TEAM เดินหน้า ผลักดันขบวนการแรงงาน เข้าสู่มาตรฐานสากล

เมื่อวันที่ 12 – 13  พฤษภาคม  ที่ผ่านมา  สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิคส์ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม IMF ASIA – PACIFIC ณ เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย

การประชุมในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการนำเสนอปัญหา และผลการดำเนินงานตามนโยบายขององค์กร IMF ที่มีอยู่เดิมในเรื่องของการควบรวมแล้ว ยังมีการส่งเสริมนโยบายแนวคิดเรื่องการผลักดันให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการแรงงานมากขึ้นด้วย  ซึ่งทางองค์กร IMF  ได้เปิดโอกาสให้ผู้นำแรงงานหญิงจากทั่วภูมิภาคเอเชียได้เข้าร่วมประชุมหารือถึงปัญหาของแรงงานหญิงแต่ละประเทศ จากการร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาของแรงงานหญิงโดยทั่วไปจะมีส่วนที่คล้ายกันมากในแต่ละประเทศ  เช่น เรื่องระยะเวลาการลาคลอดที่มีระยะสั้นไม่เพียงพอต่อการดูแลบุตร  เรื่องของรายได้ในช่วงระยะเวลาของการลาคลอดที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ  เรื่องของการส่งเสริมสิทธิ์ในการกลับเข้ามาทำงานหลังจากการลาคลอดเพราะโดยส่วนใหญ่จะถูกเบียดเบียนเรื่องตำแหน่งงาน  การส่งเสริมให้แรงงานหญิงได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมหาความรู้เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้นำในอนาคต  และการกำหนดสัดส่วนให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในองค์กรแรงงานโดยเน้นสัดส่วนอย่างน้อย 1. 3 หรือ 33%  ของโครงสร้างองค์กรแรงงาน  เพื่อให้สามารถออกสิทธิ์ออกเสียงในขบวนการแรงงานได้  รวมถึงการคุ้มครองให้แรงงานหญิงได้มีค่าแรง  สวัสดิการและการดูแลอย่างเท่าเทียมกันไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศใดเพศหนึ่ง

การประชุมในครั้งนี้  คุณชาลี  ลอยสูง ประธานองค์กร TEAM  ได้รับเชิญให้เป็นผู้แทนกล่าวรายงานในเรื่องของการมีส่วนร่วมและวิธีการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในประเทศไทย  โดยคุณชาลี  ได้กล่าวถึงการช่วยรณรงค์การต่อต้านการใช้แร่ใยหินในขบวนการผลิตของประเทศไทย  ซึ่งเป็นผลสำเร็จโดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในการสั่งยุติการนำเข้าแร่ใยหิน 100%แล้วในปัจจุบัน   และในส่วนของการตอบสนองนโยบายเรื่องของการส่งเสริมให้มีสตรีเข้าร่วมในองค์กรแรงงานตอนนี้ มีสตรีเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ TEAM และยังต้องมีการส่งเสริมในการเพิ่มสัดส่วนอีกต่อไป  ซึ่งตอนนี้องค์กรแรงงานของไทย มีผู้นำแรงงานหญิงได้เข้าเป็นผู้พิพากษาสมทบ เพื่อคอยช่วยเหลือแรงงานในด้านกฎหมายซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญอีกด้านหนึ่งของขบวนการแรงงาน  และสุดท้ายเรื่องของการควบรวมองค์กรแรงงานเป็นสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงานไทย และถือเป็นนโยบายหลักของ IMF ที่ต้องสานต่อ

ทางด้านเลขาธิการองค์กร IMF Mr. JyrkiRaina ได้กล่าวถึงปัญหาหลัก ของการควบรวมที่ทุกองค์กรคงต้องพบเจอคือในเรื่องของการเงิน วัฒนธรรมความแตกต่างระหว่างองค์กร และเรื่องของโครงสร้างโดยต้องเน้นเรื่องของการมีส่วนร่วมของสตรีด้วย ซึ่งทั้ง 3 ปัญหาที่กล่าวมาเป็นปัญหาหลัก ๆ ที่ต้องเจอแต่หากมองถึงอนาคตข้างหน้าแล้ว ทุกองค์กรร่วมกันแก้ไขปัญหาทาง IMF ก็เชื่อว่าความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

กชกร   ขยันกิจ นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวสมุทรปราการ รายงาน