เบื้องลึกผู้ประกันตนม.39หลุดระบบ

ประกัน

 

เบื้องลึกผู้ประกันตนม.39หลุดออกจากระบบประกันสังคมปีละแสนคนเหตุสปส.กลัวขาดทุน-อ้างตีความตามกฎหมาย ใครขาดส่ง 3 เดือนตัดสิทธิ์ทันที ลูกจ้างวอนดูที่เจตนาหวังมีหลักประกันสุขภาพยามสิ้นเรี่ยวแรง

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 นายทวี เตชะธีรวัฒน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้าง สมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย และกรรมการอุทธรณ์ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.)เปิดเผยว่า ทุกวันนี้คณะกรรมการอุทธรณ์ได้รับเรื่องเกี่ยวกับการหลุดออกจากระบบประกันสังคมของผู้ประกันตนจำนวนมากเดือนละหลายร้อยคน และปีละหลายหมื่นคน โดยเฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ประกันตนโดยสมัครใจ)ซึ่ง

มีสาเหตุหลักมาจากขาดส่งเงินสมทบ 90 วัน โดยมีจำนวนมากไม่ได้ตั้งใจ เช่น ขาดส่งเงินสมทบแบบฟันหลอ คือบางเดือนจ่าย บางเดือนก็ลืมจ่าย แต่เมื่อรวมระยะเวลาที่ไม่ได้จ่ายครบ 90 วันก็จะหลุดออกจากระบบประกันสังคมทันทีโดยสปส.อ้างว่าเป็นไปตามกฎหมาย

“ทางสปส.ไม่เตือนด้วย เพราะเขาคิดว่าเห็นหน้าที่ของผู้ประกันตน และสปส.บอกว่าได้เขียนไว้ชัดเจนเมื่อตอนกรอกเอกสารสมัครแล้ว และเมื่อผู้ที่ขาดส่งยื่นเรื่องอุทธรณ์เข้ามาก็มักจะแพ้เพราะสปส.อ้างว่าทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แม้ฝ่ายลูกจ้างพยายามขออะลุ่มอล่วย แต่ก็ไม่เป็นผล ขณะเดียวกันผู้บริหารสปส.บางคนเขามองว่าการประกันตนตามมาตรา 39 นั้นทำให้สปส.ขาดทุน เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยบ่อย ผิดกับมาตรา 33 ที่มักเป็นคนวัยหนุ่มสาว”นายทวี กล่าว

นายทวีกล่าวว่า ในวันแรงงานแห่งชาติครั้งที่ผ่านมาจึงได้มีข้อเสนอจากฝ่ายลูกจ้างให้นิรโทษกรรมเพื่อให้ลูกจ้างตามมาตรา 39 ได้กลับคืนสู่ระบบประกันสังคม โดยสปส.ไม่ควรมองในเรื่องของกำไรหรือขาดทุน แต่เป็นการช่วยเหลือทางสังคมที่เป็นบทบาทสำคัญของสปส.

นายอาทิตย์ อิสโม ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ กล่าวว่าในข้อกฎหมายระบุไว้ชัดให้ผู้ประกันตนที่ขาดส่ง 3 เดือนต้องหลุดจากประกันสังคมยกเว้นมีเหตุอันสมควรถึงผ่อนปรนให้ อย่างไรก็ตามการยื่นอุทธรณ์ส่วนใหญ่ไม่มีเหตุอันควร เช่น ให้เหตุผลว่าไม่มีเงิน ทำให้คณะกรรมการอุทธรณ์ยืนตามคำสั่งของสปส. ทั้งนี้ตนคิดว่าควรที่จะมีการผ่อนปรนระเบียบให้มากกว่านี้ หากสปส.คิดที่จะรักษาลูกค้าไว้ให้ได้เยอะๆ เพราะผู้ประกันตนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้จงใจทำผิดเงื่อนไข

“เราไม่ควรตีความเป็นเส้นตรง หรือเอาความผิดเล็กๆน้อยๆของผู้ประกันตนมาตัดสิน เช่น เขานอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่มีรายได้หรือไม่มีแรงจะไปจ่ายเงินสมทบจนขาดส่ง ก็ควรหาทางช่วยเหลือเขา เรื่องนี้ควรที่จะร่วมกับพิจารณาแก้ไขระเบียบ เพื่อประโยชน์จะได้ตกอยู่กับผู้ประกันตน”นายอาทิตย์ กล่าว

น.ส.อรุณี ศรีโต 1 ในคณะกรรมการประกันสังคมหรือ “บอร์ดสปส.”เปิดเผยว่าขณะนี้มีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ประกันตนโดยสมัครใจ)นับหมื่นคนที่ต้องถูกตัดสิทธิ์หลุดออกจากระบบประกันสังคม เนื่องจากความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆและไม่ได้มีเจตนาจะเบี้ยวประกันสังคม เช่น ขาดส่งเงินสมทบเพราะลืม บางเดือนคิดว่าจ่ายไปแล้ว ซึ่งเมื่อไม่จ่ายครบ 90 วันจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากประกันสังคมทันที แม้จะยื่นอุทธรณ์แต่ก็มักจะแพ้เพราะสปส.อ้างว่ากฎหมายเขียนไว้ชัดเจน

น.ส.อรุณีกล่าวว่า จริงๆแล้วสปส.ควรอะลุ่มอล่วย หรือผ่อนปรนให้มากกว่านี้เพราะผู้ประกันตนเหล่านี้ครั้งหนึ่งก็คือผู้ประกันตนในมาตรา 33 ซึ่งจ่ายเงินสมทบด้วยดีเสมอมา แต่เมื่ออายุมากและต้องออกจากงานก็ยังอยากมีหลักประกันสุขภาพจึงจ่ายเงินต่อตามมาตรา 39 ดังนั้นเมื่อเกิดข้อติดขัดก็น่าจะร่วมกันหาทางออก ไม่ใช่ตัดสิทธิ์กันอย่างเดียว โดยก่อนหน้านี้เคยมีการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ขาดส่งกลับเข้ามาใหม่ได้ แต่ตนไม่อยากให้ใช้คำว่านิรโทษกรรมเพราะผู้ประกันตนไม่ใช่นักโทษ แต่ควรมีการยืดหยุ่นให้อภัยกันเพื่อให้ลูกจ้างได้มีระบบรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย

“อีกประเด็นหนึ่งที่ดิฉันอยากให้มีการแก้ไขมากคือทุกวันนี้ผู้ที่รับบำนาญไปแล้ว สิทธิต่างๆจะถูกตัดหมดเลย โดยเฉพาะเรื่องรักษาพยาบาล เราอยากให้คงสิทธินี้ไว้ให้หน่อย ทุกวันนี้คนที่อายุ 60-70 ปีถึงยังต้องหาเงินส่งประกันสังคม เพราะไม่อยากถูกตัดสิทธิ์เรื่องรักษาพยาบาล”น.ส.อรุณี กล่าว

อนึ่ง จากสถิติของสำนักงานประกันสังคมพบว่าในปี 2557 มีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนและต้องหลุดออกจากระบบประกันสังคมจำนวน 96,707 คน และในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 107,371 คน (ดูจากตาราง)

—————–