แรงงานท้วง สปส.หนุนโรงพยาบาลทำHA

ตรวจโรค

คสรท.ฟ้องศาลปกครองหลังสำนักงานประกันสังคมอนุมัติเงินหนุนโรงพยาบาลทำHA มองโรงงานพยาบาลต้องทำเองเพราะเป็นมาตรฐานที่ต้องมีอยู่แล้ว ห่วงซ้ำซ้อนเงินค่าหัวการบริการ

วันที่ 21มิถุนายน2559 ได้มีการเสวนาเรื่อง“การเพิ่มค่า HA ให้กับโรงพยาบาล ผู้ประกันตนได้อะไร” ณ.อาคารนิติศาสตร์ จัดโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับโครงการ 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ่งภากรณ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาชนสังคม และ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสรุปมาตรฐานของสถานพยาบาล HAได้ดังนี้

มาตรฐานของสถานพยาบาล HAหรือHospital Accreditation หมายถึง การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลโดยเฉพาะ (ไม่สามารถนำไปใช้กับการรับรองโรงงานหรือบริการอย่างอื่นได้) ซึ่งจะต่างจาก ISO เพราะ HA นั้นจะได้รับต้องผ่านการประเมินโดยคณะกรรมการพัฒนาสถานพยาบาล หากสถานพยาบาลใดต้องการได้รับ HA ต้องผ่านการประเมินหลายอย่าง เช่น การจัดการให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วม การลดความเสี่ยงในการักษาพยาบาล สถานพยาบาลจะต้องมีการเตรียมตัวด้วยการประเมินและพัฒนาตนเอง รวมทั้งยินดีที่จะให้มีการเยี่ยมสำรวจจากภายนอก ซึ่งแนวความคิดของ HA ภาพรวมของการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลเกิดกลไกกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล ควบคู่ไปกับการเรียนรู้แลกเปลี่ยน และการรับรองจากองค์กรภายนอก การรับรองเป็นเพียงส่วนเดียวและส่วนสุดท้ายของกระบวนการ จุดสำคัญคือการกำหนดมาตรฐาน ตรวจสอบ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องของโรงพยาบาล

ด้านชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท.กล่าวว่า การทำHAควรเป็นหน้าที่ทางโรงพยาบาลในการที่จะต้องมีมาตรฐานและสร้างมาตรฐานการบริการที่มีคุณภาพไม่ใช่การนำเงินเดือนละหมื่นกว่าล้านของสำนักงานประกันสังคมไปให้ ซึ่งมองว่าเป็นการซ้ำซ้อนกับที่มีการให้บริการอยู่แล้วตามงบประมาณค่าหัวผู้ประกันตน และกฎหมายประกันสังคมก็ไม่ได้กำหนดให้สามารถนำเงินมาใช้ได้ แม้ว่าทางคณะกรรมการการแพทย์ ประกันสังคมมีการประชุมมีมติร่วมกัน ซึ่งหากมองเชิงผลประโยชน์ก็ผู้ประกันตนไม่ได้อะไรจึงได้มีการฟ้องศาลปกครองแล้วแม้ว่าศาลชั้นต้นจะไม่รับฟ้องด้วยมองว่าตนไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบตรง แต่ทางตนได้มีการอุทธรณ์ต่อศาลซึ่งตอนนี้เป็นคดีแดงในชั้นศาลและยังร้องไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแล้วด้วย

“การที่ศาลมองว่าไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตรงนั้นในความหมายคืออะไร ใครคือผู้ได้รับผลกระทบ ในเมื่อผู้ประกันตนเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบ และเงินนั้นได้มีการประเมินว่าจะหมดในปี 2586 และทางประกันสังคมมีการวางแผนขยายการเกษียณอายุของผู้ประกันตนออกไปและมีการวางแผนว่าจะมีการเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้น ทั้งที่สามารถแก้ไขปัญหาโดยการใช้เงินประกันสังคมให้คุ้ม ตามวัตถุประสงค์” ชาลีกล่าว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน