แรงงานเกือบครึ่งหมื่นเดินรณรงค์หนุนปรับค่าจ้าง 300 บาท

วันนี้ (7 ตุลาคม 2554) เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรม ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส) นำคนงานราว 4,000คน ร่วมเดินรณรงค์เนื่องในวันงานที่มีคุณค่า ต้องรับรองอนุสัญญา 87 และ 98 ค่าจ้างต้องเป็นธรรม เท่าเทียม มาตรฐานเดียว 300 บาท ทั่วประเทศ!!! เนื่องในวันงานที่มีคุณค่า Decent Work   ซึ่งได้รวมตัวกันที่หน้าอาคารสหประชาชาติ (UN) ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือรวมทั้งรายชื่อคนงาน 20,000กว่าคน ที่มีการเสนอสนับสนุนให้รัฐบาลทำตามนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ให้แก่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการมอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นผู้แทนรับหนังสือและรายชื่อทั้งหมดจากผู้นำแรงงานกลุ่มต่างๆ
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์กล่าวว่า ด้วยวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันงานที่มีคุณค่า (Decent Work Day) ขบวนการแรงงานทั่วโลกได้รณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง ต่อต้านการจ้างงานระยะสั้นทุกประเภท งานที่มีคุณค่าประกอบด้วยหลักการสำคัญ ได้แก่ การมีโอกาสและรายได้ การมีสิทธิในด้านต่างๆ การได้แสดงออก การได้รับการยอมรับ ความมั่นคงของครอบครัว การได้พัฒนาศักยภาพตนเอง การได้รับความยุติธรรม และการมีความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ งานที่มีคุณค่าจะต้องได้มาจากสิทธิพื้นฐานของแรงงาน และมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย เสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรอง การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ขจัดการใช้แรงงานเด็ก และปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ในขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง และฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ 
 
การที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท มีความสอดคล้องกับหลักการงานที่มีคุณค่า เพราะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงาน และส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน นโยบายดังกล่าวจึงได้รับการ

สนับสนุนจากผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ จนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง
 
ผู้ใช้แรงงานคาดหวังว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท จะได้รับการปฏิบัติโดยทันที แต่ครั้นเมื่อฯพณฯนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 รวมทั้งคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ว่า จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, สมุทรสาคร, ปทุมธานี, นครปฐม, นนทบุรี, สมุทรปราการ และภูเก็ต ส่วนที่เหลือ 70 จังหวัดจะมีการทยอยปรับขึ้นต่อไปนั้น ผู้ใช้แรงงานต่างกังวลใจว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่มีมาตรฐานเดียวกัน 300 บาท จะได้รับเมื่อใด 
 
เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรม อันประกอบด้วยสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน กลุ่มย่านอุตสาหกรรม สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ สภาองค์การลูกจ้าง องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน มีความเห็นว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการปกป้องอุตสาหกรรมที่อาศัยการใช้แรงงานราคาถูกมานานหลายสิบปี มาสู่นโยบายการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ค่าจ้างที่เป็นธรรมเป็นเครื่องมือ อันจะทำให้เราสามารถสร้างอำนาจซื้อสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง ทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมกับจะทำให้เกิดการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางสังคม ทั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้สำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายผู้ใช้แรงงาน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 พบว่า ผู้ใช้แรงงาน 1 คน มีค่าใช้จ่ายรายวัน 348.39 บาท ผู้ใช้แรงงานและครอบครัวรวม 3 คน มีค่าใช้จ่ายรายวัน 561.79 บาท ดังนั้นแล้วค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน จึงเป็นค่าจ้างที่มีมาตรฐานเพียงพอต่อการยังชีพเท่านั้น เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรม จึงไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ที่ระบุให้ค่าจ้างขั้นต่ำคือเงินรายได้รายวันที่รวมค่าล่วงเวลา ค่ากะ ค่าครองชีพ และจะไม่ปรับค่าจ้างอีก 3 ปี 
 

เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรม ขอสนับสนุนให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของนำของฯพณฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำเนินการปฏิรูประบบค่าจ้างที่เป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังต่อไปนี้
 
1.  ขอให้ดำเนินการปฏิรูประบบค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยเริ่มจากค่าจ้างขั้นต่ำมาตรฐานเดียว 300 บาท ให้กับลูกจ้างทุกคนเท่าเทียมกันทั่วประเทศ 
 
2.  คำนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้หมายถึง ค่าจ้างแรกเข้าทำงานที่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี สำหรับแรงงานและสมาชิกในครอบครัวอีกสองคน ตามหลักการอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 
 
3.  ปฏิรูประบบโครงสร้างการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และระบบการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างให้โปร่งใส สะท้อนความเป็นตัวแทนของคนงานอย่างแท้จริง
 
4.  กำหนดมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค วางแนวทางช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานและผู้มีรายได้ต่ำ  
 
5.  รับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 
 
เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาล จะพิจารณาและสนองตอบต่อข้อกังวลที่ได้ยื่นมานี้ และขอให้ตระหนักว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เป็นมติมหาชนที่ได้ส่งมอบผ่านพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ดำเนินการเมื่อเป็นรัฐบาล จึงถือเป็นสัจจะประชาธิปไตยที่พรรคเพื่อไทยได้ให้ไว้ต่อประชาชนและผู้ใช้แรงงาน 
 

นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นอีกครั้งของประวัติศาสตร์ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ร่วมกัน
เรียกร้อง ผลักดันให้รับบาลทำตามสัญญา ตนจำได้ว่าเมื่อปี 2546 ได้มีการตามสัญญาจากรัฐบาลไทยรักไทยในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นของคนงานเหมาค่าแรง วันนี้มาหนุนให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำตามสัญญาเรื่องนโยบายปรับค่าจ้าง แรงงานหวังว่าจะเห็นรัฐบาลที่พูดจริงทำจริงในเร็ววัน
 
ายสาวิทย์ แก้วหวาน  เลขาธิการสมานพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวรณรงค์วันนี้ต้องการให้รัฐฐาลประกาสรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 เรื่องการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม เพื่อให้แรงงานได้มีอำนาจการต่อรองอย่างจริง หากแรงงานมีสิทธิ มีอำนาจในการต่อรองกับนายจ้างคนงานก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีค่าจ้างที่เป็นธรรม
 
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้มาเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีในการรับข้อเรียกร้อง และเข้าใจดีว่าผู้ใช้แรงงาน ต้องประสบกับปัญหาจากความไม่จริงใจของรัฐบาลที่ผ่านมา จึงเกิดความไม่มั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำตามสัญญา ด้วยอย่างไรขอให้ผู้ใช้แรงงานจงไว้ใจกับรัฐบาลชุดนี้ว่า จะทำตามสัญญาอย่างแน่นอน วันนี้นายกได้มีการพูดคุยกับทางนายจ้างผุ้ประกอบการเพื่อหาข้อยุติร่วมกันอยู่ อย่างไรรัฐบาลชุดนี้จะทำให้ดีที่สุดขอให้วางใจทำตามสัญญาทุกอย่างที่ให้ไว้ มีความยินดีที่จะให้เกิดระบบการตรวจสอบทั้งภาคประชาชน ฝ่ายค้าน เพราะเข้าใจว่าทุกท่านหวังดีต่อรัฐบาล และบ้านเมืองในการทำงานเพื่อประชาชนทุกคน วันนี้นายกได้เดินทางประชุมร่วมเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ดอนเมือง เพราะน้ำปีนี้มีปริมาณที่สูง กระทบต่อหลายจังหวัด จึงไม่สามารถที่จะมารับหนังสือได้
 
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อรายงาน