รำลึก 20 ปี ผู้นำแรงงานที่สาบสูญ ทนง โพธิ์อ่าน

แรงงานร่วมรำลึกถึงผู้นำแรงงาน ภาพสะท้อนอำนาจเถื่อนของรัฐต่อผู้ใช้แรงงาน นักวิชาการย้ำอย่าลืม สิ่งที่เกิดกับทนงอาจเกิดขึ้นอีก

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรแรงงาน และญาติอดีตผู้นำแรงงาน ร่วมกันจัดงาน "รำลึก 20 ปี นายทนง โพธิ์อ่าน" อดีตวุฒิสมาชิกสายแรงงานและประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งหายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 หลังออกมาคัดค้านการยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และต่อต้านการรัฐประหารของ รสช. ซึ่งมีผู้นำแรงงานทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าร่วมราว 100 คน

โดยในช่วงเช้า มีการจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับนายทนง พร้อมด้วยอดีตผู้นำแรงงาน เช่น นายศุภชัย ศรีสติ อดีตผู้นำแรงงานที่ถูกอำนาจ ภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 หลังจากแถลงการณ์ใบปลิววิพากษ์รัฐบาลเผด็จการกับจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างรุนแรงที่เขาทำ ถูกแจกจ่ายสู่สาธารณชน ท่ามกลางบรรยากาศเผด็จการของจอมเผด็จการสฤษดิ์ แต่แล้วในที่สุด วันที่ 30 มิถุนายน 2502 เขาได้ถูกจับกุม และถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยอำนาจตามมาตรา 17 โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม ยังมีนายอารมณ์ พงศ์พงัน อดีตผู้นำแรงงาน ถูกจับที่บ้านพัก ข้อหาภัยสังคม และตามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ กบฏฯลฯ ช่วง 2 ปีที่ในคุกนี้เองโรคร้ายเริ่มคุกคามออกมาไม่นานก็เสียชีวิต รวมทั้งนาย ไพศาล ธวัชชัยนันท์ นายปิยเชษฐ แคล้วคลาด อดีตผู้นำแรงงานที่มีคุณูปราการต่อพี่น้องแรงงาน และประชาชนด้วยการเคลื่อนไหวผลักดันด้านสวัสดิการทางสังคม การคัดค้านราคาน้ำมันแพง ค่ารถเมล์ที่ปรับขึ้นราคาฯลฯ และศาตราจารย์นิคม จันทรวิทรุ นักวิชาการแรงงานที่เป็นข้าราชการที่ดูแลผลักดันให้เกิดระบบสวัสดิการประกันสังคมให้แก่ผู้ใช้แรงงาน บริเวณห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมได้มีการวางดอกไม้ไว้อาลัย

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “20 ปีการหายสาบสูญของทนง โพธิ์อ่าน กับภาพสะท้อนอำนาจเถื่อนของรัฐต่อผู้ใช้แรงงาน” ว่า ความทรงจำเกี่ยวกับนายทนง โพธิ์อ่าน ปัจจุบันเริ่มเลือนหายไป พร้อมกับแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองของขบวนการแรงงาน การหายไปของทนงสะท้อนให้เห็นว่า แม้บ้านเมืองจะมีการพัฒนาเชิงการเมืองในการมี รัฐธรรมนูญที่ดี กำหนดด้านสิทธิเสรีภาพ มีสถาบันรับรองสิทธิเสรีภาพผู้คนมากขึ้น เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หน่วยงานยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เป็นการเพิ่มขึ้นเชิงปริมาณ ยังไม่ได้ชี้ให้เห็นเชิงคุณภาพ วัดจากความเป็นธรรมที่ผู้คนควรได้รับ การหายตัวของทนงสะท้อนแนวคิดผู้นำประเทศถึงการปฏิเสธสิทธิเสรีภาพนั้น และยังดำรงอยู่มาโดยตลอด 20 ปี พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นว่าขบวนการแรงงานยังไร้อำนาจการต่อรองทางการเมือง หมายถึงความขาดการเป็นเอกภาพของขบวนการแรงงานเอง จึง ไม่อาจทำให้ความเป็นความตายของผู้นำแรงงานของทนงได้รับการไขข้อข้องใจจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

ทำให้เห็นว่า ยุคสมัยไหนรัฐบาลไม่เคยสนใจเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ อย่างผู้ใช้แรงงาน ไม่เคยแสดงให้เห็นถึงความจริงจัง จริงใจ และแรงงานเองก็ไม่ได้ก่อ สานต่อแนวคิดอุดมการณ์ผู้นำแรงงานในอดีต ส่วน ผู้นำประเทศหรือรัฐบาล ก็เกี้ยเซี้ยกันในหมู่ชนชั้นผู้นำมากกว่าการแก้ไขปัญหาอีกชนชั้น

การหายตัวไปของทนงนั้น เป็นเพราะเขาได้ลั่นวาจาว่า หาก รสช.ยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้ใช้แรงงานจะมาประท้วงเต็มสนามหลวง แต่วันนี้ที่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประเด็นหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง ดูเหมือนคนจะลืมไปแล้วว่าผู้ที่พยายามปกป้องให้การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำดำรงอยู่ได้หายไป และไม่มีใครพูดถึงอีก ขณะที่ฝ่ายบ้านเมืองใช้ "เวลา" ให้ฆ่าคนที่เป็นประจักษ์พยานให้ล้มหายตายสูญไป ฆ่าความทรงจำให้ถูกลืม แรงงานต้องย้อนรอยด้วยการตอกย้ำความทรงจำเป็นระยะๆ ทำให้เรื่องของทนงอยู่ในประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ในความทรงจำของผู้ใช้แรงงานรุ่นหลัง "อย่าลืมว่าสิ่งที่เกิดกับทนง จะเกิดกับผู้ใช้แรงงานเมื่อไหร่ก็ได้เกิดขึ้นได้ทุกที่”

ต่อมาช่วงบ่าย ได้มีการจัดให้มีการอภิปรายเรื่อง “โฉมหน้ารัฐบาลและการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม”

นายก่อเขตต์ จันทเลิศลักษณ์ บรรณาธิการรายการข่าว ทีวีไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นจุดจบหรือจุดเริ่มของปัญหาในสังคม กองทัพจะทำอะไร? หลังการเลือกตั้ง จากการปฏิวัติที่ผ่านมาเป็นการทำลายประชาธิปไตยที่ชัดเจน พร้อมชี้ว่าการรัฐประหารในปี 2549 ทำให้เห็นว่า รักษาโรคไม่ได้ทำให้ปัญหาใหญ่โตขึ้นอีก

โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ยังมองไม่เห็นแนวโน้มที่ดี ที่จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง โดยพรรคที่คาดว่าจะได้อันดับหนึ่งยังยืนยันว่า ถ้าได้เสียงข้างมากจะมีสิทธิตั้งรัฐบาล และเตือนไม่ให้มือที่มองไม่เห็นหรืออำนาจนอกระบบเข้ามายุ่ง ส่วนพรรคอันดับสองยังระบุว่า ตัวเองมีสิทธิตั้งรัฐบาล หากพรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลไม่ได้ รวมถึงมวลชนที่สนับสนุนพรรคอันดับหนึ่ง บอกว่า ต้องเอาคนผิดมาลงโทษ ถามว่าจะปรองดองกันได้จริงหรือ หากพรรคอันดับหนึ่งได้รับการเลือกตั้งแบบเสียงถล่มถลาย เท่ากับแรงกดดันยิ่งมากขึ้น ก็เป็นประเด็นคำถามแล้วจะทำอย่างไร? คงต้องช่วยกันทำให้ภายใน 2 สัปดาห์นี้มีส่วนร่วมในการ เรียกร้องให้พรรคการเมืองที่มีส่วนขัดแย้งว่า หากมีเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการยุติความขัดแย้ง ต้องไม่ทำอะไรที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก

ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้ง ข้อผิดพลาดของพรรคไทยรักไทย ที่ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายแล้วมองว่า เสียงที่เลือกตนมาคืออาณัติสวรรค์ เช่นเดียวกับที่ฝ่ายใช้รถถังมองว่า นี่เป็นอาณัติสวรรค์ ในความเป็นจริงไม่ใช่ทั้งคู่ แต่อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยไม่มีการเลือกตั้งนั้นไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งเป็นการแก้ความขัดแย้งแบบไม่ต้องใช้รถถัง และไม่ต้องรบกัน ในส่วนตัวไม่ว่าจะชอบหรือไม่ แต่ในโลกปัจจุบันยังไม่มีวิธีอื่นนอกจากการเมืองแบบนี้ จึงยืนยันว่า การเลือกตั้งเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ความขัดแย้ง และแม้จะคาดการณ์ได้ว่าพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การเมืองบนถนนในปัจจุบัน ตอนนี้ไม่มีกฎกติกามารยาทไม่สนใจว่าใครเอาด้วยหรือไม่ สังคม ชนชั้นกลางสื่อ เห็นด้วยหรือมีกระแสอย่างไร เพราะรู้สึกว่า การหยุดหรือทำให้ระส่ำระสายมีประสิทธิภาพมากที่สุด จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้การเมืองท้องถนนกลับมาอยู่ในร่องในรอย และกลับไปใช้กลไกทางรัฐสภาได้เช่นเดิม

สำหรับบทบาทของขบวนการแรงงานไทยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ ขบวนการแรงงานต้องทำงานสร้างฐานมวลชน และปัญหาการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า ไม่เอารัฐประหาร และผู้ใช้แรงงานต้องประกาศท่าทีต่อประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นชาตินิยม ประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำ ประเด็นการย้ายฐานการผลิตของระบบทุน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับสังคม ผู้ใช้แรงงาน 

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนที่จะเข้ามามีอำนาจรัฐคงมีแค่ 2 กลุ่ม 1. ยังเชื่อในพลังอำนาจของราชการ และกลุ่มทุน  2. เชื่อในพลังกลุ่มทุนและราชการ จึงไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างชนชั้นไพร่ กับอำมาตย์ แต่เป็นการต่อสู้ของกลุ่มยุทธศาสตร์ที่ประกอบด้วยกลุ่มชนชั้นหลากหลาย อยู่ที่ว่าจะชูใครขึ้นมา ภายใต้การที่สังคมโลกเคลื่อนตัวไปสู่ระบบทุนนิยมเกือบทั้งหมด ในประเทศไทยทุนได้เข้ามากุมอำนาจรัฐ โดยแหล่งทุนที่ใหญ่ที่สุดคืองบประมาณรัฐ ฉะนั้นการที่ทุนด้านหนึ่งสะสมทุนจนยิ่งใหญ่ เมื่อเข้ามาบริหารประเทศ และเข้าถึงงบประมาณรัฐ เท่ากับทุนสองก้อนอยู่ในมือคนกลุ่มเดียวคือทุน ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีพลานุภาพสูงตามมา ถ้าต้องการปฏิรูปก็ต้องปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ถ้าไม่ปรับเท่ากับว่า นายจ้างผู้กุมทุนจะอยู่เหนือคนงานตลอดไป เมื่อไม่มีพรรคใดพูดถึงการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จึงไม่เคยคาดหวังอะไรจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเลือกไป พรรคไหนเข้ามาก็อาศัยพลานุภาพทุนหมด ฉะนั้นมองว่า หลังการเลือกตั้ง ในทิศทางใหญ่ๆ ของการขับเคลื่อนทางสังคม และการเมืองจะไม่มีอะไรเปลี่ยน ยกเว้นนโยบายลูกกวาด ดังนั้น เขาเสนอว่าถ้าวันนี้ยังมีพลังไม่พอ ต้องสะสมพลังไว้แก้ไขปัญหาต่อไป  โดยการ "นั่งบนภู ดูหมากัดกัน"

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน