ITF ส่งตรงหนังสือให้นายกยิ่งลักษณ์เคลียปัญหาเลิกจ้างแกนนำรถไฟ

สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ส่งหนังสือถึงนายกหญิงเชิญเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยปัญหาการรถไฟกับสหภาพแรงงาน กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เมื่อวันที 10 สิงหาคม 2554 สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF)  โดยนายเดวิด คอครอฟท์เลขาธิการใหญ่ สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ได้ส่งหนังสือตรงถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 ประเทศไทย เรื่อง การเลิกจ้างผู้นำ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) โดยมีเนื้อหาดังนี้

ในนามของสมาชิกสหภาพแรงงงานขนส่งจำนวน 4 ล้าน 5 แสนคนที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ประเด็นที่เราต้องการจะหยิบยกมาเขียนถึงวนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่เรากังวลเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการกระทำล่าสุดของทางการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ที่มีต่อผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานสมาชิกของ ITF เราเข้าใจว่า หนังสือบอกเลิกจ้างได้ถูกส่งให้กับผู้นำต่อไปนี้เป็นรายบุคคล ทางไปรษณีย์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ได้แก่ นายภิญโญ เรือนเพ็ชร นายบรรจง บุญเนตร์ นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายธารา แสวงธรรม นายเหลี่ยม โมกงาม นายสุพิเชฐ สุวรรณชาตรี และนายอรุณ ดีรักชาติ ซึ่งมีหนังสือบอกเลิกจ้างทั้ง 7 คนที่ส่งมาจาก รฟท. แล้วบุคคลเหล่านี้ได้รับฟังคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งศาลได้สนับสนุนการร้องขอจาก รฟท. ให้เลิกจ้างพร้อมทั้งฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ เราเข้าใจว่า การแจ้งคำตัดสินของศาลเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นได้ออกมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ในขณะที่สหภาพแรงงานอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลฎีกา

ด้วยเหตุนี้เราเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวของ รฟท. ในการบอกเลิกจ้างพนักงานนั้นไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรม เนื่องจากศาลแรงงานยังไม่ได้มีคำพิพากษาคดีจนถึงที่สุด ITF และสหภาพแรงงานสมาชิก ร่วมกับขบวนแรงงานสากลในวงกว้าง ได้สนับสนุนการรณรงค์ เพื่อเรียกร้องความปลอดภัยที่ดำเนินการโดย สร.รฟท. เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งสหภาพแรงงานได้ปฏิเสธที่จะให้สมาชิกนำขบวนรถที่ไม่มีความปลอดภัยออกไปทำขบวน หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยติดต่อกันถึง 3 ครั้งภายในเดือนเดียวกันนั้น ซึ่งสหภาพแรงงานได้ปฏิบัติตามมาตรา 58 ของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ในการที่สหภาพแรงงานได้ชี้แจงให้สมาชิกรับทราบถึงข้อตกลงสภาพการจ้างที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินรถไฟของไทย

ดังนั้น เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ รฟท. ที่ได้กระทำการอันเป็นการลงโทษผู้นำสหภาพแรงงาน ยิ่งไปกว่านั้น เรายังรู้สึกกังวนใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่า รฟท. อ้างว่า “อุปกรณ์ที่เรียกว่า เด๊ดแมน” เป็นเพียงอุปกรณ์เสริมในการป้องกันความปลอดภัยในการเดินรถไฟเท่านั้น เรามั่นใจว่า บริษัทที่ดำเนินการด้านรถไฟทั่วโลกจะร่วมกับสหภาพแรงงานในการที่จะไม่เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว ในหลายๆ ประเทศ อย่างเช่น ประเทศนอร์เวย์ พนักงานขับรถจะถูกไล่ออกจากงาน ถ้านำขบวนรถออกจากโรงรถทั้งๆ ที่อุปกรณ์เด๊ดแมนนั้นไม่สมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น จากบันทึกของเราแสดงให้เห็นว่า ได้มีความพยายามในด้านหนึ่ง ในขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการ

ส่งเสริมเสรีภาพในการรวมตัว และเจรจาต่อรอง รวมถึงยังมีกฎหมายที่ห้ามใช้สิทธิในการนัดหยุดงาน ถ้าฝ่ายบริหาร รฟท.ใช้โอกาสที่เป็นจุดอ่อนทางการเมืองมากระทำการตัดสินเช่นนี้ ซึ่งเราหวังว่าในเร็วๆนี้จะมีการปรับปรุงก็ถือว่า เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลในการที่จะต้องปกป้องพนักงานจากการถูกละเมิดสิทธิ ที่เป็นที่ยอมรับในสากลโลก และเป็นสิทธิที่แรงงานพึงได้รับ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้นำแรงงาน ITF ร่วม กับสมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ (ITUC) ได้แจ้งให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทราบถึงคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางแล้ว และเราจะแจ้งความคืบหน้าเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นนี้ให้กับทางผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทราบต่อไปด้วย และแน่นอนว่า การยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการเสรีภาพในการรวมตัว (FOA) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในขั้นตอนนี้ เพราะดูเหมือนว่า ทางฝ่ายบริหารเลือกที่จะมุ่งเผชิญหน้ากับสหภาพแรงงานต่อไป

การประท้วงเพื่อแสดงความสมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียวกันกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ในระดับสากลจะทวีคูณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการบอกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยนี้ก็จะยิ่งไม่สามารถทำให้เรื่องนี้สงบลงได้ จึงขอเรียกร้องให้ท่านใช้อำนาจของท่านนายกรัฐมนตรี เข้าไปแก้ไขปัญหานี้ เพื่อป้องกันให้ผู้นำสหภาพแรงงานทั้ง 7 คนนี้ยังคงมีงานทำต่อไปตลอดระยะเวลาที่คดีนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนของศาลแรงงาน และขอเรียกร้องให้ท่านเป็นตัวกลางให้สหภาพแรงงาน กับฝ่ายบริหาร ได้มีการพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติ เพราะเราเชื่อว่าแรงงานสัมพันธ์ที่ดีเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาความปลอดภัยในการบริการรถไฟได้ (International Transport Workers Federation (ITF) หนังสือITF ถึงนายกยิ่งลักษณ์__EN)

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน