บอร์ดสปส.ชุดใหม่ ชูต้องเดินหน้าปฏิรูปประกันสังคม

2016-01-27 17.31.11

บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ เสนอต้องเดินหน้าปฏิรูปประกันสังคม เพิ่มความครอบคลุม เน้นความเป็นอิสระ โปร่งใส มีส่วนร่วม ขยายเพดานเงินสมทบเพื่อให้ระบบมั่นคงได้ในอนาคต

วันนี้ (27 มกราคม 2559) เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน จัดเวทีเวทีทิศทางการปฏิรูปประกันสังคม 2559 “บทบาทคณะกรรมการประกันสังคมยุคใหม่” ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์

นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานกล่าวเปิดงานว่ารัฐบาลปัจจุบัน ได้เล็งเห็นความสำคัญของการประกันสังคมเป็นอย่างยิ่ง มีนโยบายที่ชัดเจนในการปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อให้เป็นหลักประกันชีวิตที่สำคัญสำหรับนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน ทั้งงานด้านการบริการและสิทธิประโยชน์ จำเป็นต้องปรับปรุงและแก้ไขอย่างเร่งด่วน และหวังว่าการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้เป็นสัญญาณว่า การดำเนินงานร่วมกันเชิงสร้างสรรค์ เพื่อกำหนดแนวทางและทิศทางการปฏิรูประบบประกันสังคมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังแล้ว

FB_IMG_1453890570752

ด้านนางสาวอรุณี ศรีโต คณะกรรมการประกันสังคมกล่าว ระบบประกันสังคมจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนในหลายประการ เรื่องสำคัญคือการมุ่งไปสู่ความเป็นอิสระ และการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการเลือกผู้แทนของตัวเองเข้าไปเป็นคณะกรรมการประกันสังคม โดยคำนึงถึงสัดส่วนหญิงชาย ผู้บริหารสำนักประกันสังคมต้องมาจากกระบวนการสรรหาอย่างโปร่งใส เป็นเลขาธิการที่มีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นมืออาชีพเพื่อมาบริหารกองทุนประกันสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารแบบกระจายอำนาจและยึดหลักธรรมาภิบาล และบูรณาการประสานสิทธิประโยชน์และการบริหารจัดการร่วมกับระบบสวัสดิการอื่น เช่น ระบบสุขภาพ หลักประกันชราภาพ เชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการโดยต้องไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์เดิมหรือริดรอนสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย

“นอกจากนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความครอบคลุมของประกันสังคมไปสู่คนทำงานทุกคนอย่างแท้จริง เพิ่มความจูงใจของประกันสังคมโดยสมัครใจ ตามมาตรา 40 ให้มีทางเลือกสำหรับคนที่พร้อม มีสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นกับชีวิตทั้ง7 กรณีไม่ต่างจากแบบบังคับ” นางสาวอรุณีกล่าว

FB_IMG_1453890535213

นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร คณะกรรมการประกันสังคมกล่าวว่า การพัฒนาให้มีส่วนร่วมของผู้ประกันตนทุกระดับเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนทุกระดับ เช่น การสมัคร เป็นผู้แทน ผู้ประกันตนในคณะกรรมการ/อนุกรรมการ การเลือกตั้งกรรมการ หรือการถอดถอนอนุกรรมการ และพัฒนาให้มีระบบการตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใสและประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการบริหาร จัดการกองทุน

“ด้านการปรับปรุงพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับผู้ประกันตน ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และการเปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทั้งในด้านสุขภาพ ด้านทุพพลภาพ และสิทธิประโยชน์อื่นที่จำเป็น”นายธีระวิทย์ กล่าว

นายแพทย์ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย กล่าวว่าประเด็นงานเร่งด่วนของคณะกรรมการประกันสังคมในการวางรากฐานเพื่อสร้างความโปร่งใส บริหารภายใต้หลักธรรมาภิบาล แต่เรื่องการเงินการคลัง และความยั่งยืนของระบบเป็นเรื่องสำคัญ หลายฝ่ายเห็นงานวิจัยร่วมกันว่ากองทุนชราภาพจะหมดในปี 2593 หากยังไม่ได้ทำอะไรตอนนี้ จะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงอย่างแน่นอน

“กรรมการประกันสังคมชุดนี้ ควรใช้แนวทางตามอนุสัญญาไอแอลโอ 102 ว่าด้วยการประกันสังคม ถือเป็นโอกาสหากจะวางรากฐานด้านความมั่นคงของกองทุน อาจจะจำเป็นต้องเพิ่มเพดานการสมทบเพื่อให้เป็นธรรมในการจ่าย และทำให้กองทุนมีความมั่นคงในระยะยาว รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อมาตรการและกระบวนการกำกับดูแลการบริหาร และการบริการของประกันสังคมเพิ่มเติมด้านสิทธิประโยชน์ด้วย” นายแพทย์ถาวรกล่าว

FB_IMG_1453890500768

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่าใน พรบ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการคุ้มครองสิทธิไว้แล้ว อยากให้คณะกรรมการได้ดำเนินการกฎหมายฉบับรองเพื่อให้ดำเนินการได้จริงตามเจตนารมย์ของกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้เลยในสถานการณ์ขณะนี้

ต่อประเด็นการเพิ่มเพดานเงินสมทบ นายสมพงษ์ นครศรี คณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายนายจ้าง เสนอให้เพิ่มเพดานเงินสมทบ เพื่อให้ระบบประกันสังคมมีความคล่องตัวมากขึ้นและเหมาะสมกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปด้วย

นายอุกฤษณ์ กาญจนเกตุ ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเห็นด้วยเรื่องการเสนอให้เพิ่มเพดานเงินสมทบ และประเด็นเรื่องการปรับสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลให้เท่าเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพอื่น ที่ผ่านมามีประเด็นให้คนพิการทำงานในสัดส่วน 1 ต่อคนทั่วไป 100 คน แต่เป็นอุปสรรคว่าคนพิการไม่อยากใช้ประกันสังคม เพราะสิทธิด้านการรักษาพยาบาล ท.74 จะถูกแทนที่ด้วยสิทธิประกันสังคมที่มีสิทธิประโยชน์ด้อยกว่าสิทธิเดิมของคนพิการ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องปฏิรูปด้วยเช่นกัน

นายปั้น วรรณพินิจ ที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคมกล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์ว่านายกรัฐมนตรี และฝ่ายนโยบายเห็นด้วยอย่างยิ่ง ในประเด็นด้านการปฎิรูปจะเป็นทิศทางของคณะกรรมการชุดนี้ มีแนวทางที่จะจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อการปฏิรูป โดยมีแนวทางสำคัญหลายประการทั้งการปฏิรูปโครงสร้าง การปฏิรูปสิทธิประโยชน์ และการลงทุน โดยเฉพาะเวทีการทำงานร่วมกันแบบนี้น่าจะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยน่าจะใช้งบประมาณจากสำนักงานประกันสังคมได้