คสรท.แถลงค้านร่างพ.ร.บ.การชุมนุม

แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  เรื่อง “คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ”

ตามที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. ในวันที่ 10 มีนาคม 2554 นั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานศูนย์กลางที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและสิทธิประโยชน์ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานมาอย่างต่อเนื่อง อันประกอบด้วยองค์กรสมาชิกในระดับสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชน 30 องค์กร มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ มีสาระสำคัญที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ หลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนี้

1. การละเมิดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน

เนื่องจากการชุมนุมสาธารณะจะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าต่อผู้บัญชาการ ตำรวจนครบาล หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่จัดการชุมนุม ไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง ก่อนเริ่มการชุมนุม หากแจ้งการจัดการชุมนุมน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากบุคคลดังกล่าวเสียก่อน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความเห็นว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่จำเป็นต้องแจ้งหรือขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่รัฐ การชุมนุมของประชาชนและเครือข่ายประชาชนที่มีขึ้นเป็นประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งเป็นเครื่องมือของประชาชนในการแสดงออกถึงความเรียกร้องต้องการ การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากความพิกลพิการของระบอบรัฐราชการและระบอบประชาธิปไตยตัวแทนที่มองไม่เห็นหัวคนจน การแจ้งหรือขออนุญาตเพื่อจัดการชุมนุมจึงไม่เพียงเป็นการสร้างกันชนให้กับรัฐบาล เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการชุมนุมเท่านั้น ยังจะเป็นการสั่งสมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้เกิดมากขึ้นไปอีก

2. ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีความเห็นว่า การชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยอันพึงจะมีได้ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในร่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นข้อตระหนักสำคัญในการระดมความคิดเห็นการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและทั่วถึง แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับขาดการมีส่วนร่วมและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนและเครือข่ายประชาชนต่างๆ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน หากแต่ไม่ปิดกั้นหากรัฐสภาจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง

3. การฉวยโอกาสควบคุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและเครือข่ายประชาชน

การที่รัฐบาลออกกฎหมายการชุมนุม เพื่อควบคุมและจัดการกับกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีความเห็นว่า การออกกฎหมายฉบับนี้มีรากฐานจากแนวคิดอำนาจนิยม ฉวยกระแสความไม่พอใจของมวลชนที่สนับสนุนตนเองจัดการกับกลุ่มต่อต้าน รวมไปถึงกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจ ทรัพยากร ค่าแรง การเลิกจ้าง ฯลฯ การร่างกฎหมายเพื่อควบคุมกลุ่มประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล เป็นการกระทำที่ไม่เพียงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงเท่านั้น ยังเป็นการกระทำที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง  

จึงขอเรียนเชิญพี่น้องประชาชน นิสิตนักศึกษา ทุกสาขาอาชีพ ทุกกลุ่มกิจกรรม ทุกองค์กร เข้าร่วมการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะในครั้งนี้ และช่วยกันออกแถลงการณ์ในนามองค์กรและเผยแพร่ในเครือข่ายทางสังคมทุกรูปแบบ

                    แถลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554