ห้ามเเท้ง ห้ามท้อง: สิทธิทางเพศกับนโยบายลักลั่นของไทย

“แค่เรื่องมีลูก เราไม่รู้ว่าปีหนึ่งๆมีแรงงานต่างด้าวในไทยคลอดลูกปีละกี่คน รู้แต่ว่ามีจำนวนมาก บางประเทศมีการออกมาตรการเข้ม หากแรงงานข้ามชาติท้อง เขาส่งตัวกลับทันที เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการคุมกำเนิด ถ้าไม่คุมก็ต้องถูกส่งตัวกลับ แต่โดยหลักมนุษยธรรม เราต้องดูแลพวกเขาอยู่แล้ว แต่ผมเห็นว่าควรให้คุมกำเนิด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว เอเอสทีวี ผู้จัดการ “รมว.แรงงานเสนอคุมต่างด้าวห้ามท้อง”
“ที่สำคัญเมื่อเด็กตั้งครรภ์แล้ว จะต้องไม่ประณามผู้หญิง เพราะเขาเป็นเพียงเหยื่อของสังคมเท่านั้น ดังนั้นจึงมีการนำประเด็นดังกล่าวเข้าไปหารือในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เชื่อว่าทุกภาคส่วนจะร่วมกันหาทางออกและเสนอแนวทางต่อรัฐบาลต่อไป” นายเเพทย์อำพล จินดาวัฒนะ “พม.เตรียมชงทางแก้ปัญหาทำแท้งเข้าครม.อังคารนี้” เว็บบล็อกสุทธิชัย หยุ่น
ท่าทีต่อการท้องของผู้หญิงต่างสถานะและต่างชนชั้น อย่างหญิงไทยที่ท้องและไม่ต้องการเก็บเด็กไว้ ได้รับการตอบรับจากทัศนะสังคมกระแสหลัก ในการสร้างกลไกป้องกันมิให้ผู้หญิงท้องก่อนวัยอันควร แม้ว่าสถิติของหญิงที่ทำแท้งที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี กับกลุ่มที่เป็นวัยเกิน  20 ปีสูสีกัน และกลไกเพื่อสนับสนุนให้ผู้ที่ท้องไม่ทำแท้งในรูปแบบการแทรกเเซงทางกฎหมาย สังคมสงเคราะห์  ศีลธรรม หรือเเม้กระทั่งการกรรโชกด้วยความเชื่อเเละพิธีกรรมต่างๆ ทั้งเเบบศาสนาเเละศาสนาเจือพาณิชย์
เมื่อเเรงงานข้ามชาติหญิงท้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงานมีท่าทีขึงขัง เเละมีแนวโน้มว่าจะออก “มาตรการเข้ม” ถ้าท้องส่งกลับ โดยอ้างว่าเป็นมาตรการที่ประเทศที่เจริญแล้วก็ทำกัน หลังจากแนวคิดนี้ ถูกพับไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ พล.อ. สนธิ บุญยรัตนกลิน ประธานคณะกรรมการบริหารเเรงงานต่างด้าวเเละได้รับเสียงโต้เเย้งจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนเเละเเรงงานข้ามชาติจำนวนมาก
แรงงานข้ามชาติหญิงเองก็ได้รับแรงกดดันเป็นนัยจากนายจ้างอยู่เเล้ว เช่น หากตั้งท้องก็จะถูกให้ออกหรือไล่ออก เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองเเรงงาน ที่ให้แรงงานหญิงที่ตั้งท้องสามารถทำงานเเละลาคลอดโดยมีค่าจ้างได้  การกดดันแรงงานข้ามชาติหญิงให้ออกจากงานไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ทำให้แรงงานบางคนที่ไม่ต้องการออกจากงาน หรือกลัวคำขู่ว่าจะส่งกลับถ้าตั้งครรภ์ เลือกทำเเท้งด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัยกว่าที่หญิงไทยเลือกทำ เพราะการทำเเท้งในคลินิค หรือการซื้อยาสอดเพื่อทำเเท้งนั้นมีราคาสูงเมื่อเทียบกับค่าจ้างของเเรงงานข้ามชาติ
งานวิจัยด้านอนามัยเจริญพันธุ์บ่งชี้ว่า แรงงานข้ามชาติทั้งชายและหญิงขาดความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไม่มั่นใจ หรือมีความเชื่อที่ทำให้ไม่คุมกำเนิด หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพเเละสอดคล้องกับชีวิต ความเป็นอยู่ เมื่อมีปัจจัยด้านภาษาเเละวัฒนธรรม การสื่อสารเรื่องการคุมกำเนิดเเละมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย จึงเป็นไปได้ยาก แม้ว่าจะมีความพยายามดำเนินการจากองค์กรเอกชน ทว่าด้วยจำนวนแรงงานข้ามชาติที่มีมากเเละมีการย้ายที่ทำงานเสมอๆ อาจเป็นอุปสรรคต่อการให้ความรู้และบริการที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์อย่างเหมาะสม
นอกจากนั้นยังมีความลักลั่นเเละเหลื่อมล้ำของนโยบายของรัฐต่อเรื่องเดียวกัน นั่นคือการพยายามจัดการปัญหาการทำเเท้งของหญิงไทย โดยการกรรโชกทางศีลธรรมอย่างรุนเเรงเพื่อให้ผู้หญิงที่ท้อง ไม่ทำเเท้งเเละรักษาเด็กที่เป็นพลเมืองอันมีค่าของรัฐ ส่วนกรณีหญิงเเรงงานข้ามชาติเพียงเเค่ข่าวว่าจะส่งกลับแรงงานหญิงที่ท้อง ก็ทำให้แรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์อาจตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ เพียงเพื่อจะได้ทำงานหาเลี้ยงชีวิตตนเองเเละครอบครัวต่อไป ผลสะท้อนจากการประกาศว่าอาจมีนโยบายเช่นนี้อย่างไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดกรณีการทำเเท้งจำนวนมาก เช่นเดียวกับที่กรณีวัดไผ่เงินที่เป็นกระเเสสังคมอย่างกว้างขวาง หากเเต่เรื่องของศพเด็กทารกต่างชาติ (ถ้าเเยกเเยะได้)  คงเป็นเรื่องที่สังคมที่หวาดระเเวงเรื่องความมั่นคงมองไม่เห็น
การพยายามลดทอนความเป็นมนุษย์ของเเรงงานข้ามชาติ ให้เหลือเป็นเพียงเเค่เเรงงานในการผลิต ไม่ต่างจากเครื่องจักร เพื่อสร้างผลิตผลหล่อเลี้ยงประเทศไทย โดยนโยบาย “ห้ามท้อง” นี้ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติที่ต้องเลือกระหว่างการรักษาชีวิตที่มีอยู่กับชีวิตที่ยังไม่ได้ลืมตาดูโลก โดยมิพักต้องกล่าวถึงความยากลำบากผู้ที่ตั้งครรภ์แล้วต้องหลบๆซ่อนๆ เพื่อมิให้ถูกส่งกลับ เพื่อหาเลี้ยงชีวิตตนเองเเละทารกในครรภ์ไว้ เเต่ก็อาจทำให้เเรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลเพื่อเด็กในครรภ์ได้อย่างเต็มที่
หากมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของเเรงงานหญิงข้ามชาติเพียงลำพัง มิได้เกี่ยวข้องกับเเรงงานหญิงไทย ซึ่งน่าจะได้รับสวัสดิการเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าเเรงงานข้ามชาติ อาจต้องทบทวนอีกครั้ง เมื่อมีเเนวนโยบายควบคุมการตั้งครรภ์ของเเรงงานข้ามชาติ เท่ากับว่าแรงงานข้ามชาติต่อให้ได้ค่าเเรงเท่ากับเเรงงานไทย เเต่จะไม่มีโอกาสใช้สวัสดิการลาคลอดเเละดูเเลบุตร เพราะนโยบายบังคับกลายๆว่า “ห้ามท้อง” หากนำมาใช้จริง อาจทำให้นายจ้างที่เห็นเเรงงานมนุษย์เป็นเครื่องจักรในการผลิตหันไปจ้างเเรงงานข้ามชาติ เพราะแรงงานถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่มีโอกาสลาคลอดเเละลาเลี้ยงดูบุตร ทำให้นายจ้างประหยัดเเละได้เเรงงานที่มีเวลาทำงานกว่าจ้างเเรงงานไทย ดังนั้นช่องว่างระหว่างสวัสดิการของเเรงงานไทยกับเเรงงานข้ามชาติ มิได้เป็นผลเสียต่อเเรงงานข้ามชาติเท่านั้น เเต่ส่งผลกระทบต่อทั้งแรงงานไทยเเละเเรงงานข้ามชาติ
ท่ามกลางกระเเสสังคมที่เศร้าสลดกับการสูญเสียทารกที่ยังไม่เกิดกว่า 2,000 ศพ นโยบายการส่งเสริมการวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจ เเละการให้ความรู้เชิงรุกด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีในการให้ทางเลือกเเละโอกาสการเข้าถึงสุขภาวะที่ดีกว่าของแรงงานข้ามชาติ  การส่งเสริมการวางเเผนครอบครัว ควรดำเนินการโดยเคารพสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์  การดำเนินการโดยไม่เลือกปฏิบัติ เเละส่งเสริมการคุ้มครองเเรงงานข้ามชาติหญิง ให้สามารถทำงานเมื่อตั้งครรภ์เเละลาคลอดได้ตามที่กฎหมายกำหนด  โดยไม่ต้องถูกบีบบังคับให้เลือกระหว่าง “ลาออก” หรือยุติการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์  เเละก้าวเข้าสู่วงจร “ท้อง-แท้ง” เพราะไม่มีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่า
จุฑิมาศ สุกใส ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency)