บอร์ดสปส.ฉีกหน้า “หม่อมเต่า”ไม่เพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน ผลกระทบโควิดเป็น 75%

บอร์ดสปส.ฉีกหน้า “หม่อมเต่า”ไม่เพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนจากผลกระทบโควิดเป็น 75% แถมยันมติเดิมไม่ลดเก็บเงินสมทบนายจ้างเหลือ 1%

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.)ได้มีการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.)โดยมีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน

ภายหลังการประชุมนายทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน และ 1 ในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ยืนยันมติบอร์ดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ในการพิจารณาสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเรื่องจากโควิด-19 ที่จะให้สิทธิประโยชน์ทดแทน 50 % ระยะเวลา 60 วัน สำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ แต่ในเรื่องนี้กลับมีมติคณะรัฐมนตรี ให้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 62% จึงเป็นเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงการที่จะเพิ่มเป็น 75% ที่ย่อมจะเกิดผลกระทบต่อกองทุนประกันการว่างงาน นอกจากนี้มติในครั้งนั้นยังเสนอให้มีการลดการเก็บเงินสมทบทั้งนายจ้างลูกจ้าง เพียง 1 % โดยจะต้องจ่ายเงินสมทบ 4% และเรื่องนี้ก็มีการดำเนินการที่แตกต่างจากมติของบอร์ด

“แม้บอร์ดมีอำนาจหน้าที่เพียงการเสนอแนะนโยบายแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัยก็ไม่เคยมีรัฐบาลใด ดำเนินการไม่เป็นไปตามมติของบอร์ด ดังนั้นเรื่องนี้เรายังไม่รู้ว่าฝ่ายการเมืองจะรับผิดชอบอย่างไร ทั้งนี้เงินของสปส. ต่างจากการจ่ายเงินของกระทรวงการคลัง เนื่องจากเงินปส. ต้องใช้จ่ายสิทธิประโยชน์ทั้ง7 กรณีให้แก่ผู้ประกันตน” นายทวี กล่าว

มติชน

ขณะที่ น.ส.อรุณี ศรีโต 1 ในบอร์ดฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ที่ไม่เอาด้วย ทั้งเรื่องปรับเพิ่มวงเงินให้ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจาก 62%ของเงินเดือน และ 75% เพราะเงินกองทุนประกันการว่างงานกว่า 1 แสนล้านบาทเป็นเงินที่มีเจ้าของ หากใช้จนเงินหมดแล้ว ผู้ประกันตนที่ตกงานรุ่นต่อๆไปจะทำอย่างไร รัฐบาลจะจ่ายให้หรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมผู้แทนส่วนราชการ เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ต่างเห็นด้วย

“ถ้าจะใช้อำนาจของรัฐมนตรี ท่านก็ต้องรับผิดชอบของท่านเอง ถ้าจะปรับเพิ่มเป็น 75% รัฐจะต้องเป็นผู้จ่ายเองเพราะเราต้องการกันเงินไว้สำหรับเจ้าของเงินในอนาคตด้วย ไม่ใช่เทใช้จนหมดเข่ง ถ้ารัฐมนตรียังดึงดันใช้อำนาจ เชื่อว่าเหล่าผู้นำแรงงานเขาไม่ยอมแน่และต้องมีการออกมาเคลื่อนไหว”น.ส.อรุณี กล่าว

น.ส.อรุณีกล่าวว่า การพยายามผลักดันให้ผู้ประกันตนได้รับความช่วยเหลือ 75% จากมาตรการของรัฐบาลนั้น แท้จริงแล้วกลับยิ่งทำให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือน้อยกว่าที่ควร เพราะเพดานของเงินเดือนที่จ่ายให้กับประกันสังคมอยู่แค่ 15,000 บาท ไม่ว่าลูกคนนั้นจะมีเงินเดือนกี่หมื่นหรือกี่แสนบาทก็ตาม แต่หากใช้มาตรการของกฎหมายคุ้มครองแรงงานในมาตรา 75 ที่ระบุให้นายจ้างจ่ายเงินให้ 75% ของเงินเดือนในช่วงที่ปิดงานชั่วคราว ก็คิดจากอัตราเงินเดือนที่แท้จริง

น.ส.อรุณีกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดยังได้หารือถึงกรณีทีระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศของ สปส.ไม่สามารถรองรับการทำงานและช่วยเหลือผู้ประกันตนว่างงานและขอรับการช่วยเหลือเนื่องจากผลกระทบจากโควิดได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเกิดปัญหาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติชี้มูลให้อดีตผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมชดใช้กว่า 500 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าให้เร่งดำเนินการระบบใหม่ที่พิจารรณาให้เร็วขึ้น และให้เร่งการจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนกว่า 8 แสนคนที่มาลงทะเบียนไว้

อนึ่ง เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แถลงข่าวว่า เตรียมเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจาก 62% เป็น 75% พร้อมทั้งลดการเก็บเงินสมทบจากนายจ้างจาก 4% เหลือ 1%

////////////////////