Green Jobs – งานสีเขียว “ไม่มีการจ้างงานบนดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว”

แน่นอนว่า ทุกคนต้องการมีงานทำที่มีคุณค่า และมีความมั่นคง ยังเชื่ออีกว่าทุกคนต้องการค่าตอบแทนที่สูงเพื่อการเลี้ยงชีพแลครอบครัว และเชื่อว่า คนงานต้องการทำงานที่มีความปลอดภัย มีสภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นมิตรกับชุมชน ในต่างประเทศได้มีการรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้อุตสาหกรรมที่ลดโลกร้อน ซึ่งขบวนการแรงงานต้องเข้าไปมีส่วนร่วม อย่างเช่น สมาพันธ์แรงงานนานาชาติ (ITUC) มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการประชุม สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (COP) ที่กรุงปารีส และได้มีการรณรงค์ร่วม เนื่องจาก “ไม่มีการจ้างงานบนดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว

ในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศเยอรมนีนั้น การใช้พลังงาน เริ่มขึ้นในพ.ศ. 2533 เมื่อมีพระราชบัญญัติเรื่องมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านทางรัฐสภา เป็นการตัดสินใจออกจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งในระยะแรก ซึ่งโดยการกระตุ้นจากพระราชบัญญัติพลังงานทดแทน แต่การตัดสินใจออกจากระบบเดิมนั้นไม่ได้ง่าย เป้าหมายเพื่อกำจัดคาร์บอนในอุปทานพลังงานการออกจากระบบนิวเคลียร์ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่ต้องรักษาระดับความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ โดยมีการเพิ่มแหล่งของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีผลกระทบกับการจ้างแรงงานบางส่วนที่ต้องตกงานและเกิดการจ้างงานใหม่ในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน ซึ่งจากประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว มีการกล่าวถึงความคุ้มทุน ซึ่งอาจส่งผลต่อโครงสร้างการลงทุนและผลกำไรในช่วงของการปรับเปลี่ยนที่ต้องใช้ทั้งเงินและเวลา ซึ่งสหภาพแรงงานเองก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมโดยได้รับการคุ้มครองทางด้านกฎหมาย ด้านการจ้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยมองว่าจะ “ไม่มีการจ้างงานบนดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว”

หากมาย้อนมองดูประเทศไทยต่อแนวคิดของรัฐหรือกระทรวงแรงงานต่อแนวคิด Green Jobs หรืองานสีเขียว เมื่อวันที่ 13มิถุนายน2560 ในวาระการประชุมเพื่ออภิปรายรายงานของผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เรื่อง “การทำงานในภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง : ข้อริเริ่มสีเขียว” ณ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถ้อยแถลงเรื่อง การขับเคลื่อนวาระงานสีเขียว (Green Jobs) ควบคู่กับเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ประเทศไทยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่าง ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เป็นเงื่อนไข ในการขับเคลื่อน การสร้างงานที่มีคุณค่าให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาการทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มากกว่าการแสวงหาประโยชน์โดยไม่รับผิดชอบในระยะสั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับ ILO ที่เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวนั้นจะต้องเป็นธรรม และครอบคลุม ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถทำงานและดำรงชีวิตได้อย่างกลมกลืน สิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นว่าอนาคตของเศรษฐกิจที่มีความสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามปณิธานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มุ่งมั่นจะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรือง และต้องทำงานร่วมกับองค์กรนายจ้างและลูกจ้าง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โดยที่ผ่านมานั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นไปสู่เศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตสูงและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการ เพื่อที่จะพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ผู้ทำงาน เพื่อให้มีความสามารถพร้อมรองรับเศรษฐกิจสีเขียว โดยการพัฒนาให้สามารถที่จะใช้วัสดุและสารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริหารจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพ เรายังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับคุณค่าที่แท้จริงของความยั่งยืนในระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นสำหรับการพัฒนาสังคมสีเขียว ซึ่งรัฐบาลได้นำมาเป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไว้ด้วยแล้ว(ข่าวเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน 14 มิถุนายน 2560)

รัฐบาลของไทย ที่ได้กำหนดแนวคิดและทิศทางการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (GHG Mitigation) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climat change building) ซึ่งปรากฏในแผ่นแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558-2593 และข้อตกลงปารีสที่ประเทศไทยประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้เงื่อนไขของศักยภาพทางด้านการเงินและเทคนิคของประเทศ ความจำเป็นในการพัฒนา

ด้านแนวคิดของผู้นำแรงงานในประเภทกิจการยานยนต์ โดยนายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยได้แสดงมุมมองการพัฒนางาน และเศรษฐกิจสีเขียวว่า

“เศรษฐกิจสีเขียวแรงงานก็อยากเห็นถ้าสามารถที่จะทำได้จริงและปฏิบัติได้จริงอย่างประเทศเยอรมันที่มีการเปลี่ยนผ่านแล้ว ซึ่งจะเป็นผลดีกับคนรอบข้าง แต่ก็ไม่อยากให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนในอดีต ที่เรามีมาตรฐานการรับรองการผลิตด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14000  มีบริษัทมาตรวจสอบ ให้มีการปรับปรุง แต่สุดท้ายก็ทำงานแบบผักชีโรยหน้า มีมุมพักผ่อน ซื้อกระถางต้นไม้มาประดับ เป็นลักษณะที่ทำเพื่อให้ผ่านแล้วได้ใบรับรอง มีการย้ายงานออกไปให้คนรับงานไปทำที่บ้านทำ ขยะมลพิษพี่น้องแรงงานนอกระบบก็จะได้รับผลโดยตรงส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่ถ้าบริษัทเหล่านี้ไม่ทำตามเงื่อนไขจะต้องยกเว้นสิทธิทางภาษีที่เคยให้ ปรับหรือไม่เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมันดีขึ้น ขบวนการสหภาพแรงงานก็ต้องร่วมกับชุมชน เพื่อให้รู้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเขา เพื่อต่อสู้ปกป้องกันเพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมปล่อยมลพิษต่อสังคม”

Green Jobs (งานสีเขียว) หรืองานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งานที่แรงงานมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตของสถานประกอบการ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง ช่วยปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพลดการใช้พลังงานวัสดุและการใช้น้ำผ่านทางกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงลดคาร์บอนของเศรษฐกิจและลดหรือหลีกเลี่ยงการผลิตขยะและมลพิษทุกรูปแบบ ซึ่งเชื่อว่า คนทำงานทุกคนต้องการที่จะทำงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องการทำงานในสภาพแวดที่ปลอดภัย เพราะจะ “ไม่มีการจ้างงานในดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว” แน่นอน