คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ยื่นเรื่องคัดค้านระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ อ้างขาดการมีส่วนร่วมทุกกลุ่มแรงงาน
29 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ยื่นเรื่อง ขอคัดค้านระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2558 โดยยื่นหนังสือถึง พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
โดยหนังสือกล่าวถึง การสืบเนื่อง จากที่กระทรวงแรงงานได้มีการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2558 ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2559 ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น
สาระสำคัญของระเบียบฯฉบับนี้มีความแตกต่างจากระเบียบฉบับเดิมอย่างสิ้นเชิง คือ ระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยแนวทางและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคี พ.ศ. 2551 ที่บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2551
โดยในข้อ 5 ของระเบียบฯฉบับใหม่ปี 2558 ได้ระบุไว้ว่า “การได้มาซึ่งกรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ให้อธิบดีแจ้งให้สภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์เสนอชื่อผู้สมัครสภาละสองคนเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายลูกจ้างเพื่อให้ คณะกรรมการคัดเลือกตามข้อ 7 พิจารณาเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาแต่งตั้งต่อไป” อีกทั้งใน
ข้อ 6 ยังได้ระบุเรื่องคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญของผู้ที่จะสมัครได้ในส่วนของผู้ใช้แรงงาน คือ ต้องเป็นหรือเคยเป็นกรรมการสภาองค์การลูกจ้างมาก่อน
กระบวนการคัดเลือกได้ถูกระบุไว้ในข้อ 7 ว่า “ให้อธิบดีนัดประชุมผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ เพื่อเลือกกันเองให้ได้จำนวนสองเท่าของจำนวนกรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ครบวาระ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาตามจำนวนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ครบวาระต่อไป”
สำหรับคณะกรรมการคัดเลือก ถูกระบุไว้ในข้อ 29 ให้ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ ได้แก่ “รองปลัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านประกันความมั่นคงในการทำงาน เป็นประธานกรรมการ , อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นรองประธานกรรมการ , ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, ผู้อำนวยการกลุ่มงานทะเบียนกลาง สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, ผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมาย สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นกรรมการ ,ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการกลุ่มงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ”
ที่ผ่านมาโดยตลอดนั้น กระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์นั้น ถูกระบุไว้ในข้อ 6 ในระเบียบฯฉบับปี 2551 ว่า “ให้อธิบดีแจ้งให้สมาคมนายจ้างและสหภาพแรงงานในเขตภาคต่าง ๆ เสนอชื่อผู้แทนฝ่ายตนที่จะสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเพื่อเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคีแล้วแต่กรณีได้ไม่เกินองค์กรละหนึ่งคน สมาคมนายจ้าง และสหภาพแรงงานจะเสนอชื่อผู้แทนตามวรรคหนึ่งได้คนละไม่เกินสองคณะ”
ข้อ 7 “ในเขตภาคใดหากไม่มีสมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานซึ่งจดทะเบียนที่ตั้งสำนักงานไว้ แต่มีสถานประกอบกิจการ ให้อธิบดีแจ้งให้นายจ้างและคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการส่งผู้แทนฝ่ายตนแห่งละหนึ่งคนเพื่อเสนอชื่อผู้แทนสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการไตรภาคี แล้วแต่กรณี”
ข้อ 10 “ให้สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน แจ้งชื่อผู้ลงคะแนนเลือกตั้งแห่งละหนึ่งคน ซึ่งต้องเป็นกรรมการสมาคมนายจ้าง หรือกรรมการสหภาพแรงงานนั้น แล้วแต่กรณี ต่ออธิบดีภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้อธิบดีประกาศรายชื่อผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ณ สถานที่ทำการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน”
จากที่กล่าวมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ในฐานะองค์กรแรงงานที่ขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกกลุ่มในประเทศ ซึ่งมีจุดยืนในการผลักดันให้เกิดการเข้าถึงระบบไตรภาคีของแรงงานในระบบอย่างเท่าเทียมกัน จึงขอคัดค้านระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2558 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
(1) ระเบียบฯฉบับนี้มีความขัดแย้งกับกรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทย ที่จัดทำโดยกระทรวงกลาโหมโดยตรง สมัยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศในช่วงเริ่มต้น เมื่อธันวาคม 2557 อย่างสิ้นเชิงว่า “เสนอแนะให้มีการแก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยแนวทางและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคี พ.ศ. 2551 ในการได้มาของผู้แทนทั้งสามฝ่ายของระบบไตรภาคีใหม่ให้มีความเป็นธรรม โดยการพิจารณาระบบการออกเสียงเลือกตั้งในคณะกรรมการไตรภาคีทุกคณะ ควรคำนึงถึงสัดส่วนจานวนสมาชิกในองค์กร เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายในการเลือกผู้แทน”
อีกทั้งยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (7) ที่ได้กำหนดให้คนทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนในไตรภาคี รวมถึงการขาดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานของกระทรวงแรงงาน คือ หลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ทั้งนี้มาตรฐานอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการร่วมปรึกษาหารือไตรภาคี ระบุไว้ว่า “1. รัฐบาลต้องยอมรับการเจรจากับผู้แทนข้างมากขององค์การนายจ้าง ลูกจ้าง 2. ผู้แทนองค์กรนายจ้าง ลูกจ้างได้รับการคัดเลือก โดยองค์กรของตนเองอย่างเสรี 3. ผู้แทนทุกฝ่ายมีฐานะเท่าเทียมกันในการปรึกษาหารือกัน ได้รับการปฏิบัติเท่ากัน” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
(2) เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มาจากเพียงการสรรหาจากตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์จำนวน 15 สภาองค์การลูกจ้างเท่านั้น สิ่งที่จะติดตามมาภายหลังจากนี้อย่างแน่นอน คือ
(2.1) ขาดการมีส่วนร่วมขององค์กรแรงงานทั้งหมด ซึ่งขณะนี้มีสหภาพแรงงานจำนวนทั้งหมด 1,398 องค์กร มีสมาชิก 446,380 คน ซึ่งจำนวนสหภาพและสมาชิกทั้งหมดไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้าง และสภาองค์กรลูกจ้างก็ไม่ใช่ตัวแทนขององค์กรแรงงานทั้งหมด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนการออกระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับคนส่วนใหญ่
(2.2) ไม่มีหลักประกันใดๆว่าผู้แทนของฝ่ายแรงงานที่มาจากสรรหาจากสภาองค์การลูกจ้างที่ได้เข้าไปเป็นกรรมการในสัดส่วนตัวแทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จะสามารถสนับสนุนข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มต่างๆ เนื่องจากกระบวนการสรรหามาจากการคัดเลือกจากภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งไม่โปร่งใส เป็นธรรม และเท่าเทียมตั้งแต่เริ่มต้น อีกทั้งยังมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่า สภาองค์การลูกจ้างบางแห่งมีแนวความคิดที่ขัดแย้งและคัดค้านข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มอื่นๆมาโดยตลอด
จากเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ คสรท.จึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน แรงงานในระบบทุกคนจึงมีความชอบธรรมในการเข้าถึงระบบไตรภาคีอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นเพื่อให้แรงงานในระบบทุกคนได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคภายใต้กลไกระบบไตรภาคีดังกล่าว กระทรวงแรงงานต้องยกเลิกระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2558 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง
ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงขอเข้าพบรัฐในตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันที่ 8 มีนาคม 2559 เวลา 13.30 น ณ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ หรือวันเวลาที่ท่านเห็นว่าเหมาะสม หากมีคำตอบให้เข้าพบโปรดแจ้งกลับมายังหมายเลขด้านล่าง