บอร์ดค่าจ้างมติปรับขึ้นค่าจ้าง305-310 บาท 69 จังหวัด

ภาพจากเฟซบุ๊กAIW 14639614_10154137985514075_1385564569667744244_n

คณะกรรมการค่าจ้างกลาง(บอร์ดค่าจ้าง) เตรียมชงเรื่องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-10 บาท 69 จังหวัด 1 มกราคม 2560 ไม่ปรับขึ้นเลย 8 จังหวัด ทางคสรท.เตรียมยื่นให้ทบทวนเหตุปรับค่าจ้างไม่เป็นธรรม สร้างความเหลื่อมล้ำ

วันที่ 19 ตุลาคม 2559 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง)เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี2560 ขึ้นอีกระหว่าง5-10บาท ทั่วประเทศ ใน 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ไม่ปรับค่าจ้างเลย ใน 8 จังหวัด คือ สิงค์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

กลุ่มที่ 2 มติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 5 บาท เป็น 305 บาทต่อวัน ประกอบด้วย 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทรบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำพู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย

กลุ่มที่ 3 ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 8 บาท เป็น 308 บาทต่อวัน จำนวน 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระแก้ว สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา

กลุ่มที่ 4 มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 10 บาท เป็น 310 บาท จำนวน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต โดยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ในวันที่ 1 มกราคม2560 เป็นต้นไป

ภาพจากAiw 14720380_10154138040569075_2312322583350959038_n

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า การปรับค่าจ้างยึดตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และการนำ 10 ปัจจัย คือ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาการผลิต ความสามารถในการผลิต มาตรฐานการครองชีพ ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถธุรกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับประเทศ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม และให้ศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย มาเข้าสูตรคำนวณใหม่ จึงได้ผลลัพธ์ตามที่มีมติออกมา ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะสรุปผลการประชุมส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาลงนามและส่งเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็วที่สุด

20161007_094030

 

ด้านนายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงมติการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ว่ายังไม่เป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก และยังมีหลายจังหวัดไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการกล่าวถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องเดินไปข้างหน้าหากค่าจ้างไม่เพียงพอจะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนได้อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจะมีการพูดคุยเสนอต่อกรรมการเพื่อยื่นหนังสือ ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทบทวนมติการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ภายหนึ่งหรือสองสัปดาห์นี้

“ผมไม่เห็นด้วยกับมติการปรับขึ้นค่าจ้างแบบเลือกปฏิบัติโดยมติไม่ปรับขึ้นในหลายจังหวัด โดยตามข้อเสนอของคสรท.การปรับขึ้นค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ เพราะว่าหากค่าจ้างมีความแตกต่างกันจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากจังหวัดที่มีค่าแรงต่ำไปทำงานให้จังหวัดที่มีค่าแรงสูงกว่าแน่นอนจะเกิดการกระจุกตัวของแรงงาน เนื่องจากแรงงานก็ต้องการค่าจ้างที่สูงเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งหากมีการย้ายงานก็จะส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบการหรืออาจเกิดปัญหาด้านมลภาวะสิ่งแวดล้อมสังคมหรือไม่ ซึ่งคงต้องไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้มีการทบทวน” นายชาลี กล่าว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน