สรุปสาระสำคัญ ร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

สรุปสาระสำคัญ

ร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(ฉบับบูรณาการแรงงาน)

ความเป็นมา

          เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , มูลนิธิอารมณ์  พงศ์พงัน , เครือข่ายแรงงานนอกระบบ , เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ,                     สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย , สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และเครือข่ายผู้ประกันตน โดยการสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ในโอกาสที่กฎหมายประกันสังคมบังคับใช้มานาน 20 ปี (กันยายน 2533 – กันยายน 2553) จึงได้ร่วมกันยกร่าง “พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ”(ฉบับบูรณาการแรงงาน) มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 โดยการยกร่างกฎหมายจะให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จากหน่วยราชการระดับกรม  เป็นองค์กรมหาชนอิสระ ที่บริหารจัดการด้วยคณะกรรมการที่มีความรู้ความสามารถและมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนและนายจ้างปลอดพ้นจากการครอบงำแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและข้าราชการได้ง่าย  รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขขอบเขตการบังคับกฎหมายเงินสมทบและสิทธิประโยชน์และการบริหารด้านต่างๆ  ให้มีความโปร่งใสเป็นธรรมและเหมาะสมมากขึ้น การขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และการขยายการคุ้มครองแรงงานทุกภาคส่วน

          ในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกันสังคมดังกล่าว  คณะทำงานได้ศึกษาพิจารณากฎหมายหลายฉบับเพื่อเป็นแนวทางประกอบการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคม  ได้แก่

          1.  พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

          2.  พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

          3.  พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542

          4.  รายงานการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดตั้งสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์การมหาชน และร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2546)

          คณะทำงานเพื่อจัดทำกฎหมายองค์กรอิสระด้านงานประกันสังคม  และปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขการบริหารให้เป็นธรรม  ประกอบด้วยผู้แทนหลายฝ่าย ดังต่อไปนี้

  • น.ส.วิไลวรรณ  แซ่เตีย  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
  • นายมนัส  โกศล  ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจด้านแรงงานและ ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
  • นายชาลี  ลอยสูง  ประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย ( TEAM )
  • นายชัยสิทธิ์  สุขสมบูรณ์  อดีตผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคมและประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย
  • นายกอบ  เสือพยัคฆ์  สำนักงานประกันสังคมจังหวัดน่าน
  • นายทวีป  กาญจนวงศ์  ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
  • นายสมศักดิ์  ทองงาม  ประธานชมรมผู้ประกันตนและผู้แทนโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งขบวนการแรงงานเพื่อการคุ้มครองสุขภาพและสวัสดิการแรงงาน
  • นายดำรง  สังวงษ์  ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ
  • นายตุลา  ปัจฉิมเวช ผู้แทนจากศูนย์ช่วยเหลือวิกฤตแรงงาน และที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย
  • นายเมี่ยน เวย์  ผู้แทนมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า (ANM)
  • นางสุนทรี  หัตถี เซ่งกิ่ง  ผู้แทนมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
  • นายบัณฑิต  แป้นวิเศษ  ผู้แทนมูลนิธิเพื่อนหญิง
  • นายบัณฑิตย์  ธนชัยเศรษฐวุฒิ  ที่ปรึกษาแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. และอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านคุ้มครองสิทธิแรงงานและการประกอบอาชีพ

สาระสำคัญของร่างกฎหมายประกันสังคม(ฉบับบูรณาการแรงงาน) สรุปได้ดังนี้

          (1)  ขอบเขตการคุ้มครอง

               1.1  ขยายคุ้มครองถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของราชการรวมถึงลูกจ้างผู้รับงานมาทำที่บ้านและลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

               1.2 ห้ามมิให้ส่วนราชการใดออกกฎหมายเพื่อยกเลิกการใช้บังคับแก่กิจการและลูกจ้างที่กฎหมายนี้ใช้บังคับในภายหลัง 

               1.3  การยกเว้นคุ้มครองกิจการหรือลูกจ้างกลุ่มใดในอนาคต  ต้องได้รับการเห็นชอบโดยคณะกรรมการประกันสังคม

          (2)  ปรับปรุงคำนิยาม 4 คำ  ได้แก่

               2.1  “ลูกจ้าง” ให้หมายรวมถึง ลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และลูกจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน 

               2.2  “นายจ้าง”หมายรวมถึง นายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและผู้จ้างงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน 

               2.3  “ค่าจ้าง”หมายรวมถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันที่ลูกจ้างหยุดงานโดยมิได้เป็นความผิดของลูกจ้าง

               2.4   “ทุพพลภาพ”หมายรวมถึง ผู้ประกันตนที่สูญเสียอวัยวะส่วนใดหรือสูญเสียสมรรถภาพของร่างกาย โดยตัดคำว่า “จนไม่สามารถทำงานได้”เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนที่เป็นธรรมตามความเป็นจริง

          (3)  ปรับปรุงองค์ประกอบ คุณสมบัติ  อำนาจหน้าที่  ที่มาและวาระของคณะกรรมการประกันสังคม  ประกอบด้วยประธานและกรรมการอีก 4 ฝ่ายๆ ละ 8 คนรวมเป็น 33 คน ดังนี้

               1.  ประธานกรรมการ มาจากการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับงานประกันสังคม โดยการสรรหาของกรรมการโดยตำแหน่ง, ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง, ฝ่ายผู้ประกันตนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

               2.  กรรมการโดยตำแหน่ง  ประกอบด้วย  ผู้แทนกระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณ  กระทรวงการคลัง  กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ สปส. รวม 8 คน

               3.  กรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 8 คน

               4.  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  สรรหาโดยกรรมการข้อ 2 และ 3 เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ  ประสบการณ์ด้านต่างๆ ด้านงานประกันสังคม, งานหลักประกันสุขภาพ, ด้านการแพทย์,               ด้านเศรษฐศาสตร์การคลัง, บริหารการลงทุน, ด้านกฎหมาย, ด้านสวัสดิการสังคม และด้านสิทธิมนุษยชนด้านละ 1 คน รวม 8 คน

          3.2  กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้าง

               –  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของผู้ประกันตนและนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส.

               –  ผู้ประกันตนอาจลงสมัครรับเลือกตั้งโดยอิสระหรือองค์กรเอกชน  องค์กรด้านแรงงานที่ไม่ว่าจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่และดำเนินกิจกรรมด้านสวัสดิการแรงงานไม่น้อยกว่า 5 ปี ส่งลงสมัครได้

               –  กำหนดคุณสมบัติผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างให้กว้างขวางชัดเจน

เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมีส่วนได้เสียกับการดำรงตำแหน่ง  หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองและเป็นบุคคลสุจริตเชื่อถือได้ เช่น ไม่เคยต้องโทษคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก,ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกจากราชการหรือหน่วยงานเอกชน, กรรมการรวมถึงคู่สมรส บุตรและบุพการีต้องไม่ประกอบกิจการที่มีส่วนได้เสียกับสำนักงานไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม, ไม่เป็นผู้มีตำแหน่งทางการเมืองหรือรับผิดชอบบริหารพรรคการเมือง ฯลฯ

          3.3  กำหนดให้กรรมการประกันสังคมถือเป็นตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมาย ปปช. ที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะชน และถือเป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

          3.4  คณะกรรมการประกันสังคม  มีอำนาจกำหนดนโยบายบริหารงานและควบคุมดูแลการบริหารงานประกันสังคมอย่างเต็มที่, รวมทั้งการเห็นชอบแผนงาน แผนการเงินงบประมาณของสำนักงานแต่ละปี, การกำหนดกฎเกณฑ์การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินประจำปี การบริหารงานทั่วไปและบริหารบุคลากร, การกำหนดหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย, หลักเกณฑ์การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือไม่ได้รับค่าเสียหายในเวลาอันควร ฯลฯ

          3.5  ปรับปรุงวาระดำรงตำแหน่งของกรรมการให้อยู่คราวละ 4 ปี  ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน  และพ้นจากตำแหน่งได้ถ้ากรรมการขาดประชุม 3 ครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร หรือมีมติกรรมการ 2 ใน 3 ของเท่าที่มีอยู่ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะบกพร่องต่อหน้าที่, มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ  และเปิดให้ผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 1,000 คนเข้าชื่อร้องขอให้คณะกรรมการพิจารณาถอดถอนกรรมการคนใดออกได้ด้วย

          3.6  ปรับปรุงให้คณะกรรมการประกันสังคม (รวมทั้งคณะกรรมการอื่นๆ ตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการกองทุน) ที่มิใช่เป็นกรรมการมาโดยตำแหน่ง การแต่งตั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของหญิงและชาย  กรรมการจะดำรงตำแหน่งอื่นตามกฎหมายนี้ไม่ได้ และกรรมการทุกชุดจะเป็นอนุกรรมการได้ไม่เกิน 2 คณะ

          (4)  สำนักงานประกันสังคมและเลขาธิการ สปส.

               4.1  กำหนดให้สำนักงาน  มีฐานะนิติบุคคลที่ไม่ใช่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงแรงงานอยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี

               4.2  เลขาธิการต้องเป็นผู้ทำงานเต็มเวลาและมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมเกี่ยวกับการบริหารงานประกันสังคม  และมีคุณสมบัติอีกหลายอย่างที่ต้องเป็นบุคคลมีวุฒิภาวะและตรวจสอบได้ว่าเป็นคนสุจริต เชื่อถือยอมรับได้ชัดเจนตามที่กฎหมายกำหนด ให้ดำรงตำแหน่งโดยมีสัญญาว่าจ้างกับสำนักงาน วาระ 4 ปีมีอำนาจบริหารควบคุมงานและบุคลากรตามนโยบายคณะกรรมการและกฎหมายโดยไม่ขึ้นกับรัฐมนตรีสั่งการ

          (5)  โครงสร้างการบริหารกองทุนประกันสังคม

          นอกจากมีคณะกรรมการประกันสังคม  คณะกรรมการอุทธรณ์และคณะกรรมการแพทย์

ตามรูปแบบกฎหมายเดิมแล้วจะมีคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการลงทุนที่คณะกรรมการประกันสังคมออกระเบียบสรรหาขึ้นมา เพื่อเป็นหลักประกันในการตรวจสอบการบริการกองทุนและจัดหาผลประโยชน์การลงทุนเป็นไปอย่างโปร่งใส  ติดตามควบคุมได้โดยผู้มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์

          (6)  อัตราเงินสมทบ  และประโยชน์ทดแทน

                  6.1  ผู้ประกันตนมีโอกาสสามารถตรวจสอบนายจ้างได้ว่านำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนแก่ สปส. หรือไม่ ? เท่าไร ?ทุกครั้ง หรือไม่ ? โดยให้นายจ้างต้องเปิดเผยให้ทราบโดยปิดประกาศในสถานประกอบการโดยเปิดเผยตามระยะเวลาที่กำหนด

               6.2  กำหนดให้ฐานค่าจ้างคำนวณเงินสมทบ  ขึ้นกับค่าจ้างผู้ประกันตนแต่ละราย            ไม่กำหนดอัตราสูงสุดไว้และผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ  เช่น จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 120 เดือน  มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 70 ของค่าจ้างหากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไปมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 80 ของค่าจ้าง

               6.3  ผู้ประกันตนที่ออกจากงาน  จะขยายให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนยาวนานขึ้นตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ กล่าวคือถ้าจ่ายเงินสมทบไม่เกิน 10 ปีมีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนต่อเนื่องอีก  8 เดือน  ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป  มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อไปได้อีก 12 เดือน

              6.4  กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพที่มิใช่เนื่องจากการทำงาน  มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนบริการทางการแพทย์  ตั้งแต่วันแรกที่เป็นลูกจ้าง  แม้ภายหลังออกจากงาน และรับประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพจนกระทั่งตาย  เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกระทรวงสาธารณสุขดูแลอยู่ 

          ประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยให้เพิ่มเติมค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค  และตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้ประกันตนด้วย

             6.5  กำหนดให้ผู้ประกันตนเลือกไปใช้บริการสถานพยาบาลทุกแห่งได้ตามที่มีข้อตกลงกับสำนักงานประกันสังคมไม่ว่ากรณีปกติหรือกรณีฉุกเฉิน  โดยเป็นหน้าที่ของ สปส.  กับ สถานพยาบาลจะตกลงจ่ายค่าบริการ  ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด  โดยไม่กำหนดให้ลูกจ้างต้องเลือกใช้สถานพยาบาลที่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานไว้ล่วงหน้าเหมือนเดิม

             6.6  กำหนดให้ผู้ประกันตนหรือผู้อุปการะมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์

             6.7  กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิระบุเป็นหนังสือให้บุคคลใดรับประโยชน์ทดแทนกรณีค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีตายรวมทั้งรับประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพได

             6.8  ผู้ประกันตนตามมาตรา 39

                         –  กำหนดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 7 เดือน (เดิม 12 เดือน) ต่อมาความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง  มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนยาวขึ้นคือภายใน 12 เดือน (เดิม 6 เดือน) นับแต่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

                    –  ผู้ประกันตน ม.39  ออกเงินสมทบ 1 เท่า และรัฐบาลออกเงินสมทบ 2 เท่า (เดิมรัฐจ่าย 1 เท่าผู้ประกันตนจ่าย 2 เท่า)

                    –  ความเป็นผู้ประกันตน ม.39  สิ้นสุดลงเมื่อ

                    –  ไม่ส่งเงินสมทบ 6 เดือนติดต่อกัน (เดิม 3 เดือน)

                    –  ภายในระยะ 12 เดือนส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน (เดิม 9 เดือน)

               6.9  ผู้ประกันตนตามมาตรา 40

          ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนมิใช่ลูกจ้าง (เดิมรัฐบาลไม่จ่าย และคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขเป็น ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย

               6.10  กรณีว่างงาน

                          1.  ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายเงินสมทบกรณีว่างงาน  นับแต่เดือนถัดจากเดือนที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์

                     2.  ผู้ประกันตนที่ว่างงาน  มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพร้อมกับกรณีว่างงาน

                      3.  ตัดเงื่อนไขเหตุยกเว้นไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้เหลือเพียงไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานจัดหางาน  และเป็นผู้มีความสามารถทำงานได้  พร้อมทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้หรือไม่ปฏิเสธการฝึกงาน  และได้ไปรายงานตัวไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง

          (7)  ยกเลิก 2 มาตรา คือ

               7.1  มาตรา 55  ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้นายจ้างขอลดส่วนเงินสมทบได้เนื่องจากไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป  กฎหมายใช้บังคับมานานแล้ว

               7.2  มาตรา 61  ยกเลิกเหตุที่ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนเพราะจงใจก่อให้เกิดขึ้น  หรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น  เพราะเป็นการนำหลักการประกันธุรกิจเอกชนมาใช้บังคับ  โดยไม่สอดคล้องกับประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนจะได้รับจำนวนน้อยอยู่แล้ว

          (8)  เพิ่มบทลงโทษ

               8.1  กรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งเงินสมทบไม่ครบ  เป็นเงินเพิ่มร้อยละ 4 (เดิมร้อยละ 2)

               8.2  หากนายจ้างเคยถูกลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ยังทำผิดซ้ำความผิดเดียวกันอีก  ให้ศาลพิจารณาเพิ่มโทษแก่นายจ้างนั้นอีก 1 ใน 3 ของอัตราโทษจำคุก หรือเพิ่มอีกกึ่งหนึ่งของอัตราโทษปรับสำหรับความรับผิดนั้น

ที่มา : มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน