กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับ องค์กรเครือข่ายผู้หญิง ประชุมคึกคัก เตรียม จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ หนึ่งร้อยปี วันสตรีสากล ซึ่งกำหนดการจัดงานในวันที่ 5-8 มี.ค. 54 มีองค์กรเข้าร่วมจัด กว่า 30 กำหนดกิจกรรมงานเฉลิมฉลอง งานวัฒนธรรม งานเสวนา และการรณรงค์
ในการประชุมวันที่ 26 มกราคม 2554 ได้มีการประชุมที่ทำการสหภาพแรงงานรถไฟ จตุจักร กรุงเทพ ได้สรุปงานของแต่ละฝ่ายที่ได้รับมอบ โดยคุณจันทวิภา อภิสุข EMPOWER ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เสนอรูปแบบการประชาสัมพันธ์ แถลงข่าว,เสื้อรณรงค์,โปสเตอร์,สติ๊กเกอร์,ปฏิทินงานรวม รวมถึงจะมีการแถลงข่าวเป็นต้น ส่วนคุณวไลพร จิตรประสาน กลุ่มเพื่อนประชาชน ฝ่ายวัฒนธรรม สรุปรูปแบบงานวัฒนธรรม ดนตรี ,ภาพยนตร์ ,บทกวี ล ละคร , นิทรรศการ , CD ข้อมูลแรงงานสตรี 100 ปี และคุณสุนี ไชยรส ที่ปรึกษา กลุ่มบูรฯ ฝ่ายงานสัมมนา สรุปว่าในงานมีทั้งสัมมนาเวทีใหญ่ และสัมมนาเวทีย่อย หัวข้อสัมมนาเวทีใหญ่ ประเด็นผู้หญิงทำงานกับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม , ร้อยปีของงานที่มีคุณค่าเพื่อผู้หญิงทำงาน , ความเป็นมาของอนุสัญญา ไอ แอล โอ 87 และ 98 การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ระดับเอเชีย รวมถึงสะท้อนการต่อสู้ของผู้หญิงจากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อที่จะให้งานประสบความสำเร็จ เป็นไปตามที่วางแผนงานไว้
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ในการประชุมประเดือนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คุณธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ได้มีการวางงาน และกำหนดการจัดงาน 100 ปีสตรีสากล โดยมีองค์กรร่วมจัดจำนวนมาก มีการเปิดรับบริจาคเงินลงขันร่วมกัน โดยจะมีการเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองตั้งแต่ วันที่ 5 – 8 มีนาคม 2554 ซึ่งวันที่ 5 มีนาคมเป็นเวทีเสวนาเรื่องสตรีกับสถานะทางประวัติศาสตร์ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และวันที 6-7 มีนาคม จัดเวทีที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีเวทีเสวนาวันที่ 6 มีนาคม เรื่องผู้หญิงทำงานกับคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน และวันที่ 7 มีนาคมเรื่อง ศูนย์เลี้ยงเด็กคนทำงาน สู่อนุสัญญา ILO 183มีงานวัฒนธรรม ฯลฯ การแสดงดนตรีหลายวง เช่นวงดนตรีภราดร วงคีตาญชลี วงโฮป เป็นต้น รวมถึงมีการอ่านบทกวีนิทรรศการ ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม มีการจัดขบวนเดินรณรงค์จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อประกาศเจตนารมณ์ 100 ปีสตรีสากล
ความเป็นมาการจัดงาน 100 ปี สตรีสากล
หลังจากการต่อสู้ของขบวนแรงงานหญิงเพื่อค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เป็นธรรมต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ระบบสามแปด จนทำให้วันที่ 8 มีนาคม แต่ละปีได้รับการยอมรับให้เป็นวันสตรีสากล ทั้งจากสหประชาชาติ รัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนผู้หญิงทั่วโลกต่างถือโอกาสเฉลิมฉลองและสรุปบทเรียน เพื่อก้าวต่อไปในการขับเคลื่อนสิทธิผู้หญิงในแต่ละสภาพการณ์ของแต่ละสังคม “สตรี เสมอภาค สร้างสรรค์ ”
ปี พ.ศ. 2554 เป็นปีที่เวียนมาครบรอบหนึ่งร้อยปีแห่งการต่อสู้ฝ่าฟันของผู้หญิงทั่วโลกเพื่อได้รับสิทธิความเท่าเทียมในโอกาส ค่าตอบแทนในการทำงานที่เป็นธรรม
ใน 100ปีที่ผ่านมา ขบวนผู้หญิงไม่เคยท้อถอยหรือหยุดนิ่งในการต่อสู้ ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ก็มีความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ทั้งสิทธิประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ สิทธิในการทำงานที่มีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และได้รับสวัสดิการสังคม สิทธิเสมอภาค ที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ถูกคุกคามทางเพศ รวมถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ
แต่หนึ่งร้อยปีผ่านไป ผู้หญิงที่เป็นคนทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับผู้ชาย สร้างสรรค์สังคมให้พัฒนาไปในทุกประเทศ ทั้งเอเชียและทั่วโลก โดยเฉพาะในสังคมไทย แต่ผู้หญิงยังไม่ได้รับความเสมอภาคในโอกาส และค่าตอบแทนการทำงานที่เป็นธรรม รวมทั้งสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐาน และยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวและการคุกคามทางเพศ การไม่ยอมรับบทบาทร่วมในการตัดสินใจโดยเฉพาะในทางการเมืองทุกระดับ รวมทั้งอคติทางประวัติศาสตร์ที่มีต่อผู้หญิง ยังคงบีบคั้นให้ผู้หญิงแรงงานจำนวนมากต้องทำงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะมากและได้รับค่าแรงต่ำมาก
พวกเธอทุกข์ทนจากค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมและต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ตลอดจนงานที่ไม่มั่นคงและไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กัดเซาะสิทธิแรงงานนั้น งานของผู้หญิงจึงมีความเสี่ยงที่สุดที่จะถูกเบียดขับให้เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีตัวตน ถูกละเมิดมาตรฐานแรงงาน ถูกเลิกจ้าง ถูกเลือกปฏิบัติในการทำงาน และผู้นำหญิงในสหภาพแรงงานและการต่อสู้องค์กรต่างๆก็ถูกคุกคามและทำลายพลังการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับชาย
กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกผลักให้ต้องทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวมากขึ้น ทั้งแรงงานนอกระบบ แรงงานรับงานมาทำที่บ้าน แรงงานภาคเกษตร แม่ค้าตามท้องถนน คนทำงานบ้าน คนเก็บขยะ แรงงานอพยพและขายบริการทางเพศ รวมทั้งแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก และผู้หญิงคนทำงานระดับล่างในหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในปัจจุบันและโครงสร้างสังคมที่เปิดโอกาสให้มีการกดขี่เอาเปรียบ ส่งผลให้เกิดวิกฤติต่อการยังชีพและความเป็นอยู่ของผู้หญิง
ในโอกาส 100ปีวันสตรีสากล จึงควรเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างพลังการขับเคลื่อนร่วมกันขององค์กรที่ทำงานพิทักษ์และส่งเสริมผู้หญิงในมิติต่างๆ ซึ่งมีคุณูปการมายาวนานในสังคมไทย ดอกผลที่ได้จากการต่อสู้เหล่านี้จะต้องได้รับการผลักดันในศตวรรษหน้าเพื่อส่งเสริม คุ้มครองและเรียกร้องสิทธิสตรีในบริบทการทำงาน การมีบทบาทร่วมตัดสินใจ และในครอบครัวต่อไป
รายงานโดย สวรรยา ผดาวัลย์ นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวพื้นที่สระบุรี รายงาน