วิดีโอ เกษตรกรพันธสัญญาลพบุรีเจอน้ำหนี้ท่วม

ข้อมูลจากกลุ่มวิจัยไทบ้านที่ลงสำรวจพื้นที่ประสบภัยของกลุ่มเกษตรกรพันธสัญญาชุมชนท้ายตลาด อ.เมือง จ.ลพบุรี ในช่วงเดือนตุลาคมระบุว่า มีเกษตรกรหลายรายในพื้นที่ทำการเกษตรในระบบพันธสัญญากับบริษัทธุรกิจด้านการเกษตรและได้รับความเสียหายอย่างหนักจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้ มีผู้เลี้ยงไก่กว่า 30 ฟาร์มที่ถูกน้ำท่วม ผู้เลี้ยงหมูรายหนึ่งหมูถูกน้ำท่วมตายกว่า 4,000 ตัว ความเสียหายของแต่ละรายไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท บางรายถึงกับหมดเนื้อหมดตัว พยายามติดต่อกับบริษัทแต่ัยังไ่ม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆอย่างจริงจัง ยกเว้นอาหารหมู 4 ถุงจากบริษัทซีพี ส่วนกรณีบริษัทท้องถิ่นที่ทำสัญญากับเกษตกรนั้นก็มีประกัน ขณะที่เกษตรกรไม่มีการประกันใดๆและขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดเข้ามาดูแลรับผิดชอบ นอกจากได้รับถุงยังชีพที่มีผู้นำมาบริจาคให้บ้างเท่านั้น

ผู้นำแรงงานห่วงเด็กไม่มีนมกิน กินนมไม่ถูกท้องเสีย

ผู้นำแรงงานห่วงเด็กไม่มีนมกิน กินนมไม่ถูกกลัวเป็นอันตราย วอนแม่เด็กอย่าเข้าใจผิดว่าห่วงนมหมดไม่มีจริงๆ รอรับบริจาค ย้ำจะพยายามหานมให้ตรงตามความต้องการ ขอบคุณผู้บริจาคนมให้เด็ก
วันนี้(4 พ.ย. 54)ที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยา และใกล้เคียง มีแรงงานผู้ประสบภัยน้ำท่วมมาขอรับนมกลับไปเลี้ยงดูลูก

นางสาวศิริวรรณ แจ้งจิต อายุ 17 ปี กล่าวว่า “เธอมีลูกชายอายุได้ 7 เดือน ทำงานอยู่ที่โรงงานบางปะอิน เป็นโรงงานทำเสาเข็ม เป็นคนงานรับเหมารายวัน ได้รับค่าจ้างวันละ 195 บาท เธอเล่าว่าเมื่อน้ำไหลเข้ามาท่วมโรงงาน นายจ้างเรียกไปพบแล้วบอกว่า โรงงานหยุดการผลิตในวันที่ 13 ตุลาคม 2554 โดยจะหยุดจนกว่าน้ำจะลดลง ทำให้เธอต้องกลับบ้านที่ต่างจังหวัดเพราะถ้าอยู่ที่นี่จะไม่มีความปลอดภัยกับลูกของเธอ และอาจจะไม่มีอาหารให้กินเพราะน้ำท่วมสูงไปมามีความลำบาก”

วีดีโอ ถ้อยแถลง “วิกฤติน้ำท่วม วิกฤติของแรงงาน”

วิกฤติภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งสร้างความเสียหายกับนิคมอตุสหกรรม 7 แห่ง และกระทบต่อต่อผู้ใช้แรงงานเกือบ 8 แสนคนที่ยังไม่นับรวมถึง แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมาก โดยภาครัฐยังไม่มีการเสนอมาตรการในการดูแลอย่างครอบคลุมเท่าเทียมและเป็นธรรมเพียงพอทั้งต่อตัวของแรงงานเองและครอบครัวอีกจำนวนมาก ถ้อยแถลงของแกนนำแรงงานที่ทุ่มเททำงานช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการช่วยเหลือเฉพาะหน้าและความเป็นห่วงปัญหาที่จะเกิดกับผู้ใช้แรงงานในระยะต่อไป จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องรับฟัง และหาทางแก้ไขปัญหาของเหล่าผู้ใช้แรงงานที่จะมีส่วนอย่างสำคัญในกระบวนการฟื้นฟูประเทศต่อจากนี้

วีดีโอ แถลงข่าว-ข้อเสนอ คสรท. 2 พ.ย. 54

     จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น มีนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ถูกน้ำท่วม สถานประกอบการ โรงงานกว่า 14,000 แห่ง ได้รับความเสียหายทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบกว่า 7 แสนคน      คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)  มีความเห็นว่าวิกฤติการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย การวางมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ มาตรการเหล่านี้ควรครอบคลุมแรงงานในทุกภาคส่วน      คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยขอย้ำว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรวางมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติช่วยเหลือเพียงผู้ประกอบการโรงงาน แต่ปล่อยให้ลูกจ้างถูกลอยแพจากการเลิกจ้าง และขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแสดงบทบาทในการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานเฉพาะหน้า และการวางมาตรการเชิงนโยบายในระยะยาว  

คสรท.แถลงวิพากษ์มาตรการรัฐบาล พร้อมเสนอข้อเสนอแรงงาน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงข่าวข้อเสนอ มาตรการความช่วยเหลือแรงงานต้องเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ อย่าช่วยเหลือแต่ผู้ประกอบการโรงงาน ปล่อยลูกจ้างลอยแพ ในวันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2554

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 20 จังหวัด ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบ 752,439 คน สถานประกอบการโรงงานได้รับความเสียหาย 19,251 แห่ง นิคมอุตสาหกรรมน้ำท่วม 7 แห่ง ได้แก่ นิคมอุคสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ระดมการรับบริจาคทั่วประเทศ และได้จัดตั้งศูนย์แรงงานช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม จัดส่งถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภค และรับเรื่องร้องเรียนผลกระทบจาก ผู้ใช้แรงงานในนิคมอุตสาหกรรม แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ เกษตรกรพันธสัญญา

1 4 5