วันที่ 30 เมษายน 2564 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เข้ายื่นหนังสือจำนวน 22 ข้อ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 50 จังหวัดได้รวมกลุ่มกันกลุ่มละ 10-20 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกัน และในกรุงเทพมหานคร นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ช่วงเช้าได้ส่งหนังสือข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านตู้รับเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นเดินทางมากระทรวงแรงงานเพื่อยื่นหนังสือต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายสาวิทธิ แก้วหวาน ประธานคสรท. และเลขาสรส.กล่าวว่า ในวันเดียวกันนี้ได้มอบหมายให้ผู้นำแรงงานจำนวน 54 จังหวัดเดินทางเข้าไปยื่นข้อเรียกร้องเดียวกันต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเนื่องในวันกรรมกรสากล ของทุกปีจะมีขบวนการแรงงานทั่วโลกออกมาเฉลิมฉลองและรำลึกถึงคุณูปการของกรรมกรในยุคของการต่อสู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก จนเป็นผลให้คุณภาพชีวิตของคนทำงานถูกพัฒนามีมาตรฐาน มีหลักประกันมากขึ้น ทั้งในเรื่องความมั่นคงในการทำงาน ความปลอดภัยในการทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามจากการวิวัฒนาการของการทำงานและการจ้างงานมีความเปลี่ยนแปลงไปมากและในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้คนทำงาน ผู้ใช้แรงงาน มีความยากลำบากมากขึ้นแม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อการทำงาน แต่อีกด้านหนึ่งคนงาน ผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหาเดิม ๆ เมื่อ 200 ปีที่แล้ว ภายใต้การแข่งขันของธุรกิจและผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหญ่ ส่งผลให้คนงาน ผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมากขึ้นทั้งในโลกแห่งการทำงาน การดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัว และเมื่อโลกต้องเผชิญกับมหันตภัยพิบัติจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ ไวรัสโควิด – 19 ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ต้องลำบากมากยิ่งขึ้น
ประเทศไทยจากนโยบายพัฒนาประเทศที่ผ่านมาก็ไม่แตกต่างจากต่างประเทศ จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันแม้ว่าระบบเศรษฐกิจจะมีการพัฒนาไปมาก การเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ของคนงานและผู้ใช้แรงงานก็ได้มีการพัฒนาไปมากพอสมควรแต่หากมองในภาพรวมแล้วชีวิตของคนทำงาน ผู้ใช้แรงงาน ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานอิสระต้องเผชิญกับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป ไร้ความมั่นคง ในขณะที่กฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้มาเป็นเวลานานกลับไม่สอดคล้องและคุ้มครองแรงงานได้จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พลังของคนทำงานมีอำนาจการต่อรองลดน้อยลงอันเหตุเพราะกฎหมายและกติกาสากลที่รัฐบาลยังไม่รับรองข้อเสนอเร่งด่วน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ จากภาวการณ์ขาดรายได้ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีหนี้สินมาก ภาระทางสังคมสูง กิจการของรัฐถูกถ่ายโอนให้เอกชนดำเนินการแทนรัฐ ประชาชนต้องแบกรับภาระที่แพงเพื่อผลกำไรของเอกชน ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา
เมื่อวันที่25 กรกฎาคม2562 ซึ่งมองภาพกว้างแล้วก็เป็นประโยชน์แต่ในทางความเป็นจริงและการปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายก็ยังต้องพัฒนาเร่งรัดอีกมาก และยิ่งประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ยิ่งเลวร้ายลงไป แม้ว่าคนทำงาน ผู้ใช้แรงงานจะให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบาย และประกาศต่าง ๆ ของรัฐบาล แต่ก็ยังวิตกว่าความปกติจะกลับคืนมาเมื่อใด กลับมาปกติแล้วชีวิตคนทำงานจะมีหลักประกันที่เหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมหรือไม่ เช่นทุกปีในการยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลแม้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่มีการงดทำกิจกรรมแต่ปัญหาความเดือดร้อนของคนทำงาน ผู้ใช้แรงงานยังดำรงอยู่จึงมีความจำเป็นในการยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเนื่องในวันกรรมกรสากลประจำปี 2564 (2021) ดังนี้
ข้อเสนอเร่งด่วน
ให้รัฐบาลออกมาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและคนทำงานในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด -19 ดังนี้
- ให้เร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยเร็วและเปิดโอกาสให้ผู้มีความพร้อมในการนำเข้าและฉีดวัคซีนที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองจากรัฐเพื่อฉีดให้แก่คนใกล้ชิดและพนักงาน
ในสถานประกอบการของตนเองเพื่อลดภาระของรัฐ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต้องครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย
2.กำหนดมาตรการดูแลที่ดีพอบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข พนักงานที่ให้บริการแก่ประชาชนในการบริการสาธารณะทั้งเรื่องวัคซีน เครื่องมืออุปกรณ์ การตรวจ การป้องกัน ให้เพียงพอ
- ให้ประชาชน คนทำงาน ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ เข้าถึงการบริการการตรวจโรคอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม
- ให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายของประชาชน ในเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น เพราะจะเกิดประโยชน์กับทุกคน ทุกครอบครัว และการสนับสนุนนี้ต้องเป็นงบประมาณจากรัฐมิใช่ผลักภาระให้หน่วยงานบริการ
- การเยียวยา ช่วยเหลือ หากมีความจำเป็น ต้องเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติครอบคลุมคนยากจน คนรายได้น้อย และดูแลแรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสมในฐานะมนุษย์ที่มีความทุกข์ยากเหมือนกัน
- ยกเลิก หรือ ลด การเก็บค่าบำรุงการศึกษา (ค่าเทอม) เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้มีการเรียนผ่านระบบออนไลน์
- รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้มีราคาแพงและลงโทษกับผู้ที่ฉวยโอกาส บนความทุกข์ยากของประชาชน
- รัฐต้องควบคุมการจัดการเรื่องโควิด 19 โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง การใช้จ่ายงบประมาณ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริตในทุกระดับขั้นตอน
- รัฐต้องหาแนวทาง สร้างมาตรการให้หน่วยงาน สถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนให้รักษาการจ้างงานเอาไว้ไม่ให้มีการเลิกจ้าง หรือใช้สถานการณ์โควิดเลิกจ้างคนงานเพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้วิกฤตเพิ่มมากขึ้น
- รัฐบาลได้ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อคนทํางานที่เจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว และในอนาคตเป็นไปได้ว่าอาจจะมีโรคระบาดใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องกำหนดระเบียบหรือมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องของการคุ้มครอง การรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์ค่าทดแทนให้กับคนงานที่อาจจะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้
ข้อเสนอทั่วไป
- รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
1.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย
1.2 ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ ทั้งในระบบและการศึกษาทางเลือกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน
2.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ
2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี
- รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
3.1 ฉบับที่ 87 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน
3.2 ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง
3.3 ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา
- รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ดังนี้
4.1 ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ
4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ
4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ
- รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์ สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว
- รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ
- รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม ดังต่อไปนี้
7.1 ปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม
7.2 การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต้องเป็นไปในสัดส่วนที่เท่ากันทั้ง รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน
7.3 ดำเนินการบริหารจัดการ ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 และ มาตรา 33 ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน
7.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้รับเงินชราภาพเป็นอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเดือนสุดท้าย
7.5ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับ ที่ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ.2558
7.6 ขยายกรอบเวลาในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์
7.7 สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน (ธนาคารแรงงาน) และจัดสร้างโรงพยาบาล ในภูมิภาคต่าง ๆ ตามสัดส่วนผู้ประกันตนในพื้นที่พร้อมกับผลิตแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านอื่น ๆ ของสำนักงานประกันสังคมเอง
- รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบที่กฎหมายกำหนด เช่น การปิดกิจการ หรือ การยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)
- รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของคนงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ พร้อมทั้งการสนับสนุนค่าดำเนินการทางคดีระหว่างผู้ประกอบการกับคนงาน หรือ รัฐกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย
- รัฐต้องพัฒนากลไกเข้าถึงสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างจริงจัง รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณ ให้แก่สถาบันความปลอดภัยฯ ให้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสร้างกลไก กติกา ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนงานทุกภาคส่วน และ ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ
11.รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรง เหมางาน เหมาบริการ และการจ้างงานบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน
- ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ
12.1 รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะและไม่เลือกปฏิบัติต่อชาติใดชาติหนึ่งเพื่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาโรคและเยียวยาต่อแรงงานข้ามชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติ
12.2 รัฐบาลต้องให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิเงินกองทุนทดแทน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ว่ากรณีใด
12.3 รัฐบาลต้องให้โครงการเยียวยา “ม. 33 เรารักกัน” ช่วยเหลือเยียวยากับแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยไม่เลือกปฏิบัติและยกเลิกเงื่อนไขว่าต้องมีสัญชาติไทยและให้การช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 38
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอที่ได้ยื่นเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลจะได้รับการตอบสนองโดยเร็ว ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์และความต้องการให้คนงาน ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีหลักประกันในการทำงาน และหลักประกันในการดำเนินชีวิตอันเป็นเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศให้มี “ความมั่นคง ก้าวหน้า ยั่งยืน” ดังที่นายกรัฐมนตรีพูดตอกย้ำเสมอมา
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน