19 ปีบนเส้นทางการผลักดัน การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ส่อแววแท้ง..หรือ…คลอดออกมาอย่างพิการ !!

 ความต้องการ จะแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของปัญหา ก็ คือ การมองที่ปัญหาเฉพาะหน้า ที่เกิดซ้ำซากแบบแก้ไขไม่ได้มาเป็นระยะเวลายืดเยื้อยาวนาน  อย่างกรณีเคเดอร์ที่เกิดไฟไหม้ คนงานตายพร้อมกัน 188 ศพ บาดเจ็บถึง 469ราย  จนกลายเป็นโศกนาฏกรรม ที่มีการกล่าวขานไปทั่วโลก ทั้งในและต่างประเทศ  เป็นภาพพจน์ที่เลวร้ายต่อการทำงานด้านสุขภาพความปลอดภัยในเมืองไทย ปัญหาตามมามากมายเมื่อคนงานต้องเจ็บป่วยและประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน การยอมรับของนายจ้าง  หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงชะตากรรมที่ตกอยู่ที่ตัวคนงาน ครอบครัว ที่ต้องสูญเสีย หรือ กลายเป็นภาระ ของสังคม  ปัญหาของสถานประกอบการ ที่ต้องเสียหายชื่อเสียง เสียเงินค่ารักษาเยียวยา ค่าทดแทน จนเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความมากมาย  กลับมาถูกปฏิเสธ จากการเจ็บป่วย ปฏิเสธไม่ยอมรับการวินิจฉัยของแพทย์เชี่ยวชาญสาขาอาชีวเวชศาสตร์สิ่ง ที่มีอยู่หนึ่งท่านในขณะนั้น  คือ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล  กว่าจะได้สิทธิคนป่วยจากการทำงาน  ต้องเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิ  ในนามสมัชชาคนจนต้องชุมนุมนานถึง 99 วัน  ถึงได้รับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทน  จากวันนั้นมาวันนี้คนงานก็ยังถูกปฏิเสธเช่นเดิม กองทุนวินิจฉัยกลับคำแพทย์เชียวชาญมือหนึ่งของเมืองไทยจากป่วยในงาน ว่าไม่ป่วยในงาน 
 

หลายภาคส่วนที่เห็นพ้องต้องกัน ทั้งผู้ถูกผลกระทบ นักวิชาการ NGO ทั้งในและต่างประเทศ ทีมีการพูดคุยกันว่า จะทำอย่างไรถึงแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงานด้าน เพื่อลดปัญหาภาระทุกภาคส่วน และยังๆไม่เกิดการสูญเสีย จึงมองไปที่  นโยบาย กฎหมาย ภาพรวมทั้งในและต่างประเทศ  ได้มองเห็นปัญหาร่วมกันว่า ไทยยังขาดระบบกลไกที่สำคัญที่จะมารองรับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม จึงมีความเห็นพร้องต้องกันว่า  ควรจะมีองค์กรอิสระด้านความปลอดภัยเพื่อทำหน้าที่  คุ้มครองป้องกัน ส่งเสริม และพัฒนา งานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างมีส่วนร่วม  จากผลการตั้งวงคุยกันหาข้อสรุป ได้ตุ๊กตา รูปแบบการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ   มาจากการริเริ่ม ของ อาจารย์ธีรนาถ  กาญจนอักษรท่านโดดเด่นเรื่อง ผู้หญิงกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ รศ.ดร.วรวิทย์เจริญเลิศ  อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงการณ์ มหาวิทยาลัย  พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล  คุณจะเด็จ เชาน์วิไล ตอนนั้นท่านอาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษร ท่านได้นำเอาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ  เข้าสู่วงพิจารณา ของผู้ที่ถูกผลกระทบจากการทำงาน  แพทย์อาชีวิเวชศาสตร์ฯ  ซึ่งเป็นผู้ มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเพื่อปรับปรุง  จนเป็นที่เห็นชอบร่วมกัน ขยายวงไปสู่  NGO เช่น  อาจารย์ศักดิณา ฉัตรกุล ณ.อยุธยา มูลนิธิฟรีดิช เอแบรท FES  มูลนิอารมณ์ฯ มูลนิเพื่อนหญิง ผู้นำในพื้นที่แรงงาน ต่างๆ สภาแรงงาน สมาพันธ์แรงงาน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ เช่น  คุณสมศักดิ์ โกศัยสุข  คุณอรุณี  ศรีโต คุณวันพ็ญ เปรมแก้ว (และท่านอื่นๆที่ไม่ได้กล่าว)เกิดการพูดคุยครั้งแรกที่ สำนักงานกลางคริสเตียน โดยการประสานของ คุณจะเด็จ  เชาว์วิไล จนเกิดเป็นมติเห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย แล้วนำมาสู่ข้อเรียกร้องกับรัฐบาลในนามสมัชชาคนจน จนได้เปิดโต๊ะเจรจากับรัฐบาลสมัยนั้นผลการชุมนุมสมัชชาคนจน ทำให้เกิด ครม.มีมติเห็นชอบ ในหลักการให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฯ  มติ.ครม. 3 เมษายน 2538 และ 26 มีนาคม 2540   ตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.ร่วมกัน 6 เดือนแล้วเสร็จ ขณะเจรจายังต้องประชุมทำความเข้าใจ  ถามความเห็นชอบจากวงประชุมกรรมการกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน .วงประชุมที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และภาคีเครือข่ายต่างๆ  องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน แล้วนำ ผลไปประชุมกับร่วมกับคณะกรรมการยกร่าง ที่รับการแต่งตั้งจากนายฉัตรชัย เอียสกุล รมว.กระทรวงแรงงาน 32 คนโดยมีคุณเอกพร รักความสุข รมช.กระทรวงแรงงานเป็นประธาน ศ.นิคม จันทรวิทุร รองประธาน รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ  กรรมการเลขานุการ คุณทวีป กาญจนวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการ สมัชชาคนจน ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการ ประกันสังคม ผู้นำแรงงาน  แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ฯ สภาองค์การลูกจ้าง นายจ้างฯสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ   รัฐบาล  สำนักงบประมาณ สำนักกฎหมาย กฤษฎีกา กระทรวงพัฒนาสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ 
มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น หลังจากที่ได้ร่างที่ยกเสร็จเป็นที่ยอมรับกันทั้งฝ่ายประชาชน และฝ่ายรัฐบาล ราชการ ต่างๆ  แต่ร่างกฎหมายฉบับประชาชน ก็ถูกปฏิเสธบ่ายเบี่ยงโดยกระทรวงแรงงานไป ร่าง กฎหมายฉบับกระทรวง แรงงานที่ไม่มีส่วนร่วม มา ยื่นเข้า ครม. ทางออกเครือข่ายแรงงาน ยับยั้งไปที่ เลขาธิการ คณะรัฐมนตรี  และยับยั้งได้สำเร็จ เรียกร้องต่อรัฐบาล ระงับการพิจารณาร่างสถาบันฯ ฉบับไม่มีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงานและประชาชน 
ทางออกของเครือข่ายแรงงาน  ต่อมาในที่ประชุมหารือกันมีมติ ใช้กระบวนการเข้าชื่อ  ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2540  มาตรา 170  ต้องเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ  มีขั้นตอนการ นำแบบฟอร์ม  การประชุมทุกเครือข่าย ทุกภาคี วางแผน ในการเข้าชื่อและประชาสัมพันธ์  ร่วมกันลงขันการเข้าชื่อ   เตรียมคนโดยระบุคนกับพื้นที่ในการเข้าชื่อสนับสนุนคนละกี่รายชื่อ  ที่สำคัญการทำความเข้าใจกับตัวแทนที่จะเข้าชื่อสามารถอธิบายสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันฯได้ ตั้งศูนย์กลางบัญชาการ ที่คลินิกอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รพ.ราชวิถีที่มี พ.ญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล เป็นหัวหน้าคลินิก  มีผู้พิมพ์รายชื่อและแจ้งสถานการณ์เข้าชื่อให้เครือข่ายทราบ โดยมีการประชุมสรุปผลกันเป็นระยะ  ใช้เวลาร่วม 1  ปี   คือ ตั้งแต่ 15 มีนาคม 2541  – 10 พฤษภาคม 2542  สำเร็จได้ 55,000 รายชื่อ เครือข่ายแรงงานมาจากพื้นที่ต่างๆจำนวนคน 200 คน ร่วมยื่นรายชื่อกับประธานรัฐสภานายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นับเป็นกฎหมายฉบับแรกๆ  ของประชาชนที่ได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติในขณะนั้น  แต่การยื่นกฎหมายครั้งนั้นต้องล้มเหลว เพราะกฎหมายลูกมาออกทีหลัง ให้แนบหลักฐานเอกสาร คือ ใบสำเนาบัตร ปปช. และ สำเนาทะเบียนบ้าน กฎหมายจึงตกไป
 

หาแนวร่วมโดยการเข้าร่วมเป็นคระกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย   2545 -2555 สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯลงพื้นที่ทำงานขยายผลเผยแพร่ทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน โดยนำการจัดอบรม สัมมนา ฝึกอบรมผู้นำแรงงาน ตามที่ร่างหลักสูตรร่วมกัน ให้เป็นวิทยากรเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน สร้างเครือข่ายแกนนำด้านสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานในหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพ นนทบุรี รังสิต ปทุมธานี อ่างทอง อยุธยา สมุทรปราการ อ้อมน้อยอ้อมใหญ่ นครปฐม สมุทรสาคร สระบุรี  ชลบุรี ระยอง ทำงานรณรงค์ จนเกิดความตระหนักร่วมกันผลักดัน การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ให้เป็นข้อเรียกร้องต้นๆของขบวนการแรงงาน  ในวัน  8 มีนา  1 พฤษภา  10 พฤษภา  วันความปลอดภัยแห่งชาติ  จนเป็นกระแสของสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 19 ปี 
 
เจรจากับทุกรัฐบาล สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯในฐานะแกนนำสมัชชาคนจน  ก็ร่วมเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในนามสมัชชาคนจน  มาทุกยุคทุกสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ปี 2544 วงประชุมกระทรวงแรงงานมีการนำร่างของฝ่ายราชการกระทรวงแรงงาน กับร่าง ของผู้ใช้แรงงาน มาบูรณาการร่วมจนเป็นฉบับเดียวกันใน ปี2545  เป็นร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน   
ผู้นำเครือข่ายแรงงานด้านสุขภาพในพื้นที่  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ เข้าทำความเข้าใจกับภาคการเมืองอย่างต่อเนื่องหนักหน่วง โดยช่วงนั้นเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้ใช้สื่อ ต่างๆเช่น การจัดรายการวิทยุเสียงกรรมกร ออกสื่อ ต่างๆ แจกแผ่นพับ จุลสารไปชี้แจงกับวุฒิสภา  และยื่นหนังสือต่อประธานร่างรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  จนปี 2550 กฎหมายรัฐธรรมนูญบรรจุ เรื่องของผู้ใช้แรงงานเป็นข้อแรกได้แก่ มาตรา 44บุคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันในการทำงานรวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นสภาพการทำงาน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด  นับว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ใช้แรงงานโดยตรงเป็นครั้งแรกในเมืองไทย และไปยื่นหนังสือต่อพรรคการเมืองต่างๆ จนเกิดเป็นนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ที่บรรจุให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
 
เข้าชื่อสนับสนุนตาม กฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 163  เป็นมติคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีมติ 5 สิงหาคม 2550 แต่มีปัญหาอุปสรรคยังต้องมีเอกสารแนบซึ่งคนงานส่วนใหญ่ไม่ได้พกสำเนาทะเบียนบ้าน จึงเข้าชื่อไม่สำเร็จ 10,000 รายชื่อ ที่ใช้เวลาถึง 3 ปีจนถึง กรกฎาคม  2552 ได้เพียง 7,000 รายชื่อ
 

สมัชชาคนจนได้เจรจากับรัฐบาลชุดท่านอภิสิทธิ เวชชาชีวะ โดยการช่วยเหลือจากนักการเมืองทั้งสองพรรค  คือ ท่าน  สส.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท พรรคประชาธิปัตย์และ ท่าน สส.สถาพร มณีรัตน์พรรคเพื่อไทย  (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) เข้าชื่อ สส.20 ท่าน ยื่นกฎหมายภาคประชาชนประกับร่างรัฐบาล 1 ฉบับและ สส.อื่นอีก 5 ฉบับ รวมเป็น 7  ฉบับ อีกทั้งมีเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงานเกิดขึ้นโดยการสนับสนุนของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จนทำให้กฎหมายผู้ใช้แรงงานและประชาชนได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรสมัยนิติบัญญัติ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 และแต่งตั้งผู้แทนแรงงานและได้โควต้ารัฐบาล 1 คน ได้แก่ คุณสมบุญ สีคำดอกแค โควต้าจากพรรคเพื่อไทย 1 คน ได้แก่ รศ.ดร..วรวิทย์ เจริญเลิศ เข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญ  ร่วมพิจารณา พ.ร.บ. ทั้ง  7 ฉบับ เข้าด้วยกัน ออกมาเป็น พ.ร.บ.ความปลอดภัย  อาชีวอนามัย  และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ซึ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 16  กรกฎาคม 2554  โดย ได้บรรจุให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ…ในหมวด 7 มาตรา 52 ให้ออกเป็น พระราชกฤษฎีกา ในการจัด ตั้งสถาบันฯถือว่าเป็นความสำเร็จขั้นตอนหนึ่ง 
เริ่มยกร่าง พรฎ.สถาบันฯ  ประมาณมีนาคม 2554 จนถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย ฯวันที่   16 กรกฎาคม 2554   ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมยกร่าง กับกระทรวงแรงงานคือ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ นางสมบุญ สีคำดอกแค นายพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์    ในขณะนั้นมีคณะทำงานวางแผนยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการทำกิจกรรมขับเคลื่อนสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อทำความเข้าใจให้ความรู้  ลงพื้นที่จัดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็น  ทำข้อมูลเอกสารเผยแพร่  สื่อสารสังคม และจัดแถลงข่าว เพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน และสังคม สาธารณะชน ได้ติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
การยกร่าง พรฎ.สถาบันฯ ส่อเค้าไปด้วยกันยาก  ด้วยมีความคิดที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่างอนุฝ่ายผู้ใช้แรงงานกับฝ่ายราชการ ซึ่งคอยปฏิเสธข้อเสนอเครือข่ายแรงงาน และด้วยโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม การลงมติย่อมเป็นวิธีการที่ยอมรับไม่ได้  ข้อเสนอการให้ตั้งศูนย์รับร้องเรียน  และที่มาของคณะกรรมการมาให้มาจากการสรรหา ประธานไม่ควรมีตำแหน่งราชการกินเงินเดือน กรรมการโดยตำแหน่งจากให้มีแค่สองคน  ส่วนตัวแทนลูกจ้าง นายจ้างให้มาจากการใช้ประชาธิปไตยทางตรงคือเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง จึงถูกปฏิเสธ และ การขอเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ไม่มีผล  รัฐมนตรีไม่ว่างพบ  ต่อมารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามเห็นชอบตามความเห็นของราชการ โดยไม่ฟังเสียงข้อเสนอของฝ่ายผู้ใช้แรงงานเลย
สำนักงานปฏิรูปกฎหมาย จัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน โดยมีทั้งตัวแทนภาครัฐเอกชน นักวิชาการ อย่าง  เช่น รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ  คุณพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อ.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ อ.สุนี ไชยรส  คณะกรรมการปฏิรูป ผู้นำแรงงาน คุณชาลี ลอยสูง  เครือข่ายแรงงาน และ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ 
 
ศาสตร์จารย์คณิต ณ นคร ประธานสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ส่งความเห็นไปยัง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร     หนังสือตอบจากรองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี  ว่ารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน  ให้ความเห็นต่อร่าง พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันฯ ที่ยังปฏิเสธการตั้งศูนย์รับร้องเรียน โดยให้เหตุผลว่า จะเป็นการทำงานเกินหน้าที่ของ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯอีกทั้งไปทำงานซ้ำซ้อนกับกรมสวัสดิการ และการร้องเรียนไปผ่านสถาบันฯแล้ว ส่งให้กรมสวัสดิการจะทำให้เกิดความล่าช้าไม่เป็นผลดีต่อผู้ใช้แรงงาน
 
ประธานที่ไม่ควรเป็นข้าราชการกินเงินเดือน  รัฐมนตรีให้ความเห็นว่าต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถ  จึงสมควรเปิดกว้างไว้   กรรมการที่มาโดยตำแหน่งรัฐมนตรีให้มา 3 คน กรมสวัสดิการ กรมควบคุมโรค เลขาธิการประกันสังคม  เครือข่ายแรงงานขอให้มีแค่ 2 คน คำตอบยืนยันให้มาโดยตำแหน่ง 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนเหมาะสมแล้ว และการได้มาของกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามรัฐมนตรีกำหนด แต่เครือข่ายแรงงานเสนอว่า ที่มาของคณะกรรมการมาจากการสรรหา  ส่วนตัวแทนลูกจ้าง นายจ้างฝ่ายละ 2 คน ให้มาจากการใช้ประชาธิปไตยทางตรงคือเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง  รัฐมนตรีตอบว่า เห็นสมควรให้เป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของลูกจ้างในสถานประกอบการ และลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ ลูกจ้าง 50 คนเลือก 1 คนมาเป็นผู้แทนไปเลือก โดยผู้อยู่ในสถานประกอบการให้ใช้ฐานข้อมูลจากประกันสังคม และใช้สถานประกอบการเป็นหน่วยเลือกตั้ง 
 

19  ปีที่แล้วซินะปีหน้าจะเข้าปีที่ 20  จนปัจจุบัน การเรียกร้อง “สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย” ยังเหมือนการภายเรือในอ่าง ถูกหรอกล่อ บ่ายเบี่ยง ด้วยการคิดล้าหลัง หวงอำนาจ การไม่เปิดใจ ต่อการมีส่วนร่วม บริหารจัดการ สถาบันฯ ทำให้ปัจจุบัน การคลอดสถาบันฯ ส่อแววจะแท้ง ! หรือไม่ก็ คลอดออกมาก็อาจไม่ครบ สามสิบสอง  อาจจะหูแหว่ง ตาบอด  แขนกุด ก็เป็นได้ ความไม่จริงใจของภาครัฐ  และฝ่ายการเมือง ที่ไม่ยอมตัดสินใจ ต่อการจัดตั้งองค์กรอิสระที่สำคัญกับชีวิตความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน…เข้าสู่วังวนเดิม .พี่น้องเพื่อนผู้ใช้แรงงาน..ยังต้องเผชิญกับอันตรายและความตาย อยู่อย่างเงียบๆ ทุกๆนาที  มันทำให้ ผู้ผลักดัน ต้องกัดฟันเดินหน้า เดินหน้าต่อไป แล้วก็ฉงนใจยิ่งนักว่า ข้อเสนอที่ดีๆอย่างนี้ การเรียกร้อง ที่เรียกร้องเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานจำนวนมากอย่างนี้ ทำไม มันถึงยากเย็น ทำไมมันถึงต้องใช้เวลายาวนาน…..แล้ว.ครั้งนี้จะมี.ประวัติศาสตร์ซ้ำลอยอีกไหม  ??  เราจะฝากความหวังไว้  .ให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลชุดนี้ และ สส.อันทรงเกียรติทั้งหลาย ???? ในระหว่างนี้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย โปรดระวังความปลอดภัยกันเองไปพลางๆก่อน  ได้แต่ภาวนา ว่าอย่าได้เกิด โศกนาฏกรรมอะไรขึ้นมาระหว่างนี้อีกนะ………..
 
หมายเหตุ (  ปัจจุบัน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ.ยังเรียกร้องในนามสมัชชาคนจน โดยวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2555 ร่วมชุมนุมในนามสมัชชาคนจน โดย ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชันวัตร  มอบหมายให้  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล  มารับผิดชอบดูแลแก้ไขปัญหา สมัชชาคนจน  และ ท่านนายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม แก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 27  กรกฎาคม 2555  ปัจจุบันรอนัดเจรจายังไม่คืบหน้า  )
                                                  ********************************
โดย สมบุญ สีคำดอกแค  ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
วันที่ 22 สิงหาคม 2555 /โทรศัพท์ 081-813-28-98อีเมล wept_somboon@hotmail.comเวปไซด์www.wept.org
สุขภาพดี  คือชีวิตที่มั่นคง  ความปลอดภัย  คือ  หัวใจของการทำงาน
10 พฤษภาคม2556 จะครบรอบ 20 ปีของโศกนาฏกรรมเคเดอร์