3 องค์กรแรงงานแถลง ยุติการคุกคามละเมิดสิทธิประชาชนและคืนอำนาจอธิปไตย

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561แถลงการณ์ สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย (สศกท.) สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (สพท.) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) เรื่อง ยุติการคุกคามละเมิดสิทธิประชาชนและคืนอำนาจอธิปไตยให้ปวงชนชาวไทยโดยเร็ว

โดยเนื้อหาแถลงการณ์ตามที่ที่มา: https://prachatai.org/journal/2018/02/75313 นำเสนอมีดังนี้ พี่น้องประชาชน ผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย เมื่อประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ จากการยึดอำนาจของประชาชนไปเกือบ 4 ปี ด้วยคำที่ว่า “คืนความสุขให้กับประชาชน” แต่ไม่เป็นตามที่สัญญาไว้ แต่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะผลผลิตภาคเกษตร ข้าว ยางพารา ชาวประชาพากันร้องเรียน การทำสวน การทำไร่ การทำประมงยังอยู่ไม่ได้ ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบ ด้วยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช้หลักเกณฑ์เดิมที่ต้องเท่ากันทั่วประเทศ ประกันสังคมขยายอายุการรับเงินชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถูกทำลายหลักการที่ให้สมทบฝ่ายละเท่ากัน การปราบทุจริตคอรัปชั่น จัดการไม่ได้ในกลุ่มพวกพ้องตัวเอง ทั้งเรือดำน้ำ นาฬิกาหรู สังคมยังกังขา ด้านการศึกษา การสาธารณสุข ประชาชนขาดการดูแล รัฐพยายามทำลายระบบประกันสุขภาพ รัฐมีแต่เก็บภาษีเพิ่มกับประชาชน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 คำสั่ง คสช. ม.44 เป็นปัญหาอุปสรรคต่อประชาชน ผู้ใช้แรงงาน ในการเรียกร้องระดับนโยบาย กลุ่มใด ฝ่ายใด ผู้ใด ที่มีความเห็นต่าง คสช.ไม่รับฟัง แต่กลับตั้งข้อกล่าวหา ทำการปราบ จับกุม คุมขัง

รัฐบาล ของคสช.ได้กระทำการในสิ่งที่รัฐบาลทั่วไปไม่ทำกัน โดยเฉพาะการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3 /2558 ที่จับกุม กับกลุ่มนิสิตนักศึกษา ประชาชนผู้รักความเป็นธรรม ที่เข้าร่วมกิจกรรม “นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว และการเดินมิตรภาพเพื่อปกป้องหลักประกันสุขภาพและพัฒนาให้เป็นระบบรัฐสวัสดิการ แม้ว่าศาลปกครองมีคำสั่งห้ามปิดกั้น ขัดขวาง แต่ก็มีการจับกุมแกนนำ และบุคคลที่สนับสนุน ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรอง เป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีพันธะกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม

สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย (สศกท.) สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (สพท.) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) สมาชิก 145 สหภาพแรงงาน จึงเรียกร้องต่อ หัวน้า คสช. และรัฐบาล ดังนี้

1. การใช้สิทธิเสรีภาพ
– ให้ยุติการดำเนินคคดีกับกลุ่มเดินมิตรภาพทั้งหมด รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา ประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง 39 คน โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น
– ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3 /2558 โดยเร็ว รวมทั้งให้ยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 คำสั่ง คสช. ม.44 ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560
2. การเมือง
– ให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว (เลือกตั้งปีนี้) เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้กับปวงชนชาวไทย

โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 เครือข่ายภาคประชาชนองค์กรต่างๆได้ แถลงการณ์ยืนยันเสรีภาพในการชุมนุม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ดังนี้

ตามที่เครือข่ายประชาชนในนาม People GO Network ได้จัดงาน “We Walk…เดินมิตรภาพ” ระหว่างวันที่ 20 มกราคม 2561 – 17 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เกษตรทางเลือก หลักประกันสุขภาพ และการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยการเดินเท้าจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดขอนแก่น โดยผู้จัดงานได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 2561 ไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองหลวงซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินกิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2561 แล้วนั้น วันที่ 19 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตอบกลับหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะระบุว่า จากการตรวจสอบกิจกรรมมีพฤติการณ์จำหน่ายเสื้อยืดซึ่งมีข้อความสื่อความหมายในทางการเมือง และการชักชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจดูแล แต่เป็นการมั่วสุม หรือชุมนุมการเมือง ตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งหากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ องค์กรสิทธิมนุษยชนซึ่งลงนามท้ายแถลงการณ์นี้ มีความเห็นต่อข้อชี้แจงดังกล่าว ดังนี้

1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อประเทศไทยเมื่อมีนาคม 2560 แสดงถึงความกังวลในการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 และเสนอแนะให้ไทยประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การจำกัดหรือห้ามดำเนินกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเป็นการชุมนุมโดยสงบนั้น จึงขัดต่อข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี

2.  พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 มีวัตถุประสงค์มุ่งคุ้มครองพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้จำกัดประเภทของการชุมนุมไว้แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.คลองหลวงซึ่งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะจึงมีอำนาจในการดูแลและคุ้มครองการใช้เสรีภาพการชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าว การปฏิเสธว่าการชุมนุมอยู่นอกเหนือจากอำนาจของตนนั้น อาจถือเป็นการปฏิเสธการทำ “หน้าที่” ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

3. คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งออกตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ 2557 นั้นเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจระบุขอบเขตของการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง ได้อย่างกว้างขว้าง โดยปราศจากความรับผิด กลายเป็นปัจจัยทางกฎหมายที่จำกัดและละเมิดซึ่งสิทธิข้างต้นเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายขอย้ำว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ขัดต่อมาตรา 34 และมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ และขัดต่อหลักนิติรัฐซึ่งเรียกร้องให้ตรวจสอบทุกอำนาจ อย่างชัดแจ้ง

4. การรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิโดยตรงของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 133 (3) มิใช่การมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ที่ขัดกับข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แต่อย่างใด การบังคับใช้คำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองต่อการดำเนินกิจกรรมเดินมิตรภาพ แม้เป็นการสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน แต่ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเห็นถึงความจำเป็นในการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุผลข้างต้น องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายจึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 และเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ตลอดทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วม และประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน