จับตาการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ปีที่ 4 (สมัยสามัญทั่วไป) ครั้งที่ 2วันศุกร์ที่ 11กุมภาพันธ์ 2554เวลา 10.00น. จะมีการพิจารณาลงมติเห็นชอบรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง
ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ! วาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ปีที่ 4 (สมัยสามัญทั่วไป) ครั้งที่ 2 ในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 10.00 น. จะมีการพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง (ตามมาตรา 190ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนได้รณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญา 2ฉบับนี้เสียที!
หลายท่านที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงเครือข่ายแรงงาน คงสงสัยว่าทำไมทำไมอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จึงสำคัญต่อแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยิ่งนัก
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะผู้ประสานงานคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILOฉบับที่ 87 และ 98 กล่าวว่า “อนุสัญญา ILOฉบับที่ 87 และ 98 นี้ถือว่าเป็นอนุสัญญาหัวใจหลักของผู้ใช้แรงงานที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ดังนั้นการที่วันนี้รัฐบาลกำลังจะรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ถือว่าเป็นความน่ายินดีในการทำให้ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนพ้นไปจากข้อจำกัดในการรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรของคนงานและในการเจรจาต่อรอง คิดว่าการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานก็จะลดน้อยลงไปด้วย นั้นแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและจริงใจของรัฐบาลในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานทุก การรับรองอนุสัญญาจะช่วยให้ลดความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างได้ เพราะล่าสุดสมาชิกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศทั่วโลกกว่า 183 ประเทศ ก็ได้รับรองอนุสัญญาฯ 2ฉบับนี้ไปแล้ว เหลืออีกเพียง 20 ประเทศเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วยที่ควรเร่งดำเนินการในเร็ววัน”
บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิเคยเล่าให้ฟังว่า “ปัจจุบันแม้ไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองการรวมตัวของแรงงาน ที่เรียกว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ก็ถือเป็นกฎหมายแรงงานฉบับที่มีสาระที่ล้าหลัง ด้อยพัฒนาด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการจัดตั้งองค์กรและเรียกร้องต่อรองของลูกจ้างมากที่สุด มีการแก้ไขปรับปรุงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งปรับปรุงแก้ไขจากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 พ.ศ.2518 และประกาศกระทรวงมหาดไทยหลายฉบับที่ออกตามมา และ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2537 และปี 2542 โดย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขสำคัญมาแล้วรวม 4 ครั้ง มักแก้ไขในยุคเผด็จการทหารปกครองประเทศ ซึ่งย่อมไปในทางควบคุม จำกัดเสรีภาพการรวมตัวต่อรองของลูกจ้างและสหภาพแรงงานมากขึ้น”
อนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว มีสาระสำคัญ 3 ประการที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการสหภาพแรงงานเติบโตอย่างมาก คือ
1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ
2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง
3. องค์กร(สหภาพ) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี
ในขณะที่อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง กล่าวถึง
1. การคุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
2. องค์กร ลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง
3.ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไก การเจรจา โดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กร นายจ้าง กับองค์กรคนงาน
ที่ผ่านมาเราจะเห็นชัดว่าเพราะคนงานต้องขออนุญาตจัดตั้งสหภาพจากกระทรวงแรงงาน ทำให้คนงานที่เป็นแกนนำถูกเลิกจ้างและทำให้นายจ้างขัดขวางและทำลายการจัดตั้งสหภาพมากมาย
สำหรับการดำเนินการผลักดันที่ผ่านมาในส่วนของผู้ใช้แรงงานที่มีการรวมกันเป็นคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98อันประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง,สหพันธ์แรงงาน,กลุ่มสหภาพแรงงาน,สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์,คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย,สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างๆ มีการดำเนินการดังนี้
– การเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อนำเสนอผลักดันและติดตาม
– การยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และนายกรัฐมนตรี
– การรณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
– การรณรงค์ในระดับพื้นที่
– การผลักดันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะประสานงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
จนในที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสมัยนายไพฑูรย์ แก้วทอง จึงได้ประกาศรับหลักการในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้รับหลักการต่อไป
สำหรับการดำเนินงานในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้น พบว่า กระทรวงแรงงานมีการสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อศึกษาและหาแนวทางในการปฏิบัติงานฯ มาตั้งแต่ปี 2546 มีการจัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงและความพร้อมของประเทศไทยในด้านกฎหมาย ต่อมาในปี 2551 ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการแรงงานสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87และ 98 เพื่อศึกษาวิเคราะห์ อนุสัญญาฯ และพิจารณาบทบัญญัติของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2553 เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ และในปี 2552 ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นไปยังหน่วยงานของภาครัฐเพื่อให้ความเห็นต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ พร้อมกับแต่งตั้งคณะทำงานประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87และ 98 ซึ่งประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง ข้าราชการและนักวิชาการ ทำหน้าที่พิจารณาแนวทางเพื่อเร่งดำเนินการให้สัตยาบันและให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานและเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้สัตยาบัน
ทั้งนี้มีมติให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดทำสรุปความเห็นที่ได้จากการประชุมคณะทำงานฯ 4 ครั้ง นำเสนอคณะกรรมการพิจารณาและตรวจสอบอนุสัญญาของ ILOระดับกระทรวง ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 เห็นชอบให้เสนอรับรองสัตยาบันอนุสัญญา ILOฉบับที่ 87 และ 98 และสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการปรับปรุง แก้ไข หรือออกกฎหมายและแนวปฏิบัติเพื่อรองรับการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวต่อไป จนในที่สุดคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 14ธันวาคม 2553ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป (ดูร่างอนุสัญญาILO87-98)
////////////////////////////////////////////////////////////////////////