วิเคราะห์กรณีระเบิด และเพลิงไหม้โรงงานBSTนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

บทวิเคราะห์ (เบื้องต้นตามประสานักสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม) กรณีระเบิดโรงงานบางกอกซินเทติกซ์ (BST) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

ช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันหยุด 5 พฤษภาคม 2555 (ค่อนข้างจะเป็นวันที่เป็นตัวเลขที่ดีมากเพราะเป็น เสาร์ห้า เดือนห้า ปีห้าห้า) ผมได้ทราบข่าวการเกิดระเบิด และเพลิงไหม้โรงงานบางกอกซินเทติกซ์ หรือที่รู้จักกันดีในหมู่พนักงานที่ทำงานภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่าโรงงานบีเอสที (BST) ผ่านจากทางโทรศัพท์ของมิตรสหายภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ และข่าวที่กระจายออกตามสื่อต่างๆ ประโคมถึงผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และวิเคราะห์ถึงผลกระทบเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นกับผู้ที่อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณพื้นที่ รวมถึงการคาดการณ์ถึงผลกระทบระยะสั้น และระยะยาวที่จะตามมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ผมใช้เวลาอยู่หลายชั่วโมงพยายามติดตามถึงสาเหตุ และข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านทางสื่อต่างๆ ทั้งทางโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เนื่องจากการโทรศัพท์ถามผู้ใหญ่ที่สนิทบางท่านในช่วงเวลานี้ไม่ค่อยเหมาะนัก ด้วยเพราะยังอยู่ในช่วงชุลมุน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า และแต่ละท่านก็คงไม่มีเวลา หรือกระจิตกระใจมาเสวนากับอาจารย์ที่อยากรู้อย่างผมมากนัก จนพอจะจับใจความได้จากแถลงการณ์ของบริษัทที่ออกมาถึงสามฉบับ (ณ.เวลาประมาณสามทุ่มที่ผมติดตามข่าวอยู่) ได้ว่าเป็นเหตุการณ์การระเบิดบริเวณพื้นที่ที่ใช้เก็บถังบรรจุตัวทำละลาย โดยทราบเบื้องต้นคร่าวๆว่าเป็นตัวทำละลายประเภทโทลูอีน (Toluene) โดยเหตุเกิดขณะที่อยู่ในระหว่างปิดซ่อมบำรุง มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้นจำนวน 5 ราย และบาดเจ็บมากถึงกว่า 90 คน เกิดความสับสนอลหม่านของการสื่อสารข้อมูล เนื่องจากเกิดกลุ่มหมอกควันสีดำกระจายปกคลุมในบริเวณกว้าง ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงต้องอพยพ และหลายคนเกิดความผิดปกติของร่างกายจากการสูดดมควันดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้องหลายท่าน (ทั้งที่รู้ และไม่ค่อยรู้) ออกมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบ ของควันพิษจากการเผาไหม้สารเคมีกันอย่างน่าหวาดกลัว

ผมในฐานะนักสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันวนเวียนทำวิจัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่หลายปี และด้วยพื้นฐานเดิมที่เป็นนักเคมี และวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ ก็เลยอดไม่ได้ที่อยากจะวิเคราะห์ดังๆ โดยพยายามใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามข้อมูลที่ได้รับ โดยหวังเพียงจะเป็นส่วนหนึ่งที่อาจบรรเทาความชุลมุนที่กำลังเกิดขึ้นในเหตุการณ์เฉพาะหน้าดังกล่าวนี้ได้

ต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางที่ทำการผลิตผลิตภัณฑ์หลักของไฮโดรคาร์บอนที่มีจำนวนคาร์บอน 4 ตัวเป็นหลัก (ภาษานักปิโตรเคมีเรียกผลิตภัณฑ์พวกนี้ว่า Mixed C4 เหตุที่เรียกว่า Mixed ก็เพระคาร์บอนจำนวน 4 ตัวดังกล่าวนั้นอาจอยู่ในรูปของไฮโดรคาร์บอนประเภทอัลเคน หรืออัคคีน ปนกันอยู่ในผลิตภัณฑ์) ซึ่งผลิตภัณฑ์พวกคาร์บอน 4 ตัวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมก๊าซแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้ม อุตสาหกรรมการผลิตตัวเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมัน (MTBE: Methyl Tertiary Butyl Ether) และ อุตสาหกรรมยางสังเคราะห์ ทั้งยางบิวทาไดอีน และยางสไตรีนบิวทาไดอีน (SBR) ซึ่ง-ภายในกระบวนการผลิตยางสังเคราะห์ของบริษัทนี้ใช้กระบวนการสังเคราะห์แบบสารละลาย คือต้องมีตัวทำละลายไปละลายวัตถุดิบตั้งต้น (ภาษาพอลิเมอร์เราเรียกวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตพอลิเมอร์ว่ามอนอเมอร์ ซึ่งสำหรับโรงงานนี้มอนอเมอร์คือ 1,3-บิวทาไดอีน) แล้วใส่ตัวริเริ่มปฏิกิริยาลงไปเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาการสังเคราะห์พอลิเมอร์ให้ได้เป็นยางสังเคราะห์ตามต้องการ ซึ่งตัวทำละลายที่ใช้ก็คือโทลูอีน (โครงสร้างทางเคมีก็เป็นวงแหวนเบนซีนโดยมีกลุ่มเมทิลรวมอยู่ด้วย ตรงนี้อาจจะเข้าใจยากสักนิดหากไม่คุ้นเคยกับวิชาเคมีอินทรีย์นะครับ แต่ไม่เป็นไรเอาเป็นว่าสารนี้นะมีวงแหวนเบนซีนรวมอยู่ด้วยก็แล้วกัน ซึ่งเจ้าวงแหวนเบนซีนนี้นะเป็นตัวสำคัญที่เรียกว่าสารก่อมะเร็ง ) จากการสืบค้นข้อมูลของโทลูอีนพบว่า เป็นตัวทำละลายที่มีค่าความดันไอต่ำ ติดไฟง่าย มีค่า TLV-TWA (ค่าบ่งบอกปริมาณที่สัมผัสสารเคมีแล้วจะไม่เป็นอันตรายต่อคนทำงานในระยะเวลา 8 ชั่วโมง) อยู่ที่ 50 ppm ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง หากเทียบกับเบนซีนซึ่งมีค่า TLV-TWA แล้วมีค่าเพียง 0.5 ppm ซึ่งมีค่าสูงมาก (ค่า TLV ต่ำแสดงว่าสัมผัสหรือร่างกายรับได้เพียงนิดเดียวก็สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายของคนที่สัมผัสแล้ว หากมีค่าสูงแสดงว่าปลอดภัยกว่าเพราะรับได้มากกว่านั่นเอง) อันตรายต่อสุขภาพของโทลูอีนเมื่อสูดดมเข้าไปโดยตรงจะก่อให้เกิดการระคายเคือง เกิดอาการปวด และวิงเวียนศรีษะ คลื่นไส้ และมึนงง แต่หากไปสัมผัสถูกผิวหนังจะก่อให้เกิดการระคายเคือง ทำให้เกิดผื่นแดงได้ หากมีการสูดดม หรือสัมผัสโดยตรงเป็นระยะเวลานานๆ อาจมีผลทำลายอวัยวะภายในประเภท ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ และสมองได้ สารนี้มีความเสถียร (ไม่สลายตัวเป็นสารอื่นในภาวะปกติ) แต่หากเกิดการสลายตัวจากการเผาไหม้อาจทำให้เกิดเป็นออกไซด์ของคาร์บอน และออกไซด์ของไนโตรเจนได้ สารเคมีนี้จัดเป็นสารเคมีอันตรายตาม พรบ วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ชนิดที่ 3

เอาละครับรู้ข้อมูลพื้นฐานของเจ้าสารโทลูอีนเบื้องต้นไปแล้ว คราวนี้มาวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวกันบ้างครับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดที่บริเวณโรงเก็บสารตัวทำละลายของโรงงาน ซึ่งขณะเกิดเหตุตามที่แถลงการณ์อยู่ในระหว่างช่วงซ่อมบำรุงประจำปีของโรงงาน โดยทั่วไปโรงงานปิโตรเคมีใหญ่เมื่อเดินเครื่องการผลิตไปได้ระยะเวลาตามกำหนดจะต้องมีการปิดซ่อมบำรุงเพื่อทำการตรวจซ่อมบำรุงเครื่องจักร และเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยาบางตัวที่ถึงรอบการหมดอายุ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ ในช่วงที่เรียกว่า Shut down ใหญ่แบบนี้ จะมีผู้รับเหมาช่วงเข้ามาในโรงงานค่อนข้างมาก โดยปกติแล้วโรงงานเองจะไม่มีบุคลากรทำการซ่อมบำรุงใหญ่แบบนี้ครับ แต่หากเป็นการซ่อมบำรุงปกติธรรมดาในระหว่างที่มีการเดินเครื่องการผลิต อันนี้จะมีหน่วยซ่อมบำรุงดูแล แต่หากเป็นซ่อมบำรุงใหญ่ต้องทำการตรวจเช็คทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องมีการว่าจ้างผู้รับเหมาช่วงตามความถนัดของแต่ละผู้รับเหมาในการเข้ามาทำการซ่อมบำรุง เมื่อมีคนงานซึ่งไม่ใช่คนงานประจำของโรงงานเข้ามา ต้องเข้าใจครับว่าแต่ละบริษัทรับเหมามีมาตรฐานของเรื่องความปลอดภัยที่ไม่เท่ากัน ยิ่งคนงานเข้ามาเยอะมากๆ ในคราวเดียวกัน และฝ่ายความปลอดภัยของโรงงานเจ้าของหากมีกำลังน้อย หรือไม่เข้มงวดเท่าที่ควรแล้วละก็ ตรงนี้ครับเป็นจุดที่ผมเองก็เคยได้คุยกับเพื่อนภาคอุตสาหกรรมหลายๆท่านเหมือนกันว่าเป็นจุดอ่อนของความปลอดภัยมากๆ แล้วผมก็พอคาดเดาถึงเหตุการณ์นี้ได้ว่าคนงานของบริษัทรับเหมาช่วงน่าจะไม่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอกับบริเวณพื้นที่ที่ตัวเองกำลังทำงานว่าเป็นพื้นที่ของสารเคมีที่มีไอระเหยและติดไฟได้ง่าย  ยิ่งหากทำงานด้วยความประมาทแล้วด้วยละก็ จะยิ่งเป็นการสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวได้ง่ายขึ้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยทีเดียว  ตรงนี้ผมคงวิเคราะห์ได้เพียงเท่านี้ครับเพราะการสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น แต่ให้คาดเดาตามความคิดผมก็น่าจะออกมาทำนองนั้น

ต่อไปเมื่อเกิดประกายไฟ บวกกับพื้นที่ปิด ไอระเหยของตัวทำละลาย แน่นอนครับ ว่าต้องเกิดการระเบิดจากแรงอัดของความเข้มข้นของไอ และตัวทำละลายภายในถังบรรจุ เกิดความร้อน เผาไหม้ แน่นอนว่าตัวทำละลายดังกล่าวต้องเกิดการสลายตัว ตามทฤษฎีการเผาไหม้สารอินทรีย์ประเภทไฮโดรคาร์บอนหากเป็นการเผาไหม้โดยสมบูรณ์ต้องได้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำครับ ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์นี้เป็นก๊าซที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์แต่จัดเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อภาวะโลกร้อน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นเป็นกลุ่มหมอกควันสีดำ ซึ่งเป็นการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ครับ ซึ่งแน่นอนเมื่อเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก็น่าจะได้ออกไซด์ของคาร์บอนตัวอื่น เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ และหากรวมกับไนโตรเจนในอากาศก็ได้ออกไซด์ของไนโตรเจน สูดดมเข้าไปหากเล็กน้อยก็มึนงงครับ มากๆก็หมดสติ แต่หากมีไอระเหยของตัวทำละลายปนเข้าไปด้วยสูดดมเข้าไปก็อย่างที่กล่าวข้างต้นครับ มึนงง เวียนศรีษะ คลื่นไส้  วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปในสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ และถ่ายเท หากสัมผัสถูกผิวหนังไม่ต้องตกใจให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆครับ แต่หากพลาดไปกลืนกิน (กลืนกินโทลูอีนโดยตรงนะครับไม่ใช่กลืนกินควัน) ก็พยายามให้อาเจียนออกมาครับ ตอนเกิดเหตุเห็นว่าฝนตกด้วย ก็หากควันดังกล่าวรวมกับน้ำ หรือไอน้ำก็ตกลงมาบนพื้นดิน หรือแหล่งน้ำครับ ลักษณะก็จะเป็นน้ำที่มีลักษณะของความเป็นกรดเล็กน้อย หากไม่มีสารเคมีอันตรายตัวอื่นปนอยู่ในบริเวณตามที่แถลงการณ์เบื้องต้นออกมา ผมว่าการควบคุมผลกระทบในระยะสั้น และยาวของระบบนิเวศวิทยา ในพื้นที่ไม่น่าเป็นห่วงครับ ด้วยเพราะโครงสร้างสารดังกล่าวเป็นไฮโดรคาร์บอน ซึ่งประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน และคาร์บอนเป็นหลัก หากตัวเขาเองปนออกมาด้วย แนวโน้มของการสะสมทางชีวภาพจะต่ำครับ แต่หากลงไปในแหล่งน้ำปริมาณสูงมากๆ อันนี้จะกระทบต่อสิ่งมีชิวิตในแหล่งน้ำครับด้วยเพราะตัวเขาจะระเหยง่าย ซึ่งจะเป็นไอปกคลุมผิวน้ำ แต่ต้องปริมาณสูงมากๆนะครับ แต่ทั้งนี้ผมเสนอว่าควรมีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ และคุณภาพของแหล่งน้ำทั้งน้ำผิวดิน และชายฝั่งของบริเวณดังกล่าวภายหลังเหตุการณ์ควบคุมได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนครับ

มาถึงตอนท้ายของบทวิเคราะห์กับเหตุการณ์ดังกล่าวเบื้องต้นแล้วครับ ในความคิดผม เหตุการณ์นี้ทำให้ได้บทเรียนเพื่อการป้องกัน ดังนี้

1.  โรงงานที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรยกระดับ และสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยของพื้นที่ ทั้งแผนความปลอดภัย แผนฉุกเฉิน แผนอพยพ ซึ่งแน่นอนครับว่าทุกโรงงานนะมีอยู่แล้ว การนิคมฯก็มี แต่ผมอาจจะเน้นที่การสื่อสารสู่ชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ตรงนี้เรียกกว่ากันไว้ดีกว่าแก้ครับ

2. ช่วงระหว่างการซ่อมบำรุงใหญ่ มีผู้รับเหมาช่วงเข้ามาจำนวนมาก โรงงานเจ้าพื้นที่ควรเข้มงวด และมีการ orientation เรื่องของมาตรการความปลอดภัยภายในโรงงานของตนเอง รวมถึงพื้นที่ที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยให้กับพนักงานของผู้รับเหมาก่อนที่จะอนุญาตให้เริ่มทำงาน ความเข้มงวดเป็นสิ่งสำคัญ การให้ใบแดงไล่ออกเลยน่าจะเป็นกรณีที่ดีกว่ายื่นแค่ใบเหลืองครับ

3. เกิดเหตุแล้วการสื่อสารเพื่อลดความตื่นตระหนกถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องเร่งด่วนครับ เพียงแค่ครึ่งวันของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเองก็ยังไม่ได้รับความชัดเจนเท่าที่ควร โดยเฉพาะการอธิบายทางวิชาการที่สามารถลดแรงเสียดทาน และความตื่นตระหนกของชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบได้ เสนอว่าต้องเร็ว ชัดเจน และมีเหตุมีผลทางวิชาการครับ

4.  การสร้างความมั่นใจในพื้นที่ด้วยการตรวจสอบคุณภาพอากาศ แหล่งน้ำ และสุขภาพโดยรอบของพื้นที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำทั้งในระยะสั้นและยาวครับ อย่าลืมครับถึงแม้โทลูอีนจะอันตรายน้อยกว่าเบนซีน แต่โครงสร้างของเขาเองก็ยังประกอบด้วยเบนซีน ผมเองก็ยังว่าก่อมะเร็งอยู่ดีนะแหละครับ

บทความนี้อาจยาวไปสักนิดครับ แต่อยากวิเคราะห์ให้ได้ถึงกึ๋นจริงๆ ไว้เหตุการณ์มีความชัดเจนมากกว่านี้ ผมเองอาจนำข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์ให้อ่านกันต่อไปครับ

 ผศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

22.00 น. วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/487171