รายงานโครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน

โครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน มุ่งหวังที่จะใช้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างเอกภาพของขบวนการแรงงาน และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาแรงงานจากมุมมองของแรงงานในสื่อกระแสหลัก อันจะนำไปสู่การทำให้สังคมเกิดความเข้าใจ “คุณค่าความเป็นแรงงาน” และ “ขบวนการแรงงาน” เพิ่มมากขึ้น โดยใช้วิธีการเสริมศักยภาพในการผลิตสื่อให้กับผู้นำแรงงานหรือนักปฏิบัติการแรงงานระดับพื้นที่ให้เป็นนักสื่อสารหรือนักส่งข่าว ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการบอกเล่าเรื่องงานของแรงงานโดยตัวของแรงงานเอง พร้อมกับเพิ่มช่องทางในการบอกเล่าข้อมูลข่าวสารของแรงงานกลุ่มต่างๆ ทั้งการผลิตจดหมายข่าวในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการทำงานของขบวนการแรงงาน และการผลิตผลงานเพื่อสื่อสารกับสังคม ผ่านเว็บไซต์ voicelabour.org และหนังสือพิมพ์วอยซ์เลเบอร์

นอกจากนั้น โครงการยังทำหน้าที่ประสานงานกับสื่อกระแสหลัก เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายที่จะทำให้แรงงานเข้าถึง 3 ส ได้แก่ สิทธิ สุขภาพ และสวัสดิการ รวมถึงความเป็นธรรมในการสร้างอาชีพและรายได้

ผลจากการดำเนินโครงการพบว่า โครงการจัดอบรมนักสื่อสาร 19 ครั้ง นอกจากผู้นำแรงงานที่เป็นภาคีของโครงการ 9 แห่ง ได้แก่ อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระบุรี ระยอง/ชลบุรี อยุธยาและใกล้เคียง รังสิตและใกล้เคียง และภูเก็ต  โครงการยังได้ขยายพื้นที่ปฏิบัติงานสู่ภาคีอื่นๆ เช่น สมาพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ สมาพันธ์แรงงานและการเงินแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาแรงงาน เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ มีผู้ผ่านการอบรมรวม 277 คน ในจำนวนนี้มีผู้ผลิตผลงาน 84 คน หรือประมาณร้อยละ 31 ของผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด ผลิตผลงานรวม 587  ชิ้น ในจำนวนนี้มี 35 ชิ้นเป็นสื่อวิดีทัศน์ ซึ่ง 4 ใน 35 ชิ้นได้ออกอากาศผ่านรายการนักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และที่น่าสนใจคือ นักสื่อสาร 25 คน มีผลงานสม่ำเสมอ

อบรมนักข่าว-1 อบรมนักข่าว-3

อบรมนักข่าว-2 อบรมนักข่าว-8

เว็บไซต์โครงการเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2553 จนถึงวันสิ้นสุดโครงการ (31 พฤษภาคม 2554) มีผู้เข้าเยี่ยมชมรวม 240,639 ครั้ง (ข้อมูลยอดเข้าเยี่ยมชมอาจคลาดเคลื่อนไปบ้างเนื่องจากเว็บไซต์ถูก Hack หลายครั้ง)  มีผลงานรวม 1,056 ชิ้น สูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ (อย่างน้อย 2 พื้นที่ผลิตสื่อเดือนละ 6 ชิ้นต่อพื้นที่ รวม 240 ชิ้น) คิดเป็นประมาณ 4.4 เท่า และจากการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ สื่อมวลชนกระแสหลักบางคนระบุว่าได้ใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ในการเขียนข่าวแรงงาน การมีเว็บไซต์ทำให้การหาข่าวและการทำความเข้าใจขบวนการแรงงานทำได้ง่ายขึ้น ขณะที่ข้าราชการกระทรวงแรงงานจำนวนหนึ่งกล่าวว่า เดี๋ยวนี้ต้องเข้าไปดูข่าวในเว็บไซต์แรงงานเป็นประจำ เพื่อดูความเคลื่อนไหวและรับรู้ปัญหาของแรงงาน

หนังสือพิมพ์วอยซ์เลเบอร์ เริ่มต้นล่าช้ากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 เดือน ฉบับแรกพิมพ์เดือนธันวาคม 2553 (แทนที่จะเป็นเดือนพฤศจิกายน 2553) และเพิ่มจำนวนพิมพ์จากเป้าหมายเดิมอีก 1 ฉบับ ทำให้ตลอดโครงการมีการจัดพิมพ์รวม 18 ฉบับ แต่ละฉบับพิมพ์จำนวน 3,000 เล่ม ส่วนในแง่ผลงาน ปรากฏว่ามากกว่าครึ่งในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นผลงานของนักสื่อสาร และในหนังสือพิมพ์ 18 ฉบับ รวมมีผลงานของนักสื่อสารสูงถึง 332 ชิ้น (เป็นชิ้นข่าวที่คัดเลือกมาจากเว็บไซต์ voicelabour.org)

อบรมนักข่าว-5 อบรมนักข่าว-7

ในระดับพื้นที่ มีศูนย์แรงงานผลิตจดหมายข่าวทั้งหมด 9 แห่ง มีผลงานรวมกันทั้งหมด 173 ชิ้น ศูนย์แรงงานที่มีการผลิตจดหมายข่าวค่อนข้างสม่ำเสมอมี 5 แห่ง คือ อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ สระบุรี  สมุทรปราการ  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี-ระยอง

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งของโครงการคือ ตลอดกระบวนการในการฝึกอบรมนักสื่อสาร ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมการ การอบรมเขียนข่าว อบรมตัดต่อ จนถึงการอบรมการเป็นบรรณาธิการข่าว โครงการได้ “นักข่าวตัวจริง” มาเป็นครูให้กับนักสื่อสาร ได้แก่ นักข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ มติชน แนวหน้า โพสต์ทูเดย์ บางกอกโพสต์ ไทยรัฐ และสื่อโทรทัศน์ ทีวีช่อง 3  ไทยพีบีเอส  รวมทั้งศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง” หรือ TCIJ  ด้วยเหตุนี้การสานสัมพันธ์ภาคีให้เข้าถึงสื่อสาธารณะจึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หรืออาจจะเรียกว่า นี่คือการสานสัมพันธ์เชิงรุก ทำให้นักสื่อสารใกล้ชิดกับนักข่าวตัวจริงตั้งแต่เริ่มต้น ได้โอกาสอบรมการตัดต่อกับทีมฝึกอบรมนักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เข้าร่วมในอีกหลายเวทีของไทยพีบีเอส รวมถึงมีผลงานได้ออกอากาศในรายการนักข่าวพลเมือง 7 ชิ้น (ของนักสื่อสาร 4 ชิ้น ส่วนกลาง 3 ชิ้น) และไทยพีบีเอสยังทำรายการสำคัญที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องกับโครงการอีก 5 รายการ รวม 15 ครั้ง คือ  รายการมองมุมใหม่ ตอน นักสื่อสารแรงงาน (17 ก.ค.54) รายการชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร เรื่องแรงงานกู้ภัย นักสื่อสารแรงงานที่เป็นอาสาสมัครแรงงานศูนย์พื้นที่อยุธยา (20 พ.ย.54)  รายการวาระประเทศไทย เรื่อง เส้นทางพ.ร.บ.ประกันสังคม(26 มี.ค.55), ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมเป็นอิสระ(27 มี.ค.55), เส้นทางประวัติศาสตร์แรงงานไทย(8 เม.ย.55),ชีวิตแรงงาน(ถูกเลิกจ้างหลังน้ำท่วม-10 เม.ย.55), แรงงานนอกระบบ(13 เม.ย.55) รายการเวทีสาธารณะ เรื่อง ถอดบทเรียนน้ำท่วม(7 ม.ค.55), ปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม กฎหมายประชาชน ความจริงใจของผู้แทน(31 มี.ค.55), กลับถิ่น กระจกสะท้อนแรงงานไทย(28 เม.ย.55) รายการเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย เรื่อง แรงงานบนเส้นทางฝันที่ตีบตัน(8 เม.ย.55) แรงงานในภาคอุตสาหกรรม(การรวมตัวเพื่อสวัสดิการ-12 เม.ย.55), แรงงานคืนถิ่น(สงกรานต์-15 เม.ย.55), แรงงานข้ามชาติ(น้ำท่วม-การรวมกลุ่ม-22 เม.ย.55), ความเป็นมา สถานการณ์แรงงาน และทางออก(29 เม.ย.55)

อบรมนักข่าว-6 อบรมนักข่าว-9

อบรมนักข่าวพลเมือง-1 อบรมนักข่าวพลเมือง-2

นอกจากนั้น ตัวแทนโครงการยังได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการของสถานี และรับเป็นเจ้าภาพจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง

เมื่อสามารถประสานกับสื่อส่วนกลางได้โดยตรง นักสื่อสารแรงงานส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับสื่อในท้องถิ่นค่อนข้างน้อย ประกอบกับปัญหาแรงงานเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับทุนข้ามชาติ การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยการเจรจาต่อรองโดยใช้องค์กรระดับชาติเป็นสำคัญ และหลายๆข้อเสนอของคนงานก็ต้องกระทำผ่านนโยบายระดับชาติเท่านั้น โครงการจึงปรับบทบาทมาให้ความสำคัญในการทำงานกับสื่อส่วนกลาง แต่ก็ได้จัดหา “คู่มือทำงานกับสื่อมวลชนของนักสหภาพแรงงาน” และรายชื่อสื่อมวลชนในพื้นที่พร้อมวิธีติดต่อ แจกจ่ายให้นักสื่อสารและภาคีโครงการ

อย่างไรก็ดี มีศูนย์แรงงาน 2 แห่งที่ให้ความสำคัญกับการสานสัมพันธ์กับสื่อท้องถิ่น คือ ภูเก็ตและเชียงใหม่-ลำพูน

จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลอดโครงการสื่อมวลชนนำเสนอข่าวขบวนการแรงงาน(เท่าที่รวบรวมได้)ไม่น้อยกว่า 943 ชิ้น ประกอบด้วย 1. ข่าวในสื่อสิ่งพิมพ์ 637 ชิ้น ในสื่อ 11 แห่ง ได้แก่ มติชน ข่าวสด กรุงเทพธุรกิจ แนวหน้า บางกอกโพสต์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ผู้จัดการ โพสต์ทูเดย์ เดอะเนชั่น และคมชัดลึก 2. ข่าวในสื่อโทรทัศน์ 168 ชิ้น ในสื่อ 10 แห่ง ได้แก่ ไทยพีบีเอส, ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7 สี, ช่อง 9, สทท.ช่อง 11, Nation Channel, ผู้จัดการ, Voice TV,  TNN และ DNN. ข่าวสื่อออนไลน์ 138 ชิ้น ในสื่อ 22 แห่ง ได้แก่ ประชาไท, ประชาธรรม,  สำนักข่าวอิศรา, สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, มติชนออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจ, ผู้จัดการ, เนชั่นทันข่าว, ประชาชาติธุรกิจ, บ้านเมือง, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, แนวหน้า,โลกวันนี้, โพสต์ทูเดย์, ฐานเศรษฐกิจ, คมชัดลึก, ไทยโพสต์, phuketindex.com, ข่าว MSN และ ไอเอ็นเอ็น

อย่างไรก็ตาม การทำงานสื่อสารของขบวนการแรงงานโดยรวมยังถือเป็นภาระที่หนักหน่วง  ยังจำเป็นต้องมีกลไกส่วนกลางเป็นแกนในการขับเคลื่อนการทำงาน ทั้งการผลิตและเชื่อมต่อข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการผลิตสื่อทั้งเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์  การจะทำให้นักสื่อสารแรงงานมีขีดความสามารถในการทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนของขบวนการแรงงานและสังคมได้อย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืนนั้น  จำเป็นต้องมีการสนับสนุนเพื่อสานต่อการทำงานอีกระยะหนึ่ง  เพื่อบ่มเพาะประสบการณ์เสริมสร้างศักยภาพให้สามารถแบกรับภาระได้อย่างแท้จริง

อ่านรายละเอียดได้ที่

รายงานโครงการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน – ส่วนแรก

รายงานโครงการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน – ส่วนที่สอง เนื้อหา