หวังยืดเกษียณอายุรับสังคมสูงวัย ชี้ทัศนคติสังคม นโยบายรัฐ และสิทธิประโยชน์ชราภาพเป็นอุปสรรค เสนอใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างงานที่เน้นประสบการณ์ความรู้ เปิดให้ฝ่ายแรงงานร่วมกำหนดหลักประกันอนาคตสังคม
โครงการพิเศษหลักสูตรพัฒนาแรงงานและสวัสดิการมหาบัณฑิตรุ่น 14 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสต์ จัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง “ยืดอายุเกษียณ ปลดล็อคแรงงานไทย” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2558 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มธ.ท่าพระจันทร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ต่อสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนเป็นสังคมสูงวัย
โดยประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 และมีอัตราการเพิ่มของประชากรสูงวัยรวดเร็วเพราะอัตราการเกิดลดลงและคนอายุยืนยาวขึ้น คาดว่าไทยจะเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีกไม่เกิน 10 ปี และเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2578 โดยมีประชากรสูงอายุเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้คนวัยแรงงานลดลงกระทบประสิทธิภาพในการผลิตของประเทศ รัฐมีรายได้จากภาษีลดลงกระทบต่อการจัดสวัสดิการสังคม ครัวเรือนที่เล็กลงยังทำให้ขาดคนดูแลผู้สูงอายุและเด็ก ความสัมพันธ์ในครอบครัวห่างเหินก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา คุณภาพชีวิตในครัวเรือนแย่ลงเมื่อคนสูงอายุมีรายได้ไม่พอยังชีพ มีปัญหาด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าเป็นห่วงนโยบายประชากรของภาครัฐว่าจะให้เพิ่ม คงที่ หรือลดลง และนโยบายผู้สูงอายุต้องชัดเจน เพราะระบบรองรับกรณีชราภาพในปัจจุบันครอบคลุมเพียงกลุ่มข้าราชการ 1.2 ล้านคน แรงงานในระบบ 11.1 ล้านคน และแรงงานนอกระบบบางส่วนอีก 1.9 ล้านคน จากแรงงานทั้งหมด 39.1 ล้านคน ซึ่งควรเพิ่มประสิทธิภาพด้านกองทุนบำนาญ ส่วนการยืดอายุเกษียณซึ่งราชการกำหนดไว้ 60 ปี ส่วนเอกชนขึ้นอยู่กับสัญญาจ้างนั้น เห็นว่าไม่ตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงาน และอาจขัดต่อทัศนคติที่คิดว่าผู้สูงอายุควรพักผ่อนไม่ต้องทำงาน และถ้าจะให้ทำงาน ก็อาจเป็นงานอาสาสมัครเชิงสังคมเช่นงานในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน วัด หรือป่าไม้ โดยได้ค่าตอบแทนบ้างจากรัฐหรือเอกชนที่ต้องการทำ CSR
ส่วนภาคธุรกิจเอกชนเห็นว่าการยืดเกษียณอายุอาจมีปัญหาเพราะธุรกิจต้องแข่งขันจึงต้องการแรงงานมีคุณภาพ โดยนาย จิรัชย์ เหรียญชัยวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรมนุษย์และบริหารงานทั่วไป บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด มหาชน กล่าวว่า ค่าจ้างสวัสดิการภาคเอกชนขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพแรงงาน แต่สำหรับแรงงานสูงอายุที่เกษียณแล้ว อาจออกแบบให้ทำงานไม่เต็มเวลา ใช้ประโยชน์จากความรู้และประสบการณ์ เช่นเป็นที่ปรึกษาหรืองาน QC ในไลน์ผลิต และสำหรับคนอายุที่บริษัทคิดว่ามีศักยภาพเป็นคนสำคัญขององค์กร ก็จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้รู้สึกว่าอยู่ทำงานต่อแล้วมีคุณค่า รวมทั้งการจัดสวัสดิการที่จูงใจ
ด้านนักวิชาการ รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า วิกฤตจากสังคมสูงอายุมีหลายมุม ในด้านคนทำงานก็กลัวขาดอำนาจขาดคนยอมรับ มีปัญหาจากการเปลี่ยนอาชีพและรายได้อาจลดลง งานก็เป็นงานนอกระบบหรือไม่ก็ว่างงาน ซึ่งในด้านภาครัฐก็ยังมีเครื่องมือหรือระบบรองรับไม่ดีพอ เช่นเบี้ยยังชีพน้อย ส่วนภาคธุรกิจก็อาจทำให้แรงงานในสถานประกอบการมีน้อย ระยะสั้นก็อาจพึ่งแรงงานข้ามชาติ แต่ก็จะติดปัญหาทัศนคติเรื่องความมั่นคงและการใช้แรงงานอย่างไม่ถูกต้องมีการละเมิดสิทธิ ซึ่งแน่นอนว่าต้องกระทบกับผลประกอบการ กระทบการผลิตการส่งออก ส่วนการปลดล็อคเกษียณอายุไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอาจกระทบสิทธิของแรงงานเอกชนในระบบประกันสังคมที่อายุ 55 ปีก็จะได้สิทธิประโยชน์ชราภาพ ส่วนราชการก็มีงานวิจัยที่ชี้ว่ามีข้าราชการไม่ถึง 20% ที่อยากต่ออายุเพราะเงินเกษียณได้มาก
รัฐจึงต้องเร่งสร้างโครงข่ายรองรับผลกระทบจากการไม่มีงานทำ ภาคเอกชนก็ต้องลงทุนเรื่อง R&D (การวิจัยและพัฒนา) เพื่อใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ผู้สูงอายุทำงานได้ ในส่วนของแรงงานซึ่งที่ผ่านมาถูกการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงานของธุรกิจทำให้ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ค่าจ้างสวัสดิการลดต่ำลง จึงทำให้แม้แต่สหภาพแรงงานก็ขาดพลังในการรวมตัวต่อรอง โดยอาจต้องเปลี่ยนหลักการเพื่อให้องค์กรรับสมาชิกได้กว้างขึ้นในการช่วยสร้างหลักประกันให้แรงงาน ทั้งนี้จะเห็นว่าประเทศในยุโรปเช่นประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่มีหลักประกันดีๆในช่วงบั้นปลายของชีวิตการทำงานนั้น ก็เพราะเปิดโอกาสให้ฝ่ายแรงงานโดยให้สภาแรงงานได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางอนาคตของแรงงงานหรือคนทำงานที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน