2 องค์กรแรงงาน ร้องรัฐหยุดแทรกแซงสภาพการจ้างงาน

คสรท.และ สรส. ยื่นติดตามข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล เรื่องคัดค้านการที่รัฐบาลจะยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการของพนักงานรัฐวิสาหกิจ และครอบครัว

เมื่อวันที่ 17  พฤษภาคม 2560 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 เขตพญาไท กทม. ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)นายสาวิทย์ แก้วหวาน และ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ( สรส. )นายประกอบ ปริมล พร้อมกับองค์กรสมาชิก สรส.ประมาณ 100 คนได้เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลังเพื่อติดตามข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล เรื่อง คัดค้านการยกเลิกการปรับลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว แต่เนื่องจากรัฐมนตรีติดภารกิจจึงมอบหมายให้ ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ออกมาพบและพูดคุยกันในรายละเอียด โดยสรุปคือ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ที่เห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้ในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทน ระบบแรงจูงใจ และสวัสดิการต่างๆของรัฐวิสาหกิจในภาพรวม  ซึ่ง มติ ครม. ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งครอบครัว ซึ่ง คสรท.และสรส.เห็นว่า รัฐบาลกำลังแทรกแซงสภาพการจ้างงานในภาครัฐวิสาหกิจ กล่าวคือ

1.การที่รัฐบาลโดย ครม.ได้ออกมติดังกล่าวถือเป็นการไม่เคารพหลักการไตรภาคีซึ่งถือเป็นหลักกติกาสากล เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นสภาพการจ้างที่ได้ถือปฏิบัติกันมา การเปลี่ยนแปลง เพิ่ม ลด ต้องเจรจาตกลงกันไม่ใช่ใช้อำนาจอย่างพลการ

2.การเจรจาตกลงร่วมในประเทศไทย ได้ถูกรับรองไว้ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543

3.ในการปรับปรุงสภาพการจ้าง กฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 กำหนดให้มีคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ประกอบด้วยฝ่ายรัฐ 5 คน ฝ่ายนายจ้าง 5 คน และ ฝ่ายลูกจ้าง 5 คน

ดังนั้นการปรับปรุงสภาพการจ้างในภาครัฐวิสาหกิจ ได้กระทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ จึงมิเป็นการสมควรที่รัฐบาลจะใช้อำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน มาแทรกแซงสภาพการจ้างงานในภาครัฐวิสาหกิจ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และเป็นหนึ่งในกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มาชี้แจงรายละเอียด

โดยทางผู้อำนวยการ สคร.ยืนยันว่าเข้าใจในหลักการตามกฎหมาย และ สคร.ไม่มีนโยบายเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องที่มาจาก ครม.กระทรวงการคลังก็ให้ทาง สคร.ดำเนินการอย่างไรก็ตามเมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ จะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจ ให้ดำเนินการตามกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543