เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 เวลา 09.00-13.00 น. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ร่วมกับหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย (SDSU-CCT) เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants-ANM) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติในลุ่มน้ำโขง ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง ราชเทวี กรุงเทพฯ

คุณชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดเสวนา ดังนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์เเรงงานไทยได้ทำงานร่วมกับพี่น้องเเรงงานข้ามชาติมาโดยตลอด โดยไม่เเบ่งเเยกว่าเป็นเเรงงานไทยหรือเเรงงานข้ามชาติ ทำงานกับทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ เเละเเรงงานข้ามชาติ ในวันนี้รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดการเสวนาดังนี้ (1) เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจในเรื่องการดำเนินชีวิตของแรงงานข้ามชาติ ผ่านการเสวนาและนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจและสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมทั้งเคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน เพื่อสร้างสังคมที่เปี่ยมสุข (2) เพื่อเอื้ออำนวยให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานหรือเกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งองค์กรต่างๆ เช่น คริสตจักรได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานแรงงานข้ามชาติแก่สาธารณะชนและสร้างความตระหนักให้ทุกคนในสังคมได้มีส่วนในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ (3) เพื่อหนุนเสริมบทบาทและศักยภาพของสื่อมวลชนและองค์กรต่าง ๆในการนำเสนอภาพและประเด็นต่างๆของแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ให้มีการนำเสนอโดยปราศจากอคติและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนมากยิ่งขึ้น (4) เพื่อเป็นเวทีสื่อสารสาธารณะในการนำเสนอความเคลื่อนไหว การขับเคลื่อน การติดตามและผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในมุมมองของคนทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ
ขอเเสดงความชื่นชมที่ช่างภาพมีความสนใจเรื่องสิทธิ สังคมการเมือง และยังเป็นโอกาสที่ดีของเเรงงานข้ามชาติที่จะได้รับการนำเสนอประเด็นเพื่อความเท่าเทียมเเละเป็นธรรมในการทำงาน ผมหวังว่านิทรรศการเเละการเสวนาวันนี้จะประสบความสำเร็จเเละเป็นเสียงสะท้อนให้รัฐ สังคม ประชาชน เเละสื่อ เข้าใจว่าเเรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานสร้างสังคมและควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับเเรงงานไทย
ทั้งนี้การเสวนามีผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมงานกว่า 150 คน

ในช่วงต่อมาเป็นการกล่าวเปิดงานเสวนาและเปิดงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายโดย ดร.รุ่ง เริงสันติ์อาจิณ รองประธานสภาคริสตจักรในประเทศไทย การจัดนิทรรศการในครั้งนี้มีความมุ่งหวังเพื่อให้สังคมเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันในลุ่มน้ำโขง โลกได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีความเจริญก้าวหน้า มนุษย์อยู่อย่างสุขสบาย เเรงขับเคลื่อนสำคัญเกิดจากหยาดเหงื่อเเรงกายของเเรงงานข้ามชาติ ดังนั้นจึงเห็นชัดว่าเเรงงานข้ามชาติจึงมีความสำคัญต่อสังคมไทย วันนี้ประเทศไทยมีแรงงานที่จดทะเบียนกว่า 900,000 คน ยังไม่นับที่ไม่จดทะเบียนอีก คาดการณ์ว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านคน คนเหล่านี้เป็นเบื้องหลังความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำงานที่ไม่มีใครมองเห็น ทั้งสกปรก อันตราย เเละยากลำบาก แน่นอนแม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายเพื่อคุ้มครองเเรงงานข้ามชาติเเละการจัดการเเรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ เเต่พบว่ายังมีเหตุการณ์ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำ เช่น อุบัติเหตุจากการทำงาน การเข้าถึงการบริการสุขภาพ การศึกษา สถานะบุคคล สิทธิเเรงงาน นี้เป็นประเด็นที่จะนำมาเเลกเปลี่ยนในวันนี้

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยได้ทำงานในประเด็นเเรงงานข้ามชาติ ผ่านการส่งเสริมความรู้เเก่โบสถ์เเละคริสเตียนตามเเนวชายเเดนให้มีการยอมรับเเรงงานข้ามชาติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เล็งเห็นความสำคัญของการร่วมมือ มองเขาในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่ามีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับเรา ดังนั้นการกระทำใดๆต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยความรักก็เหมือนการกระทำต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นเอง

คุณอดิศร เกิดมงคล ผู้จัดการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล กล่าวเปิดงานเป็นคนต่อมาว่า ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก เเต่การพัฒนากลับเข้าไม่ถึงคนในพื้นที่ คนจนกลายเป็นคนที่ไม่มีโอกาสในการพัฒนา อย่างไรก็ตามคนจนในลุ่มเเม่น้ำโขงก็ไม่เคยยอมเเพ้ เเม้โอกาสการเข้าถึงเศรษฐกิจจะถูกปิดกั้น แต่พวกเขากลับมองการพัฒนาที่เกิดขึ้นผ่านความพยายามในการตอบโต้เอาตัวรอดเพื่อดำรงชีวิตได้ต่อไป ทางเลือกหนึ่งที่พบ คือการเดินทางข้ามเส้นสมมติเส้นพรมเเดนเพื่อเเสวงหาชีวิตเเละโอกาสที่ทำให้คนที่บ้านมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป แม้การเดินทางเต็มไปด้วยอุปสรรค เจอเจ้าหน้าที่รัฐเอารัดเอาเปรียบ เจอนายหน้าผู้เเสวงหาประโยชน์ พบเจอความยากลำบากตลอดการเดินทางข้ามพรมแดน ดังเช่นกรณีที่แรงงานข้ามชาติที่จังหวัดระนองเสียชีวิตในตู้คอนเทนเนอร์ พวกเขาและเธอก็มองเพียงแค่เป็นอุปสรรคที่ไม่ได้ทำให้ต้องยอมเเพ้ เมื่อมาถึงปลายทางชีวิตก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก การถูกดูถูก ถูกมองว่าเป็นอื่น ถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องการทำงาน แน่นอนทำให้เขาเห็นว่าชีวิตในประเทศไทยไม่ง่ายเเต่ไม่ได้ทำให้เขายอมเเพ้ คนข้ามชาติในลุ่มเเม่น้ำโขงนอกเหนือจากประเทศไทยมีประมาณสามถึงห้าล้านคน เปอร์เซ็นต์ไม่มาก เเต่เป็นฐานสร้างชีวิตในภูมิภาคหลายสิบหลายร้อยล้านคน เขาข้ามมาพร้อมความหวังเเละชีวิตที่ดีขึ้น ในฐานะคนเบื้องหลังเขาทำให้สภาพชีวิตคนในประเทศไทยหลายล้านคนดีขึ้น ไม่ว่าจะถูกมองในฐานะอะไรก็ตาม สิ่งที่คุณจอห์นได้ทำคือนำเสนออีกหน้าหนึ่งของทางเลือก นำเสนอภาวะของความเป็นมนุษย์ เป็นชีวิตที่คนทั่วไปเป็นอยู่ เช่น เเม่ลูกมารอสามี ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก เด็กหนุ่มรองานทำ ความรู้สึกอย่างนี้คนงานไทย คนไทยก็รู้สึก มีภาพของเเรงงานที่กำลังมีรอยสัก เหมือนวัยรุ่นไทยที่ตามเกาหลี มนุษย์ต้องการภาวะอย่างนี้ ทำให้ผมรู้สึกถึงหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างทหารอเมริกากับหนุ่มญี่ปุ่น เมื่อทหารอเมริกามองเข้าไปในดวงตาของหนุ่มญี่ปุ่น ภาวะความเป็นศัตรูหายไป เป็นความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่ง เป็นสิ่งที่ภาพนำเสนอ อยากให้มองตาเเละจะเข้าใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งอยู่ติดตัวเราตั้งเเต่เกิดจนตาย

ขอขอบคุณคุณจอห์นที่เป็นมากกว่าช่างภาพ เป็นคนที่บอกเล่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่นให้คนได้รู้ ทั้งด้านที่งดงามเเละไม่งดงาม ขอบคุณผู้จัดงานที่ทำให้เรื่องเเรงงานข้ามชาติได้รับการเผยเเพร่อีกครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อความเข้าใจในประเด็นเเรงงานในลุ่มเเม่น้ำโขงต่อไป

Mr.John Hulme ได้แสดงทัศนะในฐานะมุมมองของช่างภาพต่างประเทศต่อประเด็นการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติในลุ่มน้ำโขง ดังนี้ ประการเเรก ผมขอขอบคุณ คพรส. ที่มอบโอกาสให้ผมเเสดงภาพในวันนี้ เพื่อนำเสนอเรื่องสิทธิเเรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นเรื่องยากมาที่จะถ่ายทอดให้คนทั่วไปเข้าใจ สำหรับเเรงบันดาลใจนี้  ครั้งเเรกผมได้ไปที่เเม่สอด ตอนเเรกตั้งใจเพื่อถ่ายภาพในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งเข้าถึงยากมาก เเละเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าหน้าที่ไทยเฝ้าระวังอยู่  เเละมีความเข้มงวดเรื่องการเข้าถึง จึงได้ศึกษาสถานการณ์ที่ชายเเดนหลายปี เดินทางไปหลายครั้ง ช่วงนั้นผมสังเกตว่ามีเเรงงานข้ามชาติทำงานในโรงงาน  มีเเรงงานมากจนเเทบจะเป็นเมืองพม่ามากกว่าเมืองไทย ผมเริ่มสนใจชีวิตเเรงงาน เเละวิถีชีวิตทั่วไปของคนในเเม่สอด ผมจึงได้ถ่ายรูปเด็กเก็บขยะ  ต่อมาผมได้ไประนองเเละได้พบเเรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง

ช่วงเดียวกันผมเริ่มเห็นว่าประเด็นเเรงงานข้ามชาติไม่ใช่ประเด็นเฉพาะของประเทศไทย เเต่เป็นประเด็นนานาชาติ ทั่วโลกมีเเรงงานกว่า 192 ล้านคน ทั้งยุโรป อเมริกา ผมเริ่มศึกษาเรื่องการย้ายถิ่นข้ามพรมเเดนในภูมิภาค ผมจึงไม่ได้เป็นเเค่นักรณรงค์เรื่องเเรงงานที่ต้องการทำงานเฉพาะประเด็นพม่าที่ประสบความยากลำบาก เเต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงประเด็นการย้ายถิ่น ในฐานะปัญหาที่คนทั่วโลกต้องตระหนักมากกว่าร่วมด้วย

ถ้าถามว่ามีภาพไหนที่ประทับใจเป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะการจะเลือกรูปใดรูปหนึ่งนั้นเลือกยาก เพราะผมรู้สึกผูกพันกับภาพต่างกันไปตามเวลาเเละสถานการณ์ ที่ชอบตอนนี้เป็นรูปที่ชุมชนกองขยะ เป็นรูปที่เเม่ลูกกำลังหาเลี้ยงชีพจากกองขยะ เพราะเเรงงานจะนึกว่ามาเมืองไทยเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ผมไม่เข้าใจว่ามันดีกว่าอย่างไร เพราะเขาต้องไปใช้ชีวิตบนกองขยะ ผมพบเห็นครอบครัวพยายามเลี้ยงลูกหกคนบนกองขยะ ก็เลยสงสัยว่าเป็นชีวิตที่ดีกว่าในพม่าจริงหรือ เเล้วดีกว่าอย่างไร

รูปอีกรูปที่ชอบคือแรงงานข้ามชาติที่อยู่อย่างทุกข์ระทมในเมืองไทย เห็นวิถีชีวิตเเรงงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ห้องน้ำ น้ำสะอาดไม่ค่อยมี นอกจากนั้นแล้วยังชอบภาพเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าเป็นการดิ้นรน เอาชนะความยากลำบาก จะเห็นภาพเเรงงานประท้วงขณะที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างก็เลยประท้วงนัดหยุดงาน ความพยายามในการเจรจาต่อรองกลับถูกมองว่าเป็นภัย เเรงงานต้องหนีไปอาศัยที่วัดอยู่ชั่วคราว เเรงงานเป็นผู้หญิงก็ต้องหนีไปโดยไม่ได้เก็บของ ต่อมาเเรงงานเเละเเกนนำถูกเเจ้งจับหาว่าคุกคามนายจ้าง สุดท้ายแรงงานทั้งหมดถูกส่งกลับพม่า นี้ถือเป็นความเลวร้ายอย่างหนึ่ง แม้ว่าแรงงานจะพยายามดิ้นรนก็กลับถูกรังเเกซ้ำ เรื่องการต่อสู้อาจไม่ได้สร้างรอยยิ้มหรือชัยชนะ เเต่เป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้เพื่อเเก้ปัญหาเเต่ละวันกันไป

ในความยากลำบาก เราพบเห็นคนพม่า เเรงงานพม่าพยายามสนับสนุนซึ่งกันเเละกัน เพื่อให้ชีวิตต้องเดินต่อไป เช่นกรณีหมอซินเธียที่มาเปิดคลินิกที่เเม่ตาว ให้บริการรักษาพยาบาลทั้งคนพม่าข้ามมาเพราะบริการสาธารณสุขไม่ดีเเละช่วยรักษาเเรงงานพม่าในไทย หรือศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติเป็นความพยายามสอนลูกหลานพม่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดตากก็สนับสนุนให้เด็กเรียนหนังสือ ให้ได้วุฒิการศึกษาและไม่โดนจับ

ในระหว่างที่ผมถ่ายภาพแต่ละภาพๆนั้น ผมไม่ค่อยพบความเสี่ยงในการทำงาน เเต่มักเจอสถานการณ์ความยากลำบากมากกว่า มีเรื่องเศร้าเรื่องหนึ่ง เช่น ภรรยาแรงงานข้ามชาติอายุ 20 กว่าๆ สามีทำงานอยู่ในเรือประมง นานๆจะมาขึ้นฝั่ง วันหนึ่งเขาถูกซ้อมแล้วหายไป เเต่ภรรยายังมารอท่าเรือ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับ บางครั้งก็มีเหตุการณ์ที่นักข่าว ช่างภาพมักโดนข่มขู่ เช่น การประท้วงที่เเม่สอด ตอนที่ไปถ่ายที่วัด ทั้ง ตม. ตำรวจ ฉก. มาที่วัดเพื่อผลักดันกลับ ตอนนั้นผมเป็นฝรั่งคนเดียว สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไม่พอใจที่ผมพยายามถ่ายรูป พยายามส่งสัญญาณว่าถ้ามีข่าว มีรูปหลุดสู่สาธารณะ จะเป็นเรื่อง มีคนข่มขู่ไม่ให้เรื่องออกไปสู่สาธารณะ

แน่นอนเราคงไม่สามารถเปลี่ยนเเปลงโลกด้วยภาพถ่ายนิทรรศการ หรือเปลี่ยนเเปลงสังคมเเบบพลิกฝ่ามือ แต่อย่างน้อยผมหวังว่านี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตเเรงงานข้ามชาติว่าเป็นอย่างไรบ้าง เปิดประตูให้คนได้ใส่ใจรับรู้ประเด็นเเรงงานย้ายถิ่น เปิดให้เห็นประเด็นที่ถูกลืมและละเลยไปจากสังคม

หลังจากนั้นเป็นการเปิดเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ดำเนินรายการโดยคุณเจนจินดา ภาวะดี

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสียงครวญจากลุ่มน้ำโขงเป็นเสียงเรียกร้องจากคนยากจน จากคนด้อยโอกาสในสังคมไทยเเละในภูมิภาค วันนี้ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าองค์กรภูมิภาคหรือในระดับอาเซียนยังมีบทบาทน้อย เเม้จะมีการรวมตัวเพื่อกลายเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 แต่การมีบทบาทมีส่วนรับรู้ปัญหาของคนยากจน คนด้อยโอกาสก็ยังมีไม่มากนัก เรื่องนโยบาย โครงสร้างอาจเป็นเรื่องไกลตัว ปัญหาเเรงงานเเก้ไม่ได้ด้วยการสังคมสงเคราะห์ ต้องเเก้ปัญหาเชิงนโยบาย โครงสร้าง กลไกอำนาจรัฐที่มีผลต่อเเรงงาน เเรงงานข้ามชาติยิ่งต้องการความเข้าใจ มิฉะนั้นจะกลายเป็นเรื่องการยอมจำนน อยู่ในวังวนปัญหาที่ซ้ำซาก ผมมองว่าประเด็นปัญหาแรงงานข้ามชาตินั้นมี 4 มิติ กล่าวคือ

ประเด็นที่ (1) เรื่องเขตเเดน  ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย รัฐ ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองมองเขตเเดนต่างกับประชาชน มองเป็นเรื่องการได้-เสีย เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ประวัติศาสตร์ สังคม เราต้องถามว่าวิชาประวัติศาสตร์สอนเราเรื่องภูมิศาสตร์ สอนเรื่องเขตเเดนในฐานะการได้หรือเสียดินเเดน เป็นการกระตุ้นแนวคิดชาตินิยม ไม่มองความมั่นคงของคนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ผมเคยทำงานที่ศรีสะเกษ ที่นั่นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เป็นญาติพี่น้องกัน ข้ามไปมาหาสู่กัน เรื่องของเขตเเดนมาทีหลัง หรือกรณีของคนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้รับการเเก้ไข นี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มาจากเรื่องเขตแดน ทั้งๆที่จริงๆแล้วคนชายเเดนไม่ได้มองรัฐในเรื่องความมั่นคง ดังนั้นเมื่อมองเป็นเรื่องความมั่นคงจึงส่งผลกระทบต่อเรื่องการจัดการติดตามมา เช่น ที่จังหวัดระนอง เเรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองถูกทหารตั้งด่านไล่ยิงสกัด เสียชีวิตถึง 8-9 ศพ ทั้งๆที่ในกลุ่มแรงงานนั้นมีทั้งผู้หญิงและเด็ก หรือกรณีที่เเม่สอด มีแรงงานถูกยิงตายหลายศพ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้จริง กรณีเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดว่าเป็นการเเก้ปัญหาที่มองเเต่เรื่องเขตเเดนเป็นสำคัญ รวมถึงยังเป็นการใช้อำนาจรัฐมาเป็นเครื่องมือสังหาร ทำร้าย ทำลายประชาชน เเละชุมชนท้องถิ่น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนมิติการมองเขตเเดนไปไกลกว่าเรื่องอธิปไตย ดินเเดน แต่จำเป็นต้องมองไปที่มิติของความเป็นคน ความเป็นพี่น้อง หรือเรื่องของคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น

ประเด็นที่ (2) เรื่องการเมืองการปกครอง ในเเต่ละประเทศการเมืองการปกครองเป็นตัวกำหนดทิศทางการอพยพของคนในประเทศ อย่างกรณีเมื่อปลายปีที่แล้วมีการเลือกตั้งในประเทศพม่า มีการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก การเลือกตั้งกลับกลายเป็นการเพิ่มความขัดเเย้งให้มากขึ้น มีการอพยพของคนจำนวนมากมายหลายหมื่นคนมาที่ประเทศไทย หลายคนก็ถูกผลักดันกลับ โดยการส่งกลับไม่รู้จะไปเจออันตรายหรือไม่ เสี่ยงต่อกับระเบิดหรือไม่ หรือจะมีภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอย่างไรต่อผู้อพยพบ้าง ดังนั้นหลายคนก็จะมาอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยแทน หลายคนก็มาเป็นแรงงานข้ามชาติ เราเห็นชัดว่าบริเวณพื้นที่ชายแดนดูแลโดยทหาร ทำให้คนอพยพมาบางกลุ่มที่คิดว่าถ้าอยู่ในพื้นที่ที่ทหารจัดให้จะถูกบังคับส่งกลับจึงทำให้ผู้อพยพต้องหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ตามป่าเขา หรือหลบไปเป็นเเรงงานตามชายเเดนหรืออยู่กับญาติ ทีนี้จะอยู่ให้ได้ก็ต้องขายเเรงงานเพื่อดำรงชีวิตต่อไป

ประเด็นที่ (3) เรื่องนโยบายระหว่างประเทศ ที่พบว่าประชาชนมักจะเป็นเบี้ยตัวสุดท้ายที่ถูกทำร้าย ท่ามกลางการเปิดเสรีทางการค้า กลไกอาเซียนด้านการค้าเสรี มีคำถามว่าเป็นเสรีของประชาชน หรือนายทุนนักธุรกิจ เพราะถ้ามองนักลงทุนเป็นตัวตั้ง ภาคประชาชาชนก็ต้องการการเปิดเสรีด้านเคลื่อนย้ายประชากร ปัญหาสถานะบุคคล การได้รับสิทธิเเละการดูเเลตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วประชาชนกลับตกเป็นเหยื่อของนายหน้าค้ามนุษย์ที่เอารัดเอาเปรียบเเรงงานข้ามชาติ เมื่อเกิดการค้าเสรี หลักสิทธิมนุษยชนจะดูเเลคนข้ามชาติได้อย่างไร นี้เป็นคำถามที่สำคัญมาก เพราะการดูเเลต้องเป็นธรรม เสมอภาค เท่าเทียม ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นความเสมอภาคของประชาชน เเต่ในกลุ่มนายทุนมีความเสมอภาคเสมอ นี้คือความไม่เป็นธรรมในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ที่หมู่บ้านวาเล่ย์ อ.พบพระ จ. ตาก เมื่อเดือนธันวาคม 2553 ที่ชาวบ้านอพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามา ชาวบ้านบางคนไม่อยากกลับ เเต่สุดท้ายชาวบ้านบอกว่าต้องกลับเพราะต้องไปเก็บเกี่ยวผลิตผลการเกษตรมาขาย เป็นต้น  หรือกรณีชายแดนไทยกัมพูชาก็เช่นกัน เช่น ที่เกาะกง นักธุรกิจไทยไปลงทุนที่นั่น เกิดระบบการค้าเสรีที่ไม่เป็นธรรมละเมิดสิทธิเเรงงานจำนวนมาก

ประเด็นที่ (4) เรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น ที่มีการใช้เเรงงานผ่านกระบวนการค้ามนุษย์ มองมนุษย์เป็นเหยื่อที่สามารถค้าขายได้ ดังเช่นกรณี 54 ศพในตู้คอนเทนเนอร์ที่ จ.ระนอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นต่างเป็นผลมาจากอำนาจรัฐที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองเเละอิทธิพลในพื้นที่

ดังนั้นโดยสรุปทั้งเเรงงานไทยเเละเเรงงานข้ามชาติต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน  มีความจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขในระดับนโยบายและเชิงโครงสร้างร่วมด้วย เราต้องทำให้คนจนทั้งผองในอาเซียนที่มีความหลากหลายต้องรวมตัวกันในการต่อสู้ สร้างสิทธิเเรงงานที่เป็นธรรม มีการผลักดันกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่านการยึดหลักสิทธิมนุษยชน ต้องไม่มองว่าเเรงงานผิดกฎหมาย เป็นคนเถื่อน แต่ให้มองว่าเขาคือคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น มาหาชีวิตที่ดีกว่า อย่ามองว่ามาแย่งอาชีพคนไทย เพราะอย่างไรก็ตามภาคธุรกิจไทยก็ต้องการเเรงงานราคาถูกอยู่แล้ว เขามาทำงานในงานที่คนไทยไม่อยากทำ อย่ามองว่าเขามาเอารัดเอาเปรียบในด้านสิทธิต่างๆ อย่ามองว่าดูเเลดีกว่าคนไทย เพราะนั่นคือสิทธิพื้นฐานของความเป็นคนที่เขาพึงได้รับ เขาเป็นเพื่อนร่วมโลก ภูมิภาค เขามาทำงาน เสียภาษี เราเก็บเงินภาษีจากเขาเเล้ว ก็สมควรให้ความเป็นธรรมเเละการดูเเลเขา อย่ามองว่าเขาเอาเชื้อโรคมาแพร่  ในฐานะที่ผมเป็นหมอเห็นว่าการดูเเลสิทธิสุขภาพ ต้องทำให้เกิดในทุกคนเพื่อที่ทุกคนจะมีสุขภาพดีร่วมกัน แต่ปัญหาในทางปฏิบัติคืองบ สปสช. ยังไม่สามารถกระจายลงอำเภอ จังหวัด ชุมชน มีจึงผลต่อการเข้าถึงสิทธิในสุขภาพ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยโดยรวม

สุดท้ายขอให้คิดว่า กสม. เป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ถ้าทำงานร่วมกัน เสียงครวญที่ดังขึ้นจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการต่อสู้ เพื่อประโยชน์และความถูกต้องของมนุษยชาติทุกคนต่อไป

คุณสุนี  ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ดิฉันได้ย้อนถามตัวเองถึงกลุ่มเเรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ก็พบว่าเหมือนกับเเรงงานที่ต้องทำงานในต่างถิ่น เมื่อก่อนคนไทยในชนบทก็เป็นเเรงงานย้ายถิ่นมาทำงานในกรุงเทพฯ ดังนั้นเเรงงานไทยก็ถือเป็นเเรงงานย้ายถิ่นในลุ่มแม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องเคารพเเรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย ในขณะที่เเรงงานไทยก็ย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ แต่ทั้งคู่ต่างตกอยู่ในสภาพที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดนหลอก เเรงงานไทยจ่ายเงินไปทำงานต่างประเทศ สามเเสน ห้าเเสน เเล้วไม่ได้งานทำ เเสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเเละสังคมไทยเองก็ยังจัดการเรื่องเเรงงานย้ายถิ่นไม่ดีพอ

วันนี้เราเห็นแล้วว่าชะตากรรมร่วมกันของเเรงงานย้ายถิ่นในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขง คือ ปัญหาระดับนโยบายที่เป็นผลมาจากการพัฒนาประเทศ ดังเช่นกรณีการสร้างเขื่อนในประเทศจีน ที่ทุกคนมองว่าเขื่อนสร้างในจีน ไม่น่าจะกระทบมาถึงประเทศไทย หรือกรณีที่ประเทศไทยเองก็ไปลงทุนสร้างเขื่อนในประเทศพม่า ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ทุนเคลื่อนย้ายได้เสรี การบริโภคทรัพยากรเสรี พื้นที่ลุ่มน้ำโขงกลายเป็นฐานการเเย่งชิงทรัพยากรผ่านนโยบายการพัฒนา ทำให้ประชาชนจากประเทศต้นทางประสบความยากลำบากเเละไม่สามารถดำรงชีวิตได้ ต้องเดินทางมาเป็นเเรงงานข้ามชาติในประเทศใกล้เคียง ทุนต่างๆได้เข้าไปกอบโกยทรัพยากร เช่น การสร้างเขื่อนในประเทศพม่า ที่ส่งผลต่อน้ำท่วมที่ดินทำกินของประชาชนในพม่า ทำให้พวกเขาไม่มีที่ทำกิน หรือการเข้ามาของทุนเเอบแฝง เช่น กรณีนายทุนต่างชาติเข้าไปเช่าหรือซื้อที่ดินเพื่อทำเกษตรพันธสัญญา เหล่านี้เห็นชัดว่าเเรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองแน่นอน

รัฐบาลไทยเเละรัฐบาลประเทศในเเถบนี้มีปัญหาในการกำหนดนโยบาย เพราะไปเน้นการทำงานที่ขาดการมีส่วนร่วม นโยบายเน้นเฉพาะการเอื้อการลงทุนของทุนของต่างชาติที่ต้องการเเรงงานราคาถูก จึงย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศลุ่มเเม่น้ำโขง ทำให้นโยบายรัฐเปิดช่องให้เกิดการจ้างเเรงงานราคาถูก ถ้าไม่ได้ กลุ่มทุนก็จะขู่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น กรณีนี้หลายประเทศก็จะโดนเหมือนกัน คือต้องเปิดให้มีเเรงงานราคาถูกเพื่อสนองต่อทุนต่างชาติ ให้สิทธิพิเศษในด้านต่างๆจนส่งผลต่อการเอารัดเอาเปรียบ เช่น การลงนามในสัญญา FTA ที่ทุนเสรีเข้ามาเอาเปรียบเเย่งชิงฐานทรัพยากรจำนวนมาก

พบว่ากติการะหว่างประเทศของ ILO หรือ UN เเละรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ดี เเต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดผลให้มีความเท่าเทียม เสมอภาคเเละได้รับการคุ้มครองเท่ากันจริง เเรงงานไทยพยายามสู้ให้ได้ค่าเเรงเสมอกัน ปัญหาคือนายจ้างมักจ้างเเรงงานข้ามชาติโดยค่าแรงที่ถูกกว่า เพราะเห็นว่าแรงงานมีข้อจำกัดในเรื่องการเรียกร้องสิทธิ สามารถส่งกลับง่าย สำหรับเเรงงานในวันนี้เห็นว่ากำลังสู้อยู่สองประเด็นคือเรื่องเเรงงานที่ทำงานบ้าน ที่ทำงานหนัก เเละเสี่ยงต่อการขูดรีดทางเพศ กับระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมดีพอ เเละให้เหมาะสมกับการเข้ามาทำงานระยะสั้นของเเรงงานข้ามชาติด้วย โดยให้เก็บเงินในอัตราที่เหมาะสม

ในทางนโยบาย มีความพยายามที่ทำให้เเรงงานไทยกับเเรงงานข้ามชาติไม่ให้เข้าใจกัน เช่น กรณีแม็กซิส ที่เเรงงานข้ามชาติกัมพูชาถูกใช้เป็นข้อต่อรอง หากเเรงงานไทยพยายามเคลื่อนไหวเพื่อสวัสดิภาพที่ดีในการทำงาน นายจ้างจะปลดเเล้วจ้างเเรงงานข้ามชาติเเทนเเรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพอยู่แล้ว ดังนั้นมีความจำเป็นที่รัฐต้องออกนโยบายที่สมดุล ต้องตระหนักว่าเเรงงานข้ามชาติมีคุณค่ามหาศาล  เเต่ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่าบางครั้งการจ้างเเรงงานข้ามชาติก็กระทบกับเเรงงานไทยโดยไม่ได้ตั้งใจ ขณะนี้ BOI ให้จ้างเเรงงานข้ามชาติในโครงการที่ส่งเสริมการลงทุนได้ เช่น ยานยนต์ อิเลคโทรนิกส์ สิ่งทอ ซึ่งเป็นงานที่คนงานไทยทำอยู่แล้ว ประเด็นนี้ไม่ได้กีดกัน รังเกียจ เเต่เป็นการต่อสู้ทางนโยบายที่การจ้างเเรงงานข้ามชาติจะต้องมีข้อจำกัดบ้าง เพราะหลายครั้งถูกนำมาใช้ในการทำลายสหภาพ ต้องต่อสู้ให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 89 และ 97 เพื่อให้เเรงงานข้ามชาติสามารถตั้งสหภาพได้ เพราะกฎหมายไทยบอกว่ากรรมการสหภาพต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ถ้ารัฐบาลอนุมัติผ่าน เเรงงานข้ามชาติก็จะสามารถตั้งสหภาพได้

ดังนั้นเเรงงานไทยเเละเเรงงานข้ามชาติต้องร่วมกันต่อสู้ เหมือนคนไทยในชนบทต่อสู้เรื่องการสร้างเขื่อนในต่างประเทศเป็นต้น ฉะนั้นทั้งคนชนบท เเรงงานไทยในเมือง และเเรงงานข้ามชาติต้องผนึกกำลังกันต่อสู้ในความไม่เป็นธรรมทั้งปวงร่วมกัน

รศ.ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล การย้ายถิ่นกับการพัฒนานี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะมนุษย์อยากเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ อยากมีความก้าวหน้าด้านอาชีพ มีความต้องการเงินส่งกลับบ้าน พ่อเเม่ก็ต้องการให้ลูกเรียนหนังสือ เหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา กล่าวได้ว่าการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน เป็นความต้องการของระบบทุนนิยม เเรงงานข้ามชาติจึงมีความสำคัญอย่างขาดไม่ได้ ดังนั้นต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับเรื่องต่างๆที่จะตามมา โดยเฉพาะการจัดการเรื่องคน เพราะคนทุกคนมีสิทธิของความเป็นคนอยู่แล้ว

เวลามองนโยบายแรงงานข้ามชาติที่เหมาะสมกับประเทศไทยนั้น จะเห็นว่านโยบายการจดทะเบียนเเรงงานได้ดำเนินการมาตั้งเเต่ พ.ศ.2539 อย่างเป็นรูปธรรม เเต่วันนี้ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายการจัดการระยะยาวมากกว่า มีการเปลี่ยนนโยบายการจัดการทุกสองปี ทั้งๆที่มีการพูดมาตลอดว่านโยบายเเรงงานไม่มีความเเน่นอน จะไม่ดำเนินการต่ออายุ เเต่ก็ต่อมาเรื่อยๆ ถึง15 ปี เเละนโยบายที่ผ่านมาก็สะท้อนความต้องการของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ที่ผ่านมามีการใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศเป็นเเกนในการกำหนดนโยบาย จึงส่งผลต่อการปฏิบัติที่มีปัญหาตลอดมา ผนวกกับช่องโหว่ของกฎหมาย มาตรการที่เคร่งครัดเกินไป ดังนั้นเเม้เปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเเล้วก็ตาม แต่แรงงานก็ยังโดนตำรวจข่มขู่รีดไถตลอดมา เหล่านี้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร หรือในกรณีของนโยบายการพิสูจน์สัญชาติก็ยังมีปัญหา แรงงานยังต้องไปรายงานตัวกับ ตม. เพื่อขออนุญาตเดินทางออกนอกจังหวัด หรือขณะเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติก็เสียเงิน เสียค่านายหน้า ถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลา

จึงเห็นชัดว่านโยบายด้านเเรงงานข้ามชาติของรัฐจึงมีความไม่สอดคล้องกัน เเม้อยู่ในกระทรวงเดียวกัน มีหลายรูปแบบ เมื่อต้องประสานงานต่างกระทรวงกันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง กฎหมายเละมาตรการต่างๆ ก็ดำเนินการในลักษณะต่างคนต่างปฏิบัติ แม้รัฐบาลจะเเก้ปัญหาโดยให้มี กบร.เป็นหน่วยงานจัดการกลาง เเต่ก็ยังเป็นการทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำ กบร.มีกรรมการ 10 กว่าชุด มีอนุกรรมการ 8 ชุด แต่พบว่ากลับไม่มีเจ้าภาพหลักคอยดำเนินการ

เห็นว่านโยบายเเรงงานข้ามชาติที่เหมาะสม ต้องสามารถครอบคลุมทั้งเเรงงานในประเทศเเละในระดับภูมิภาค ต้องเป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อปัญหาความต้องการเเรงงาน เเละความต้องการบุคลากรในเเต่ละภาคส่วนว่าทิศทางของอุตสาหกรรมระดับประเทศจะมีทิศทางไปทางใด เพื่อกำหนดทิศทางของเเรงงานที่ต้องการได้อย่างชัดเจน ตลอดจนต้องผลักดันเเรงงานที่เข้ามาทำงานให้เป็นเเรงงานเหมือนกันเเละอยู่ภายใต้โครงสร้างเดียวกัน รวมทั้งต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ได้เเก่ การทำงานที่ถูกสุขลักษณะเเละปลอดภัย ที่อยู่อาศัย อนามัย การศึกษา สิ่งเเวดล้อม สิทธิการเป็นพลเมือง เด็กที่เกิดในประเทศไทยได้รับการนับเป็นพลเมือง ยังไม่ต้องพูถึงเรื่อง global citizen ขอเเค่เป็น Thai citizen ก่อน เป็นต้น

การดำเนินนโยบายต้องมีลักษณะเชิงรุก มิใช่ดำเนินนโยบายเเบบตั้งรับปีต่อปี นโยบายควรกำหนดระยะเวลา 3-5 ปี เปิดให้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการกำหนดนโยบาย มิใช่เเค่มารับฟังเเละปฏิบัติตาม รวมทั้งสื่อต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันเเละกันร่วมด้วย นโยบายต้องใช้ประโยชน์จากการกระจายอำนาจเเละการทำงานกับท้องถิ่น  ทำงานผนึกกำลังในพื้นที่ชุมชน ไม่ว่ากับคนไทย หรือไม่ไทย ให้มีความเป็นเจ้าของร่วมกันในชุมชน มีการใช้ประโยชน์จากการกระจายงบประมาณจากการจดทะเบียนเพื่อดูเเลเเรงงานข้ามชาติ เป็นนโยบายที่ยอมรับความหลากหลายในสังคม ไม่เคร่งครัด เน้นการเดินสายกลาง ทำความเข้าใจทั้งสองฝ่าย สื่อสารสองทาง จะนำมาซึ่งความเข้าใจซึ่งกันเเละกันในสังคม

สำหรับในตัวแรงงานข้ามชาติเองก็ต้องมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ เปิดพื้นที่ เรียนรู้บริบทต่างๆของคนในชุมชนที่ตนเองเข้าไปอยู่ร่วม ต่างฝ่ายต่างต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกันไม่มองว่าเเรงงานข้ามชาติมาเพื่อรับความช่วยเหลือ เเต่เขาเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนเเปลงในชีวิตตนเอง ไม่ได้มารับการสังคมสงเคราะห์ ต้องพยายามมองภาพรวม ต้องเข้าใจร่วมกันว่าทุกคนต้องการเเสวงหาโอกาสที่ดีในชีวิตเหมือนกับเรา

ดร. ประเวศน์ คิดอ่าน อดีตเลขาธิการสภาคริสเตียนแห่งเอเชีย ในพระคัมภีร์ กล่าวว่า เมื่อคนต่างด้าวมาอยู่ในเเผ่นดินของเจ้า จงอย่างข่มเหงเขา จงรักเขาเหมือนกับรักตนเอง เพราะเจ้าเคยเป็นคนต่างด้าวมาก่อนเช่นกัน ที่ผ่านมาโบสถ์มีบทบาทการดำเนินการกับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมานาน ดังนั้นจึงขอเเบ่งปันประสบการณ์ขององค์กรศาสนาว่าคริสเตียนมีมุมมอง ประสบการณ์ บทบาท เเละวิสัยทัศน์ต่อการทำงานอย่างไร

ประเด็นเเรกว่าด้วยเสียงครวญจากลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำโขงมีหกประเทศ เสียงครวญจากลุ่มเเม่โขงก็คือเสียงครวญจากเรา ณ ที่นี้ด้วย เพราะที่นี่มีคนต่างจังหวัดที่อพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ กว่า 60%  ดังนั้นเสียงครวญก็คือเสียงของเราด้วยเหมือนกัน เเม้จะไม่ได้ข้ามชาติเเต่ก็ข้ามจังหวัด

ในมุมมองของศาสนาคริสต์  การอพยพเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษยชาติ เพราะเรามีเท้าเพื่อเดินมีมือเพื่อทำงาน เเละมีสมองเพื่อคิดหาหนทางสู่ชีวิตที่ดีขึ้น  เป็นธรรมชาติที่เราจะต้องดิ้นรนเพื่อความมั่นคงเเละสันติสุขในชีวิต ในพระคัมภีร์มีเรื่องของการอพยพมากมายเเม้กระทั่งพระเยซูเเละบิดามารดาของท่านก็อพยพมาก่อน เมื่อมีเเผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับเเรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลอง นั่นก็เป็นการเริ่มต้นการอพยพสองรูปแบบ คือ จากชนบทสู่เมืองเเละจากไทยไปต่างประเทศ ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกเเรงงาน เเละเป็นจุดรองรับเเรงงานจากประชาชนไทยที่อพยพจากชนบท ต่อมาเราเป็นจุดรองรับเเรงงานข้ามชาติที่ 90% เป็นพม่า 10% เป็นกัมพูชา ลาวอีกประมาณ 8%

ประสบการณ์ขององค์กรคริสเตียนในสภาคริสตจักร เรามีความสนใจด้านเเรงงานย้ายถิ่นเเละเเรงงานข้ามชาติมาตลอด ตั้งเเต่ก่อนพ.ศ. 2504 ก่อนหน้านั้นได้มีมิชชันนารี ชื่อ ดร.ซิมเมอร์เเมน ทำการวิจัยเศรษฐกิจไทยเเละภาวะความเป็นอยู่ในชนบท เมื่อพ.ศ.2492 หรือ 12 ปีก่อนมีเเผนพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงนั้นสภาคริสตจักรในประเทศไทยได้มีการจัดตั้งฟาร์มชื่อว่า ฟาร์มสัมพันธกิจ ที่ จ.เชียงราย มีการเชิญพี่น้องประมาณ 50 ครอบครัว โดยการนำของศาสนาจารย์เข้ามาตั้งชุมชนใหม่ มีการจัดสรรที่ดิน 10 ไร่เพื่อเลี้ยงชีพ หลังจากนั้น 7 ปีต่อมา สภาคริสตจักรฯได้ตั้งเเผนกชูชีพชนบทเพื่อพัฒนาเกษตรกรในชนบท ปี 2510 ตั้งโครงการประชาคมเเรงงานในกรุงเทพฯ ทำงานกับกลุ่มที่อยู่กองขยะบริเวณอ่อนนุชเเละพระประเเดง

นอกจากนั้นยังมีงานดังต่อไปนี้ คือ วาระเร่งด่วนในการทำงานของสภาคริสตจักร ได้เเก่ การเเก้ปัญหาเฉพาะหน้า การจัดศูนย์พักพิง (Shelter) ช่วยเหลือชั่วคราวบริเวณชายแดนด่านเจดีย์สามองค์ เเละแม่สอด เป็นต้น งานระยะปานกลาง คือ การอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเพื่อนชาวพม่าใช้ สนค. เป็นพื้นที่การเเลกเปลี่ยนประสบการณ์เเละแบ่งปันปัญหา งานระยะยาว คือ ความร่วมมือในการทำงานระหว่างคริสตจักรกับองค์กรที่แก้ไขปัญหาเชิงนโยบายเพื่อหารือการเเก้ไขปัญหาระยะยาวร่วมกัน เช่น ความร่วมมือกับ คพรส. สสส. เครือข่ายแรงงานข้ามชาติเเละองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยังมีงานภายนอกประเทศ คือ คริสตจักรได้ประสานงานกับพี่น้องเเรงงานไทยในต่างประเทศ โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานกับพี่น้องเเรงงานไทยในไต้หวัน ฮ่องกง สิงค์โปร์ ดังนั้นจึงเห็นชัดว่าบทบาทของคริสตจักรจึงช่วยเหลือทั้งเเรงงานไทยและเเรงงานต่างชาติควบคู่ทั้งสองส่วน

มีคำถามว่าทำไมองค์กรศาสนาต้องทำงานด้านนี้ ประการเเรก คริสตศาสนามองมนุษย์ในฐานะสิ่งที่ได้รับการทรงสร้างจากพระฉายาของพระเจ้า ทุกคนเสมอกันหมด ในฐานะความเป็นคน ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ตามความเชื่อทางศาสนา ประการที่สอง ทุกคนต้องได้รับการปกป้องสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ข้อนี้อาจจะขัดหลักปกครอง หลักกฎหมาย เเต่ต้องมีหลักความยุติธรรมอยู่ในตัวประการที่สาม มนุษย์ต้องมีชีวิตที่สมบูรณ์ตามความเชื่อ ทั้งด้านร่างกาย จิตวิญญาณ จิตใจ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประการที่สี่ พระคัมภีร์สอนเรื่องการต้อนรับคนแปลกหน้าจากต่างถิ่น เหมือนรักตนเอง คริสตจักรจึงเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของประชาชน

ดังนั้นในการทำงานเช่นนี้ เราต้องรู้เขารู้เรา เข้าใจชีวิตผู้ใช้เเรงงาน ยึดหลักความเสมอภาค ทำงานอย่างเสมอภาค ส่งเสริมความเท่าเทียมกัน เเละส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการทำงานร่วมกัน ขาดซึ่งกันเเละกันไม่ได้ หากจะต้องการเเก้ปัญหาให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น รวมถึงต้องมองว่าการอพยพไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจเเต่เป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนร่วมด้วย การอพยพหยุดไม่ได้ด้วยองค์กรเเต่ต้องหาวิธีทำให้ประชาชนมั่นใจในประเทศต้นทางของตนเเละประเทศปลายทาง เเก้ไขด้วยการร่วมมือทุกภาคส่วน เเละขจัดหรือลดปัญหาการละเมิดต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency) รายงาน

/////////////////////////////////////////////////////////