วิดีโอ 8 มีนา วันสตรีสากล

8 มีนา วันสตรีสากล ปีนี้ เครือข่ายองค์กรผู้หญิงในประเทศไทยได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเสนอปัญหาของผู้หญิง ทำงานทุกกลุ่มอาชีพ เช่น การช่วยเหลือคนงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม การตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรม การรับรองอนุสัญญาที่คุ้มครองความเป็นมารดา สิทธิในการเข้าถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอย่างเท่าเทียม แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญเพราะไม่ส่งผู้แทนที่เป็นที่ยอมรับออกมารับข้อเสนอ จนต้องใช้วิธีขว้างปาแผ่นป้ายข้อเสนอต่างๆเข้าไปในทำเนียบ โดยหวังว่า เสียงของผู้หญิงทำงานทุกคนจะดังไปถึงนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้หญิงเหมือนกัน

วิดีโอ นักข่าวพลเมือง Thai PBS : วันสตรีสากล

นักข่าวพลเมือง Thai PBS ออกอากาศวันที่ 22 มีนาคม 2555
เครือข่ายผู้หญิงในประเทศไทยได้จัดเดินรณรงค์เพื่อสะท้องปัญหาเรื่องสิทธิและสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพร้อมยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา

ประกันสังคมกับแรงงานนอกระบบความเท่าเทียมที่ต้องรอ

เมื่อเดือนมกราคม 2555 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้สำรวจจำนวนแรงงานนอกระบบปี 2554 ซึ่งเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 24.6 ล้านคน จากจำนวนผู้ที่มีงานทำทั้งสิ้น 39.3 ล้านคน เป็นผู้ชาย 13.2 ล้านคน ผู้หญิง 11.4 ล้านคน ทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดถึงร้อยละ 41.5 รองลงมาเป็นภาคเหนือ ร้อยละ 21.4 ภาคกลาง ร้อยละ 18.7 ภาคใต้ ร้อยละ 13.3 ขณะที่กทม.มีเพียงร้อยละ 5.1 เท่านั้น ส่วนใหญ่แรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมถึง 15.1 ล้านคน หรือร้อยละ 61.4 รองลงมาทำงานอยู่ในภาคการค้าและการบริการ ร้อยละ 29.7 และภาคการผลิต ร้อยละ 8.9

ประกันสังคมกับแรงงานข้ามชาติสิทธิที่ไม่เท่าเทียม?

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างช้าๆ โดยมีอัตราการพึ่งพิงโดยรวมจากร้อยละ 47 ในปี 2549 เป็นประมาณร้อยละ 49 ในปี 2550 – 2553 ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ของประชากรไทยในขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งต่ำกว่าอัตราทดแทนของกำลังแรงงาน ขณะที่อุตสาหกรรมหลายประเภทต่างก็ขาดแคลนแรงงานในการผลิตเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน พร้อมกับที่ประเทศมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความต้องการแรงงานก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการใช้กำลังแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติที่มีจำนวนสูงขึ้นทุกปี

“เมื่อแรงงานวัดใจรัฐบาลอีกครั้ง กับการเร่งร่างประกันสังคมเข้าสภาฯ”

ในอุณหภูมิสถานการณ์อันร้อนแรงของการเมืองที่มุ่งไปกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการสับขาหลอกประเด็นนำอดีตนายกฯทักษิณกลับประเทศ ทำให้กลายเป็นเรื่องสำคัญและบดบังความเดือดร้อนอื่นๆของภาคประชาสังคมไปในหลายเรื่อง โดยเฉพาะร่างกฎหมายของภาคประชาชน ที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ตั้งแต่สมัยประชุมที่ผ่านมา และมีการพิจารณาอยู่ในขั้นตอนของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ซึ่งรัฐบาลได้ยืนยันร่างกฎหมายแล้ว 7 ฉบับ และใน 7 ฉบับนั้นมีร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม(ฉบับผู้ใช้แรงงาน และภาคประชาชน) พ.ศ. …ที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอรวมอยู่ด้วย ปัจจุบันร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับ 14,264 ชื่อ ได้มีการบรรจุเป็นระเบียบวาระเพื่อพิจารณาเร่งด่วนของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลำดับที่ 9 ที่รอคิวเข้าอย่างใจจดใจจ่อ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ถูกนำเข้าพิจารณาวาระ 1 สักทีหนึ่ง เพราะเมื่อถึงเวลาก็มักจะถูกลัดแรงแซงคิวจากร่างกฎหมายอื่นที่รัฐบาลเห็นว่าสำคัญกว่าเข้าสภาไปก่อน