นาฬิกาชีวิต : เศรษฐกิจและสังคมในมือแรงงานหญิง พบค่าจ้างไม่พอกิน

“นาฬิกาชีวิต : เศรษฐกิจและสังคมในมือแรงงานหญิง” เตรียมเคลื่อนข้อเสนอต่อผู้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ ให้มีนโยบายดูแลแรงงานหญิงให้ได้รับความเป็นธรรม ในเวทีพบแรงงานค่าจ้างไม่พอกินต้องทำงานมากกว่าสองนายจ้าง

เสวนา “นาฬิกาชีวิต : เศรษฐกิจและสังคมในมือแรงงานหญิง” วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 ที่สำนักวิชาการ ( UNISERV) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ สนับสนุนโดย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)

นางสาวปรีดา ศิริสวัสดิ์ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการเตรียมงานก่อนที่จะจัดงานในวันที่ 8 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันสตรีสากล ซึ่งผู้หญิงทั่วโลกจะออกมาเฉลิมฉลอง ความเป็นมาของวันสตรีสากลนั้นมาจากการเรียกร้องของขบวนการแรงงาน ความเป็นมา ของวันสตรีสากลนั้นเกิดขึ้น ที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ความเป็นอยู่ของแรงงานสตรีในเมืองชิคาโก ว่ากันว่าต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง แต่ได้รับค่าแรงานเพียงน้อยนิดส่วนสตรีตั้งครรภ์มักถูกไล่ออก ในที่สุดภายใต้การนำของ คลาร่า แซทคิน ผู้นำกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าชาวเยอรมันลุกฮือขึ้นสู้ด้วยการเดินขบวนนัดหยุด งานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงาน ให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั้งโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน แต่อย่างไรก็ตามอีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ “ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง” ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย นอกจากนั้นในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของ คลาร่า แซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็น “ วันสตรีสากล

นางคำเข่ง เล่าว่า ชีวิตการของตนนั้นเริ่มทำงานตั้งแต่เช้าเพราะต้องทำงาน 2 ที่ เนื่องจากมีนายจ้าง 2 คน ที่ทำงานแรกเป็นบ้าน ซึ่งพักอยู่ด้วยในบ้าน โดยเริ่มทำงานบ้านตั้งแต่เริ่มตื่นเช้า เตรียมอาหารดูแลทำความสะอาดบ้าน ล้างบ่อปลาคือต้องดูแลทั้งบ้านเสร็จงานช่วงเช้าก็เดินทางไปส่งลูกไปโรงเรียนก่อน

นางคำเข่งกล่าวอีกว่า หลังจากที่กลับจากส่งลูกไปโรงเรียนก็ไปทำงานต่อที่หอพัก ซึ่งต้องทำงาน เริ่มจากทำความสะอาด ดูแลซ่อมบำรุงภายในหอพัก เช่นซ่อมก๊อกน้ำ ดูท่อว่าตันหรือไม่ ไฟฟ้าเสียต้องเปลี่ยนทำเองทุกอย่างในหอ มีคนออกคนเข้าก็ต้องทำความสะอาด และช่วงเย็นไปรับลูกกลับจากโรงเรียนก็ไปทำงานต่อให้กับบ้านนายจ้างคนแรกอีกกว่าจะได้พักผ่อนอีกครั้งเวลา 20.00-21.00 น.

“เนื่องจากค่าจ้างค้อนข้างต่ำเดือนละ 1,500 บาท และ 1,800 บาทจึงต้องงาน 2 ที่ ด้วยพักกับนายจ้างที่บ้าน ก็มีการทำงานบ้านก่อน 07.00 น. และเป็นแม่เลี้ยงลูกคนเดียวด้วยเลิกกับสามี เลยต้องดูแลลูกและทำงานไปด้วย  ซึ่งนายจ้างคนแรกให้พักอยู่ด้วยกันได้ทำให้ต้องทำหน้าที่แม่ดูแลลูกได้และทำงานไปด้วย” นางคำเข่งกล่าว

ด้านนางสุมาลี เล่าว่า เป็นแรงงานทำงานก่อสร้างเหมือนกันกับสามี และเป็นแม่บ้านดูแลลูกด้วย โดยช่วงเช้าต้องทำงานบ้านก่อนออกไปส่งลูกที่โรงเรียนด้วยกัน หน้าที่ทำงาน คือ ผสมปูน เทปูน ฉาบปูน ซึ่งงานก่อสร้าง แต่ละวันก็ไม่ได้ทำงานเหมือนกันทุกวัน มีคนงานจำนวนมากมีการแบ่งหน้าที่กัน และไปทำงานในหลายที่ ทำงานแบบนี้ทุกวัน นายจ้างว่างานไม่มีฝีมือค่าจ้างจะต่างกว่าผู้ชาย

หากถามว่าผู้ชายช่วยทำงานบ้าน หรือดูแลลูกบ้างหรือไม่ ก็อยากตอบว่า  “ผู้ชายที่เป็นสามีเท่าที่เห็นส่วนใหญ่ก็อารมณ์ขึ้นๆลงๆไม่คงที่ ไม่ค่อยช่วยมองว่า งานบ้านเป็นงานผู้หญิง การสอนการบ้านก็ต้องทำเองเพราะสามีไม่ค่อยรู้ภาษาไทย” นางสุมาลี กล่าว

นางเกี้ยงคำ เล่าถึงสภาพการทำงานของตนว่า ทำงานร้านอาหารตามสั่ง มีครอบครัวแล้ว มีลูกแต่อยู่ที่บ้านในประเทศเมียนมาร์ ชีวิตการทำงานเริ่มจากมาสมัครงานในร้านอาหารแห่งหนึ่งใน เข้างานเวลา 08.00-01.00 น. ได้รับค่าจ้างวันละ 700 บาท ซึ่งพอทำงานจริงเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 06.00-08.00 น.โดยนายจ้างให้เริ่มทำความสะอาดร้านทำทุกอย่างในร้านทั้งหมด ไม่ใช่แต่ทำอาหารเท่านั้น เช่น กวาด ถูกพื้น ล้างห้องน้ำ เป็นต้น และที่กำหนดให้หยุดวันอาทิตย์เพราะร้านปิดก็ไม่ได้หยุดจริงนายจ้างขอให้มาจัดเตรียมทำความสะอาดร้าน เพื่อรอเปิดในวันจันทร์อีก และหากร้านขายดีก็จะปิดเวลา 02.00 นงทำให้มีเวลาพักผ่อนประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน

“ถามว่า เราเต็มใจในการทำความสะอาดไหมก็คงบอกว่าไม่เต็มใจ แต่นายจ้างขอให้ทำก็ต้องทำ เพราะหากไม่ทำวันไหนก็จะมีท่าทีไม่ดีต่อกันระหว่างนายจ้างที่แสดงกับเรา การมาทำงานแต่เช้า หรือวันหยุดก็ไม่ได้รับค่าจ้าง บางทีนายจ้างจะเลี้ยงข้าวบ้าง ตอนนี้ขายไม่ค่อยดีเท่าไรหนักนายจ้างให้เลิกงานเวลา 18.00 น. ซึ่งรายได้ก็น้อยลงตามเวลาทำให้รายได้ไม่พอต่อค่าใช้จ่าย ” นางเกี้ยงคำ

นางสมจิตร ปัญญารัตน์ อดีตคนงานบริษัทจ่อจี้ เป็นแรงงานไทยกล่าวว่า หลังจากที่ออกจากกงานก็มาทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าในโรงงานขนาดเล็ก เป็นงานเหมารายชิ้นมีทั้งกางเกง เสื้อ ซึ่งได้ค่าจ้างตัวละ 1.50 บาท ทำให้ทำงานมากกว่าเวลาทำงานในโรงงานขนาดใหญ่เพราะรายได้ไม่เพียงพอ คือพองานเลิกก็รับเอางานรายชิ้นมาทำที่บ้านด้วยเป็นการเพิ่มรายได้

“สามีมีสุขภาพไม่แข็งแรงทำงานหนักไม่ได้ จึงต้องทำงานรับผิดชอบงานในบ้าน ส่วนเราก็ต้องรับผิดชอบทำงานนอกบ้าน และในบ้านที่เป็นงานสร้างรายได้ เพราะลูกยังต้องเรียนหนังสือมีค่าใช้จ่ายมาก แต่หากเป็นงานเบาสามีก็ช่วยทำได้เล็กน้อย” นางสุจิตร กล่าว

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการทำกลุ่มย่อยเพื่อสรุปปัญหาแรงงานหญิงที่ต้องเผชิญ โดยสรุปได้ดังนี้ ปัญหาร่วมคือเรื่องค่าจ้างที่ต่ำไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งนำมาซึ่งการทำงานล่วงเวลา และบางส่วนต้องทำงานมากกว่าหนึ่งที่ ค่าจ้างแรงงานข้ามชาติยังไม่ได้ค่าจ้างที่เป็นธรรมเท่าเทียมระหว่างแรงงานหญิงกับแรงงานชาย โดยดูจากแรงงานก่อสร้างที่นายจ้างมองว่าแรงงานหญิงเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ได้ค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมาย เป็นต้น ซึ่งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการตามกฎหมาย เช่นการเข้าสู่ระบบประกันสังคม การดูแลเรื่องอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยในการทำงาน

ปัญหาครอบครัวความไม่เข้าใจในการทำงาน มุมมองผู้ชายยังมองว่าผู้หญิงต้องทำงานบ้าน หรืองานในบ้านเป็นของผู้หญิงด้วยวัฒนธรรมดั่งเดิมผู้ชายจะออกไปทำงานนอกบ้านหาเงินมาจุลเจือในบ้าน แต่ด้วยปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นทำให้ผู้หญิงต้องออกมาทำงานนอกบ้าน แต่ว่างานในบ้านผู้หญิงยังคงต้องทำหน้าที่เท่าเดิม ซึ่งปัจจุบันการแต่งงาน หรือการอยู่ร่วมกัน ผู้หญิงและผู้ชายมีการตกลงกันว่างานภายในบ้านต้องช่วยกัน ซึ่งตอนนี้ผู้ชายบางส่วนมีการปรับตัวในการทำงานบ้านช่วยผู้หญิงบ้างแล้ว ส่วนหนึ่งได้สอนลูกผู้ชายให้ช่วยทำงานบ้านนอกจากสอนลูกผู้หญิง เพื่อเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ เพื่อการเปลี่ยนสังคม และสร้างค่านิยมใหม่ขึ้น

ประเด็นการศึกษาก็ถือว่า เป็นประเด็นหลักที่ต้องการให้เด็กๆได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม และเรียนฟรีจริง รวมถึงแรงงานควรได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย เพื่อการลองรับ และสร้างอาชีพใหม่ โดยมีการจ้างงานตามความสามารถจริงของแรงงานด้วย

สรุปประเด็นว่า เรียกร้องต่อนายจ้างคือ นายจ้างควรมีการยุติการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานระหว่างแรงงานหญิงและแรงงานชาย พร้อมทั้งมีการปฏิบัติตามกฎหมายที่มีการคุ้มครอง ทั้งเรื่องค่าจ้าง และนำแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม ต้องเคารพสิทธิแรงงาน จัดหาอุปกรณ์ดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และสนับสนุนให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กภายในที่ทำงาน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐ รัฐต้องมีการจัดหาเรื่องหารตรวจสุขภาพ เฉพาะผู้หญิง เช่นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เป็นต้น และยังมีเรื่องสถานเลี้ยงเด็กที่ครอบคลุมตามความต้องการของแรงงานหรือสอดคล้องในการทำงานของแรงงาน ให้มีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกับแรงงานหญิงทุกอาชีพ รับรองอาชีพบริการเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย มีข้อเสนอเรื่องการประกอบอาชีพได้ตามความถนัด ไม่มีการปิดกั้นหรือจำกัดการทำงานได้เพียงบางประเภทเท่านั้น  รัฐควรมีการกำหนดสัดส่วนแรงงานหญิงในระบบไตรภาคี และให้รัฐออกกฎหมายกำหนดให้ผู้เลี้ยงดูบุตรในขณะที่หย่าร้างกับภรรยาด้วย จัดสวัสดิการสนับสนุนคนงานหญิงในขณะตั้งครรภ์ เลี้ยงดูลูก และกองทุนชราภาพ การจัดการศึกษาเรื่องความเท่าเทียมระหว่างหญิง และชาย เรื่องให้บังคับใช้พระราชกำหนดจัดหางาน

นักสื่อสารแรงงานรายงาน