Park Talk “มักกะสัน สวนสร้างสรรค์”

makkasan exhi1

ตั้งแต่วันที่ 18-20 มีนาคม 2558 เครือข่ายมักกะสันจัดกิจกรรม “มักกะสัน สวนสร้างสรรค์ การเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของกรุงเทพมหานคร” ที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร ปทุมวัน โดยมีการจัดเวที Park Talk เชิญผู้เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาพื้นที่มาพูดคุยให้ความรู้ และจัดนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาและแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่มักกะสันอย่างสร้างสรค์

savitเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมเวที Park Talk โดยกล่าวถึงแนวคิดการพัฒนากิจการรถไฟของไทยว่า ตั้งแต่อดีตนั้น ก็เพื่อการบริการประชาชนซึ่งเป็นบริการราคาถูก และไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้และยังมีการบริการฟรี เป็นการแบกรับภาระภายใต้นโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ซึ่งเป็นการบริหารแบบขาดทุนมาโดยตลอด จนเป็นข้ออ้างในการที่จะยกพื้นที่การรถไฟไปใช้หนี้ให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งผลของการขาดทุนส่งผลต่อการไม่มีงบในการพัฒนาระบบรางของการรถไฟ จนมีเสียงบ่น เสียงด่าว่าการบริการที่ขาดคุณภาพไม่มีการพัฒนา ซึ่งสหภาพแรงงานก็ได้เรียกร้องให้พัฒนาระบบความปลอดภัยที่ส่งผลกระทบกับผู้ใช้บริการ

ส่วนแนวคิดรัฐบาลในการที่จะหาวิธีการให้ได้เงินมาพัฒนาระบบรางเพื่อให้เกิดการบริการที่มีคุณภาพของการรถไฟคือ การจัดการบริหารใหม่โดยการจัดตั้งกรมขนส่งทางราง เพื่อนำที่ดินของการรถไฟและการจัดการระบบรางมาจัดการใหม่เพื่อให้เกิดรายได้ นำมาใช้หนี้และพัฒนาระบบการบริการประชาชนให้ดีขึ้น รวมทั้งข้อเสนอที่จะยกพื้นที่เช่นมักกะสันซึ่งมีประมาณ 700 กว่าไร่ เป็นโรงงาน 400 กว่าไรใช้หนึ้กระทรวงการคลังราว 1 แสนล้านบาทเป็นต้น เพื่อให้กระทรวงการคลังนำไปพัฒนาหาเงินเข้าคลัง ซึ่งไม่ใช่เพียงพื้นที่เดียว ยังมีอีกหลายพื้นที่ เช่นสถานีรถไฟแม่น้ำย่านช่องนนทรี พื้นที่กม.11 ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีที่ดินอยู่ในความครอบครองกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า  2 แสนไร่ เป็นที่ดินที่เว้นห่างจากรางรถไฟ แต่ใช้ประโยชน์ได้ประมาณหมื่นกว่าไร่เท่านั้น

“ในฐานะตัวแทนคนงานรถไฟ และที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน เห็นว่าการพัฒนามักกะสันภายใต้พื้นที่กว่า 700ไร่ ที่มีทั้งพื้นที่โรงงาน บ้านพัก โรงพยาบาล โรงเรียน วัด ชุมชน รวมถึงพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และการที่มีเครือข่ายมักกะสันรวมตัวกันเรียกร้องให้พัฒนามักกะสันให้เป็นสวนสาธารณะ เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งสหภาพก็มีข้อเสนอแนวทางการพัฒนาต่อผู้บริหารว่า การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต้องมีการแบ่งส่วนหนึ่งเป็นสวนสาธารณะเป็นสวนสร้างสรรค์ มีการอนุรักษ์อาคารเก่าพื้นที่ประวัติศาสตร์ จัดทำพิพิธภัณฑ์ ตนเห็นด้วยที่ประชาชนจะแสดงถึงความเห็น และเป็นเจ้าของการรถไฟ ช่วยกันร่วมเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่มักกะสัน อย่างไรก็ตามการพัฒนาขนส่งทางรางของการรถไฟก็เพื่อให้บริการประชาชนทุกคน ทุกกลุ่มในประเทศต้องได้ประโยชน์ไม่ใช่เพียงกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น”

paradonต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2558 นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้ร่วมเสนอข้อมูลในเวที Park Talk โดยกล่าวว่า พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่มักกะสันของการรถไฟ โดยการประสานงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อใช้อาคารเก่าของสหภาพฯเป็นที่จัดทำพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งตัวอาคารเองก็มีประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ส่วนพื้นที่มักกะสันนั้นเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนงานรถไฟในอดีตที่เรียกร้องการปรับปรุงค่าจ้าง สวัสดิการและสิทธิพื้นฐานของแรงงานจนกลายเป็นกฎหมายคุ้มครองดูแลคนทำงานทุกคนในสังคมถึงปัจจุบัน เช่น สวัสดิการบ้านพัก การรักษาพยาบาล ค่าแรงวันหยุด ค่าทำงานล่วงเวลา สิทธิการลาต่างๆ การต่อสู้เรียกร้องกับรัฐบาลเข้มข้นถึงขั้นนัดหยุดงานหลายครั้ง และเคยถูกทางการจับกุมคุมขังในข้อหาเป็นกบฎที่เรียกกันว่า กบฎมักกะสัน

สำหรับพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์แรงงาน บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่แรงงานเกณฑ์ไพร่-ทาสในสังคมโบราณ เรื่องของแรงงานจีนที่เป็นแรงงานรับจ้างอิสระรุ่นแรกๆในสยาม จนถึงยุคการปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการยกเลิกระบบไพร่-ทาส ทำให้แรงงานไทยเป็นแรงงานอิสระ และมีส่วนในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แรงงานก็เริ่มมีสิทธิในการรวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิต่างๆ  ซึ่งก็เป็นยุคที่คนงานรถไฟมักกะสันเข้าไปมีส่วนร่วมใจการต่อสู้จนได้กฎหมายแรงงาน มีเรื่องของยุคสงครามโลกและสงครามเย็น เรื่องศิลปวัฒนธรรมของ จิตร ภูมิศักดิ์ จนถึงยุคประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่รวมเรื่องราวตั้งแต่ 14 ตุลา 6ตุลา การต่อสู้ของแรงงานหญิงเรื่องลาคลอด แรงงานนอกระบบ แรงงานเด็ก แรงงานในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แรงงานรัฐวิสาหกิจ กับการต่อสู้คัดค้านการแปรรูป เรื่องความปลอดภัย วิกฤตเศรษฐกิจ และการกลับสู่แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานดั้งเดิมแบบเกษตรกรรม

makkasan exhi2ทั้งนี้ เวที Park Talk ตั้งแต่วันที่ 18 -20  มีผู้คนให้ความสนใจจำนวนมาก และมีผู้ร่วมนำเสนอบนเวทีกว่า 30 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ ดารานักแสดง นักร้องนักดนตรี ดีเจ สถาปัตยกรรมศาสตร์จากหลายมหาลัย สมาคมสถาปนิกสยาม วิศวกรรมสถานแห่งชาติ บรรณาธิการนิตยสาร นักจัดรายการวิทยุ  ยังมีกลุ่มเยาวชน เด็ก ผู้ใหญ่ นักอนุรักษ์หมอต้นไม้ ฯลฯ ที่ร่วมเสนอข้อมูลความต้องการต่อการพัฒนาทีดินมักกะสันว่า มักกะสันเป็นพื้นที่ค่อนข้างใหญ่อยู่กลางใจเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร เหมาะสำหรับที่จะเป็นพื้นที่สีเขียวเป็นปอดให้กับคน มักกะสันยังเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของ การรถไฟและคนงานรถไฟที่เริ่มขึ้นจากการพัฒนาประเทศโดยใช้ระบบขนส่งทางราง มีอาคารอนุรักษ์ตั้งอยู่ในพื้นที่ เป็นอาคารเก่าแก่ที่สวยงาม และสามารถนำมาพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ พื้นที่มักกะสันมีความงดงามทั้งความเป็นสีเขียวของต้นไม้ และอาคารเก่าที่คลาสสิค สามารถนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เป็นห้องเรียนเรื่องการพัฒนาประเทศ

พื้นที่มักกะสันยังเป็นชุมทางศูนย์รวมของการเดินทางเชื่อมโยงกับประเทศแถบภาคตะวันออกที่สามารถรองรับการพัฒนาของอาเซียน มีทางด่วนวิ่งผ่านเพื่อขนส่งผู้คน เป็นเส้นทางของข้าวปลาอาหารจากต่างจังหวัดมาสู่คนเมืองผ่านการรถไฟ มีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่นำชาวต่างชาติจากสนามบินสุวรรณภูมิเข้าสู่เมือง ซึ่งพื้นที่มักกะสันที่สวยงามจากการพัฒนาแบบสร้างสรรค์ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีโครงสร้างอาคารเก่าที่สวยงาม มีพิพิธิภัณฑ์ สิ่งเล่านี้คือคุณค่าที่แท้จริงของมักกะสัน

พร้อมยังเสนอแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าต้องคำนึงถึงปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตคนควบคู่กันไป แนวคิดพัฒนา “มักกะสันสวนสร้างสรรค์” เพื่อสานวิถีเมือง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

makkasan exhi3 makkasan exhi4

ส่วนการจัดแสดงนิทรรศการเริ่มตั้ง 18-29 มีนาคม ตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 5 ประกอบด้วย คุณค่าทางสถาปัตยกรรม ความเก่าแก่แห่งยุคสมัยถักทอด้วยกาลเวลา และรอยจารึกอันฝังลงบนก้อนอิฐและโครงเรือนที่ยืนยงคงอยู่ยาวนาน ถูกถ่ายทอดเป็นภาพเขียนเพื่อบันทึกความหมายของอดีตที่สมควรรักษาไว้ให้คนรุ่นต่อไป มีแบบจำลองมักกะสันสวนสร้างสรรค์  เส้นทางประวัติสาสตร์ความเป็นมาสำคัญๆในการพื้นที่มักกะสัน นิทรรศการเรื่องราวการร่วมกันทำชีวิตให้มีความหมาย ทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่ดีมีความน่าอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมชมสามารถร่วมโหวตแสดงความต้องการของตนได้ว่า “ต้องการให้มักกะสัน ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของกรุงเทพมหานคร ควรจะเป็นสวนสร้างสรรค์ หรือว่าเป็นศูนย์การค้าคอมเพล็กขนาดใหญ่ในพื้นที่มักกะสัน