35 ปี สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ อนาคตสหภาพอุตสาหกรรม

P2230271

35ปี สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย ประชุมใหญ่ คึกคักผู้ร่วมก่อตั้ง สมาชิก กรรมการเก่า ใหม่ แขกเข้าร่วมแสดงความยินดี คับคั่ง เพื่อความเติบใหญ่ของการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม หวังจัดตั้งเพิ่ม เสนอขบวนการแรงงานจะเข้มแข็ง อยู่รอด ต้องรวมทรัพยากร รวมทุน รวมผู้นำ รวมความสามารถ   

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย (TAM) ได้มีการจัดประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 35/2557 ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดประทุมธานี

นายลาเร่ อยู่เป็นสุข ประธานสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย (TAM) กล่าวว่า ปีนี้สหภาพแรงงาน TAM ก้าวเข้าสู่ปีที่ 35 เป็นความน่าภูมิใจที่องค์กรของเราสามารถยืนหยัดได้มาถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการต่อสู้ของผู้นำแรงงาน และสมาชิกที่ช่วยกันฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรค์ร่วมกันพัฒนาองค์กรให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง บ้านหลังนี้ชื่อว่า TAM มีสมาชิกเป็นเป็นเจ้าของ

P2230251P2230248

ปัจจุบันกลุ่มทุนทั่วโลกมีการรวมตัวกันมากมายเพื่อสร้างพลังอำนาจในการแข่งขันทางธุรกิจเพื่อกอบโกยผลกำไรสูงสุด กลุ่มทุนไหนที่ไม่มีการปรับตัวก็รอวันล้ม ในส่วนของขบวนการแรงงานก็เช่นกัน องค์กรแรงงานต่างๆทั่วโลก และในประเทศไทยก็มีการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง การที่ TAM เปลี่ยนเป็นสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรม มีการเปิดรับสมาชิกในประเภทอุตสาหกรรมเดียวกัน บริษัทอื่นๆเข้าเป็นสมาชิก การควบรวมสหภาพแรงงานในประเภทกิจการเดียวกัน ขณะนี้มีสมาชิกรวมทั้งหมดประมาณ 8,000 คน จาก 12 นิติบุคคล เพื่อความเข้มแข็งขององค์กร ต้องช่วยกันจัดตั้งรวบรวมพี่น้องแรงงานทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน

“ทุกวันนี้ชะตากรรมของแรงงานกลายเป็นเพียงชะตากรรมของปัจเจก กระแสโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ยังมีความรุนแรง การแข่งขันมีสูงและยิ่งทำให้เกิดรูปแบบการจ้างงานแบบไม่คุ้มครองคนงาน เป็นการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมมากขึ้น การปรับโครงสร้างองค์กรแรงงานให้สอดรับกับสถานการณ์ระดับโลก และเชื่อมโยงกับขบวนการแรงงานสากลให้มากขึ้น เพื่อให้การเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพ สร้างอำนาจต่อรองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแท้จริง”

P2230295P2230298

นายยงยุทธ์ เม่นตะเภา ประธานที่ปรึกษาสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ฯกล่าวถึง “สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ส่งผลต่อขบวนการแรงงานไทย” ว่า จากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม2556 มีประชากรทั้งประเทศ 64,871,000 คน จำนวนแรงงานทั้งหมด 39.63 ล้านคน แรงงานในระบบ 14.53 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 25.1 ล้านคน

มีแรงงานข้ามชาติระดับล่าง 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 911,526 คน (พม่า 771,174 กัมพูชา 102,420 ลาว 37,932) และระดับฝีมือแรงงานมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 99,614 คน (ญี่ปุ่น 14,015 จีน 10,309 ฟิลิปปินส์ 9,811 อังกฤษ 9,481 อินเดีย 7,689) และมีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ณ ปี 2556 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 52,406 คน (ไต้หวัน 26,592 เกาหลี 7,964 สวีเดน 6,563 อิสราเอล 6,008 ญี่ปุ่น 5,693)

P2230303P2230310

ข้อมูลจำนวนสหภาพแรงงานในประเทศไทย เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงาน (ธันวาคม 2556) มีดังนี้ แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 9,781,101 คน สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม 417,011 แห่ง ซึ่งในที่นี้มีสหภาพแรงงานเพียง 1,415 แห่ง หรือ 0.33 %เท่านั้น เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานภาคเอกชน422, 768 คน หรือร้อยละ 4.33 ของจำนวนลูกจ้างในระบบ ประกันสังคมทั้งหมด และ เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ178,432 คน

ข้อมูลองค์กรแรงงานในประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ประกอบด้วยสหภาพแรงงานเอกชน1,415 องค์กร ซึ่งมีระดับพนักงาน 1,317 องค์กร และระดับบังคับบัญชา 98 องค์กร การรวมตัวระดับสหพันธ์แรงงาน 21 องค์กร สภาองค์การลูกจ้าง 14 องค์กร สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 45 องค์กร และ1 สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ มีสหภาพฯที่ถูกถอนทะเบียนแล้ว 1,826 องค์กร ขณะนี้องค์กรสหภาพแรงงานทั้งภาคเอกชนรวมรัฐวิสาหกิจมีสมาชิกสหภาพ 601,200 คน หากเปรียบเทียบสัดส่วนของสมาชิกสหภาพแรงงานในยุโรปสูงสุดประเทศ สวีเดนร้อยละ 81 ประเทศฟิลแลนด์ เดนมาร์กค้อนข้างสูงกว่าร้อยละ 50 เยอรมันร้อยละ 25 สหรัฐอเมริการ้อยละ 13 ของผู้ใช้แรงงานทั้งประเทศ และสัดส่วนของสมาชิกสหภาพแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค มองโกเลียร้อยละ 38.9 ประเทศไต้หวั่นร้อยละ 37.7 มาดูที่ประเทศญี่ปุ่นสมาชิกร้อยละ 18 ซึ่งหากมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยเรานั้นมีสมาชิกร้อยละ0.5 เท่านั้น

P2230228P2230225

สัดส่วนการเป็นสมาชิกสหภาพ จากจำนวนผู้มีงานทำรวม 39.63 ล้านคน มีผู้ที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรวม 601,200 คน คิดเป็นร้อยละ 1.52 ความครอบคลุมของข้อตกลงสภาพการจ้างรวม352, 127 คน คิดเป็นร้อยละ 0.89

รูปแบบการรวมตัวแรงงานในประเทศไทยตามกรอบกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ องค์กรสูงสุดดังนี้ สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงาน และมีการรวมตัวในรูปแบบพื้นที่ของสหภาพแรงงานต่างๆ เป็น กลุ่มสหภาพแรงงาน แต่เราก็มีการรวมตัวแบบรัฐธรรมนูญเช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคสรท. ถือเป็นองค์กรแม่ของTAM และตนเองก็ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคสรท.อยู่ด้วย

ข้อมูลการรวมตัวในประเทศญี่ปุ่นสูงสุด ระดับสมาพันธ์สภาแรงงาน รถยนต์ญี่ปุ่นรวม 1,286 สหภาพ สมาชิก 757,000 คน สหพันธ์แรงงานรถยนต์ญี่ปุ่น

P2230287P2230269

ซึ่งสถานการณ์การเมืองไทย กับผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย การปรับ คณะรัฐมนตรีเกิดขึ้นบ่อย นโยบายแนวทางต่างๆ จึงขาดความต่อเนื่อง ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นบางรายทบทวนการตัดสินใจเรื่องขยายฐานการผลิตในประเทศไทย เนื่องจากปัญหาการเมืองยืดเยื้อ มีผลกระทบต่อภาคการผลิตน้อยกว่าปัจจัยจากต่างประเทศ เพราะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมกว่าร้อยละ 60 เกี่ยวข้องกับการส่งออก การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 กับผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยนั้นมีผลกระทบต่อ แรงงานในระบบระดับล่าง แรงงานไร้ฝีมืออาจตกงานมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าจ้างที่ต่ำกว่า ส่งผลทำให้อำนาจในการต่อรองของแรงงานลดลง เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการลงทุนที่เฉพาะมากขึ้น และประเทศไทยไม่สามารถดึงดูดการลงทุนด้วยอัตราค่าจ้างที่ต่ำได้อีกต่อไป การไปลงทุนจ้างทำการผลิตในต่างประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า สามารถกระทำได้ง่ายมากขึ้น

บริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย คนไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น วัยเด็กและวัยแรงงานลดลงประเทศไทยขาดแรงงานต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน การเปลี่ยนแปลงทางด้านลม ฟ้า อากาศของโลกที่รุนแรงและมีมากขึ้น ชะลอการลงทุน

P2230265P2230267

4 ปัจจัยที่ทำให้ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอ ได้แก่

(1) รัฐบาลจำกัดอำนาจการต่อรองของแรงงาน

• ปัจจัยที่มาจากภาครัฐ : รัฐบาลยังพยายามที่จะจำกัดอำนาจการต่อรองของแรงงานในปัจจุบัน
• ไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87,98
• กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ยังไม่สนับสนุนการรวมตัวจัดตั้งองค์กร โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานเหมาช่วง แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคเกษตร แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ

(2)ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อของสังคมไทย

• คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของแรงงานในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสิทธิของแรงงาน
• วัฒนธรรมแบบ “นาย” กับ “บ่าว”

(3) ข้อจำกัดภายในขบวนการแรงงาน

1. การบริหารจัดการที่ยังขาดความโปร่งใส คอร์รัปชั่นไม่เป็นประชาธิปไตย
2. การขาดฐานสนับสนุนทางการเงินจากมวลสมาชิก
3. ขาดการสื่อสารภายในและการสื่อสารกับสังคมภายนอก
4. การผูกขาดอำนาจของผู้นำแรงงานอาวุโส
5. ความแตกแยกภายในขบวนการแรงงาน
6. ขาดบุคลากรและสมรรถภาพทางเทคนิค
7. ขาดการมีส่วนร่วมของสมาชิก ไม่มีสมาชิกมากเพียงพอ
8. นักสหภาพแรงงานในประเทศไทยทำงานแบบ part time
9. ผู้นำแรงงานเต็มเวลามีจำนวนน้อยมาก
10. องค์กรแรงงานแต่ละส่วน แต่ละระดับ แยกกันอยู่ไม่มีแผนงานที่ดี

P2230332P2230334

(4) ความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกนั้น องค์กรแรงงานขาดความพยายามที่จะพึ่งตนเองจากเงินสนับสนุนของสมาชิก และการเคลื่อนไหวจำกัดอยู่เฉพาะกิจกรรมที่มีเงินสนับสนุนจากภายนอก

ทางรอดของสหภาพแรงงาน คือ การรวมตัวกันในรูปแบบ สหภาพแรงงานอุตสาหกรรม การรวมคนทำงาน รวม การรวมเงินเก็บค่าบำรุงเป็นระบบเปอร์เซ็นแบบอัตราก้าวหน้า คือ รวมทรัพยากร รวมทุน รวมผู้นำ รวมความสามารถ บริหารสหภาพแรงงานให้เติบโต

สถานการณ์ปัจจุบันกรณีคนงานสแตนเล่ย์ เวิร์ค จำกัด ที่หนุนสหภาพแรงงานใหม่ โดยใช้ยุทธวิธีแมลงกินแมลง เป็นความเจ็บปวดของขบวนการแรงงานในการล้มล้างสหภาพแรงงานชุดเก่าของคนงาน วันนี้ยังถูกปิดงานกลุ่มคนงาน 44 คนและยังคงชุมนุมรอกลับเข้าทำงานอยู่บริเวณหน้าโรงงาน

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า สหภาพแรงงานมีหน้าที่ในการนำความทุกข์ยากของสมาชิกมานำเสนอให้กับนายจ้าง เพื่อให้เกิดการแก้ไขให้สมาชิกพ้นทุกข์มีสวัสดิการที่ดี ซึ่งก็ต้องขอบคุณผู้บริหารที่เปิดโอกาสให้มีสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ฯ การรับสมาชิกในประเภทอุตสาหกรรมเดียวกัน

สถานการณ์แรงงาน การที่รัฐบาลทุกยุคที่ยังปฏิเสธการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ฉบับที่ 87 และ98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ทำให้การตั้งสหภาพแรงงานจำนวนมากถูกกลั่นแกล้ง เลิกจ้าง ล้มสหภาพ ไม่มีโอกาสทำหน้าที่คลายทุกข์ให้กับสมาชิก ไม่มีโอกาสแม้แต่ช่วยตัวเอง เพราะกฎหมายให้ตั้ง และเปิดโอกาสให้นายจ้างกระทำการเลิกจ้างได้ง่ายๆ และแม้วันนี้เรามีสหภาพแรงงานที่เข้ามาทำหน้าแล้วอย่างTAMแล้ว ก็ต้องมองไปที่อนาคตของพี่น้องแรงงานจำนวนมากที่อยู่รอบข้างที่ยังไม่มีสหภาพแรงงานมาดูแล ฉะนั้นเราต้องเข้ามาช่วยกันเรียกร้องให้เขาได้มีองค์กร เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับเราด้วย

P2230338P2230277

นายปรุง ดีสี อดีตผู้ก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งนี้ และเลขาธิการคนแรก ฉายภาพชัดเจนว่า “ต้องไม่ลืมว่าในช่วงนั้นบรรยากาศทางการเมืองยังรุนแรง หลังผ่านพ้นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาไม่กี่ปี การดำเนินงานของสหภาพในปีแรกๆจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เดิมพันนั้นสูงมากเพราะอาจหมายถึงชีวิตของแกนนำสหภาพแรงงาน ซึ่งมุมมองเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้นมองว่าเป็นพวกหัวเอียงซ้าย เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ อีกทั้งต้องทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานว่าสหภาพแรงงานคืออะไร ทำไมต้องมีสหภาพแรงงานในโรงงาน

P2230323P2230325

สมัยนั้นสหภาพแรงงานเก็บค่าบำรุงสมาชิกเดือนละ 5 บาท และเพิ่มเป็น 10 และ 15 บาทในเวลาต่อมา จนทำให้การประชุมใหญ่ครั้งแรกในปี พ.ศ.2523 ต้องจัดกันที่ศาลาสวดอภิธรรมศพวัดไตรสามัคคีด้วยซ้ำไป โดยใช้เงินลงขันจากคณะผู้ก่อตั้งสหภาพคนละ 100 บาท

ปี 2523-2524 เป็นปีที่สหภาพแรงงานได้รับความกดดันอย่างมากโดยเฉพาะการยื่นข้อเรียกร้องกับบริษัทเพื่อเป็นการวางรากฐานระยะยาว ความสำเร็จในปีนั้นที่ภาคภูมิใจมาก คือ เป็นสหภาพแรงงานแห่งแรกที่สามารถเรียกร้องให้การลาคลอดของคนงานหญิงได้รับสิทธิถึง 15 วัน ก่อนที่จะมีกฎหมายลาคลอด 90 วัน ด้วยซ้ำ”

P2230315P2230320

ทั้งนี้แขกผู้มีเกียรติได้มอบของที่ระลึกให้กับทางสหภาพแรงงานเพื่อแสดงความยินดีในการดำเนินงานของสหภาพแรงงานครั้งนี้ด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน