สรส.ร่วมค้านการโอนทรัพย์สินกสท. และทีโอทีให้บริษัทNGDC และNBN

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)  ขอให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ยุติ นโยบายในการจัดตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบรนด์แห่งชาติ (NBN) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC) และการโอนย้ายทรัพย์สิน ของบริษัททีโอที และกสท.ไปยังทั้ง 2 บริษัท

วันที่ 30 มีนาคม 2561 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยสหภาพแรงงานทีโอที  และสหภาพแรงงานกสท. ราว 3,000 คน ได้เดินทางไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามคำตอบ เรื่องการโอนย้ายทรัพย์สินของบริษัทกสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไปยังบริษัทโครงข่ายบรอดแบรนด์แห่งชาติ (NBN) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC) เพราะถือว่าเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง และทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้มีการแถลงการณ์ เรื่องขอให้ยุติการถ่ายโอนทรัพย์สินของบริษัทกสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไปยังบริษัทNGDC และ NBN ดังนี้

ตามที่ รัฐบาลมีนโยบายในการจัดตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบรนด์แห่งชาติ (NBN) ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC) ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และจะมีการโอนสินทรัพย์จากบริษัทแม่ คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไปยังบริษัท NBN และ NGDC ภายในวันที่ 1 เมษายน 2561 เรื่องดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาและคำถามในสังคมมากมาย กล่าวคือ

  1. นายกรัฐมนตรีได้แถลงตั้งแต่ต้น นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศว่ามีความจำเป็นต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยจะไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด แต่การตั้งบริษัท NBN และ NGDC และการถ่ายโอนสินทรัพย์ไปยังบริษัททั้งสอง คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขัดต่อคำแถลงของนายกรัฐมนตรีโดยสิ้นเชิง
  1. รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง ได้ทำหน้าที่หลักของประเทศชาติในเรื่องการสื่อสารและระบบโทรคมนาคมมาเป็นเวลาช้านาน แต่ถูกแปรรูปบางส่วน (ส่วนมาก) ไปให้เอกชนเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมาทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองอยู่ในสภาพที่ตกต่ำไม่สามารถมีศักยภาพในการให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างเต็มที่ ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนได้รับผลกระทบจากการใช้บริการที่แพงขึ้น ไม่มีทางเลือกและเอกชนก็ผูกขาดเอาเปรียบประชาชน การดำเนินการตั้งบริษัทขึ้นใหม่และจะมีการถ่ายโอนสินทรัพย์ที่มีคุณภาพให้บริษัททั้งสองในที่สุดก็จะถูกเอกชนเข้าครอบครอง ถือเป็นการแปรรูปซ้ำสอง ทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งจะล่มสลายในที่สุด ประชาชนเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และในอนาคตจะทำให้ประเทศชาติสูญเสียความมั่นคงทางการสื่อสารและระบบโทรคมนาคม

  1. การจัดตั้งบริษัท NBN และ NGDC ขัดต่อหลักการธรรมาภิบาล คือ 1.หลักคุณธรรม:อันหมายถึงรัฐไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน 2.หลักนิติธรรม: อันหมายถึงการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเรื่องการจัดตั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ การถ่ายโอนสินทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน 3.หลักความโปร่งใส: อันหมายถึง การดำเนินการเป็นเพียงรัฐบาลและผู้บริหารเท่านั้น ทั้ง ๆที่เรื่องการสื่อสารและโทรคมนาคมเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญต่ออนาคตของประเทศชาติและประชาชน 4.หลักความมีส่วนร่วม อันหมายถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ทั้งจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ พนักงาน ภาคประชาสังคมและผู้ใช้บริการ แม้ว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจได้พยายามทักท้วงหลายครั้ง แต่ก็ยังเดินหน้าโดยไม่มีการรับฟังเหตุผลแต่อย่างใด 5.หลักความรับผิดชอบ : อันหมายถึงการดำเนินการดังกล่าวรัฐกำลังยกเรื่องการบริหาร การจัดการ การบริการระบบการสื่อสารและโทรคมนาคมทั้งในประเทศและต่างประเทศไปให้เอกชน (แม้ว่าวันนี้จะบอกว่ายังเป็นรัฐวิสาหกิจแต่วันข้างหน้าไม่มีหลักประกันใด ๆ เฉกเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ถูกแปรรูปไปรวมทั้ง ทีโอที และ กสท) นั่นหมายถึงรัฐจะไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน 6.หลักความคุ้มค่า: อันหมายถึง ก่อนที่ ทีโอที และ กสท จะถูกแปรรูป หน่วยงานทั้งสองในอดีต คือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ทั้งสององค์กรสถาปนาขึ้นด้วยพระราชปณิธานของพระพุทธเจ้าหลวง ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตไปกว่า 100 ปีด้วยบุญญาบารมี พระปรีชาสามารถทำให้ประชาชนยังสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างไม่มีวันลืมเลือน การดำเนินการดังที่กล่าวมาแน่ชัดว่าเป็นการทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งเสียหายอันเป็นการขัดต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน อีกประการหนึ่งก่อนหน้านี้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งส่งรายได้เข้ารัฐปีละเกือบ 20,000 ล้านบาท เมื่อแปรรูปไปทำให้รัฐขาดรายได้มหาศาล และยิ่งถ่ายโอนสินทรัพย์ไปยิ่งทำให้รัฐขาดรายได้ แต่กำไรและรายได้เหล่านั้นแทนที่รัฐจะได้รับ กลับไปอยู่ในมือของเอกชน
  2. การตั้งบริษัทใหม่ การถ่ายโอนสินทรัพย์ไปยังบริษัทใหม่ทั้งสองเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 60 ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนการจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติรัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกํากับการดําเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้ องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจําเป็นป้องกันมิให้คลื่นความถี่รบกวนกัน รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทําที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คํานึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป รวมตลอดทั้งการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จะต้องดําเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

อีกประการหนึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ไม่เห็นด้วยและได้เปิดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อชี้แจงให้สมาชิกได้เข้าใจและแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งผลจากการประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง มีมติเป็นเอกฉันท์ คือ ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบริษัทใหม่ทั้งสองบริษัทและคัดค้านการถ่ายโอนสินทรัพย์ไปยังบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพราะถือเป็นการโอนย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บริษัทแม่สูญเสียสมรรถนะการให้บริการแก่ประชาชน เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะที่สุดแล้วสินทรัพย์ที่ดีไปอยู่บริษัทใหม่และจะโอนให้เอกชนไปในที่สุด ทำให้ประเทศชาติสูญเสียเรื่องความมั่นคงด้านโทรคมนาคม เกิดการขาดผูกขาดและประชาชนจะได้รับผลกระทบในการใช้บริการในราคาที่แพงขึ้น

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามหลักการบัญญัติของกฎหมายสูงสุดและระบบธรรมาภิบาล และการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลโปรดพิจารณาเพื่อยุติเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน แล้วแสวงหาแนวทางร่วมกันจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ทั้งส่วนของรัฐบาล ผู้บริหาร สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคประชาชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินการให้ได้ข้อยุติบนความเห็นพ้องของทุกฝ่ายโดยยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญ หลักธรรมาภิบาล และเชื่อมั่นว่าข้อเสนอดังที่กล่าวมาจะได้รับการพิจารณาจากท่านอย่างเร่งด่วนต่อไป