LCC. เสนอปฎิรูป กม.แรงงานและกระบวนการยุติธรรม – คนงาน

ศูนย์ช่วยเหลือฯจัดประชุมทางวิชาการ – วิพากษ์กระบวนการยุติธรรม หลังคนงานใช้สิทธิ กลับไกล่เกลี่ยต่ำกว่ากฎหมาย คนงานจำต้องรับหลังถูกขู่ – “สู้ก็ไม่ได้อะไร เสียเวลาเปล่า”!
 
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน (LCC.) ได้จัดประชุมทางวิชาการ เรื่อง การขับเคลื่อนประเด็นกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน เกี่ยวเนื่องกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ณ ห้องประชุมชั้น 4  ศูนย์ช่วยเหลือฯ ซอยวัดบัวขวัญ จ.นนทบุรี สนับสนุนโดยมูลนิธิเอเชีย ซึ่งมีนักวิชาการ ทนายความ อาสาสมัครรับเรื่องร้องทุกข์จากศูนย์พื้นที่ต่างๆ ผู้นำแรงงาน กว่า  25 คน เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีการอภิปรายสภาพปัญหาและอุปสรรค์ของการใช้สิทธิของลูกจ้างในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานแรงงานสัมพันธ์ การใช้สิทธิและวินิจฉัยของประกันสังคม,เงินทดแทน และการใช้สิทธิศาลแรงงาน
 
นายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ผู้จัดการโครงการฯและทนายความ กล่าวว่า ปัจจุบันการเข้าถึงสิทธิของคนงานค่อนข้างยากเนื่องจากกระบวนการที่ซับซ้อนทางกฎหมาย และที่สำคัญคนงานเองไม่ค่อยรู้สิทธิหรือช่องทางการใช้สิทธิ ขบวนการยุติธรรม ยังมีปัญหา เช่น พนักงานตรวจแรงงานไม่ดำเนินการตามหน้าที่ พนักงานไกล่เกลี่ยของศาลไม่ชำนาญด้านปัญหาแรงงาน และศาลแรงงานเองก็ไม่ดำเนินขบวนการพิจารณาคดีอย่างก้าวหน้า เนื่องจากคดีแรงงานไม่ใช่คดีทางแพ่งปกติ แต่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องไม่เฉพาะกับตัวลูกจ้างเท่านั้นแต่กระทบไปถึงครอบครัวหากต้องถูกเลิกจ้าง
 
นางสาวจุริสุมัย ณ หนองคาย ผู้ประสานงานฝ่ายสิทธิฯและทนายความประจำศูนย์ช่วยเหลือฯ กล่าวว่า สภาพปัญหากระบวนการยุติธรรมที่พบจากคดีที่ศูนย์ฯให้ความช่วยเหลือฯ พบว่า กรณีนายจ้างใช้เงื่อนไขการดำเนินคดีอาญาเอากับลูกจ้าง เพื่อต่อรองในคดีแรงงาน หรือการขับเคลื่อนของผู้นำแรงงาน เช่น ข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง หน่วงเหนี่ยวกักขัง ซึ่งต้องมีการประกันตัวแต่ลูกจ้างไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว และในการต่อสู้คดีต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หรือ กรณีนายจ้างอ้างเหตุขาดทุนโดยเลิกจ้างไม่จ่ายตามกฎหมายและไม่มีทรัพย์พอที่ยึดเพื่อมาจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ขบวนการบังคับคดีมีขั้นตอนกระบวนการยุ่งยาก และลูกจ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบังคับขายทอดตลาดเอง และกระบวนการของศาลแรงงานล่าช้า และใช้ระยะเวลานาน โดยศาลชั้นต้นใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 1-2 ปี และในชั้นอุทธรณ์ฎีกาจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปี รวมระยะเวลาที่กว่าจะได้คำพิพากษามาใช้เวลาถึงประมาณ 5 ปี ทำให้นายจ้างอาศัยเงื่อนไขความล่าช้าดังกล่าวเป็นเงื่อนไขในการไกล่เกลี่ยหรือกดดันให้ลูกจ้างรับเงินน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือที่ควรจะได้รับหากได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
 
นายตุลา ปัจฉิมเวช ผู้ประสานงานทั่วไปศูนย์ช่วยเหลือฯ กล่าวว่า ในการร้องพนักงานตรวจแรงงานนั้น ลูกจ้างหรือผู้นำแรงงานควรจะต้องทำ “ข้อเท็จจริง” แนบไปพร้อมกับคำร้องที่ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (คร.7) ด้วยและให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องนั้น ก็จะทำให้พนักงานตรวจแรงงานได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์และจะมีสิทธิหยิบยกเข้าสู้ในชั้นศาลต่อไปได้
 
นางสุนีย์ ไชยรส ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ช่วยเหลือฯ กล่าว “ในการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานหรือการไกล่เกลี่ยศาลแรงงาน ควรจะต้องให้ที่ปรึกษาเข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วยเพื่อรักษาสิทธิของคนงาน และศาลเองต้องวางหลักเกณฑ์ได้ด้วยว่าคดีอย่างไรที่ไกล่เกลี่ยได้ หากเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่คุ้มครองคนงานก็ไม่ควรใช้กระบวนการไกล่เกลี่ย” 
 
ซึ่งหลังจากที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายแล้วมีความเห็นว่าควรจะมีคณะทำงานในการปฎิรูปกฎหมายแรงงานและขบวนการยุติธรรมทั้งระบบเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งศาลแรงงาน ซึ่งยึดหลัก ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม  และช่องทางหนึ่งที่จะผลักดันคือคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย โดยตั้งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในระหว่างการสรรหาเพื่อโปรดเกล้าให้ทำหน้าที่ต่อไปอาจจะเป็นความหวังหนึ่งของขบวนการแรงงานที่จะได้รับสิทธิหรือเข้าถึงสิทธิได้ง่ายขึ้น
 
พรนารายณ์ ทุยยะค่าย นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวสระบุรี รายงาน