คสรท.ตั้ง“คำถามถึงกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม”

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 มีนาคม 2554 คระกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีการจัดเวทีแถลงข่าว ชำแหละกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพราะราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. โดยคุณชาลี ลอยสูง ประะานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คุณวิไลวรรณ แซ่เตีย คุณชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ รองประธนฯและตัวแทนในกรรมาธิการ ได้ร่วมกันแถลงดังนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม 2551 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภา ในนโยบาย 9 ด้านที่รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อสร้างเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชนไทย หนึ่งในนั้นคือ นโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ข้อ 3.2 เรื่องนโยบายแรงงาน ซึ่งระบุในข้อ 3.2.2 ว่า “รัฐบาลจะปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง ให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส และขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วย รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตน”

นับตั้งแต่ปี 2551 จวบจนปัจจุบัน การดำเนินการของรัฐบาลด้านปฏิรูปประกันสังคมที่ดูจะเป็นรูปธรรมที่สุด คือ การขยายประกันสังคมไปสู่กลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะนโยบายในระดับกระทรวงแรงงาน ทั้งในสมัยนายไพฑูรย์ แก้วทอง และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่เร่งรัดให้มีการขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยขยายสิทธิประโยชน์และผลักดันการคุ้มครองตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการปฏิรูปประกันสังคมให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม แม้ว่านายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในการเปิดงานสมัชชาแรงงาน: ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554 ว่า “…ผมอยากจะเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิรูประบบประกันสังคมในปัจจุบัน ข้อเรียกร้องทั้งในเรื่องของการขยายการครอบคลุมของประกันสังคมก็ดี ทั้งในเรื่องของความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการบริหารจัดการของกองทุนประกันสังคมก็ดี และการปฏิรูปในภาพรวมเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ผมถือว่า เป็นหลักการที่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ และเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับไปดำเนินการ ในส่วนของการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องของความต้องการที่จะเห็น
ธรรมาภิบาล หลักธรรมาภิบาลเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมและความเป็นอิสระนั้น ผมยืนยันครับว่า เป็นหลักคิดที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการที่จะเดินไป…”

ต่อมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 26 มกราคม 2554 ได้ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ทั้งฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และฉบับบูรณาการแรงงาน ที่เสนอผ่านนายสถาพร มณีรัตน์ กับคณะ กับนายนคร มาฉิม กับคณะ และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 36 คน เพื่อพิจารณา โดยถือเอาร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา โดยมีคณะกรรมาธิการประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 13 คน พรรคเพื่อไทย 11 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 2 คน พรรคภูมิใจไทย พรรคกิจสังคม พรรคมาตุภูมิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานประกันสังคม หน่วยงานละ 1 คน

สถานการณ์เหล่านี้ รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า ตนมีความตั้งใจที่จะปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง หากแต่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยยังเห็นว่า หัวใจของการปฏิรูประบบประกันสังคมคือการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส ที่ปัจจุบันยังขาดหลักประกันว่าจะเกิดขึ้น

ดังที่ปรากฏในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 จนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2554 พบว่า หลักการและเจตนารมณ์ ของการปฏิรูประบบประกันสังคม ที่เสนอไว้ในร่าง พรบ.ประกันสังคม พ.ศ….(ฉบับบูรณาการแรงงาน) มิได้ถูกหยิบยกมาเป็นสาระสำคัญ หลักการดังกล่าว ประกอบด้วย

(1)    ประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ กล่าวคือ สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระที่กำหนดระเบียบวิธีการในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เองเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและผู้จ่ายเงินสมทบมีสิทธิกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร ตรวจสอบ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง สังกัดกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี

(2)    ความโปร่งใส กระบวนการการตรวจสอบ กล่าวคือ ภายใต้ภาวะการบริหารงาน (กองทุน 7แสนล้าน) ที่มีความซับซ้อน และมีการเปลี่ยนแปลงที่ รวดเร็ว กิจการของ สปส. มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงจัดการให้ดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ  เพื่อให้ในที่สุด มีการจัดการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากผู้ประกันตน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไปว่า กิจการมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance)

(3)    บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญา กล่าวคือ  ผู้ประกันตนและคู่สมรสต้องมีสิทธิเข้ารับบริการทางการแพทย์ตามความต้องการหรือความสะดวกในแต่ละครั้งของตนเองเฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับการรักษาหรือบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลใดก็ได้ตามความสะดวกหรือความต้องการของตน การขยายสิทธิประโยชน์ควรให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างรวดเร็ว ตรงตามสิทธิ และเหมาะสมกับสภาพงานของคนทำงาน

(4)    หนึ่งคนหนึ่งเสียง ในการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวคือ ผู้ประกันตนทุกคนควรมีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในลักษณะหนึ่งคนหนึ่งเสียง ต้องมีการแก้ไของค์ประกอบกระบวนการได้มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ และวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อเป็นหลักประกันชัดเจนให้ได้มาซึ่งประธานกรรมการ  กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายผู้ประกันตนซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนายจ้างและผู้ประกันตน  ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม และไม่มีส่วนได้เสียในกิจกรรมที่กระทำกับสำนักงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

(5)    ประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน กล่าวคือ การประกันสังคมเป็นหลักการที่คนทำงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันสมทบเป็นกองทุนเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคตเมื่อเกิดเหตุใดเหตุหนึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตน ดังนั้น คนทำงานทุกคนควรเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่ออย่างน้อยเป็นหลักประกันให้กับตนเอง
 
โดยสรุป จากการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม นับตั้งแต่ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 จนถึงครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความเห็นและท่าทีต่อกรรมาธิการ ดังนี้

ประการแรก คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม บางส่วนยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในกฎหมายประกันสังคม รวมทั้งความเข้าใจมิติต่างๆ ของผู้ใช้แรงงาน และงานด้านสวัสดิการสังคม ดังนั้น จึงมักจะรับฟังข้อเสนอหน่วยงานของรัฐ จากสำนักงานประกันสังคมและสำนักงานกฤษฎีกาเป็นหลัก

ประการที่สอง กระบวนการพิจารณากฎหมายของคณะกรรมาธิการฯ บ่งชี้ว่าไม่เป็นไปตามหลักการที่รัฐบาลแถลงไว้ การพิจารณาเนื้อหากฎหมายรายมาตราไม่ใช่ สาระสำคัญของการปฏิรูประบบประกันสังคม ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเสนอทั้ง 5 ประเด็น รวมทั้งแนวทางการปฏิรูประบบประกันสังคมที่นายกรัฐมนตรีเคยรับข้อเสนอ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ประการที่สาม คณะกรรมาธิการซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร และการสรุปบันทึกการประชุมจะขาดความเห็นของคณะกรรมาธิการจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมทั้งการไม่ให้ความสำคัญในการนำเสนอความคิดเห็นของที่ปรึกษากรรมาธิการฝ่ายแรงงาน

ประการที่สี่ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีการพิจารณาไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 25 มาตรา จากทั้งหมด 46 มาตรา จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้ฯ มีการพิจารณาอย่างรวดเร็วและรวบรัด เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ผ่านก่อนการยุบสภา เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ล่วงหน้าแล้ว

จากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีความเห็นต่อ การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. .. ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. .. ที่กำลังอยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญในขณะนี้ ยังไม่ตอบโจทย์ในการปฏิรูประบบประกันสังคมไปสู่ความเป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส และยังไม่ตอบคำถามต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสมาชิกผู้ประกันตนจำนวน 9.4 ล้านคน ที่เป็นเจ้าของกองทุนประกันสังคม 8 แสนล้านบาท แต่อย่างใด

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน