมาสู่ฐานคิดที่ผิดด้วย
ผมสอนวิชาแรงงานสัมพันธ์มี 3 กรอบ คือ เชื่อในความอันหนึ่งอันเดียวกัน เชื่อในระบบอุปถัมภ์ เราติดกรอบนี้ ไม่สามารถสร้างแรงงานสัมพันธ์ได้ มองว่าให้ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ได้ประโยชน์ ต่อมากรอบมาร์กซิสต์เชื่อในความขัดแย้งชนชั้น ลูกจ้างนายจ้างไม่สามารถประสานประโยชน์ได้ ต่อมาคือการสร้างประชาธิปไตยในการทำงาน ให้อำนาจคนงาน coordination ให้คนงานตัดสินใจ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆของตนเอง ซึ่งร่างแรงงานก็ใช้กรอบนี้ ตัดสินใจร่วมกัน มองเรื่องการเจรจาต่อรอง ยอมรับเรื่องสหภาพแรงงานในการรวมตัว ส่วเสริมการรวมตัว จัดพื้นที่การพูดคุยกัน
แต่กฎหมายฉบับนี้ ยังไม่มีการจัดพื้นที่ให้เท่าเทียมกัน ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลประกอบการเจรจาต่อรอง ข้อมูลในการพูดคุยไม่ตรงกัน รัฐก็มีอีกข้อมูลหนึ่ง ถ้าอยากให้กฎหมายฉบับนี้มันดีต้องทำให้เกิดการเข้าถึงข้อมูล ตัดสินใจร่วมกัน ในยุโรป คณะกรรมการลูกจ้างมีบทบาทในการปรึกษาหารือมาก เมื่อเทียบกับประเทศไทยยังให้ความสำคัญน้อยอยู่
ถ้าจะให้กฎหมายนี้ไปได้ ผมมองว่าวางกฎหมายไว้ก่อน เหตุผลในการทำร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องสำคัญกว่า คือ การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ไปก่อน แล้วค่อยว่ากันในเรื่องกฎหมาย มันสะท้อนเจตนารมณ์เรื่องการมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดี จะนำสังคมไปสู่ความเสมอภาคได้ เพราะกฎหมายมันตีความได้หลากหลาย ให้สัตยาบันไปเลย และตรงไหนในตัวกฎหมายไม่ใช่ก็ปรับแก้ไขไป
อนุสัญญา 2 ฉบับนี้ ถึงเก่าแก่แต่เป็นสิทธิพื้นฐาน เวลาถามว่าจะรับก่อนแล้วค่อยแก้ไขกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายก่อน ซึ่งเราเคยจัดเวทีหลายรอบแล้ว ก็พบว่า สามารถรับก่อนได้ ผู้อำนวยการ ILO ก็กล่าวเองว่า ให้รับไปแล้วค่อยแก้ไขกฎหมายให้สอดรับก็ได้ การให้สัตยาบันคือ การเคารพและเชื่อมั่นสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง
การนำมาอ้างในร่างกฎหมายและหลักการเหตุผล ก็ควรทำให้ดำเนินไปตามหลักการอนุสัญญา กฎหมายเป็นเพียงส่วนหนึ่ง จารีตสำคัญมากกว่า ในยุโรป ประเทศที่ประสบความสำเร็จ คือ เวลาเจรจาต่อรองไม่ได้เจรจาในระดับสถานประกอบการเหมือนประเทศเล็กๆที่อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ประเทศประชาธิปไตยเจรจาระดับชาติระดับอุตสาหกรรมากกว่า ทางกระทรวงแรงงานจะดำเนินการเรื่องนี้ คือ ให้นายจ้างรวมกัน ลูกจ้างรวมกัน และเจรจาในระดับอุตสาหกรรมากกกว่า ส่งเสริมเจรจาในกรอบใหญ่ๆ เช่น เบลเยี่ยมมีแค่ 3 สหภาพ ถ้าเราจัดแบบนี้จะลดความยุ่งเหยิงความแตกต่างหลากหลายได้ ทำให้เกิดมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน
มองว่าร่างฉบับนี้น่าจะมาจากฉบับสีม่วงที่แรงงานทำในเรื่องคณะกรรมการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงานต้องส่งเสริมความแตกต่างหลากหลายในขบวนการแรงงานให้ลดลง ลดจำนวนคนงานลง ไม่มีอำนาจการต่อรอง กระทรวงแรงงานควรเน้นการส่งเสริม อย่าแยกย่อย มิฉะนั้นจะแบบเดิมอยู่ เมื่อก่อนประเทศไทยไม่ใช่สหภาพแรงงานแบบสถานประกอบการ คำถาม คือ ระบบแรงงานสัมพันธ์แบบไหนกันแน่ที่จะทำให้นายจ้างกับแรงงานสามารถอยู่ร่วมกันไปได้
ร่างนี้ต้องรื้อเยอะ เพราะรายละเอียดร่างนี้ไม่แตกต่างจากร่าง 2518 ที่ล้มเหลว ดูได้จากคนงานรวมตัวยาก เจรจาต่อรองยาก กฎหมายปี 18 กันคนจำนวนมากออกจากขบวนการแรงงาน มีแค่คนจำนวนน้อยที่สามารถรวมกลุ่มได้เท่านั้น ซึ่งต่ำมากในสถานการณ์ระดับโลก
เวลาพูดว่าการรวมตัว คือ การรวมตัวในการเจรจาต่อรอง ใช้สิทธิทางแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้คุ้มครองและส่งเสริม รวมถึงผลของข้อตกลงร่วม ระบบแรงงานสัมพันธ์ไม่ได้เอื้อและส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ ในประเทศที่ประสบความสำเร็จ คือ จำนวนคนเป็นสมาชิกสูงกับผลของข้อตกลงร่วมกว้างไม่ใช่แค่ระดับสถานประกอบการเท่านั้น
กฎหมายฉบับนี้ต้องรื้อเยอะ แม้กระทรวงแรงงานพยายามแล้ว แต่กรอบเดิมมันไม่ดี เสนอว่าให้สัตยาบันไปก่อน แล้วค่อยมาทำกฎหมาย ถ้าเราเชื่อมั่นว่า นี้คือกลไกสำคัญ ก็ต้องรับอนุสัญญาไปก่อน
นายสนธยา เผ่าดี ผู้จัดการทั่วไปบริษัทนิตโต้ มาเทค (ประเทศไทย) จำกัด
วันนี้ได้ถูกเชิญมาในฐานะตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ตนเองทำงานด้านแรงงานสัมพันธ์ในปีที่ 21 ตัวกฎหมายแรงงานมีความพยายามเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง มีการคุยกันหลายครั้ง ในช่วง 10 กว่าปีที่แล้วบริบทก็เปลี่ยนไป ถ้าจะตอบว่ามันกระทบอย่างไรบ้าง นายจ้างจะเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานไทยกลุ่มหนึ่ง ใช้แรงงานข้ามชาติกลุ่มหนึ่ง นายจ้างกลุ่มที่ใช้แรงงานไทย อย่างผมมาจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ เราเกิดความกังวลอะไรหรือไม่ กับการรวมตัวพูดคุย ผมไม่กังวล แต่ในกลุ่มที่ใช้แรงงานต่างด้าว จะมีความกังวล แต่ที่กังวลมากกว่าคือ แรงงานต่างด้าว เจอการบังคับใช้เข้มงวด จะกลับมาทำงานไหม
ผมมองว่าถ้าเขาจะใช้แรงงานข้ามชาติ เราต้องติดตามประเด็นเหล่านี้ ผมคิดว่านายจ้างฝั่งสมุทรสาครควรมาเวทีนี้ การรวมตัวของแรงงานข้ามชาติเป็นปัจจัยในการเคารพหลักการสากล ถามว่าเศรษฐกิจดีขึ้นไหม มั่นคงไหม คงตอบไม่ได้ เพราะถ้าคุณจะขายของต่างชาติ คุณต้องปฏิบัติตามกฎหมายสากลอยู่แล้ว เป็นความกังวลมากกว่า ถ้ารับให้รับเลย คือ เป็นผู้ได้รับผลกระทบกฎหมาย แต่เมื่อออกมาแล้วก็ต้องยอมรับ ต้องหาวิธีการทำให้สอดคล้องกฎหมาย หาวิธีการจัดการเพื่อให้ธุรกิจไปได้ ต้องหาทางพูดคุยกับพนักงานอยู่แล้ว วันนี้แม้ไม่มีเรื่องการรวมตัวก็ต้องคุยกับผู้ใช้แรงงานอยู่แล้ว
ผมไม่กังวลว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการ ควรคุยกันมากกว่าว่าจะไปยังไงต่อ ในกลุ่มที่ผมดูแลเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์ใน 100 กว่าบริษัท มองว่าอยู่ด้วยกันแล้วจะไปยังไงให้ได้มากกว่า ผมเห็นด้วยกับที่ อ.ศักดินาพูดในหลายประเด็น
ในทฤษฎีหนึ่งเดียวในหลายๆนักคิด ก็พิจารณาว่าลูกจ้าง นายจ้าง รัฐ จะไปอย่างไรมากกว่า ผมว่าเศรษฐกิจจะรอดอยู่ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่เข้ามา เพราะการรับหลักการ ILO 87 98 การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ ไทยแลนด์ 4.0 การใช้เทคโนโลยีมาแทน นี้เกิดผลกระทบมากกว่า เพราะคนงานมีวุฒิการศึกษาส่วนใหญ่ ม. 3 ม. 6 จะปรับตัวอย่างไร การเปลี่ยนแปลงด้วยข้อกฎหมายแบบนี้กระทบธุรกิจน้อยกว่า
ผมเคยคุยกับเพื่อน เราไปทำงานต่างประเทศ ประเทศที่เราไปทำงาน เราก็ไม่ได้รวมตัวแบบนี้ ทำไมประเทศไทยต้องรวมตัวในกลุ่มแรงงานข้ามชาติด้วย ทำไมประเทศไทยต้องให้แรงงานข้ามชาติรวมตัว แต่ถ้ารับจริงๆก็ต้องมองว่าทำอย่างไรให้อยู่ด้วยกันให้ได้มากกว่า
กรณีคณะกรรมการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ กระบวนการคัดกรองกรรมการจะคัดกรองอย่างไร ให้ยอมรับร่วมกันได้ทุกฝ่าย ตัวแทนมันครอบคลุมไหม หลายกรรมการไม่ว่าฝั่งนายจ้าง ลูกจ้าง หลายคนก็ไม่ทราบปัญหา ไม่มีความรู้ที่แท้จริง มีองค์กรทั้งฝั่งนายจ้าง ลูกจ้าง หลากหลายมาก เช่น นายจ้าง ก็มีฝั่งอาแป๊ะ อาเจ๊กจะไปยังไง ผมก็ทำงานกับกลุ่มลูกจ้าง ฝั่งแหลมฉบัง จะไปต่ออย่างไร ต้องไปดูสัดส่วน ภูมิภาค จะ link อย่างไร จะส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุน อยากฝากข้อเสนอนี้ไว้ มีกรรมการชุดนี้มาแล้ว ต้องใช้หลักสุจริตหรือไม่ อย่างไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไรให้เกิดการส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ทวิภาคี อยากให้เน้นเรื่องนี้มากกว่า
เราไม่ได้มองฝั่งลูกจ้าง เรามองฝั่งนายจ้างด้วยว่า มันไปกำหนดด้วยไหม คนที่จะมาทำงานด้านแรงงานสัมพันธ์ ควรชัดเจนแบบ จป. มีองค์ความรู้ที่เพียงพอ สรุปคือนายจ้างไม่กังวล มีการพูดคุยปรึกษาหารืออยู่แล้ว ในภาพใหญ่ต้องไปดูคณะกรรมการส่งเสริม ส่งเสริมจริงไหม เด็ดขาดหรือไม่ อย่างไร
เรื่องพูดภาษาไทยได้ ก็ต้องทั้งฝั่งนายจ้าง ลูกจ้างก็ต้องใช้ทุกฝ่าย แต่พูดไม่ได้ก็ใช้กลไกล่ามได้ หลักการทั้งหมด ต่างประเทศวางเรื่องการอยู่ร่วมกัน เช่น นิวซีแลนด์วางหลักสุจริตไว้เลย วันนี้ฝั่งนายจ้างลูกจ้าง คือ จิตสำนึกที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ มองประโยชน์ส่วนรวม เอาประโยชน์ส่วนตนก่อน ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ข้อมูลเท่ากัน
นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)
อยากจะชมเชยกระทรวงแรงงานว่าเมื่อเทียบกับปี 2558 ก็มีการทักท้วง มีปัญหาเยอะแยะ ให้ถอนออกไป ไปตั้งต้นใหม่ ก็มีการถอนออกไป แต่กระบวนการทำร่างฉบับนี้ แม้ไม่เข้มข้น เอาหลายเรื่องที่รับฟังความคิดเห็นไปแก้ไข แต่บางอย่างในมิติแรงงาน อาจไม่ใช่ข้อดีทั้งหมด แต่ชมในเรื่องการนำประเด็นในการรับฟังมาปรับใช้ เป็นกระทรวงเดียวที่ท้วงไปแล้ว ถอนออกมา
มีเรื่องน่าเสียดายคือ พอทำแล้ว ทำไมไม่รับรองอนุสัญญา ILO 87 98 ไปเลย เราก็งงมาก ใครจะเปลี่ยนแปลง เหนื่อยกันไป เกมส์ยาวเกิน รับไปก่อนเลย มีอนุสัญญามากมายที่รับมาแล้ว เราก็ไม่ได้ออกกฎหมายเลิศหรือสมบูรณ์ มองว่าฝ่ายนายจ้างก็ไม่ได้ติดใจอะไรมากมาย
ถ้าลองยกตัวอย่างกฎหมาย คือ รวมคนทำงานทั้งหมดให้อยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน เพราะเรามีกฎหมายหลายฉบับมาก รุงรังมาก แค่แรงงานสัมพันธ์ ยังแยกรัฐวิสาหกิจออกไปเลย ทั้งๆที่ควรอยู่ในมาตราเดียวกัน เช่น ไทยพีบีเอสก็ยังไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ หรือส่วนราชการ องค์กรอิสระก็ตั้งไม่ได้ เหล่านี้ก็ยังมีข้อยกเว้น แรงงานสัมพันธ์ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวินัย นี้คือมาตราคือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มาตรา 27 ใน รธน. ก็กำหนดไว้แล้ว ถ้าเจาะลึกในมาตรา 4 ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้แล้ว ควรเอาร่างเอกชนและรัฐวิสาหกิจมารวมกัน
สมัย คปก. มีร่างประมวลกฎหมายแรงงานเพื่อตอบโจทย์งานด้านแรงงานทั้งหมด กระทรวงแรงงานก็รับลูก แต่ไม่ทันได้ดำเนินการต่อ คปก. ก็หายไปก่อน เราพูดเรื่องแรงงานสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายทุกฉบับ ไม่ใช่แค่การจัดการความขัดแย้งเท่านั้น เพราะพอพูดเรื่องการยื่นข้อเรียกร้อง คือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนงานมากกว่า หรือมีการฟ้องแพ่งอาญา รัฐต้องช่วยเหลือคนงานเวลาได้รับความไม่เป็นธรรม กองทุนยุติธรรม พี่น้องแรงงานจะใช้ได้ไหม ซึ่งไม่ได้ระบุในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แต่ไปอยู่ในกฎหมายอื่น แต่กลับเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นจำเป็นต้องโยงให้เห็นกระบวนการรวมตัวและเจรจาต่อรองทั้งระบบ
วันนี้มีกฎหมายอื่นๆเข้ามากระทบแรงงาน การแก้ไขกฎหมายต้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ มีคำสั่งระเบียบพยายามทำให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ให้สิทธิพิเศษใน BOI รัฐธรรมนูญก็มีข้ออ่อนเรื่องประเด็นแรงงาน ว่าเป็นห่วงโซ่สำคัญในการผลิต ยังให้ความสำคัญน้อย ไปส่งเสริมทุนมากกว่า ยิ่งทำให้ลูกจ้างหลุดออกจากวงจรแรงงานสัมพันธ์ เพราะมีกฎหมายอีกหลายฉบับไปยกเว้นกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในที่สุด ทำอย่างไรกฎหมายอื่นไปยกเว้นกับกลุ่มทุนจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเอาข้อเสนอคนงานมาใส่ไว้ได้ เช่น ใครที่ได้สิทธิพิเศษ ใครละเมิดสิทธิแรงงาน จะลดสิทธิพิเศษ เป็นต้น
หรือโจทย์ที่มีปัญหาตอนนี้ ตั้งแต่ปี 40 เกิดวิกฤษเศรษฐกิจ หรือกรณีอื่นๆที่มีความสำคัญ มีผลกระทบต่อแรงงาน ต้องออกแบบเผื่อเอาไว้ ว่าพี่น้องแรงงานจะใช้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์เพื่อแก้ปัญหาความเร่งด่วนของปัญหา รับมือไม่ได้ ใช้กฎหมายแบบเดิมไม่ได้
ดังนั้นคิดว่ากระทรวงแรงงานมาเริ่มต้นใหม่ดีกว่า เข้าครม. สนช. กันยายน ก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ รัฐธรรมนูญมาตรา 77 ออกมาเดือนเมษายน รัฐก่อนออกกฎหมายทุกฉบับต้องรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง กระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
กรณีคนไม่มีสัญชาติไทยก็ไปกำหนดเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ต้องอยู่ 3 ปี อยู่ได้ 4 ปีจบเลย จะตั้งได้อย่างไร อ่านเขียนภาษาไทยมันจำเป็นไหม ดังนั้นการเปิดช่องในการเจรจาน่าจะสำคัญกว่า ถ้าแรงงานข้ามชาติไม่มีช่อง โอกาสตกหล่นก็มีอยู่สูง เพราะช่วยได้ไม่หมด ขนาดราชการเรายังนำมารวมในกฎหมายฉบับนี้
เสนอว่าต้องประเมินผลกระทบมากกว่านี้ พิจารณาทุกขั้นตอน กระทรวงแรงงานสามารถใช้มาตรา 77 พิจารณาใหม่ได้ ที่ผ่านมามักพูดว่ารับฟังมาแล้ว ผ่านในเวบไซด์ กรณีกฎหมายอุทยาน จะให้พี่น้องชาติพันธุ์เสนอผ่านเวบไซด์ หรือกระทั่งพี่น้องแรงงานเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร
เสนอให้เอาประมวลกฎหมายแรงงานไปพิจารณาหรือเอากฎหมาย 2 ฉบับ คือ รัฐวิสาหกิจ กับ เอกชนมารวมกัน ถ้ายังคงเป็นแบบนี้ มันคือการแก้ปะผุ รับไปก่อนมาแก้ใหม่ มันยากมาก
กฎหมายนี้กลุ่มทุนธุรกิจยังมาวิจารณ์ ถือเป็นความหละหลวมเร่งรีบ สนช.พิจารณากฎหมายหลายร้อยฉบับเร็วมาก ออกพระราชกำหนดไม่ต้องเข้าสภา เกิดปัญหาทุกกลุ่มมากมาย รัฐบาลก็ต้องถอย คือ ใช้มาตรา 44 ไปยกเว้นโทษและบางตรา แต่ตัวกฎหมายก็ยังมีปัญหาอยู่ ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อใคร มีกระแสเรียกร้องให้รื้อทั้งฉบับ เสนอให้เข้าสภา สนช. มีอำนาจแก้ไขไหม ถ้าไม่แก้ก็มีปัญหา ถ้าแก้ไข จะทำอย่างไร เหล่านี้คือบทพิสูจน์ว่าถ้าเราไม่เดินตามกระบวนการที่ดีของรัฐธรรมนูญ นี้คือ ปัญหาที่จะได้รับผลกระทบแน่นอน การผ่านกฤษฎีกาหรือ สนช. พบว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปได้ยากกว่าขั้นตอนผู้เสนอกฎหมาย คือ กระทรวงแรงงาน
หรือกรณีตัวอย่างที่ปรึกษา ที่ปรึกษานายจ้าง มาจากเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงจากกระทรวงแรงงานก็มีจำนวนไม่น้อย ก็ควรมีข้อยกเว้น เพื่อให้หลุดจากอำนาจไปก่อนที่มีอยู่
มองว่ากฎหมายเข้าชื่อยังอยู่ เราก็ยังใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้ได้ ที่ผ่านมาพบว่านายกรัฐมนตรีไม่เซ็นรับรองเสียที กฎหมายเข้าชื่อก็ไม่ได้ล็อคไว้ ก็เกิดปัญหาอีก พอเข้าสภาแล้ว คือ ต้องมีกรรมาธิการ 1 ใน 3 เราไม่สามารถคาดหวัง สส. สว. ได้ กฎหมายเข้าชื่อฉบับนี้ไม่ดี ต้องร่างใหม่ เราควรเกาะติดอีกเรื่อง และสามารถใช้ช่องทางกฎหมายเข้าชื่อสู้กันอีกยกเพื่อปฏิรูปกฎหมาย ไม่เสียเวลาวนไปวนมา ดังนั้นมองว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการ ILO 87 98 มีความรุงรัง เสนอให้เหลือฉบับเดียวพอเท่านั้น
(3) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อจากการเสวนาในภาคเช้า
ดำเนินกระบวนการโดย ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสรท.
ทั้งนี้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อจากการเสวนาในภาคเช้า เริ่มต้นภาคบ่ายด้วยการที่นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
เดิมก่อนที่ผมจะถอนตัวจากคณะทำงานของกระทรวงแรงงานออกมา มีการไปถอนร่างกฎหมายกันมาก่อนแล้ว เนื่องจากช่วงนั้นปี 2558 มองว่าไม่ได้เป็นฉบับเดียวกัน หลักการไม่ได้ ที่ถอนคือไปในนาม คสรท. และไปขอถอนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เลย ช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาใหม่ๆ กระทรวงแรงงานจะเอาร่างสมัยนั้นเข้าพิจารณา ก็เสนอให้ถอนไป นายกรัฐมนตรีก็เห็นว่าให้ถอนออกมาก่อน ยังไม่เข้าพิจารณา
พอถอนร่างกฎหมายออกมาได้ 1 เดือน ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็เชิญพี่น้องแรงงานทุกองค์กร เชิญมาทั้งหมดเลย เอาแค่ คสรท. อย่างเดียวไม่ได้ เชิญสภาองค์การลูกจ้างมาทั้งหมด รัฐวิสาหกิจด้วย มาคุยกัน และได้ข้อสรุปว่าให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ก็ถามว่าเอาใครบ้าง ก็ฝ่ายละ 5 คน สภา 3 คน 2 คน คือ เรา คสรท. กับ สรส. แต่รัฐวิสาหกิจก็มีปัญหา คือ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจไม่ยอม ก็เอาเข้ามาเป็น 6 เพิ่มทุกฝ่ายเป็น 6 หมด
แต่ที่เราถอนตัวออกมาจากคณะทำงานยกร่าง คือ เพราะไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ตอนแรกยังไม่พูดว่าแยก ไม่แยก เพราะต้องเป็นองค์กรเดียวกันโดยปริยาย แต่พอคุยไปคุยมา ไม่เข้าหลักการ ผมก็มาแจ้งพี่น้องว่าคณะกรรมการยกร่างให้แยกเป็น 2 ฉบับ เป็นรัฐวิสาหกิจกับเอกชน ก็เลยถอนออกมา
อย่างไรก็ตามก็ต้องอธิบายว่าหลายเรื่องในร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ ก็ได้นำสาระสำคัญบางประเด็นในฉบับบูรณาการแรงงานหลายเรื่องไปดำเนินการ เช่น หมวดส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ แต่ในเรื่องที่มาคณะกรรมการมองว่าเรื่องตัวแทนก็แก้ไขได้ เพียงแต่ว่าเราจะมีพลังมากน้อยแค่ไหนอย่างไรในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป
ภายหลังจากที่นายชาลี ลอยสูง ได้แลกเปลี่ยนแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
- ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงเป็นฉบับปะผุ เสนอแนะให้มีการยกร่างใหม่อีกครั้ง และขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการถอนร่างนี้ออกมาจากการพิจารณาของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะในเรื่องการก่อตั้งและจดทะเบียนสหภาพแรงงาน , การแบ่งแยกสหภาพแรงงานระดับบังคับบัญชาและปฏิบัติการ , การกำหนดคุณสมบัติกรรมการต่างๆที่ตยังไม่ครอบคลุมคนงานทุกภาคส่วน , การขยายระยะเวลาในการเจรจาต่อรอง , ระยะเวลาในการยื่นพิพาทแรงงาน , ระยะเวลาในการไกล่เกลี่ย , การให้อำนาจอธิบดีในการตัดสินใจหลายๆเรื่อง ฯลฯ เนื่องจากเห็นว่าฉบับปัจจุบันก็คงไม่เลวร้ายกว่าที่บังคับใช้อยู่ อย่างไรก็ตามนี้ขึ้นอยู่กับอำนาจในการต่อรองและแข็งขันในการเจรจามากกว่า ว่าจะทำอย่างไรให้กฎหมายฉบับนี้ต้องครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน และสอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
- ที่ผ่านมาพบปัญหาว่า มีการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างที่ต้องขออำนาจศาล แต่กระบวนการยังไม่ยุติในศาลฎีกา แต่คนงานถูกเลิกจ้างไปแล้ว กฎหมายแรงงานสัมพันธ์จะแก้ไขปัญหาหรือวางระเบียบปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างไร
- กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ยังมีข้อจำกัดเรื่องการรับคนงานกลับเข้าทำงานว่า ต้องรับทุกคนหรือรับแค่บางคนเท่านั้นก็ได้ มองว่าไม่เป็นธรรมกับคนงานที่ไปฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน
- บทลงโทษนายจ้างยังเบาไป ยังไม่สามารถทำให้นายจ้างเกิดความเกรงกลัวได้
- การนำหลักการเรื่องสุจริตใจมาใช้, การไม่เลือกปฏิบัติ เป็นไปได้มากน้อยอย่างไรในความเป็นจริง
- จะมีหลักประกันอย่างไร ว่าความคิดเห็นที่ถูกรับฟังถูกนำไปแก้ไขจริง และไม่ถูกเปลี่ยนแปลงในชั้นการพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติชั้นต่างๆ เช่น ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นต้น
- เสนอแนะให้มีการรณรงค์ให้รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ควบคู่ไปกับการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ร่วมด้วย
- เสนอแนะว่า ถ้าถอนออกมาเลย เป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร หรือให้มีการปรับแก้ไขบางมาตราแทน แต่นั้นอาจผิดหลักการเรื่องวิธีคิดเรื่องกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียวครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วนเช่นกัน
- ดังนั้นโดยสรุป ที่ประชุมมีมติเรื่องการมอบหมายให้คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย คสรท. หารือร่วมกับกรรมการยุทธศาสตร์ คสรท. เพื่อพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้องและแนวทางการขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ให้ยึดหลักการความสอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ในช่วงสุดท้ายเป็นการปิดเวทีเสวนาโดยนายลาเร่ อยู่เป็นสุข เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โดยย้ำถึงการมีกฎหมายฉบับเดียว ที่พี่น้องแรงงานต้องเป็นหนึ่งเดียว แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ดูเหมือนว่าจะดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงมาจากร่างที่ใช้ปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ98 อยู่ ซึ่งในมุมของวิทยากรนั้น ชี้ให้เห็นว่าประสบการณ์การจัดตั้งสหภาพแรงงานในยุโรปสะท้องให้เห็นถึงความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน กระทั่งการยกระดับรวมตัวเป็นพรรคการเมืองในการเข้าไปบริหารประเทศ ส่วนมุมของนายจ้าง คือ มุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต เป็นข้อกังวลทางเศรษฐกิจมากกว่าการรวมตัวของคนงาน ดังนั้นโดยสรุป คือ คสรท. และสรส.จะมีเวทีเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมวิเคราะห์ร่างกฎหมายอย่างละเอียดและกำหนดแนวทางขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป