
วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เข้ายื่นหนังสือ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น เรื่อง ขอให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. (ฉบับรัฐบาล)
นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท. และนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสรส. โดยหนังสือระบุดังนี้
ตามที่ มีความเห็นพ้องร่วมกันของขบวนการแรงงานในการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เนื่องจากมีการใช้มาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เศรษฐกิจ สังคม รูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไปและที่สำคัญคือไม่เป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงแรงงานและขบวนการแรงงานได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวจนแล้วเสร็จ และส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และทางคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในรายละเอียด และได้ส่งคืนกลับมาที่คณะรัฐมนตรี ตามเรื่องเสร็จที่ 598/2565 ซึ่งจากร่างที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงขั้นคัดค้านร่างฉบับดังกล่าวอย่างกว้างขวาง บางส่วนก็เสนอให้มีการล้มทั้งฉบับ บางส่วนเห็นว่าร่างดังกล่าวมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ก็มีข้อเสียอยู่ไม่น้อยจึงเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขในรายมาตราเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มตน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการในการยกร่างแก้ไขมาตั้งแต่ต้น แต่ต้องถอนตัวตามมติคณะกรรมการ คสรท. เนื่องจากในคณะกรรมการยังมีความเห็นที่จะให้มีกฎหมายแรงงานที่แยกกันระหว่างแรงงานรัฐวิสาหกิจ เอกชน ซึ่งจุดยืนของ คสรท. ต้องการให้การแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์นั้นครอบคลุมแรงงานทุกสาขาอาชีพ ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ และแรงงานข้ามชาติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. (ฉบับรัฐบาล) แล้ว พบว่า
ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เศรษฐกิจ สังคม รูปแบบการจ้างงานในระบบแรงงานสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามหลักการที่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวพยายามเขียนไว้ แม้ว่าในร่างฉบับดังกล่าวจะมีข้อดีอยู่บ้าง
แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อดีที่มองเห็นดังที่กล่าวมา แต่ก็ยังมีรายละเอียดที่เป็นประเด็นปัญหา ความคลุมเครือ
ไม่ชัดเจน ที่ต้องตีความซึ่งอาจจะมีปัญหาตามมาในภายหลังสำหรับตามที่เขียนไว้ไม่ชัดเจน เช่น
- มีการกำหนดให้ การยื่น, การแจ้ง, การส่งเอกสาร หรือการประกาศ ให้ใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก (ม.8) เป็นการปรับให้ทันตามยุคสมัย
- มีการกำหนดให้จัดประชุมสมัชชาแห่งชาติขึ้น (ม.4 (6)) เพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี (ม.126) ซึ่งถือว่าเป็นเวทีระดับชาติที่ภาคส่วนแรงงานจะได้มีเวทีใหญ่แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอเป็นครั้งแรก
- มีการกำหนดให้ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานร่วมกันเจรจาเพื่อจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยไม่กำหนดว่าจะมีลูกจ้างกี่คน (ม.10-12)
- มีการกำหนดระยะเวลาในการยื่นข้อเรียกร้องใหม่ก่อนข้อเรียกร้องเดิมสิ้นสุดให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเดิมไม่ได้กำหนดไว้ (ม.16)
- กรณีสมาชิก/ผู้ลงลายมือชื่อ สนับสนุนข้อเรียกร้อง มีจำนวนลดลงกว่าจำนวนที่กำหนด ไม่ทำให้ข้อเรียกร้องนั้นตกไป ซึ่งเดิม ถือว่าข้อเรียกร้องตกไป (ม.19, 20)
- ที่ปรึกษาในการเจรจา ไม่ต้องจดทะเบียนอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเดิม ต้องจดทะเบียน (ม.22)
- กำหนดให้ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ต้องทำคำชี้ขาดภายใน 90 วัน ซึ่งเดิม ไม่มีกำหนด (ม.23)
- เปิดให้กิจการบริการสาธารณะ ปิดงานหรือนัดหยุดงานได้ แต่ต้องจัดทำแผนบริการขั้นต่ำ ซึ่งเดิมทำไม่ได้ต้องส่งชี้ขาดเท่านั้น (ม.37) แต่ก็ยังให้อำนาจ รมต.สั่งให้ส่งชี้ขาดได้ (ม.48)
- มีการกำหนดให้ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างหรือ สหภาพแรงงาน ร่วมกันจัดทำแผนบริการขั้นต่ำร่วมกัน (ม.39) และต้องมีการทบทวนแผนฯอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (ม.44)
- กำหนดห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างบุคคลใดเพื่อทำงานแทนที่ลูกจ้างซึ่งนัดหยุดงาน (ม.51)
- กำหนดระยะเวลาในกรณีขอนัดประชุม/จัดประชุม คณะกรรมการลูกจ้างชัดเจนขึ้น ซึ่งเดิมไม่ได้กำหนด (ม.65)
- ผู้จัดตั้งสหภาพแรงงาน ไม่จำต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และไม่ต้องจดทะเบียน (ม.45) แต่ต้องยื่นขอ
ใบสำคัญรับรองการจัดตั้ง หลักเกณฑ์ วิธีการ รายการเอกสาร ในการขอรับใบรับรองการจัดตั้ง
สหภาพ อยู่ในอำนาจการออกแบบของอธิบดี (แต่ยังไม่มีความชัดเจน เหมือนจะพยายามเขียนไว้ให้
ดูดี แต่ชั้นของการออกใบรับรองก็ไม่แตกต่างกับการจดทะเบียน หากอธิบดี ไม่ออกใบรับรองการจัดตั้งสหภาพแรงงาน (ม.97) แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ (ม.108) กรรมการใหม่ (ม.109) ให้ ต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงาน เกิดภาระแก่ศาล ควรมีกลไกที่ง่ายกว่านี้)
13. เปิดให้มีการจัดตั้ง สหภาพแรงงานเป็นการทั่วไป ไม่กำหนดประเภทตามกิจการหรือตามนายจ้าง โดยผู้ที่จะเป็นสมาชิกขอเพียงมีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” เท่านั้น (ม.100)
14.เพิ่มสิทธิให้กรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อไปประชุม สัมมนา ได้ตามที่ได้ตกลงกับนายจ้างไว้ รวมถึงไปทำหน้าที่ในคณะกรรมการไตรภาคีหรืออนุกรรรมการตามกฎหมายได้โดยถือเป็นวันทำงาน (ม.106 (3)(4))
15.กรณีบริษัทเปลี่ยนแปลงจากเอกชนเป็นรัฐวิสาหกิจหรือรัฐวิสาหกิจไปเป็นเอกชน ให้สถานะ การเป็นองค์กรยังคงอยู่ต่อไป (ม.116) (จากบทเรียนของการบินไทย ธนาคารกรุงไทย)
16.การจัดตั้ง สหพันธ์แรงงาน ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นกิจการประเภทเดียวกัน (ม.119)
17.ในระหว่างเปลี่ยนผ่าน มีการกำหนดบทบาท-หน้าที่-การดำรงอยู่-การสิ้นไป ไว้ในบทเฉพาะกาลไว้อย่างชัดเจน
แต่หากพิจารณาในข้อเสียประเด็นที่จะเกิดผลกระทบต่อคนทำงาน สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาแรงงาน และระบบไตรภาคีรวมทั้งผู้ประกอบการเอง หากว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ซึ่งมีอยู่ใช่น้อย คือ
- ยังมีการแยกภาคเอกชนกับภาครัฐวิสาหกิจออกจากกัน
- มีการยกเว้นมิให้ใช้บังคับกับหน่วยงานราชการและหน่วยงานอื่นในทำนองเดียวกัน ทำให้ลูกจ้างของหน่วยงานนั้นๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์กับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ขัดต่อหลักการอันสำคัญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่มีหลักการว่าด้วยสิทธิการรวมตัวจัดตั้งองค์กรและการเจรจาต่อรองที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาที่ 87 และ 98 นั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และ ขัดต่อหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN)
- นิยาม “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” ถูกตีความไว้ “อย่างแคบ” ซึ่งจะส่งผลถึงการยื่นข้อเรียกร้อง นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงกิจการเกี่ยวกับการรับเหมาค่าแรงไม่ได้ถูกพูดถึงในนิยามนี้ และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ที่พยายามจะเขียนไว้
- นิยาม “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” ให้คำจำกัดความเพียงข้อตกลงที่เกิดจากการเจรจาเกี่ยวกับสภาพการจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงข้อตกลงอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกัน เช่น การให้ใช้พื้นที่ของบริษัทเป็นที่ทำการของ สหภาพแรงงาน/การหักค่าบำรุง เป็นต้น
- นิยาม “ข้อพิพาทแรงาน” ให้คำจัดการความอย่างแคบเช่นกัน ซึ่งกฎหมายเดิม ใช้คำว่า “ข้อขัดแย้ง” ซึ่งหมายถึงข้อขัดแย้งในทุกเรื่องที่สามารถส่งให้พนักงานประนอมฯ เข้าไกล่เกลี่ยได้
- ไม่มีการกำหนดนิยามของ “สมัชชา” และ “อิเล็กทรอนิกส์” ว่ามีคำจำกัดความว่าอย่างไร
- การเพิ่มมาตรา 7 เรื่อง “ความสุจริต” ซึ่งเป็น “นามธรรม” และอาจเป็นเครื่องมือในการส่งผลร้ายหรือการทำลายล้างโดยกล่าวอ้างการกระทำบางอย่างเป็นการกระทำโดย “ไม่สุจริต” ได้และในทางกฎหมายถือเป็น “กับดัก” ที่สำคัญ
- ไม่มีความชัดเจนในการยื่นข้อเรียกร้องกรณีการรวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมหรือข้ามประเภทอุตสาหกรรมจะต้องยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างใด? อย่างไร? (ม.14-16) ประกอบ
ม.95, ม.100 - การกำหนดจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า “ของลูกจ้างทั้งหมด” เป็นปัญหาสำคัญที่จะทำให้การยื่นข้อรียกร้อง การหาสมาชิกหรือการลงลายมือชื่อสนับสนุนเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจาก
ไม่มีกลไกให้ลูกจ้าง/สหภาพแรงาน ได้ตรวจสอบจำนวนลูกจ้างทั้งหมดของนายจ้างว่ามีจำนวนเท่าใด โดยเฉพาะในกิจการที่มีจำนวนสาขาหรือโรงงานหลายแห่ง จึงอาจเป็นสาเหตุให้การยื่นข้อเรียกต้องตกไปหรือเกิดการโต้แย้ง หรือข้อพิพาทเกิดขึ้นได้ (ม.19-20) - ไม่สามารถยกยื่นข้อเรียกร้อง เป็นแผนก/ฝ่าย หรือแยกบริษัทได้ ซึ่งเดิมใช้คำว่า “ผู้เกี่ยวข้องกับ
ข้อเรียกร้อง” (ม.13 เดิม) - การกำหนดให้มีการเจรจากันภายใน 5 วัน จากเดิม 3 วัน หรือกำหนดการไกล่เกลี่ยภายใน 15 วัน ซึ่งใช้เวลานานเกินไปไม่เกิดประโยชน์ต่อลูกจ้าง และ สหภาพแรงงาน
- การกำหนดให้มีการใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการแจ้ง ยื่น หรือติดต่อ สื่อสาร อาจมีปัญหาเรื่องวันเวลาในการส่งและรับ ตลอดจนการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ให้นิยามนี้อย่างชัดแจ้ง
- การเปลี่ยนจาก “คณะกรรมการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์” (ร่างเดิม ม.41-44) เป็น “การประชุมสมัชชาแห่งชาติ” (ม.126 ประกอบ ม.9) ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสวัสดิการฯ มีเจตนารมณ์
ที่แตกต่างกันและยังไม่มีรายละเอียดและรูปแบบของผู้เข้าร่วม , วาระการประชุม , การตั้งญัตติ
/กระทู้ รวมถึงมาตรการบังคับหลังจากมติที่ประชุมให้ความเห็นชอบ - การกำหนดแผนบริการขั้นต่ำ กำหนดให้ร่วมกันจัดทำ แต่หากตกลงกันไม่ได้ให้ถือเอาแผนบริการขั้นต่ำที่ฝ่ายนายจ้างให้ความเห็นชอบ (ม.37-43) ซึ่งถือเป็นการจำกัดสิทธิของฝ่ายสหภาพแรงงานและไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วม
- การนัดหยุดงานขยายเวลาจากเดิมเป็น 48 ชั่วโมง (ม.36)
- การกำหนดให้ต้องแจ้งก่อน 7 วัน ในการแจ้งใช้สิทธินัดหยุดงานของกิจการบริการสาธารณะ
(ม.46) เป็นเวลาที่ไม่เหมาะสม เหตุเพราะมีการกำหนดแผนมาตรการบริการสาธารณะขั้นต่ำอยู่แล้ว - ยังให้อำนาจรัฐมนตรี ในกิจการสาธารณะสั่งให้ส่งชี้ขาดได้ ท้ายที่สุดอาจไม่สามารถนัดหยุดงาน
ได้จริง (ม.48) - การตัดอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณี “สั่งให้ส่ง/ให้มา/ให้ตอบ” โดยไม่มีบทลงโทษกรณีสั่งแล้วไม่ปฏิบัติ ซึ่งส่งผลให้ได้ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน เมื่อมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่งแล้ว มีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่การฟ้องเพิกถอน โดยอ้างเหตุรับฟังข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน (ม.58) ซึ่งกฎหมายเดิม มีโทษ (ม.43 ประกอบ ม.142)
- การพ้นวาระของกรรมการลูกจ้าง ยังมีข้อสงสัยว่า กรณีที่ลูกจ้างเพิ่มขึ้นหรือลดลงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งจะเกิดสิทธิในการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะนั้น ส่งผลให้กรรมการลูกจ้างเดิมยังมีสถานะ การเป็นกรรมการลูกจ้างอยู่ต่อไปหรือไม่ (ม.63-64)
- กรณีการจัดประชุมคณะกรรมการลูกจ้าง ร่างกฎหมายใช้คำว่า “ปรึกษาหารือ” แทน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ใช้คำว่า “ประชุมปรึกษาหารือ” ซึ่งการตัดคำว่า “ประชุม” ออก เท่ากับตัดความเป็น “ทางการ” ออกไปเพราะการปรึกษาหารืออาจจะเป็นการพูดคุยแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ (ม.65)
- ตัดบทคุ้มครองกรรมการลูกจ้างเหลือเพียงต้องขออนุญาตศาลแรงงานกรณีเลิกจ้างเท่านั้น (ม.67) ต่อไปการลงโทษกรรมการลูกจ้างไม่ต้องขออนุญาตศาลแรงงานก่อน และจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้อำนาจนายจ้างหาเหตุมาลงโทษลูกจ้างได้โดยขาดการกลั่นกรองจากศาลแรงงานก่อน และอาจนำไปสู่การกำจัดด้วยการเลิกจ้างจากการผิดซ้ำคำเตือนได้ ซึ่งตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้ความคุ้มครองถึงการลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติงาน หรือการกระทำการใดๆ อันเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างทำงานอยู่ต่อไปได้ด้วย (ม.52 เดิม) ซึ่งถือว่าเป็นบทคุ้มครองที่ดีกว่าร่างฯ ฉบับนี้
- หลักเกณฑ์ วิธีการ รายการเอกสาร ในการขอรับใบรับรองการจัดตั้งสหภาพ อยู่ในอำนาจการออกแบบของอธิบดี และยังไม่มีความชัดเจน เหมือนจะพยายามเขียนไว้ให้ดูดี แต่ชั้นของการออกใบรับรองก็ไม่แตกต่างกับการจดทะเบียน
- หากอธิบดี ไม่ออกใบรับรองการจัดตั้งสหภาพแรงงาน (ม.97) แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ (ม.108) กรรมการใหม่ (ม.109) ให้ ต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงาน เกิดภาระแก่ศาล ควรมีกลไกที่ง่ายกว่านี้
- ร่างฯ ใช้คำว่า “สมาชิกของสหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้าง” (ม.100) ในทางปฏิบัติอาจมีปัญหา
ในการยื่นข้อเรียกร้องว่าจะยื่นต่อใคร? เช่น ลูกจ้างร้านเย็บผ้า, ลูกจ้างร้านส้มตำ ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานในระบบ หากต้องยื่นข้อเรียกร้องจะยื่นต่อใคร? อย่างไร? - ในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ยังมีการแยกระดับปฏิบัติการกับระดับบังคับบัญชาออกจากกัน
ซึ่งจะย้อนแยงกับการเปิดการเป็นสมาชิกที่ใช้คำว่า “ลูกจ้าง” (ม.100 วรรคสอง) ควรกำหนดให้เฉพาะผู้บังคับบัญชาระดับผู้บริหารเท่านั้น ที่ไม่สามารถเป็นสมาชิกได้ - กำหนดให้สหภาพแรงงานต้องมีการตรวจสอบบัญชีทุกปี หากละเว้นมีการโทษปรับไม่เกิน 10,000.-บาท (ม.112 ประกอบ ม.146) จากเดิมปรับไม่เกิน 2,000.-บาท (ม.108 ประกอบ
ม.150 เดิม) - การควบรวมสหภาพแรงงาน ไม่มีความชัดเจน (ม.113) และจะมีปัญหาในการยื่นข้อเรียกร้องว่ายื่นต่อใคร? อย่างไร? ภายหลังจากการควบรวมแล้ว
- การรวมตัวกันเป็นสหพันธ์แรงงาน โดยไม่กำหนดว่าต้องเป็นกิจการประเภทเดียวกัน ทำให้เกิดการรวมตัวกันตั้งสหพันธ์ข้ามประเภทธุรกิจได้ และกรรมการสหพันธ์ไม่สามารถเป็นผู้แทนในการเจรจาแทนสหภาพแรงงานได้ (ม.119) (ม.14 เดิม)
- หมวดการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีการตัดข้อความจากเดิม มีการระบุ “ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน กรรมการสหพันธ์แรงงาน” (ม.121 เดิม) คงเหลือเฉพาะคำว่า “ลูกจ้าง” (ม.130 วรรคแรก)
- ตัดการคุ้มครองกรณีที่มีการยื่นข้อเรียกร้องแล้ว จากเดิม (ม.31 เดิม) ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานหรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง” มาเหลือเพียง “ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในการเรียกร้อง…”
ไม่คุ้มครองการโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างด้วย (ม.132 วรรคแรก) - ยังให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ในการกำหนดให้รับกลับเข้าทำงาน หรือ ให้จ่ายค่าเสียหายแทน ซึ่งควรเป็นฝ่ายลูกจ้างที่ถูกกระทำอันไม่เป็นธรรมเป็นฝ่ายเลือกว่าจะรับค่าเสียหายหรือประสงค์จะกลับเข้าไปทำงาน ส่วนเมื่อเข้าไปทำงานแล้วจะอยู่กันได้หรือไม่ได้นั้นย่อมเป็นเรื่องของอนาคตคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ควรใช้อำนาจในการตัดสินใจแทนคู่กรณี (ม.135)
- มีการกำหนดกรอบเวลา หากไม่พอใจคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ต้องอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เช่นเดียวกับการอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน (ม.135 วรรคสี่)
- กรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ออกคำสั่งแล้ว ยังเปิดโอกาสให้มีการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งได้หากได้รับอนุญาตจากศาล ส่งผลให้ลูกจ้างขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยไม่มีกลไกใดให้ความคุ้มครองลูกจ้างในส่วนนี้
- ผู้เสียหายในคดีอาญากรณีฝ่าฝืนคำสั่ง ยังคงเป็นเพียงผู้ออกคำสั่ง ไม่รวมถึงลูกจ้างผู้ซึ่งเป็นผู้เสียหายและเป็นผู้กล่าวหาตาม พ.ร.บ.นี้ และกรณีฝ่าฝืนคำสั่งมีเพียงโทษปรับเพียงอย่างเดียว
(ม.153, ม.142) ซึ่งเดิมต้องโทษจำคุก 2 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ - เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. ใช้บังคับแล้ว โทษทางอาญาทั้งหมดจะถูกปรับให้เป็นเพียงโทษปรับเป็นพินัย (ม.160) หมายความว่า การปรับตามกฎหมายนี้จะไม่ใช่การปรับเนื่องจากความผิดตามที่กำหนดโทษทางอาญา ไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม (โทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.18 มีโทษ 5 สถาน คือ (1)ประหารชีวิต (2)จำคุก (3)กักขัง (4)ปรับ และ (5)ริบทรัพย์สิน)
- โทษปรับในส่วนของลูกจ้าง สหภาพแรงงานมีอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับนายจ้าง
ดังเหตุผลที่อธิบายข้างต้น กล่าวคือ แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. (ฉบับรัฐบาล) จะมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ยังคลุมเครือไม่ชัดเจนและก็มีข้อเสียอยู่ไม่น้อยที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข คงส่วนที่ดีทำให้เกิดความชัดเจน และแก้ไขข้อเสียเพื่อให้กฎหมายที่จะออกมาประกาศใช้ได้รับการยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐบาลทบทวน ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. (ฉบับรัฐบาล) โดยให้แรงงานทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา ทบทวน ประกอบด้วยผู้แทนสหภาพแรงงาน องค์กรแรงงานต่างๆ และ คสรท. ขอยืนยันในจุดยืนเดิม คือ 1.การแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ต้องครอบคลุมแรงงานทุกสาขาอาชีพ ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการลูกจ้างภาครัฐ และแรงงานข้ามชาติ 2.ในหนึ่งสถานประกอบการให้มีสหภาพแรงงานเพียงแห่งเดียว 3.หากกระบวนพิจารณากฎหมายล่าช้า ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO
ฉบับที่ 87 และ 98 ไว้ก่อน เพราะในทางปฏิบัติสามารถดำเนินการได้ไม่ขัดต่อหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อปกป้อง คุ้มครองสิทธิของแรงงานที่มีสภาพการทำงาน การจ้างงานที่เปลี่ยนไปอย่างมากเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิเป็นไปตามหลักกติกาสากล
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน