Change…มักกะสัน ขอ’ปอด’ให้คนกรุง

chage makasan

Change…มักกะสัน ขอ’ปอด’ให้คนกรุง : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

หน้า2 คมชัดลึก, 24 พฤษภาคม 2556

หนึ่งพลังเสียง…เปลี่ยนสังคม !! กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มแฟนเพจ “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” เสียงสะท้อนจากคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่อยากให้พื้นที่สีเขียว(ทำเลทอง) 500 ไร่ ต้องถูกแปรสภาพเป็นห้างสรรพสินค้าหรือห้องพักหรู!!

หลังจาก “ประภัสร์ จงสงวน” ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย จะปัดฝุ่นโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ ซึ่งถูกพับโครงการไปเมื่อ 20 ปีก่อน มาให้เอกชนมาร่วมประมูลที่ดินผืนดังกล่าวเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ และพร้อมจะทำเป็นพื้นที่สีเขียวตามกฎหมายกำหนด

สืบเนื่องจาก ร.ฟ.ท. ประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด และมีแนวโน้มที่จะขาดทุนเพิ่มขึ้น โดยปี 2547 ร.ฟ.ท.มีผลขาดทุน 7,584 ล้านบาท ปี 2548 ขาดทุน 6,387 ล้านบาท ปี 2549 ขาดทุน 6,427 ล้านบาท ปี 2550 ขาดทุน 7,863 ล้านบาท และปี 2551 ขาดทุน 10,142 ล้านบาท… ส่วนปี 2556 คาดว่าจะขาดทุนถึง 12,174 ล้านบาท อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ร.ฟ.ท. ต้องเร่งผุดโปรเจกท์แสนล้าน มาช่วยปลดล็อกสภาพหนี้

“สุสานรถไฟ มักกะสัน” อดีตโรงซ่อมหัวรถจักร ถูกพืชพรรณแห่งการเวลาปกคลุมมากว่าครึ่งศตวรรษ เมื่อมองจากสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอตลิงค์มักกะสัน จะเห็นโรงงานร้าง โบกี้รถไฟ หัวรถไฟเก่า ต้นไม้ใบหญ้าขึ้นปกคลุมรกครึ้ม เป็นพื้นที่สีเขียวที่ถูกโอบล้อมด้วยป่าคอนกรีต และด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่นั้น คนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า ร.ฟ.ท.น่าจะพัฒนาเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ สร้างปอดแห่งใหม่ให้คนกรุงเทพฯ ดีกว่า โดยรวมตัวกันเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย

จากจุดเริ่มต้นการแชร์ “ภาพดาวเทียมบริเวณบึงมักกะสัน” พร้อมข้อความ “เราอยากให้พื้นที่มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” เมื่อปลายปีที่แล้ว เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง ภาพดังกล่าวถูกแชร์ในสังคมเฟซบุ๊กกว่า 900 ครั้ง ส่งสัญญาณว่ามีใครหลายคนคิดแบบเดียวกับพวกเขา นั่นคือที่มาของแฟนเพจ “MakkasanHope” หรือ “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” มีสมาชิกแฟนเพจอยู่ราว 1.65 หมื่นราย ถูกใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร และเคลื่อนไหวล่า 3 หมื่นรายชื่อ เสนอให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์

“พวกเราไม่ใช่ผู้ต่อต้านโครงการ มักกะสันคอมเพล็กซ์ ที่จะพลิกผืนดินกว่า 500 ไร่ให้กลายเป็นพื้นที่พาณิชย์ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่เรากำลังนำเสนอเพื่อให้ผู้มีอำนาจได้เห็นว่าพื้นที่ 500 ไร่แห่งนี้ สามารถนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มคุณภาพชีวิต” จตุพร ตันศิริมาศ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ บอกถึงจุดยืน

“จตุพร” ย้ำว่า รอบๆ พื้นที่มักกะสันในรัศมี 4-5 กิโลเมตรนั้น เป็นพื้นที่ธุรกิจเหลือเฟือแล้วทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ฯลฯ ยังขาดแต่สวนสาธารณะ ต้องยอมรับว่า คนสมัยนี้ไม่ได้ขาดความสะดวกสบาย แต่ขาดคุณภาพชีวิตที่ดี ปัจจุบันอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 1 ต่อ 3 ตารางเมตร ขณะที่มาตราฐานอยู่ที่ 1 ต่อ 9 ตารางเมตร จึงอยากให้มักกะสันเป็นพื้นที่สาธารณะ เพราะพื้นที่นี้มีขนาดใหญ่ มีต้นทุนทางธรรมชาติอยู่แล้ว และยังมีโรงซ่อมบำรุงรถไฟที่เป็นสถาปัตยกรรมที่เคยได้รับรางวัลมาก่อน น่าจะพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ และที่สำคัญ พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่รับน้ำกลางเมือง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง เสมือนแก้มลิงกลางเมืองด้วย

ความเคลื่อนไหวของแฟนเพจ “MakkasanHope” กำลังคึกคักออกแคมเปญเชิญชวนให้คนที่เห็นด้วยกับพวกเขา มางานฟรีคอนเสิร์ต “ร้องแทนต้นไม้ – รวมใจเพื่อมักกะสัน” เวลา15.00-21.00 น. วันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ณ ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี และจะมีการรวบรวมรายชื่อให้ครบ 3 หมื่นรายชื่อ เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ จะมาร่วมงานนี้ด้วย

ด้านสมาชิกแฟนเพจ ต่างเข้ามาร่วมสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวและร่วมให้กำลังใจ อาทิ คุณ “Dherapat Note Sanguandeekul” บอกข่าวดีว่า ผัง กทม.2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มักกะสันส่วนใหญ่ยังเป็นสีขาวอยู่(ผังที่โล่ง) สู้ต่อไป, คุณ “Wanpen Jira” แนะนำว่า มีเรื่องสวนสาธารณะจากทางรถไฟเก่าในนิวยอร์ก The High Line มาฝากค่ะ กลุ่ม Friends of The High Line ก็เหมือนกับกลุ่มอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ สู้ สู้ นะคะ

คุณ “Tass Vejpongsa” เอารูปที่ไทเปมาฝาก ซึ่งเป็นพื้นที่คล้ายๆ กับมักกะสัน เขาสามารถเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ก่อนบริเวณนี้เป็นโรงงานรัฐวิสาหกิจเก่า พอเลิกกิจการรัฐมาซื้อที่ดิน เปลี่ยนบริเวณเป็นสวนสาธารณะ ส่วนตัวโรงงานเก่าทำเป็นที่จัดนิทรรศการ มีโรงหนังที่ฉายหนังศิลปะ มีร้านอาหารไม่กี่ร้านที่จัดทำให้เข้ากับสถานที่ บริเวณที่เหลือเป็นสนามหญ้า เดินเล่น จัดคอนเสิร์ตได้ ทำให้มีกิจกรรมวันหยุดที่ไม่ต้องใช้จ่ายเงินเกินควร เป็นคุณภาพชีวิตที่คนเมืองควรมี!!

เปลี่ยน…ไปด้วยกัน

…เราคงไม่อยากให้พื้นที่ของกรุงเทพฯ กลายเป็นป่าคอนกรีตไปทั้งหมด…จนผลกระทบต่างๆ มากมาย จากการพัฒนาที่มองทางกายภาพเพียงด้านเดียว เงินตราอาจสามารถสร้างและบันดาลของหลายๆ สิ่งให้แก่เราได้ทุกอย่างในโลกยุคปัจจุบัน…แต่ “ต้นไม้และสวนสาธารณะ” ต้องใช้ใจและเวลาเท่านั้นในการปลูกมันขึ้นมา…

“นี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวที่เราได้บอกสิ่งที่เราต้องการ”

ร่วมลงชื่อผ่าน www.change.org เพื่อนำ 3 หมื่นรายชื่อไปยื่นถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และฝ่ายประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย

“ม.ล.อาภาวดี กัญญาพันธุ์” หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุน ให้เหตุผลว่า กรุงเทพฯ ควรมีสวนสาธารณะที่ปลอดภัยมากกว่านี้ เรามีห้างสรรพสินค้ามากเกินไปแล้ว สังเกตได้ว่าช่วงปิดเทอมเด็กๆ ทำความผิดเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะเขาไม่มีที่ไป ไม่มีกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก ถ้ารักและห่วงใยประเทศชาติจริงต้องนึกถึงคุณภาพของเด็กให้มาก สวนสาธารณะเป็นสถานที่ที่คนทุกวัยสามารถมีกิจกรรมร่วมกันได้ ในประเทศที่เจริญอย่างนิวซีแลนด์ วันเสาร์-อาทิตย์ ผู้คนไปเล่นกีฬาที่สวนสาธารณะ ไม่บ้าเดินห้างเหมือนคนไทย

“นายชิษณุ เลี้ยงพันธุ์” มองว่า การพัฒนาพื้นที่เพื่อเชิงพาณิชย์มิใช่เรื่องผิด แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการควรประกอบด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม พื้นที่สีเขียวควรมีมากกว่า 60% ส่วนที่เหลืออีก 20% ควรทำเป็นพิพิธภัณฑ์ดังเช่น Railway Museum ที่เมืองไซตะมะ ประเทศญี่ปุ่น หรืออาจเป็นแหล่งความรู้อื่นๆ แต่ไม่ควรทำลายอาคารเก่าซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ส่วนที่เหลืออาจทำเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่ควรมีข้อกำหนดเรื่องรูปแบบอาคารที่กลมกลืนกับอาคารดั้งเดิม และสอดรับพื้นที่สีเขียว กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีแหล่งช็อปปิ้งเพียงพอแล้ว เอกชนสามารถเสาะหาพื้นที่ในการสร้าง Community Mall เหล่านั้นได้ไม่ยาก ดังนั้นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐควรมีไว้เพื่อประโยชน์และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าสำหรับคนประชาชน

แคมเปญรณรงค์โดย “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” ณ เวลา 14.50 น. วันที่ 23 พฤษภาคม มีผู้ร่วมลงชื่อ 16,239 รายชื่อ ยังขาดอีก 13,761 รายชื่อ …หนึ่งเสียงของคุณมีความหมาย ร่วมเปลี่ยน “มักกะสันคอมเพล็กซ์” ให้เป็น “สวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์”!!

…………