ลูกจ้างอิเล็กทรอนิกส์ ตกงานอื้อเดินเข้าโครงการสมัครใจเลิกจ้าง

20160501_114652

ผู้นำแรงงาน จิกตามข่าวแรงงานเข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือเลิกจ้างรายจังหวัด นักวิชาการชี้ รัฐต้องดูก่อนกระทบเศรษฐกิจ หลังคนตกงาน

วันที่ 10 กรกฎาคม นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ กล่าวถึงสถานการณ์กรณีข่าวเรื่องนายจ้างเปิดโครงการสมัครใจลาออก หรือแบบเลิกจ้างโดยสมัครใจว่า เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมาได้มีการสอบถามผ่านเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดในหลายแห่ง พบว่า นอกจากประเภทกิจการชิ้นส่วนและผลิตรถยนต์แล้วยังมีในส่วนของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการเปิดสมัครใจลาออกในหลายพื้นที่ ประกอบด้วยจังหวัด สมุทรปราการมีข้อมูลกรณีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 บริษัทซีเกท เทคโนโลยี ซึ่งประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ ตั้งอยู่เลขที่ 1627 หมู่ 7 ถนนเทพารักษ์ ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ มีลูกจ้าง จำนวน 3,667 คน เปิดรับสมัครลูกจ้างเข้าร่วมโครงการสมัครใจให้เลิกจ้าง ซึ่งมีลูกจ้างสนใจสมัครจำนวน 334 คน เป็นลูกจ้างรายวันฝ่ายผลิต 202 คน และลูกจ้างรายเดือน 140 คน โดยบริษัทฯ นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามกฎหมายพร้อมเงินเพิ่มพิเศษ  ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีโครงการสมัครใจให้เลิกจ้าง เนื่องจากบริษัทฯ ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ยอดซื้อลดลงมาก การเลิกจ้างแบบสมัครใจลาออกมีผล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 และในเดือนกรกฎาคม2559จะมีการเลิกจ้างลูกจ้างรายเดือนอีก 10 คน โดยบริษัทฯ จะประเมินสถานการณ์ทุกไตรมาสว่าจะมีการลดจำนวนลูกจ้างเพิ่มเติมหรือไม่ ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่แรงงานได้มีการชี้แจงสิทธิที่ลูกจ้างที่พึงได้รับตามกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องให้ลูกจ้าง

ต่อมาประเด็นโครงการสมัครใจลาออกของบริษัทเอชจีเอสที (ประเทศไทย) ในนิคม 304 เลขที่203,205 ม.7 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ ขณะนี้ได้มีผู้เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ 1. มีลูกจ้างสมัครเข้าร่วมโครงการ 2,041 คน ประกอบด้วยลูกจ้างฝ่ายผลิต 1,922 คน ช่างเทคนิค 119คน ซึ่งได้พิจารณาและแจ้งผลอนุมัติว่าลูกจ้างคนใดที่ผ่านโครงการสมัครใจลาออกเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2559 มีอนุมัติให้ลาออกจำนวน 352 คนประกอบด้วยฝ่ายผลิต 300 คน ช่างเทคนิค 52 คน เป็นผู้ชาย 68 คน ผู้หญิง 284 คน ทางบริษัทฯได้จ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและพิเศษนอกเหนือกฎหมายแรงงานรวมทั้งสิ้น 78,605,219.12 บาท มีผลในการออกจากงานวันที่2 ก.ค.59 ที่ผ่านมา ซึ่งลูกจ้างได้รับเงินดังกล่าวแล้ว

นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อกรณีนี้ว่า จากข้อมูลมีการปรับเรื่องกระบวนการผลิตด้วยหรือไม่เจ้าหน้าที่อาจต้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายที่แท้จริง มีการลดกำลังคนในส่วนของค่าจ้างสูงออก และมีการเปิดรับสมัครคนใหม่มาทำงาน การที่ลูกจ้างสมัครใจลาออกจำนวนมากเพราะปัญหาการปรับสภาพการทำงานแบบทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน ทำให้คนงานไม่มีงานล่วงเวลา(OT)ทำ รายได้ลดลง จึงเห็นได้ว่ามีลูกจ้างขอเข้าโครงการเพื่อออกจากงานเกินจำนวนที่นายจ้างต้องการ ซึ่งนายจ้างจะคัดลูกจ้างออกอีกครั้ง และมีการTakeoverของทุนใหญ่ด้วย เนื่องจากขณะนี้ในส่วนของแถบปราจีนบุรี ที่มีการย้ายฐานอุตสาหกรรมมาจากจังหวัดอยุธยา หรือหลายแห่งมีการปรับกระบวนการผลิตโดยใช้เครื่องจักรมาแทนคนจากเดิมจ้างลูกจ้าง 100 คน ลดการจ้างแรงงานคนเกินครึ่งทีเดียว  ซึ่งในส่วนของขบวนการแรงานต้องมาคุยกันอย่างจริงจังถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของรูปแบบ และสิทธิแรงงานที่ควรจะได้รับการดูแล เพราะลูกจ้างที่ออกไปยังมองไม่เห็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรกระทบครอบครัวจะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งกรณีของการเลิกจ้างขณะนี้รัฐต้องดูว่าจริงแล้วเป็นวิกฤติเศรษฐกิจหรือเพียงการปรับตัวของยุคอุตสาหกรรม

ด้านรศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการ เศรษฐศาสตร์การเมือง กล่าวว่า จากกรณีวิกฤติเลิกจ้าง หรือการเปิดให้มีการสมัครใจลาออกที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของกิจการรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นขณะนี้มีหลายพื้นที่ ซึ่งตรงนี้รัฐต้องดูว่าเป็นเรื่องของการพัฒนา หรือปรับตัวของระบบทุนหรือไม่เพื่อการใช้เครื่องจักรแทนคน ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ และอิเล็กทอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการทำงานด้วยในส่วนของพื้นที่ปราจีนบุรีมีการปรับตัวนำเครื่องจักรมาใช้และลดการจ้างกำลังคนลงไปมากทีเดียว ซึ่งขบวนการแรงงาน และรัฐต้องดุเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการปรับตัวและนายทุนมีการลดกำลังคน ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อในตลาดแน่นอน คือรัฐไทยทำงานแบบตั้งรับไม่ได้ต้องดูแลแรงงานด้วยเพราะกระทบกันถึงครอบครัว หากมีการเลิกจ้างคนหนึ่งคนหมายถึงครอบครัวของแรงงานด้วยเพราะแรงงานคือกำลังหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวในชนบทด้วย ด้านขบวนการแรงงานตอนนี้มีความอ่อนแอไม่มีอำนาจในการต่อรอง ขาดการรวมตัวกันในการขับเคลื่อนยังทำงานตามประเด็นไม่มองไปข้างหน้า ซึ่งปัญหาการเลิกจ้างหรือคืนลูกจ้างsubcontractให้กับต้นสังกัด ซึ่งเริ่มตั้งแต่กรณีของบริษัทฮอนด้าประเทศไทยที่มีการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีการปรับกระบวนการผลิตใหม่ ใช้กำลังคนน้อยลง ซึ่งคิดว่ามีอีกหลายบริษัทที่ทำแบบนี้ อยากให้ขบวนการแรงงานหยุดมองแบบแยกส่วนแล้วหันมาช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา ส่วนรัฐต้องมองว่า การที่มีคนงานออกงานมาจำนวนมากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอำนาจกำลังซื้อที่หายไป เป็นผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคมด้วย

ส่วนนายเฉลย สุขหิรันต์ เลขาธิการสหพันธ์แรงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเลิกจ้างลูกจ้างในประเภทกิจการอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่วนใหญ่ไม่มีสหภาพแรงงาน จึงทำให้ทางสหพันธ์ฯไม่ทราบข้อมูล และในส่วนของสมาชิกสหพันธ์ขณะนี้ยังไม่มีข่าวเรื่องโครงการสมัครให้เลิกจ้าง หรือลาออก ซึ่งหากจะมีในอนาคตคงเป็นกลุ่มลูกจ้างอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อาจกระทบบ้าง เพราะหากรถยนต์มีการลดกำลังการผลิตส่วนนี้ก็กระทบด้วยแน่นอน ซึ่งปัญหามองว่าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังซื้อลดลง ส่วนของประเทศไทยเป็นเพียงรับจ้างผลิต จะกระทบต่อเมื่อมีการเลิกจ้างจำนวนมาก และส่วนของขบวนการแรงงานเองก็ยังรวมกันไม่ได้ และยังมีการตั้งสหภาพแรงงานซ้อนเกิดการแบ่งแยกกันเอง รัฐก็ไม่รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองของแรงงาน ทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในส่วนของลูกจ้างที่มีองค์กรจึงเป็นปัญหาที่เงียบเชียบ ซึ่งในส่วนของสหพันธ์แรงงานฯจะมีการประชุมเพื่อติดตามประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 กรกฎคม 2559 ที่ศูนย์ฝึกอบรมคนงาน ที่บางเกลือ บางประกง ฉะเชิงเทรา

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน