ตอนที่ 1 “ไม่มีการจ้างงานบนดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว”
ประสบการณ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม-แรงงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมออากาศ ” มุมมองด้านแรงงานและการจ้างงาน การบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษาดูงานของคณะผู้แทนจากประเทศไทย ประกอบด้วยผู้แทนจากสหภาพแรงงาน เครือข่ายแรงงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม หรือ Just transition นักวิชาการ ข้าราชการ องค์การพัฒนาเอกชนประกอบด้วย ด้านด้านกฎหมาย สิ่งแวดล้อม แรงงาน และสื่อมวลชน จำนวน 10 คน ซึ่งจัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) เมื่อวันที่ 7-13 ตุลาคม 2561 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน
วันแรก(7ตุลาคม 2561)ที่เดินทางถึงกรุงเบอร์ลิน คณะผู้แทนจากประเทศไทย เริ่มเรียนรู้จากประวัติศาสตร์การรวมประเทศเยอรมนี หรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นการปกครอง เป็นแบบสหพันธ์ รัฐสภาประกอบด้วย 16 รัฐ มีพื้นที่ 357,021 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 82 ล้านคน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในสหภาพยุโรป ประเทศเยอรมนีมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งการได้ไปเรียนรู้การต่อสู้กับเผด็จการนาซี เผด็จการทหาร ผ่านกำแพงประวัติศาสตร์ที่ปิดกั้นเสรีภาพของชาวเยอรมันตะวันออก กับเยอรมันตะวันตก ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น155 กิโลเมตร
กำแพงเบอร์ลิน คือ แนวเขตแดนที่มั่นคง และสัญลักษณ์ของการต่อต้านทุนนิยม มันถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า “แนวป้องกันการต่อต้านฟาสซิตส์” แต่สำหรับโลกเสรีแล้ว มันคือ สัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างระบบทุนนิยมของยุโรปตะวันตก กับระบบคอมมิวนิสต์ของยุโรปตะวันออก ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต หรือที่เรียกกันว่าสงครามเย็น นั่นเอง กำแพงเบอร์ลิน ทำให้กรุงเบอร์ลินฝั่งตะวันตก กลายเป็นเสมือน หน้าต่างสู่เสรีภาพ นับตั้งแต่การสร้างกำแพงเบอร์ลิน การข้ามผ่านแดนจากเยอรมนีตะวันออก ไปยังเยอรมนีตะวันตก กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากมีการฝ่าฝืนและถูกพบเห็น มีโทษสถานเดียว คือ การยิงทิ้ง ณ บริเวณกำแพงนั่นเอง ตลอดระยะเวลา 28 ปี คาดว่ามีผู้เสียชีวิตที่กำแพงเบอร์ลินขณะหลบหนีระหว่าง 137 ถึง 206 โดยชาวเยอรมนีมีความพยายามหนีเพื่อข้ามกำแพงถึง 5,000 ครั้ง
เส้นทางการต่อสู้จากการถูกแบ่งแยกเพื่อปกครองของฝ่ายสัมพันธมิตรที่แบ่งเป็น 4 เขต ภายหลังกองทัพนาซีเยอรมัน ภายใต้การนำของ อดอล์ป ฮิตเลอร์ ได้พ่ายในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้ายึดครองประเทศเยอรมัน และต่อมา 4 ประเทศมหาอำนาจที่เป็นแกนนำในสงครามครั้งนั้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ได้ทำสนธิสัญญาในการแบ่งการดูแลประเทศเยอรมันออกเป็น 4 ส่วน ภายใต้การดูแลของแต่ละประเทศ และเช่นกัน กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศ การล้มสลายของกำแพงเบอร์ลิน สหภาพโซเวียต ได้มีการทดลองการปฏิรูปการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยให้พลเมืองเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยทำให้มีการประท้วงอย่างสงบรอบๆเริ่มต้นวันที่ 8 ตุลาคม 1989 กระทั่งมีการเปิดพรมแดนให้ชาวเยอรมันเดินทางได้อย่างอิสระ และมีเสรีภาพในเวลาต่อมา ซึ่งเรายังยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ การกีดกันความเป็นเพศ ให้สัมผัสกับแนวคิดการสร้างรัฐสภาที่มีโดมสูงโปร่งใสให้ประชาชนสามารถเดินขึ้นไปเยี่ยมชมพร้อมทั้งดูการประชุมของสมาชิกรัฐสภา โดยลักษณะเพื่อย้ำเตือนสมาชิกรัฐสภาเมื่อมองขึ้นมาจะพบประชาชนเฝ้าดูการทำงานของเขาอยู่เสมอ การออกแบบอาคาร การสร้างอนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ การอนุรักษ์อาคารบ้านเรือน แม่น้ำแห่งประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์มากมายเพื่อกระบวนการสร้างการเรียนรู้ให้กับประชากรรุ่นหลัง ไกด์ผู้นำชมบอกเล่า ถึงประวัติศาสตร์ต่างๆอย่างภาคภูมิใจ
วันที่ 8 ตุลาคม 2561 คณะผู้แทนจากประเทศไทย เดินทางไปยังสำนักงานมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) โดย มาร์ค ศักซาร์ หัวหน้าแผนกเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิFESในเมืองไทย และ อันย่า โบเด็นนมุลเลอร์-แรเดอร์ เจ้าหน้าที่ประสานงาน แนะนำมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และงานของแผนกเอเชีย-แปซิฟิก
มาร์ค ได้กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมเป็นเรื่องที่น่าสนในอย่างมาก กรณีน้ำท่วมปี 2554 ที่ประเทศไทย ขณะนั้นอยู่ในกรงเทพมหานครจึงมีประสบการณ์หนีน้ำมาแล้ว ซึ่งกรุงเทพมหานครถูกกล่าวถึงว่าอาจน้ำท่วม ด้วยทรุดลงทุกปี ซึ่งในปัญหาปัจจุบันจากภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบอย่างมากกับภัยพิบัติต่างๆ เรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ แต่มีการกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านที่ดี มิใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดชอบเท่านั้น ไม่ใช่แรงงานต้องรับผิดชอบ เสียสละฝ่ายเดียว รัฐบาล และนายจ้างต้องดูแลเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นธรรมต่อแรงงานด้วย
มานูเอลล่า แมธเธียส ผู้ประสานงานด้านนโยบายภูมิอากาศและพลังงานระหว่างประเทศ แผนกนโยบายและการพัฒนา FES ซึ่งทำงานเรื่อง การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม กล่าวว่า ทำไมการเปลี่ยนผ่านต้องเป็นธรรมต่อแรงงานด้วย ซึ่งสหภาพแรงงานต้องเข้าใจด้านการเปลี่ยนผ่านด้านสภาพภูมิอากาศว่า อากาศดีมีงานทำ หากอากาศร้อนไม่มีงานให้ทำคนทำงานตามท้องถนนหรือที่โล่งแจ้งทำงานไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ หรือการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม เกี่ยวข้องกับหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็นภาคพลังงาน ภาคเกษตรกรรม ภาคผลิตรถยนต์ แต่จะกล่าวถึงภาคพลังงานที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ภาคพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดสภาพภูมิอากาศลงที่ 1.5 องศาเซลเซียส (ข้อตกลงของการประชุม COP21 กำหนดให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส) การออกจากพลังงานฟอสซิล เป็นเหตุผลเดียวในการลดโลกร้อน ประเทศทางเหนือที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหากจะออกจากพลังงานถ่านหิน มุ่งสู่พลังงานหมุนเวียน สำหรับประชาชนประเทศกำลังพัฒนาก็จะแตกต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะปัญหาเรื่องความจนทางพลังงาน การเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนจึงมีบ้างแล้ว แต่สภาพภูมิอากาศนั้นเปลี่ยนไปแล้ว การลดได้เร็วทันกับการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมีความยุติธรรม และใครที่ต้องรับผิดชอบในความยุติธรรม และใครต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านซึ่งต้องมีการลดผลกระทบให้มากที่สุดคือคนจน ซึ่งในส่วนของสหภาพแรงงานเองมีการให้ความรู้และรณรงค์เรื่องการที่เป็นธรรมด้านแรงงาน
โดยสหภาพแรงงานสากล (IndustriALL Global Union)มองว่า “ไม่มีการจ้างงานบนดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว” แต่การเปลี่ยนผ่านจะต้องเป็นธรรมสำหรับแรงงาน การจ้างงานต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขบวนการแรงงานไม่ได้มองภาพลบเพียงอย่างเดียว เขามองเรื่องการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดการจ้างงานแบบใหม่ๆด้วย” ซึ่งระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านต้องมีมาตรการในการรองรับทางสังคมในการดูแลแรงงาน และผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม คือ
1.การเปลี่ยนผ่านต้องมองเรื่องผลกระทบทางสังคมก่อน ต้องมีการต่อรองร่วม หรือสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทางสังคม ทั้งรัฐ ผู้ใช้แรงงาน และผู้ได้รับผลกระทบ
2. เรียกร้องให้มีการจัดการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับงานใหม่ที่จะเกิดขึ้น
3. ดูแลเรื่องสวัสดิการ คนที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ หรือคนที่ไม่สามารถที่จะก้าวเข้าไปสู่งานใหม่ โดยต้องอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต่ำกว่าที่เคยได้รับ
การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต้องดูตามภูมิภาค เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันในมุมของความเป็นธรรม “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต้องทำให้ทุกคนได้รับความยุติธรรมเหมือนกัน โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมได้รับการยอมรับถูกบรรจุเป็นข้อเสนอในองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสหภาพแรงงานสากลยังผลักดันสู่ข้อตกลงปารีสได้สำเร็จ ซึ่งผู้ที่ลงนามต้องยอมรับข้อเสนอดังกล่าวด้วย เมื่อทั่วโลกมีการพูดถึงสภาพภูมิอากาศ จะมีการเปลี่ยนด้านสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม มุมมองด้านการพัฒนาตองขจัดความยากจน กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องมีการเปลี่ยนผ่านให้เร็วที่สุดเนื่องจากไม่มีเวลาแล้ว แต่ต้องทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกำหนด ต้องช่วยกัน สหภาพแรงงานต้องให้ความสำคัญ และนำประเด็นการเปลี่ยนผ่านไปพูดคุยกับผู้นำประเทศของตนเองด้วย
อเล็กซานเดอร์ ริทเซ่นซไตน์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายภูมิอากาศ และพลังงาน และเจนนิเฟอร์ โทลล์มานน์ นักวิจัยด้านการทูตเรื่องภูมิอากาศ (E3G) ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมนั้นมีอะไรบ้าง และมีข้อขัดแย้งตรงไหนบ้าง หน่วยภาคประชาสังคมที่มีผู้เกี่ยวข้องกับภาคการเมือง ภาคเศรษฐกิจ ทำงานเรื่องสภาพภูมิอากาศมีอะไรบ้าง ทำงานหลายละดับ คือระดับสากล และยุโรป เยอรมัน มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ต้องการออกจากระบบพลังงานถ่านหิน เพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ขอเรียกว่าคณะกรรมการถ่านหิน ซึ่งมีส่วนร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายภาคประชาสังคม ฝ่ายแรงงาน นักวิชาการ จำนวน 28 คน โดยมีผู้แทนฝ่ายการเมือง 3 คน เข้ามามีส่วนร่วมแต่ว่าจะไม่มีสิทธิในการออกเสียง ถือว่าเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดย จะต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมพูดคุย และตัดสินใจร่วม แต่ละภูมิภาคมีความก้าวหน้าแตกต่างกัน ซึ่งก็สามารถนำบทเรียนไปสู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนา ไม่ว่านโยบายจะดีอย่างไรก็อาจมีคนตกหล่นบ้าง พื้นที่ที่เคยเป็นเหมืองถ่านหิน มาจัดระบบใหม่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลง
จากข้อตกลงปารีสมีข้อเสนอและข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้ภูมิอากาศลดลงจะไปถึงเป้าหมายก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต้องไปกันได้กับนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไปได้เป็นความขัดแย้งไปด้วยกัน
ปัญหาที่พบคือ การชักจูงช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบมาพูดคุยกันซึ่งยากมาก และยังเป็นการผลักดันในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นว่าการไม่เปลี่ยนแปลงคือความหายนะที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภูมิภาคเลาซิทซ์ที่ยังมีการทำเหมืองถ่านหิน และยังมีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะกระทบมาก ซึ่งจากแผนที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งในยุโรปก็มีหลากหลายทั้งในส่วนที่ยังใช้พลังงานฟอสซิส และมีการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีการลดลงไปตามนโยบายเพื่อลดสภาวะโลกร้อน ผ่านไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
ปี ค.ศ.2020 จะมีการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล แต่พบว่าพลังงานถ่านหินยังไม่ลดลงเลย แม้มีพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งหากลดโดยไม่มีการเปลี่ยนผ่านที่ดี จะเกิดการลดการจ้างงานจากระบบอุตสาหกรรมถ่านหินจำนวนมาก แม้จะเห็นว่ามีการจ้างงานใหม่ในระบบพลังงานหมุนเวียน และในการจ้างงานในเหมืองถ่านหินมีน้อยกว่า แต่ว่า เป็นการจ้างงานที่มีสภาพการจ้างและสวัสดิการดีกว่าเนื่องจากมีสหภาพแรงงานที่เรียกร้องให้มีการดูแลเรื่องความเป็นธรรมในการจ้างงาน
คณะกรรมการถ่านหิน เพื่อการเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ที่มีจำนวน 28 คน เห็นว่า ต้องมีการเปลี่ยนผ่าน แต่ว่ายังไม่เห็นด้วยในการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ซึ่งเยอรมันมีเป้าหมายชัดเจนในการที่จะลดCO2ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งใกล้วันเลือกตั้งแล้ว ระบบการเมืองก็มีการหาเสียงอยู่ว่าจะเปลี่ยนผ่านเลย หรือว่าจะรอเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม แม้ว่าตัวแทนแรงงานในคณะกรรมการถ่านหินจะมีเพียงคนเดียว แต่ถือว่าเป็นเสียงที่ใหญ่มากที่ทุกคนต้องรับฟัง ซึ่งข้อเสนอการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงานนั้นก็ทราบดีว่ารัฐบาลจะทำได้หรือไม่ สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าต้องการที่จะเปลี่ยนผ่าน แต่ว่ายังกังวลเรื่องการต่อรองเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม
การบริหารประเทศแบบสหพันธ์สาธารณรัฐมีการบริหารต่างกันในแต่ละรัฐ แต่คณะกรรมการที่เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง คนเหล่านี้ต้องการเปลี่ยนแปลงภายในสิ้นปีนี้ ผลคือ การประนีประนอม คือออกจากพลังงานฟอสซิลบางอาจยังไม่ใช่ทั้งหมดทีเดียว หากรายงานยังยืนยันระบบเดิมทำให้เยอรมันเสียประโยชน์ในการแข่งขัน ในข้อตกลงนั้น หากลดคาร์บอนไม่ได้ตามข้อตกลงก็ต้องจ่ายค่าปรับซึ่งคิดแล้วไม่คุ้มที่จะคงพลังงานถ่านหิน ด้วยเศรษฐกิจเยอรมันไปด้วยดีทำให้มีงานให้แรงงานที่ตกงานจากพลังงานถ่านหินได้ แรงงานที่ได้รับผลกระทบราว 30,000 คนที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังเมื่อมีการเปลี่ยนผ่าน แต่รัฐบาลต้องมีระบบมารองรับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยใกล้เกษียณอายุ
คณะกรรมการฯก็ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมแต่ว่า ทางภาคตะวันตกของเยอรมันมีการสนับสนุนให้มีการผลิตพลังงานหมุนเวียนทำให้ไม่เกิดผลกระทบมาก คิดว่าจะแก้ปัญหาคือ ลดคาร์บอน แต่ไม่ได้มองหาพลังงานอื่นๆอย่างพลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล แต่ว่า หากจะใช้โซลาร์เซลล์ จะมีให้เห็นกันอยู่มาตรการแข่งขัน ข้อตกลงปารีสแม้ว่าจะไม่ได้มีบทกำหนดโทษ ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบจากประเทศนั้นๆ การตั้งคณะทำงาน มาจากรัฐบาลแต่หากไม่มีแรงกดดันจากภาคประชาสังคม ขบวนสหภาพแรงงานรัฐบาลก็จะไม่ทำอะไร กระทรวงที่ดูแลประกอบด้วยหลายกระทรวง เช่นกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ยังมีผู้แทนจากบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าถ่านหิน นักวิชาการ และสหภาพแรงงาน 3 คน ในคณะกรรมการฯ 28 คน
ดร.ไรน์ฮาร์ด คลอบไฟลส์ช หัวหน้าฝ่ายนโยบายพลังงาน การจัดการและนโยบายยุโรป สหภาพแรงงานภาคบริการ (Ver.di) กล่าวว่า การที่สหภาพแรงงานมีผู้แทนเป็นกรรมการในคณะกรรมการถ่านหิน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม เนื่องจากมีพันธสัญญาในการเข้าไปดูแล้ว จากแรงงานในอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ 30,000 คน จากอุตสาหกรรมถ่านหิน 30,000 คน หากมีการเปลี่ยนผ่านต้องดูเรื่องมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนผ่านมีทั้งบวกและลบข้อบวกคือ แรงงานในภาคบริการที่รับลูกค้า หรืองานสายส่งพลังงานหางานไม่ยาก ส่วนข้อลบคือ การเปลี่ยนผ่านคือคนงานโรงไฟฟ้า และโรงงานถ่านหิน ที่อยู่ภูมิภาคเลาซิทซ์เกิดผลกระทบ และพื้นที่หากไม่ทำงานถ่านหินแรงงานจะย้ายออกไปทำงานที่อื่น เมืองในภูมิภาคนั้นจะร้าง หรือว่าจะนำเมืองนั้นมาทำอะไร ให้พื้นที่เกิดงานเมื่อไม่มีถ่านหินเหลืออยู่ ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งตอนนี้ได้ให้นักวิจัยไปทำข้อมูลว่า แรงงานที่ทำงานอยู่มีอายุเท่าไร หางานอะไรได้บ้าง ข้อเรียกร้องความต้องการจะต้องให้ได้มากที่สุด นี่คือหัวใจของสหภาพแรงงาน ดูเรื่องงานเก่า กับการจ้างงานใหม่รายได้ต้องไม่ลดลง และต้องมีการช่วยเหลือด้านการเงินเท่าไร เพื่อสนับสนุนคนที่หางานทำไม่ได้ หรือเกษียณอายุก่อนกำหนด ต้องมีกองทุนในการจ่ายสนับสนุนนั้น เพื่อการคำนวณเป็นตัวเงินได้ ต้องสมมุติฐานว่า จะออกจากการผลิตพลังงานถ่านหินแล้ว การกำหนดระยะเวลาไว้ เงินที่ต้องใช้ ต้องเพิ่มขึ้นเท่านั้น มีการคำนวณอย่าง 500 ยูโรต่อปี หากออกจากระบบปี 2030 –ปี 2050 ต้องใช้ปีละ 200 ยูโรต่อปี ซึ่งงบประมาณรัฐบาลต้องสนับสนุนโดยมีมาตรการซึ่งอาจมาจากเงินที่ใช้ซื้อขายคาร์บอนต่ำ โดยกำหนดแบ่งไว้ 3 ส่วน เนื่องจากการที่จะออกจากระบบพลังงานแบบเก่าก็ต้องดูแลกัน เพราะไม่ใช่ความผิดของแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ไฟฟ้าถ่านหิน
“เดิมแรงงานเหล่านี้มีคุณค่าเพราะสร้างไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ มาวันนี้บอกว่าเขาเหล่านี้ไม่มีค่า หมดค่าต้องทิ้งพวกเขา แบบนี้ทำได้อย่างไร” เป็นการเตรียมคนเหมือนกัน การที่จะปิดโรงงานเพื่อการเตรียมความพร้อม ซึ่งบางส่วนก็ใกล้เกษียณก็ไม่สนใจในเรื่องการปรับทักษะฝีมือ แต่คนรุ่นใหม่เวทีเรียกร้องให้มีการพัฒนาทักษะด้วยเช่นกัน สมาชิกสหภาพแรงงานส่วนใหญ่มากกลุ่มแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งผลกระทบจะน้อยกว่าแรงงานที่ไร้ทักษะสหภาพแรงงานก็มีตัวแทนเข้าไป 1 คนในคณะกรรมการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพลังงานถ่านหิน
แม้ว่า จะไม่มีการจ้างงานบนดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว แต่ว่า ก็ไม่ควรละเลยเรื่องคุณค่าของแรงงานเหล่านั้นที่เคยผลิตไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ ซึ่งวันนั้นมันคือแสงสว่างที่มอบให้ทุกคน เมื่อมาถึงวันนี้แน่นอนว่าไฟฟ้าฟอสซิลถูกมองว่าเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมกระทบต่อภาวะโลกร้อนขึ้น มีผลกับชีวิตผู้คน สัตว์ และพืชพันธ์ุ แต่การเปลี่ยนผ่านก็ไม่ควรลบคุณค่าของแรงงานแบบมองว่าเขาหมดค่าทิ้งพวกเขาไว้ข้างทาง การที่สหภาพแรงงานสากลลุกมาปกป้องสมาชิกด้วยการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงานด้วย ซึ่งJust Transition ต้องเป็นธรรมและมีส่วนร่วมกันทุกฝ่าย
(โดย วาสนา ลำดี )