ผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน 4 บริษัท ยื่นคำร้องทุกข์กับสถานทูต 3แห่ง เพื่อช่วยเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยตัวแทนสถานทูต เผยจะช่วยดำเนินการให้ในบางเรื่อง แต่เบื้องต้นขอให้แรงงานดำเนินการตามกฎหมายแรงงาน
ผู้ใช้แรงงานที่ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทเจอเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย และ บริษัทเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง รวมทั้งผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 2 บริษัทได้แก่ บริษัทลินฟ๊อกซ์ ทรานสปอร์ตแห่งประเทศไทย จำนวน 50 คนและบริษัทอิเลคโทรลักซ์ จำนวน 129 คน เดินทางไปร้องทุกข์กับสถานทูตออสเตรเลีย สถานทูตสหรัฐอเมริกา และสถานทูตเนเธอแลนด์ เพื่อให้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยนายจ้าง ซึ่งเป็นนักลงทุนของ 3ประเทศให้เจรจากับแรงงาน หลังนายจ้างขอเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงาน แล้วลูกจ้างไม่ยินยอม นายจ้างจึงปิดงานและเลิกจ้าง โดยไม่ตอบรับข้อเรียกร้องของแรงงานที่ต้องการให้ปรับสภาพการจ้างงานให้เป็นแบบเดิมคือทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน ทำงานวันละ 3 กะๆละ 8 ชั่วโมง แต่นายจ้างใช้วิธีบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่มารวมตัว
โดยสถานทูตออสเตรเลียเป็นที่แรกที่กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ไปยื่นร้องทุกข์ โดยทางสถานทูตฯ ส่งผู้แทนออกมารับหนังสือและอนุญาตให้ตัวแทนพนักงานเข้ามาพูดคุยในปัญหาที่เกิดขึ้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ขอให้พนักงานดำเนินไปตามระเบียบของกฎหมายแรงงานโดยทางสถานทูตจะช่วยประสานงานให้ในบางเรื่อง
จากนี้ทางเครือข่ายแรงงาน จะเคลื่อนขบวนไปที่ยื่นร้องทุกข์ที่สถานทูตสหรับอเมริกาและสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ก่อนที่จะไปรวมตัวกับผู้ใช้แรงงานที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลในการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท