T-BAN ทวงสัญญา “เลิกแร่ใยหิน”วอนอุตสาหกรรม หยุดโยกโย้ แฉ อิทธิพลการค้า รัสเซีย ต้นเหตุ

Untitled-1

เครือข่าย T-BAN ยื่นข้อเสนอ 2 ข้อต่อรมต.กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนมติครม.ปี 2554 ให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน 

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมาเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย(T-BAN) นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และผู้ประสานงานเครือข่ายยกเลิกใยหินแห่งประเทศไทย หรือ ทีแบนด์ ได้ขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 12 เมษายน 2554

นางสมบุญ ศรีคำดอกแคได้กล่าวถึง การที่กระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่ส่งเรื่องยกเลิกใยหินให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ทั้งที่เวลาผ่านมาตั้งแต่เมษายน 2554 เป็นเวลากว่าสามปีแล้วนั้น ทางเครือข่ายได้เคยเข้าพบผู้ช่วยรัฐมนตรี นายปราโมทย์ วิทยาสุข เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 แต่ในการพบดังกล่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรี นายปราโมทย์ วิทยาสุข ขอเวลาสำหรับการดำเนินการ บัดนี้เวลาล่วงเลยมาอีกเดือนกว่าแล้ว จึงจำเป็นต้องมาติดตามความคืบหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้นัดหมายไว้ในวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2557เวลา 14.00 น.

ทั้งนี้ได้ประสาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปด้านสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข และคณะกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้มาร่วมพบรัฐมนตรีอุตสาหกรรม เพื่อติดตามการดำเนินการยกเลิกใยหิน เพราะเป็นเรื่องที่สาธารณะให้ความสนใจ ทั้งนี้ได้รับการตอบรับจากสมาชิกสภาปฏิรูป 3 ท่าน ที่จะร่วมเพื่อร่วมติดตามความคืบหน้าการดำเนินการยกเลิกใยหินของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย (1) ศ.พญ. พรพันธุ์ บุญรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข สปช. (2) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. และ (3) รศ. ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ สมาชิก สปช. และ รองประธาน ของคณะกรรมการทั้งสองชุดดังกล่าว

นางสมบุญ ได้วิงวอน กระทรวงอุตสาหกรรมอย่าได้ถ่วงเวลาทำให้เรื่องนี้ล่าช้าออกไป เพราะจะมีผลกระทบโดยเฉพาะกับผู้ใช้แรงงานซึ่งตนได้พบเห็นความทุกข์จากการเจ็บป่วยมากมายและการดูแลรักษาไม่สามารถทำได้เมื่อเจ็บป่วย พร้อมนี้ได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้การดำเนินการล่าช้าว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากแรงกดดันของประเทศที่ส่งใยหินมาขาย โดยผู้ส่งใยหินจากประเทศดังกล่าวพยายามให้ข้อมูลว่าใยหินไครโซไทล์มีความปลอดภัย และ สนับสนุนการคัดค้านการยกเลิกใยหินในประเทศไทยมาโดยตลอด ทั้งนี้แหล่งข่าวระบุว่าประเทศที่ส่งใยหินมาขายประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง คือ ประเทศรัสเซีย โดยส่งมากว่าห้าหมื่นตันต่อปี

แถลงการณ์เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย(T-BAN)
ขอสนับสนุน มติ ครม. เพื่อ สังคมไทยไร้แร่ใยหิน พ.ศ.2554

ประเทศทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ ได้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาร์เจนตินา ชิลี อียิปต์ คูเวต ซาอุดิอาราเบีย อาฟริกาใต้ อุรุกวัย ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง และ อื่นๆ และมีการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ในประเทศ สหรัฐอเมริกา และ แคนาดา
องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ องค์กรนานาชาติด้านการวิจัยโรคมะเร็ง ด้านพิษวิทยา และ สิ่งแวดล้อม ต่างสนับสนุนการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิด ในปี พ.ศ. 2549 มีการประชุมนานาชาติในประเทศไทย โดยมีการจัดทำ คำประกาศกรุงเทพเพื่อการยกเลิกการใช้แอสเบสตอสและขจัดโรคจากแอสเบสตอส มีมติที่สำคัญ คือ ให้มีการยกเลิกการใช้แอสเบสตอสทุกชนิด รวมทั้งไครโซไทล์

ขณะนี้ในประเทศไทย ใยหินอื่นๆทุกชนิดได้มีการยกเลิกไปนานแล้ว ยังเหลือ ใยหินไครโซไทล์ ที่ยังไม่มีการยกเลิก มติ ครม.วันที่ 12เมษายน 2554 จีง กำหนดให้มีการยกเลิกการใช้ใยหิน แต่ หลังจาก ครม มีมติ ในเดือน เมษายน 2554 ล่วงเวลามากว่า ๓ ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ

เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุน มติสังคมไทยไร้แร่ใยหิน พ.ศ2554 จึงขอเรียกร้องดังนี้

1.ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามมติ ครม. โดย เร่งรัด ดำเนินการยกเลิกการนำเข้าใยหิน การผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหิน โดยยกเลิกการนำเข้าปี 2557 และยกเลิกการผลิตปี 2558

2. กระทรวงอุตสาหกรรมต้องแสดงเจตนารมย์และท่าทีที่ชัดเจน สนับสนุนการยกเลิกการใช้ใยหิน ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กับประเทศที่มีการจำหน่ายใยหินไครโซไทล์ให้กับประเทศไทย เช่น ประเทศรัสเซีย ที่ประเทศไทยยังมีการนำเข้าใยหินกว่าห้าหมื่นตันต่อปี โดยไม่ยอมให้ผลประโยชน์การค้าเหนือกว่าสุขภาพของคนไทย

เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประไทย T-BAN
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557
ติดต่อ: สมบุญ สีคำดอกแค เครือข่าย 081-813-2898