เมื่อวันพุธที่ 22 มิถุนายน 2554 ที่ห้องรัชวิภา โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ร่วมกับ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส (Thai PBS) จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การรู้เท่าทันสื่อ : การส่งเสริมประชาธิปไตย” ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ตัวแทนองค์กรสื่อ ตัวแทนจากภาคประชาสังคม ผู้ผลิตรายการและเจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส รวมทั้งสิ้นกว่า 60 คน
นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส กล่าวว่า ถือเป็นจังหวะเหมาะที่จะพูดคุยกันเรื่องสื่อกับประชาธิปไตยเพราะกำลังอยู่ในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ บทบาทของสื่อควรจะอยู่ตรงไหนบนความขัดแย้งของสังคมขณะที่สื่อได้รับความเชื่อถือลดลง จึงควรมีการตรวจสอบโดยสังคมเพื่อให้สื่อมีส่วนในการส่งเสริมประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเห็นว่าสื่อออนไลน์ในต่างประเทศมีบทบาทมากในการกล้าตั้งคำถามตรวจสอบสื่อ แต่ในประเทศไทยถูกกดไว้ ซึ่งปัจจุบัน “สื่อใหม่” จะเป็นตัวคานอำนาจ “สื่อเก่า”ได้
นายมาร์ค ศักซาร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวถึงชนชั้นกลางในประเทศไทยว่า เป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่สนใจในการรับส่งข่าวสาร แต่กลับไม่ค่อยสนใจในประเด็นสาธารณะ การรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นการที่ทำอย่างไรให้พลเมืองอ่านสื่อออก ว่านำเสนออะไร มีส่วนในการส่งเสริมประชาธิปไตยหรือไม่
ช่วงต่อมาเป็นการอภิปราย “การรู้เท่าทันสื่อและการส่งเสริมประชาธิปไตย” มีนายอโณทัย อุดมศิลป ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส เป็นผู้ดำเนินรายการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมีความหลากหลายของสื่อทั้งปริมาณและประเภททำให้มีคุณภาพที่แตกต่างกัน อำนาจของสื่ออยู่ที่สื่อเป็นตัวสร้างมโนภาพให้ผู้รับเกิดมโนทัศน์ การแยกแยะจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เห็นแก่นแกนที่แท้จริง เพราะสื่อคืออาหารปัญญา มีทั้งโทษและประโยชน์ สำหรับประชาชนแล้ว สื่อใหม่เอื้อให้เป็นทั้งผู้รับสารและผู้ใช่สื่อเพื่อส่งสาร การรู้เท่าทันสื่อจึงต้องมีทั้งการต้องอ่านสื่อออก ซึ่งจะสามารถวิเคราะห์แยกแยะวาทกรรมต่างๆได้ และต้องเขียนสื่อได้ คือสามารถทำสื่อได้อย่างมีคุณภาพ โดยเริ่มจากคนๆเดียวตั้งคำถาม แล้วจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึงการตั้งองค์กรตรวจสอบ
รองศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า ภูมิทัศน์ของสื่อกำลังเปลี่ยนไปจากการที่มีสื่อใหม่ ซึ่งเป็นผลจากการมีคอมพิวเตอร์ มีโทรศัพท์มือถือ ทำให้มีการไหลของข่าวสารที่หลากหลายผ่านช่องทางที่มากขึ้น ส่งผลต่อวัฒนธรรมและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นผู้รับสารที่เลือกได้ด้วยตัวเอง ความเสมอภาคเท่าเทียมด้านมุมมองและทัศนคติในเรื่องประชาธิปไตยหรือเรื่องอื่นๆ เช่น อาจารย์กับลูกศิษย์เท่ากันใน Facebook แต่ก็ต้องตระหนักว่า สังคมออนไลน์ เป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวที่จะระบายอะไรก็ได้
และเห็นว่าสื่อไทยยังขาดประสิทธิภาพเพราะชอบลอกการบ้าน ไม่ทำการบ้าน ชอบยืมปากนักวิชาการพูดโดยไม่วิเคราะห์เอง ไม่ทำข่าวเจาะลึก นำเสนอเนื้อหาที่ขายได้ แทนการตรวจสอบนำเสนอข้อเท็จจริง และที่อันตรายที่สุดคือการเซ็นเซอร์ตัวเอง การจะนำเสนอเรื่องอะไรหรือรายการอะไร สื่อจึงควรต้องพิจารณาว่าจะนำสังคมไปสู่ทิศทางใด สำหรับสื่อของรัฐ ในประเทศประชาธิปไตยจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อประชาสัมพันธ์รัฐบาล เพราะถือเป็นการนำเงินประชาชนไปใช้โฆษณาตัวเอง ฉะนั้นกล่าวได้ว่า ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่มีสื่อที่ไร้ประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า ความหมายของสื่อแบบดั่งเดิมกำลังเปลี่ยนไปจากการที่มีสื่อใหม่เกิดขึ้น เพราะไม่ผูกติดกับอำนาจรัฐและตลาด ต้นทุนต่ำ ผู้ผลิตสื่อคือสามัญชน ประเด็นก็มีตั้งแต่เรื่องชาวบ้านไปถึงการเมือง จะพูดเสนออะไรก็ได้ และยากจะแยกแยะว่าสื่อใดเป็นสื่อแท้หรือสื่อเทียม ส่วนสถานการณ์สื่อในปี 2011 เห็นว่าสื่อไทยเป็นสื่อไม่เสรี จากกฎหมายคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญามาตรา 112 จากเหตุรุ่นแรงทางการเมือง ซึ่งสื่อใหญ่น่าเป็นห่วงมากเพราะมีทั้งข้อเท็จจริง(Fact) และ ความเห็น(Opinion) ภายใต้สังกัดอุดมการณ์ที่แฝงอยู่เพื่อขาย สื่อไทยมีปัญหาทั้งจากผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมอ่านแต่สิ่งที่เชื่อ อ่านแต่สิ่งที่คิดว่าเป็นความจริง ทางออกจึงต้องสร้างวัฒนธรรมแมลงวันตอมแมลงวัน(สื่อวิจารณ์สื่อ)ให้มากขึ้น ปรับการใช้กฎหมายกับสื่อไม่ให้มีหลายมาตรฐาน ต้องมีขันติธรรม มีความอดทนอดกลั้น และต้องมีหลักประกันในการแลกเปลี่ยนสื่อสาร
นายเสด็จ บุนนาค อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสื่อว่ามีความพยายามควบคุมกันเองโดยใช้จริยธรรมของสื่อมากกว่ายอมให้กฎหมายเข้ามาควบคุม และตั้งข้อสังเกตว่านั่นทำให้สื่อมีอิสระค่อนข้างมากจนขาดความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่
นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ให้ความเห็นว่าคนทำสื่อสับสนกับประชาธิปไตยในยุคนี้ การรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นเรื่องยากเมื่อผู้รับสารเองก็สับสนพอกัน ความต้องการอยู่รอดของสื่อทำให้มีการละเลยประเด็นที่ควรจะสื่อ ในขณะที่สื่อต้องปรับตัวภายใต้ความคาดหวังของสังคม ผู้บริโภคก็ควรต้องเปิดกว้างรับข่าวสารจากสื่อหลายแห่ง
การสานเสวนาแบบร้านกาแฟ (World Cafe) ในช่วงบ่ายใช้หัวข้อ “ข้อเสนอแนะสำหรับบทบาทของพลเมืองต่อการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย” โดยใช้แนวทาง “การฟังด้วยใจ” ซึ่งมีหลักว่า ฟังด้วยความเมตตา เอาใจเขามาใส่ใจเรา และ ฟังให้สุดความ โดยไม่ตัดสินถูกผิด ผลจากวงสานเสวนา มีความเห็นว่า ความรู้และการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการรู้เท่าทันสื่อเพราะจะทำให้เกิดความสามารถในการแยกแยะ ซึ่งควรมีการให้ความรู้ตั้งแต่เป็นเด็กและเยาวชน โดยภาคีต่างๆเช่นภาครัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม ต้องมีส่วนร่วมในภารกิจส่งเสริม คัดกรอง ขับเคลื่อน และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เท่าทันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่ง ไทยพีบีเอส ในฐานะของทีวีสาธารณะภายใต้สโลแกน “ทีวีที่คุณวางใจ” ได้รับความคาดหวังอย่างมากต่อการมีบทบาทในการสื่อสารเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเท่าทันสื่อเพื่อส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย