เครือข่ายสตรี 4 ภาค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง แถลง 25 พ.ย. วันและเดือนแห่งการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ร่วมปฏิบัติการ (แท็กลิงค์) #orangtheworld เสนอนายกตามคำมั่นสัญญากับชาวโลกว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมบทบาทสตรี การรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว การจัดตั้งกลไก ดูแลเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เร่งรัด นโยบาย เรื่องท้องไม่พร้อม พยายามแก้ไขปัญหา เรื่องการค้ามนุษย์
ในโอกาส วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ประจำปี 2558 เครือข่ายสตรี 4 ภาค ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้แถลงการณ์ 25 พ.ย. วันและเดือนแห่งการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง “ ผู้หญิง ส่งเสียง ถึงนายกรัฐมนตรี ร่วมปฏิบัติการ #orangtheworld ”
ทุกวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ทั่วโลกถือว่าวันนี้ เดือนนี้ เป็นวันและเดือนแห่งการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล เป็นวันที่มีความหมายสำหรับ เพศหญิงและเป็นวันที่ ผู้หญิงทั่วโลก จะส่งสัญญาณ เชิงสัญญาลักษณ์ เพื่อการขับเคลื่อนสังคมโลก โดยให้ความสำคัญ กับการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ในปีนี้ UN women ได้ออกตัวรณรงค์ # orangtheworld เขย่าโลกทั้งใบให้เป็นสีส้ม เพื่อปลุกกระแสรัฐบาลทั่วโลกให้มีการเร่งสปีดยกระดับเดินหน้าการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กหญิง แบบเอาจิรงในภาคปฎิบัติ อย่าให้เป็นเพียง แค่นโยบายในกระดาษ เพราะข้อมูลทั่วโลกพบว่า 1ใน 3 ของผู้หญิง ทั่วโลก มีประสบการณ์ ถูกกระทำความรุนแรง ร่างกาย จิตใจ และทางเพศ มาก่อน เด็กหญิงและผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การละเมิดทางเพศ การทุบตีทำร้ายคนในครอบครัว การถูกทอดทิ้งและต้องเผชิญกับภาวะท้องไม่พร้อมตามลำพัง แทบจะไม่มีที่ยืนในสังคม ร้ายแรงไปกว่านั้นคือการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ บังคับให้ขายบริการทางเพศ จากแก๊งค้ามนุษย์ที่คนส่วนมาก ยังมองและเชื่อว่า หญิงบริการทางเพศเป็นความจำเป็นที่สังคมยอมรับได้ ประเด็นเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องคาใจ และยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในแวดวงคนทำงานเรื่องผู้หญิงและสังคม
เมื่อประมาณปลายเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสอันดีที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครบรอบ 70 ปีองค์การสหประชาชาติ ที่กรุงนิวยอร์ก ท่านได้ให้ถ้อยแถลงและคำมั่นสัญญากับชาวโลก ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมบทบาทสตรี การรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว การจัดตั้งกลไก ดูแลเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เร่งรัด นโยบาย เรื่องท้องไม่พร้อม พยายามแก้ไขปัญหา เรื่องการค้ามนุษย์ และล่าสุดสดที่กรุงจาร์ก้าต้า ท่านนายกได้ร่วมลงนามภาคีความร่วมมืออาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหา การค้ามนุษย์ผู้หญิงและเด็กหญิง ซึ่งถือได้ว่า ท่านนายก ได้เดินหน้า#orangtheworld ที่นับเป็นความก้าวหน้าในเชิงนโยบายและเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง สำหรับ พลเมืองหญิงของประเทศไทย
ในโอกาส วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ประจำปี 2558 เครือข่ายสตรี 4 ภาค ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนหญิง จึงมีข้อเสนอ เชิงนโยบาย ผ่านมายังท่านนายก เพื่อให้ ถ้อยแถลงที่ท่านได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลก เป็นจิรงและมีผลทำให้ ผู้หญิงไทย 33 ล้านคน มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ปลอดภัย จากความรุนแรงทุกรูปแบบ ดังต่อไปนี้
1. ขอให้ท่านสนับสนุน จัดตั้ง “กองทุนเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”เพื่อเป็นการทำงานเชิงรุก ป้องกัน เติมเต็มการทำงานของหน่วยงานรัฐโดยจัดสรรงบประมาณแผ่นนทุกปีให้กับชุมชนทั่วประเทศจังหวัดละ 5 ล้านบาท จำนวน 385 ล้านบาท ผ่านกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสนับสนุนงบประมาณให้กลุ่มผู้หญิงในระดับตำบล ที่มีการจดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์กับกระทรวงหรือทำงานด้านสตรีจนเป็นที่ประจักษ์ของสังคม จำนวนตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมสนับสนุน “ศูนย์คุ้มครองเด็กสตรี และพัฒนาครอบครัว”ในระดับตำบลให้มีเงินอุดหนุนเพียงพอในการทำกิจกรรมใน 4 เรื่อง คือ
• เป็นศูนย์ให้บริการคำปรึกษาการช่วยเหลือเบื้องต้นแบบเป็นมิตร เสริมพลัง ไม่ซ้ำเติม ให้เด็ก สตรี ในตำบล เมื่อต้องการคำปรึกษา ในประเด็นที่ถูกกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อประสานการส่งต่อไปยังหน่วยงานสหวิชาชีพจังหวัดภายใต้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องฯ
• จัดกิจกรรมให้ข้อมูลแก่กลุ่มผู้หญิงในชุมชนฐานราก ได้เท่าทันสถานการณ์ของปัญหา รูปแบบความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ครอบครัวและอาชญากรรมต่างๆ กฎหมาย และหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ให้บริการเด็กและสตรี เพื่อการเข้าถึงนโยบายของรัฐอย่างทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม และผู้กระทำผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย
• ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือ ร่วมสร้างทางเลือกชีวิตให้ กับผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ผู้ต้องขังหญิงที่ได้รับการปล่อยตัว หญิงที่ถูกหลอกลวงให้ไปทำงาน แต่งงาน หรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศทั้งในและต่างประเทศ
• รณรงค์สร้างความเข้าใจในคุณค่า สิทธิของเด็กหญิง ผู้หญิง ให้กับกลุ่มผู้ชาย สามี พ่อพ่อเลี้ยง ในชุมชน ให้เข้าใจว่า ลูกผู้ชายต้องไม่ทำร้ายเด็ก ผู้หญิง และคนในครอบครัว ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อีกทั้งจัดให้มีกระบวนการบำบัด ฟื้นฟูเยียวยา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างทางเลือกอาชีพให้กับ ผู้ชายที่ติด เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน กลับตัวกลับใจ และมีทักษะในการจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ใช้สติ ปัญญา ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาชีวิต
2.ขอให้นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้จัดเวทีทำความเข้าใจกับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ให้ได้รับองค์ความรู้ ภายใต้ พ.ร.บ.เพื่อการคุ้มครองเด็ก สตรี ให้ตระหนักในบทบาทและหน้าที่ ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ที่ทำให้เด็ก สตรี ได้เข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
3.ส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ในฐานะที่ฯพณฯนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บัญชาการดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกเบื้องต้นของกระบวนการยุติธรรม ที่จะทำให้เด็ก สตรี มีความมั่นใจในการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีจัดระบบโครงสร้างงานดังต่อไปนี้
ขอให้มีการจัดตั้ง “กองกำกับการสอบสวนคดีเด็ก สตรี” ในส่วนกองบังคับการจังหวัด/บก. 1-9 นครบาล ศชต.พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและงบประมาณ เพื่อการคุ้มครองเด็ก สตรี ที่เป็นผู้เสียหายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ถูกแสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ หรือผู้ต้องหาหญิงในคดีครอบครัว โดยขอให้มีการจัดกำลังพนักงานสอบสวนหญิงโดยสมัครใจมารับผิดชอบ พร้อมทั้งขอให้มีการเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง ให้เพียงพอ เพราะประชากรหญิงทั่วประเทศมี 33 ล้านคน แต่มีพนักงานสอบสวนหญิงที่รับผิดชอบคดีเด็ก สตรี เพียง 368 คน
ขอให้ ฯพณฯท่าน สนับสนุนงบประมาณแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติปีละ 35 ล้าน สำหรับจัดตั้งกองกำกับการสอบสวนคดีเด็ก สตรี (เพศ ความรุนแรงในครอบครัว ค้ามนุษย์ ศูนย์ละ 500,000 บาททุกปี/จังหวัด/บก.นครบาล ศชต.) จัดทำเป็นห้องสอบสวนคดีเด็ก สตรี จังหวัด มีอุปกรณ์เครื่องมือ กล้องวงจรปิด และค่าใช้จ่ายในการสอบคดีเด็กและสตรี โดยตรง
ขอให้รัฐสร้างและสนับสนุนพื้นที่ปลอดภัย สำหรับเด็ก สตรี เยาวชน ครอบครัว พร้อมทั้ง ขอสนับสนุนนโยบาย “หมู่บ้านศีล 5“ ซึ่งมีผลในการปกป้องเด็ก เยาวชน สตรีและครอบครัว โดยให้นายกฯ กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาครอบครัว สังคม และร่วมสร้างพื้นที่สาธารณะ เช่น บ้าน วัด มัสยิด โบสถ์ โรงเรียน ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ปลอดอบายมุข ปลอดยาเสพติด และปลอดการใช้อาวุธทุกชนิด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อสถานบริการ ร้านค้า ขายเหล้า บุหรี่ ร้านเกมส์ และกวาดล้าง ยาเสพติด บ่อนการพนัน ตู้ม้า โต๊ะบอล สถานบริการแอบแฝงบังคับขายบริการทางเพศ การเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร จัดกิจกรรมชวนประชาชนออกกำลังกาย จัดงานวัฒนธรรม ชวนครอบครัวเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และส่งเสริมประชาชนเข้า วัด มัสยิด โบสถ์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ลด ละ เลิก อบายมุข
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง เครือข่ายสตรี 4 ภาค (เครือข่ายแม่หญิงอีสาน / เครือข่ายสตรีภาคใต้ / เครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนา /เครือข่าย แม่หญิงลุ่มน้ำเจ้าพระยา / เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิพิทักษ์สตรีเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์