
ถึงเวลาที่จะต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำกันได้หรือยัง?
การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องน่าอภิรมย์สำหรับคนทำงานการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องระทมทุกข์ของผู้ประกอบการ
สาวิทย์ แก้วหวาน
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)
การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นข้อถกเถียงมาเป็นเวลาช้านาน และทุกครั้งที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างจะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยขึ้นมาโต้เถียงกันด้วยเหตุผลของฝ่ายตน และแทบทุกครั้งในการปรับขึ้นค่าจ้างต้องใช้เวลานาน ด้านหนึ่งสัญญาณการปรับขึ้นค่าจ้างก็จะเป็นเครื่องชี้นำให้ราคาสินค้าปรับราคาขึ้นไปรอไว้ล่วงหน้า และจะปรับขึ้นอีกครั้งเมื่อค่าจ้างได้ปรับขึ้นจริง ในท่ามกลางการถกเถียงที่เกิดขึ้นคนที่นั่งรับฟังหรือคนกลางคือรัฐ ก็คือ รัฐบาลและกลไกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาชี้ขาดว่าค่าจ้างควรเป็นเท่าใด ซึ่งจะชี้นำทางความคิดและการตัดสินใจของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมีผู้แทนสามฝ่าย คือ รัฐ ผู้ประกอบการ และ ฝ่ายคนงาน ที่เรียกว่า “ไตรภาคี” และแทบทุกครั้งเช่นกันข้อเสนอราคาในการปรับขึ้นค่าจ้างที่ฝ่ายคนงานเสนอ จะไม่ได้ตามที่ต้องการด้วยข้ออ้าง ด้วยสูตร ด้วยหลักคิดมากมายแม้จะมีการโต้แย้งกัน แต่ในที่สุดก็จะจบลงตรงที่ว่า ฝ่ายผู้ประกอบการ กับ ฝ่ายรัฐสามัคคีกันลงมติตามที่สองฝ่ายต้องการ ฝ่ายคนงาน ก็ต้องยอมรับเสียงข้างมากที่มักบอกตอกย้ำกันบ่อย ๆ ว่าประชาธิปไตย คือ เสียงข้างมาก ความไม่สอดคล้องลงตัวกันของค่าจ้าง กับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคม นั่นหมายถึงผลลัพธ์ของความยากจน ความเหลื่อมที่ทอดยาวต่อเนื่องทำให้ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดเป็นเวลาติดต่อกันมาหลายปี

*ค่าจ้าง เป็นความสัมพันธ์เชิงสังคมเศรษฐกิจ ระหว่างคนงาน กับ ผู้ประกอบการ หรือผู้จ้างงาน เมื่อคนงานขายแรงงานของตนและผู้ว่าจ้างตกลงซื้อแรงงานนั้น ผลผลิตที่เกิดจากแรงงานของคนงานก็จะกลายเป็นทรัพย์สินของผู้จ้างงาน แรงงานของคนงานจึงหมายถึงผู้มีรายได้หลักจากการขายแรงงานของตนแรงงานแลกค่าจ้างดำรงอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมานานหลายพันปีในหลากหลายสังคม ภายใต้ระบบทุนนิยมได้แปรเปลี่ยนให้แรงงานกลายเป็นแรงงานแลกค่าจ้าง จนกลายเป็นรายได้หลักของคนส่วนใหญ่ แรงงานแลกค่าจ้างภายใต้ระบอบทุนนิยมเป็นประเด็นที่ถูกนำมาวิเคราะห์ แรงงานแลกค่าจ้างหากไม่นิยามเป็นอย่างอื่น ก็จะถูกถือว่าเป็นมิติที่อยู่ในระบอบทุนนิยม แรงงานแลกค่าจ้างถูกนิยามภายใต้ระบอบทุนนิยมว่า คือการที่คนงานขายกำลังแรงงานของตนในฐานะสินค้า คนงานพยายามขายกำลังแรงงานของตนแก่ผู้จ้างงานเพื่อแลกกับค่าจ้าง ซึ่งถ้าหากสำเร็จการแลกเปลี่ยนนี้ก็จะทำให้คนงานตกอยู่ภายใต้อำนาจของนายทุน แต่ถ้าหากว่าไม่สำเร็จ ก็คือ การตกงานเท่านั้นเอง

คนงานจะใช้แรงงานผลิตสินค้าหรือบริการจากนั้นนายทุนก็จะขายสินค้า บริการนั้น ๆ และได้กำไรที่เรียกว่า “มูลค่าส่วนเกิน” เนื่องจากค่าจ้างที่จ่ายให้แก่คนงานนั้นต่ำกว่ามูลค่าของสินค้าและบริการที่คนงานผลิตให้นายทุน ภายใต้ระบบแรงงานแลกค่าจ้าง การขูดรีดได้เกิดขึ้น โดยผู้จ้างงานที่ซื้อกำลังแรงงานจะเป็นเจ้าของในกระบวนการใช้แรงงาน และสามารถขายสินค้าเพื่อให้ได้กำไร ซึ่งกล่าวได้ว่า คนงานได้ขายทั้งพลังแรงงานในการสร้างสรรค์และเสรีภาพของตนไปในช่วงเวลาที่กำหนดไว้นั้น โดยถูกทำให้แปลกแยกจากแรงงานของตนและสินค้า บริการ ที่ตนผลิตขึ้น
นิยาม กำลังแรงงาน มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างแรงงาน กับ กำลังแรงงาน หมายถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงหรือการใช้ร่างกายและ/หรือสติปัญญาเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการ (หรือมูลค่าการใช้สอย) ในทางกลับกัน “กำลังแรงงาน” หมายถึง ความสามารถของคนในการทำงาน พลังงานที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ร่างกาย และสมอง


ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับค่าจ้าง
ค่าจ้างตามกฎหมาย หมายถึง อัตราค่าจ้างที่ผู้จ้างงานจ่ายให้แก่คนงานตามกฎหมาย ซึ่งค่าจ้างตามกฎหมายในปัจจุบันไม่ได้คิดคำนวณบนพื้นฐานความต้องการสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือความจำเป็นพื้นฐานอื่น ๆ ที่คนงานจำเป็นต้องจ่าย บ่อยครั้งที่ค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการที่จะดึงดูดนักธุรกิจเข้ามาลงทุนเพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน บรรดาบริษัทต่าง ๆ ก็มองหาแหล่งผลิตสินค้าที่ราคาถูกเพื่อให้บริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายจึงกลายเป็นสิ่งปกติ แม้ว่ามันจะส่งผลด้านลบต่อคนงาน ในที่ซึ่งคนงานสามารถรวมตัวจัดตั้งได้อย่างอิสระและเข้มแข็งพวกเขาสามารถต่อรองกับบริษัทเพื่อเปลี่ยนแปลงระดับค่าจ้างให้สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้ เนื่องจากข้อตกลงสภาพการจ้างมีผลบังคับตามกฎหมาย ดังนั้น สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

ค่าจ้างตามหลักจริยธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตระหนักว่า จริยธรรมทางธุรกิจ จริยธรรมทางการแพทย์ ฯลฯ ได้กลายเป็นสิ่งรับรู้และเข้าใจกันโดยทั่วไป ในฐานะมาตรฐานการปฏิบัติซึ่งยอมรับกันในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น ๆ จึงสามารถเข้าใจได้ว่า จริยธรรมทางธุรกิจหรือจริยธรรมในภาคธุรกิจเป็นมาตรฐานปฏิบัติที่อุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจนั้น ๆ กำหนดขึ้นเองและยอมรับกันเอง บอกกล่าวถึงฐานะของตนเอง ในแนวทางปฏิบัติได้กลายเป็นมาตรฐานที่สาธารณะยอมรับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากจรรยาบรรณด้านแรงงานที่บริษัทอ้างว่าอัตราค่าจ้างของบริษัทนั้น ๆ “เป็นอัตราการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมโดยทั่วไป” มาตรฐานทางจริยธรรมที่กล่าวอ้างโดยบริษัทต่าง ๆ สำหรับค่าจ้างของคนงานนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอัตราค่าจ้างที่สามารถเอื้อให้บริษัทแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ

คำถามคือ มาตรฐานค่าจ้างตามหลักจริยธรรมเหล่านี้ สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานของครอบครัวคนงานหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ในอีกขั้วขององค์กรธุรกิจ เราจะเห็นได้จากเงินเดือนของเหล่าผู้บริหารระดับสูงสุด หรือ ซีอีโอ ที่มักได้ขึ้นเงินเดือนในระดับที่เหลือเชื่อ ในขณะที่คนงานระดับล่างของโครงสร้างองค์กรธุรกิจถูกบังคับจากระบบให้ต้องแข่งขันด้วยราคาค่าจ้างต่ำสุด ซึ่งการกำหนดอัตราค่าจ้างของระดับผู้บริหารสูงสุด หรือ ซีอีโอ นั้นจะถูกกำหนดขึ้นเองในวงการอุตสาหกรรมว่าถูกต้องตามหลักจริยธรรม โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องดึงคนฝีมือดีที่สุดมาทำงานให้บริษัท ข้ออ้างหรือคำพูดเหล่านี้ก็ทำนองเดียวกับค่าจ้างที่ยอมรับกันทั่วไปในภาคอุตสาหกรรม
ค่าจ้างตามศีลธรรม มิติทางด้านศีลธรรมของการปฏิบัตินั้น มีความเชื่อมโยงกับมาตรฐานความดี – เลวทางพฤติกรรมที่ถูกสร้างขึ้น มีนัยให้เข้าใจว่ามาตรฐานต่าง ๆ เกิดจากจิตสำนึกของมนุษย์ในแง่คำถามเชิงศีลธรรมที่เกี่ยวกับค่าจ้าง วัตถุประสงค์ของค่าจ้างคืออะไร?

ตามมาตรฐานทางศีลธรรม ค่าจ้างของคนงานควรสะท้อนสิ่งที่คนงานได้อุทิศให้แก่บริษัทที่เป็นผู้จ้างงาน และ คนงานก็ควรได้รับค่าจ้างที่สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นของตนและสมาชิกในครอบครัวอื่น ๆ ที่ต้องส่งเสียเลี้ยงดู “ความจำเป็น” ที่ไม่ใช่แค่ “กินน้อย ใช้น้อย” แต่หมายถึงความจำเป็นที่จะทำให้คนงานและสมาชิกในครอบครัวเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์ และมีส่วนส่งเสริมชุมชนให้ดำเนินบทบาทหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม และ ยั่งยืน ในสังคมนั้น ๆ ด้วย
ค่าจ้างที่ยุติธรรม ประเด็นคำถามว่า การกระจายสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากการผลิตและการขายสินค้า บริการ โดยบริษัทใดก็ตาม ค่าจ้างไม่ได้เป็นเพียงมาตรวัดค่าตอบแทนสำหรับคนงานเท่านั้น แต่ยังเป็นมาตรวัดสินค้าและบริการที่เข้าออกชุมชนอันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของบริษัทเช่นกัน ชุมชนจะยั่งยืนหรือไม่? ก็เพราะค่าจ้างของคนงานหนึ่งคนส่งผลต่อเนื่องเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกคนอื่น ๆในชุมชนและส่งผลให้เกิดการพัฒนาชุมชนได้หรือไม่? หรือความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่เฉพาะกับกลุ่มคนจำนวนน้อยเท่านั้น? ชุมชนจะเสื่อมลงหรือไม่หากค่าจ้างที่ลดลงได้ส่งผลให้ทรัพยากรที่นำมาทำกิจกรรมและการพัฒนาต่าง ๆ ลดลงด้วย ค่าจ้างที่ยุติธรรมจะช่วยให้เกิดการพัฒนาฐานภาษีที่เพียงพอเพื่อก่อให้เกิด “ชุมชนที่ดี” ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมทางกายภาพสำหรับชุมชนในกระบวนการยุติธรรมและการดำเนินการตามกฎหมายเรียกร้องให้รัฐและบรรษัทต่าง ๆ
ในความสัมพันธ์ของระบบเศรษฐกิจต้องพิจารณาประเด็นการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในคนกลุ่มน้อยของแต่ละประเทศและความมั่งคั่งการกระจุกตัวอยู่เพียงในบางประเทศ เพราะความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกันในโลกใบนี้ได้พรากคนจำนวนมากออกจากการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ

โดยสรุป นิยามในระดับต่าง ๆ ของค่าจ้าง
ระดับที่ 1 ค่าจ้างกันตาย คือ ค่าจ้างที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะโภชนาการที่เพียงพอ แค่ไม่อดตายแต่ทว่าขาดสารอาหาร เจ็บป่วยบ่อย อายุสั้น
ระดับที่ 2 ค่าจ้างเพื่อการอยู่รอดขั้นพื้นฐาน เป็นระดับค่าจ้างที่พอให้คนงานอยู่รอดเท่านั้น ตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ได้แก่ อาหารพื้น ๆ เสื้อผ้ามือสอง ที่พักที่พออาศัยได้ และเชื้อเพลิงสำหรับประกอบอาหาร
ระดับที่ 3 ค่าจ้างสำหรับการวางแผนระยะสั้น เป็นระดับค่าจ้าง ที่พอต่อการอยู่รอดขั้นพื้นฐานและเหลือเก็บเล็ก ๆ น้อย ๆ จากค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน อาจสามารถนำไปซื้อของใช้จำเป็นที่นอกเหนือจากรายจ่ายเพื่อความอยู่รอดขั้นพื้นฐานได้บ้าง
ระดับที่ 4 ค่าจ้างสำหรับกินอยู่อย่างยั่งยืน เป็นระดับค่าจ้างที่สามารถซื้อหาปัจจัยพื้นฐานได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน ค่าเดินทาง ค่ารักษาสุขภาพ และค่าศึกษาเล่าเรียน สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่จำเป็น เช่น วันเกิด งานเลี้ยงฉลองต่าง ๆ สามารถเก็บเงินจำนวนไม่มากนักในการออม เพื่อวางแผนซื้อหาสิ่งของความจำเป็นต่าง ๆ
ระดับที่ 5 ค่าจ้างที่ช่วยให้ชุมชนยั่งยืน ค่าจ้างในระดับนี้นอกจากตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานแล้ว ยังทำให้คนงานมีเงินเก็บส่วนหนึ่งเพื่อการใช้จ่ายในอนาคตได้แล้วยังสามารถเจียดจ่ายรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนพัฒนาการของธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมและความจำเป็นในชุมชนได้
(* เจาะโลกแรงงาน ฉบับที่ 6 กันยายน – ตุลาคม 2550)

ค่าจ้างตามนิยามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน: Universal Declaration of Human Rights เป็นคำประกาศเจตนารมณ์ในการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติให้การรับรองไว้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ที่บัญญัติไว้ในข้อที่ 23 ว่า
(1) ทุกคนมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขที่ยุติธรรม และเอื้ออำนวยต่อการทำงาน เป็นประโยชน์แห่งการงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน
(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเงิน ค่าจ้างที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่เท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด
(3) ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรม และเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับความคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วย
(4) ทุกคนมีสิทธิที่จะจัดตั้งและเข้าสหภาพแรงงานเพื่อความคุ้มครองแห่งผลประโยชน์ของตน (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)
ค่าจ้างตามนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ: International Labour Organization: ILO ได้ตราอนุสัญญาฉบับที่ 131 ว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ.2513)
มาตรา 3 องค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดระดับของค่าจ้างขั้นต่ำ ตราบเท่าที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับแนวปฏิบัติและสภาวการณ์ภายในประเทศต้องรวมถึง
(1) ความต้องการของคนทำงานและครอบครัว โดยคำนึงถึงระดับค่าจ้างทั่วไปในประเทศ ค่าครองชีพ สวัสดิการ ประกันสังคม และมาตรฐานการครองชีพของกลุ่มสังคมอื่น ๆ
(2) ปัจจัยทางเศรษฐกิจ รวมทั้งข้อกำหนดของการพัฒนาเศรษฐกิจ ระดับของผลิตภาพ และความต้องการที่บรรลุและคงไว้ซึ่งการจ้างงานระดับสูง
ประเทศไทยได้กำหนดให้มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนทำงานสามารถต่อรองค่าจ้างแรงงานกับผู้จ้างงานได้ ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 โดยให้มีคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อพิจารณาและกำหนด โดยคณะกรรมการประกอบด้วยประธานและกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง และได้กำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำต้องสามารถใช้ยังชีพของลูกจ้างและคนในครอบครัว 2 คนได้อย่างปกติ แต่ต่อมาได้ปรับนิยามของค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นใหม่ โดยพิจารณาลดเป็น ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินที่ลูกจ้างคนเดียวสามารถควรจะได้รับและดำรงชีพได้ โดยออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 2 เรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2518 และคงใช้นิยามนี้จนถึงปัจจุบัน
สำหรับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในทางสังคมและทางวิชาการเสมอมา และน่าจะตลอดไปตราบเท่าที่จะมีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยฝ่ายที่สนับสนุนชี้ว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยให้เกิดการบริโภค เกิดการผลิต เกิดการจ้าง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการไหลเวียน การเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐสามารถเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แรงงานที่มีรายได้น้อย ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยชี้ว่า อาจเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกรณีที่อัตราค่าจ้างไม่สอดคล้องกับศักยภาพของแรงงานอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจขนาดเล็กจนนำไปสู่การลดความต้องการแรงงานและเกิดการเลิกจ้างงานในท้ายที่สุด
เมื่อมองจากมิติสองด้านแล้ว การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะยังคงจำเป็นอยู่หรือไม่ ในฐานะที่เป็นคนทำงานในภาคการผลิตและทำงานในขบวนการแรงงานมองว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นยังคงมีความจำเป็นเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่คนที่มีรายได้น้อยสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และการปรับค่าจ้างก็จะเกิดการบริโภค เกิดการผลิต เกิดการจ้างงาน เกิดการไหลเวียนทางด้านเศรษฐกิจ เพียงแต่รัฐเองต้องเข้ามากำกับดูแลไม่ให้ธุรกิจเกิดการผูกขาดตัดตอน ให้สถานประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ พึ่งพาเติบโตไปด้วยกัน และสิ่งที่รัฐและเจ้าของสถานประกอบการจะต้องทำควบคู่กันไป คือ การยกระดับมาตรฐาน ทักษะฝีมือของคนงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพของคนงาน ให้คนงานสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจ เพราะในที่สุดแล้วประโยชน์ก็จะเกิดแก่ทุกฝ่ายได้อย่างยั่งยืน

***เมื่อไม่นานมานี้ ในแวดวงนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์คงได้รับทราบความเปลี่ยนแปลงใหม่ ความรู้ ความเข้าใจใหม่ จากนักวิชาการ นักวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2564 ได้แก่ เดวิด การ์ด, โจชัว แองกริสต์ และ กุยโด อิมเบนส์ โดยมีสมมุติฐาน 3 ด้าน คือ
A ค่าแรงขั้นต่ำส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจ?
B นโยบายเปิดรับผู้ลี้ภัยกระทบอย่างไรต่อตลาดแรงงาน?
C คุณภาพการศึกษาส่งผลอย่างไรต่อรายได้หลังเรียนจบ?
3 คำถามสำคัญ เกี่ยวกับตลาดแรงงาน ซึ่ง จากวิธีคิดเดิม ๆ สู่ทฤษฎีใหม่ ๆ จากวิธีคิดแบบเดิมที่บอกว่าการกำหนด ‘ค่าแรงขั้นต่ำ‘ ก็ไม่ต่างจากการทำลายประสิทธิภาพในตลาด ที่แม้จะทำให้แรงงานบางกลุ่มรายได้เพิ่ม แต่การจ้างงานในภาพรวมก็จะลดลง เพราะนายจ้างต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนการ ‘เปิดรับผู้ลี้ภัย‘ ก็เปรียบเสมือนการเพิ่มจำนวนแรงงานในตลาดที่จะมาแย่งงานคนท้องถิ่นทำให้พวกเขาตกงาน หรือได้รับค่าแรงต่ำลง ขณะที่การ ‘ลงทุนด้านการศึกษา‘ ก็ถูกตั้งคำถามอยู่บ่อย ๆ ว่าคุ้มค่าเพียงใด
แม้คำอธิบายข้างต้นจะดูสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกลับแตกต่างในระดับที่เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังมือ งานวิจัยเชิงประจักษ์ที่อิงจากข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงของ เดวิด การ์ด ได้ลบล้างความเข้าใจผิดจากแบบจำลอง ริเริ่มแนวทางสำหรับผู้กำหนดนโยบายไม่ให้รังเกียจรังงอนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ และต่อต้านผู้ลี้ภัย พร้อมกับกรุยทางทฤษฎีใหม่ ๆ ให้งอกงาม เพื่อสร้างตลาดแรงงานที่เท่าเทียม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ได้ทำร้ายใคร
ทุกครั้งที่มีข่าวเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เราอาจตระหนกตกใจไปต่าง ๆ นานา ว่าจะทำให้เศรษฐกิจพังบ้าง คนจะตกงานจำนวนมาก หรือทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงบ้าง ประเด็นที่มีน้ำหนักมากที่สุด คือ การเลิกจ้างเพราะคิดกัน (เอาเอง) ว่านายจ้างจะแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว
เดวิด การ์ด และ อลัน ครูเกอร์ (Alan Krueger) คู่หูนักเศรษฐศาสตร์ชั้นครูผู้ล่วงลับ ทดสอบสมมติฐานดังกล่าวในตลาดแรงงานสหรัฐอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แต่ละรัฐ
ในอเมริกามีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกัน งานวิจัยชิ้นที่โด่งดังเลือกพื้นที่ศึกษา คือ สองรัฐซึ่งมีขอบเขตติดกันแต่มีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำต่างกัน โดยหนึ่งในนั้น คือ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากชั่วโมงละ 4.25 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 5.05 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 20 เปอร์เซ็นต์ในชั่วข้ามคืน ขณะที่รัฐข้างเคียงอย่างเพนซิลเวเนียมีค่าแรงคงที่
หลายคนอาจคาดว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว จะทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ แต่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อเปรียบเทียบอัตราการจ้างงานระหว่างสองรัฐ กลับไม่พบผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ผลงานของทั้งสองถูกนำไปต่อยอดเป็นงานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างค่าแรงขั้นต่ำกับการจ้างงานในศตวรรษที่ 21 ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็สอดคล้องกับงานของการ์ดและครูเกอร์
แต่คำถามที่น่าสนใจกว่า คือ ทำไมแบบจำลองแบบเดิม ถึงทำนายผิดพลาดไปมากมายเช่นนั้น
คำอธิบายแรก คือ ต้นทุนแรงงานไม่ได้มีแค่ค่าจ้าง แต่ยังมีต้นทุนเรื่องกระบวนการ รับสมัคร คัดเลือก และอบรมพนักงาน ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มทำให้พนักงานลาออกน้อยลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนดังกล่าว ดังนั้น ต้นทุนแรงงานในภาพรวมที่นายจ้างต้องแบกรับจึงอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายอย่างที่หลายคนคิด
คำอธิบายที่สอง คือ เรื่องผลิตภาพ มีการศึกษาพบว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น จะช่วยเพิ่มผลิตภาพในช่วงเวลาการทำงาน ส่งผลให้แรงงานสร้างมูลค่าให้บริษัทได้เพิ่มขึ้นหลังจากขึ้นค่าแรง
คำอธิบายสุดท้าย เป็นเรื่องอำนาจในการต่อรองค่าแรงกับผู้ว่าจ้าง ในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้ว่าจ้างย่อมมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าลูกจ้าง การกำหนดค่าแรงโดยเฉพาะค่าแรงของพนักงานรายได้ต่ำ จึงแทบจะอยู่ในมือนายจ้างล้วน ๆ ภาวะดังกล่าวเรียกว่าตลาดที่อำนาจอยู่ในมือผู้ซื้อ (monopsony) นายจ้างในตลาดลักษณะนี้ย่อมฉวยโอกาส ขูดรีด ‘ส่วนเกิน’ ของแรงงาน เพื่อแปลงเป็นกำไรในระดับ ที่เรียกได้ว่าไม่เป็นธรรม การที่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จึงเป็นเพียงการใช้อำนาจรัฐเพื่อบังคับถ่ายโอนส่วนที่ควรจะเป็นของลูกจ้างให้มาอยู่ในมือพนักงาน ไม่ใช่รวบเก็บเข้ากระเป๋านายทุนอย่างที่ผ่านมา

ผู้อพยพกับผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
ไม่แปลกถ้าเราจะมองว่าผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย หรือแรงงานข้ามชาติ จะเข้ามาแย่งงานคนในท้องถิ่นนี่คือความเชื่อที่ปรากฏในแทบทุกสังคม แถมยังตอกย้ำด้วยผลลัพธ์จากแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ และถึงไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์มาก็เดาได้ไม่ยากว่า ถ้ามีแรงงานราคาถูกไหลทะลักเข้าในระบบ ก็ย่อมต้องเบียดขับแรงงานดั้งเดิมออกไป หรือไม่ก็ฉุดให้ค่าแรงโดยเฉลี่ยต่ำลง
นักเศรษฐศาสตร์เชื่อในทฤษฎีนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งถูกท้าทายโดยการศึกษาเชิงประจักษ์ของการ์ด ที่หยิบเอาประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เหตุการณ์ผู้อพยพจากท่าเรือมาเรียล (Mariel Boatlift) ประเทศคิวบา หลังการขึ้นสู่อำนาจของ ฟิเดล คาสโตร เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้อพยพมาขึ้นฝั่งที่สหรัฐอเมริกา จำนวนกว่า 125,000 คน ราวครึ่งหนึ่งตัดสินใจตั้งรกรากที่รัฐไมอามี นี่คือภาวะแรงงานทะลักเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะในเวลาไม่กี่เดือนก็มีแรงงานเพิ่มขึ้นถึงราว 7 เปอร์เซ็นต์
แต่ผลลัพธ์กลับหักปากกาเซียน เพราะการ์ดพบว่า แรงงานทักษะต่ำที่ไม่มีเชื้อสายคิวบา ไม่ได้รับผลกระทบในแง่การจ้างงานหรือรายได้แต่อย่างใด เขาระบุความเป็นไปได้สองอย่าง คือ จำนวนผู้ที่ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมายังไมอามีมีจำนวนลดลง หลังเหตุการณ์ผู้อพยพทางเรือจากท่าเรือมาเรียล และสอง คือ ความพร้อมของเมือง ซึ่งมีอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับแรงงานไร้ทักษะจำนวนมากได้
แม้หลายคนจะตั้งข้อสงสัยว่า การศึกษาปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเพียงกรณีเฉพาะและไม่สามารถประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อื่น แต่งานดังกล่าวก็จุดประกายให้เกิดสายธารงานวิชาการที่อภิปรายในประเด็นผู้อพยพและตลาดแรงงาน ซึ่งยังเป็นเรื่องร้อนแรงจวบจนถึงปัจจุบัน
ข้อสรุปหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องต้องกัน คือ แรงงานผู้อพยพ แทบไม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานดั้งเดิมในท้องถิ่นได้ เนื่องจากทั้งสองกลุ่มมีทักษะที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องภาษาและการสื่อสาร มีงานวิจัยพบว่า หลังจากผู้ลี้ภัยทะลักเข้าสู่ประเทศ แรงงานเดิมก็มักจะเปลี่ยนจากงานที่ใช้กำลัง ไปสู่งานที่ใช้ทักษะซับซ้อนมากขึ้น ค่าแรงที่ได้รับและอัตราการจ้างงานจึงแทบไม่เปลี่ยนแปลงหรืออาจดีขึ้นด้วยซ้ำ ได้แก่ เดวิด การ์ด, โจชัว แองกริสต์ และ กุยโด อิมเบนส์ ที่ทำการวิจัยในแบบที่เรียกว่า “การทดลองตามธรรมชาติ” (natural experiments) เพื่อตอบคำถามทางสังคมในเรื่องที่ว่าค่าแรงขั้นต่ำกับการอพยพส่งผลต่อตลาดแรงงานอย่างไรบ้าง ทำให้โนเบลมองว่าพวกเขาเหล่านี้ทำการ “ปฏิวัติการวิจัยเชิงประจักษ์ในด้านเศรษฐศาสตร์“
***ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ท

ดังที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นว่า การปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ได้มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานของกลุ่มคนสองฝ่าย คือ คนงาน และสถานประกอบการ หรือผู้จ้างงาน แต่สุดท้ายจะจบลงด้วยการตัดสินใจจากนโยบายของรัฐ การถกเถียงในทางข้อมูลนั้นส่วนมากคนงานจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะด้วยเวลาที่น้อย ต้องทำงานควบคู่กันไปเพื่อการยังชีพ การเข้าถึงข้อมูลที่ยาก เพราะขาดการสนับสนุนจากภาครัฐและภาควิชาการ ยิ่งประเทศไทยที่นักวิชาการส่วนมากต้องการที่จะมีที่ยืน
มีงานวิจัยที่จะได้รับค่าจ้างส่วนมากแล้วก็ไปสนับสนุนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือฝ่ายที่ต่อต้าน การปรับค่าจ้าง ฝ่ายรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองก็ต้องฟังเสียงที่สนับสนุนตน ซึ่งแน่นอนว่าระบบการเมืองในประเทศไทยระบอบประชาธิปไตยที่แลกมาด้วยเงินตรา เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือให้ได้มาซึ่งอำนาจ อิทธิพลก็ต้องไปสนับสนุนฝ่ายนายทุนที่สนับสนุนพรรค ก็คือ ไม่สนับสนุนข้อเสนอของคนงานที่ให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง การปรับขึ้นในแต่ละครั้งจึงเป็นไปได้ยาก และเมื่อขึ้นแล้วก็ถูกแช่แข็งหลายปีโดยอ้างภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันทางการค้า การลงทุน และนี่คือเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทย
อยู่ในกับดักความยากจน ความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเวลานี้
งานวิจัยจากนักวิชาการรางวัลโนเบล เดวิด การ์ด, โจชัว แองกริสต์ และ กุยโด อิมเบนส์ จึงน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่จะทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยและทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ตกต่ำ ติดลบ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยแล้ว ยิ่งมีความจำเป็น มิฉะนั้นแล้ว ยังมองไม่ออกว่าเราจะฟื้นฟูประเทศได้อย่างไร ในเมื่อคนทั้งประเทศยากจน ตกงาน ว่างงาน ขาดรายได้ ไร้อาชีพ จะกู้เงินเพื่อฉีดเงินเข้าสู่ระบบคงไม่เพียงพอและอาจมากเกินกว่าฐานะของประเทศที่จะก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น
ขบวนการแรงงานในประเทศไทย ในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)และ สมาพันธ์แรงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้พยายามต่อสู้ในเชิงวิธีคิด และสภาพความเป็นจริงทางสังคมที่คนงานต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน พร้อมเหตุผลประกอบ แต่ที่สุดการตอบสนองจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดยังมองเพียงแค่กรอบคิดแบบเดิม จึงเป็นข้อถกเถียงเสมอมา
ในขณะที่การรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม กลับไม่ได้การสนับสนุนจากรัฐ รวมทั้งอนุสัญญาขององค์การแรงงานประเทศที่เกี่ยวข้อง คือ อนุสัญญาฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 ซึ่งเป็นพื้นฐานอันสำคัญที่จะสร้างพลังให้แก่คนงานในการเจรจาต่อรองในทุกเรื่องลองมาดูข้อเสนอและเหตุผลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เพื่อให้ปรับค่าจ้างในหลายปีที่ผ่านมา

เรื่อง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล และต้องเท่ากันทั้งประเทศ
ทำไมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้
1.ปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบัญญัติไว้ใน ข้อ 23 (3) ว่า ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรม และเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วย
2.อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 131 บัญญัติไว้ใน มาตรา 3 องค์ประกอบ คือ ที่ต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดระดับของค่าจ้างขั้นต่ำ ตราบเท่าที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับแนวปฏิบัติและสภาวการณ์ภายในประเทศต้องรวมถึง
(ก) ความจำเป็นของคนงานและครอบครัวของคนงาน โดยคำนึงถึงระดับค่าจ้างทั่วไปในประเทศ ค่าครองชีพ ประโยชน์ทดแทนต่าง ๆ จากการประกันสังคมและมาตรฐานการครองชีพโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มสังคมอื่น ๆ
ฯลฯ
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ได้ “ประกาศให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจะพัฒนาประเทศโดยใช้หลักสิทธิมนุษยชนนำ เป็นเรื่องที่ดี “แต่ต้องทำให้จริง ทำให้ได้ อย่าเลือกทำบางเรื่อง ไม่ทำบางเรื่อง เลือกปฏิบัติสังคมไทย สังคมโลกจะประณามว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ดี เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดไว้ในหลักสากลว่าต้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ก็จะเป็นเครื่องวัดว่า “รัฐบาลจริงจัง จริงใจ ในคำประกาศแค่ไหน” เพราะค่าจ้างปัจจุบัน 10 ราคา คือ 313, 315, 320, 323, 324, 325, 330, 331, 335 และ 336 บาทนั้น คนเดียวอยู่ได้หรือไม่ ครอบครัวอยู่ได้หรือไม่ รัฐบาล กลุ่มทุนและคนที่เห็นต่างลองตอบคำถามดู
ทำไมการปรับค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ
- ผลเสียของการปรับค่าจ้างที่ต่างกัน
ประการแรก ประเทศไทยเริ่มประกาศเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2516 วันละ 12 บาท และมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละช่วงแต่ละปีเรื่อยมา จนมาถึงปี พ.ศ.2537 รัฐบาลในเวลานั้นประกาศให้ค่าจ้างลอยตัวแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดสามารถปรับขึ้นค่าจ้างเองได้ โดยผ่านคณะอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดแล้วส่งมาให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดสิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันของคนงานยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ดูจากอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง รัฐไทยยังไม่รับรองทั้ง ๆ ที่เป็นอนุสัญญาหลักของ ILO ในต่างจังหวัดจึงแทบจะไม่มีองค์กรหรือบุคคลที่เป็นผู้แทนของคนงานอย่างแท้จริงร่วมพิจารณาการปรับค่าจ้าง
จึงทำให้ค่างจ้างเหลื่อมล้ำกันมาก บางพื้นที่รอยต่อจังหวัดต่อจังหวัดค่าจ้างต่างกันแต่ต้องซื้อสินค้าในราคาเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในการครองชีพแตกต่างกัน และที่สำคัญทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เมืองใหญ่ที่มีค่าจ้างสูง ทำให้เกิดเมืองแออัดทั้งสภาพแวดล้อม วิกฤตการจราจร การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ เกิดปัญหาคนจนเมือง ในขณะที่ชนบทล่มสลาย ไม่มีคนหนุ่มสาว ภาคการเกษตร ไม่มีคนทำงาน ที่ดินถูกยึดครอง สภาพเช่นที่กล่าวมาก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข คุณภาพของประชากร เรื่องทรัพยากร ที่ดิน ซึ่งประเทศไทยตอนนี้ถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก
ประการที่สอง กล่าวคือ วันนี้คนงานคนหนึ่งต้องทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ตามที่กฎหมายกำหนด เหตุเพราะค่าจ้างต่ำ ในขณะที่สินค้าอุปโภค บริโภค ราคาสูงขึ้นอย่างมาก แม้จะอยู่ในต่างจังหวัดแต่วิถีชีวิตคนส่วนใหญ่ผูกพันกับร้านสะดวกซื้อซึ่งราคาสินค้าไม่แตกต่างกัน เท่ากันทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ และ บางรายการแพงกว่าในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไป แค่เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่างจังหวัดก็แพงกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก แต่รัฐบาลก็ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะควบคุมราคาสินค้า หรือ กำหนดราคาสินค้าให้อยู่ในกรอบราคาเป็นเขตพื้นที่เหมือนกับค่าจ้าง ซึ่งจะมีข้ออ้างทุกครั้งว่าการปรับค่าจ้างแล้วราคาสินค้าจะขึ้นราคา แท้จริงแล้วในผลิตภัณฑ์สินค้าต่อชิ้นมีค่าจ้างแรงงานที่เป็นต้นทุนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์
2. ผลดีหากปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมตามหลักการสากลและเท่ากันทั้งประเทศ
ประการแรก จะทำให้แรงงานลดการอพยพคนงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เขตค่าจ้างสูง เพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายกระจายงานกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาค บริหารจัดการเรื่องการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ให้คล่องตัว พร้อมกำกับควบคุมดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมให้ดี ไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้คนงานสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ และสามารถอยู่กับท้องถิ่นชนบท ออกจากโรงงานก็ยังสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเสริมได้ ที่ดินก็ไม่ถูกยึดครอง ครอบครัวก็ไม่แตกสลาย
ประการที่สอง เมื่อปรับค่าจ้างให้ คนงานก็มีกำลังซื้อ สินค้าที่ผลิตออกมาก็สามารถขายได้ เกิดการจ้างงาน เมื่อคนงานมีรายได้จากค่าจ้างแรงงาน สถานประกอบการก็มีรายได้จากการขายสินค้า รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล และการส่งออก รัฐก็มีรายได้มีเงินจัดสรรเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ อีกด้านหนึ่งเมื่อคนงานมีรายได้เพียงพอก็สามารถวางอนาคตตนเองและครอบครัวได้ เช่น การศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ดังนั้น การปรับค่าจ้างจะมองมิติเดียวแคบ ๆ ไร้วิสัยทัศน์ไม่ได้ เพราะจะทำให้การพัฒนาประเทศไร้ทิศทางไปด้วย คือ อุตสาหกรรม กลุ่มทุนเติบโตร่ำรวยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่ชีวิตครอบครัวคนงานยากจนลง ก็จะทำให้ประเทศชาติก้าวไม่พ้นความเหลื่อมล้ำ ก้าวไม่พ้นเรื่องของความยากจนต่อให้กี่รัฐบาล ต่อให้กี่การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ก็ยากที่จะนำพาประเทศ สู่ความก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ได้ คณะกรรมการสามานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอประกาศย้ำจุดยืนเดิมและแถลงให้ทราบทั่วกัน โดยภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ว่า
“รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ 3 คน ตามหลักการปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างให้แตกต่างกันเป็นระดับท้องถิ่น และรัฐบาลควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้างเพื่ออนาคตของคนงาน พร้อม ๆ กับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง”
ข้อเสนอต่อรัฐบาลของ คสรท. และ สรส. ดูเหมือนสอดคล้องกับสถานการณ์และงานวิจัยที่เป็นสากลแต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าพลังในการขับเคลื่อนขบวนการแรงงานและความเห็นพ้องของสังคม รวมทั้งรัฐบาลซึ่งฝ่ายที่ต้องการ คงต้องใช้กระบวนการต่าง ๆ อย่างไม่ลดละ และต้องไม่ให้การไม่ประสบผลสำเร็จในปีก่อน หรือปีนี้ จะเป็นสิ่งลดทอนความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย