17 ปี แห่งการสูญเสียและการต่อสู้ กรณีโรงงานลำไยระเบิด

ลำไยระเบิด

รัชนี  นิลจันทร์  ผู้ประสานงานกรณีโรงงานลำใยระเบิด

เมื่อวันที่ 19 กันยายน  พ.ศ. 2542 เมื่อ 17 ปีที่แล้ว มีเหตุการณ์โศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ ที่เกิดจากการประมาทของนายจ้างชาวไต้หวันและชาวไทย ที่ให้คนงานผสมสารเคมีระหว่างโปรตัสเซียมครอเลต ยูเลีย และ กัมมะถัน ทำให้ติดไฟจากการทำงานของโม่ผสมสารที่ขาดประสิทธิภาพจึงทำให้เกิดประกายไฟ และไปมีปฏิกิริยากับสารเคมีทั้งสามส่วน  จึงส่งผลทำให้เกิดการระเบิดทันที การระเบิดครั้งนั้นทำให้คนงานในโรงงานเสียชีวิตทันทีจำนวน 36 ราย บาดเจ็บสาหัส 2   ราย และบ้านเรือนของชาวชุมชนรอบโรงงานสูญเสียบ้านเรือน 571 หลังคาเรือน มีผู้บาดเจ็บจำนวน 102 กว่าราย  รวมเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 103 ล้านบาท

การสูญเสียครั้งนั้น ทำให้กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและชาวชุมชนต้องรวมกลุ่มและลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นธรรม กับสิ่งที่สูญเสียไปทั้งชีวิตลูกหลานที่เป็นส่วนหนึ่งในความมั่นคงของชีวิตชาวชนบทในอนาคตต้องพังทลายไป  และการสูญเสียบ้านเรือนที่ก่อร่างสร้างมาตลอดชีวิตต้องมาพังต่อหน้าต่อตาหายไปพริบตา  ดังนั้นจึงทำให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้ก่อที่มีทั้งนายจ้างและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในทางนโยบาย  ที่เป็นแนวคิดเรื่องการสงเคราะห์เฉพาะหน้า   ดังนั้นในเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิชุมชน ที่ไม่ได้รับรู้เรื่องใดๆจากกระทำของนายจ้างและรัฐ   ดังนั้นการต่อสู้ของพวกเขาจึงเป็นเรื่องการได้มาซึ่งสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและนอกกฎหมายที่พึงมีพึงได้ที่ตามเกณฑ์ที่รัฐสร้างไว้ และนายจ้างจ่ายให้เพียงเล็กน้อย ที่ไม่สามารถเยียวยาได้นั้น  เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในทางการเมือง ที่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายภาคประสังคม มีทั้งนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายชาวบ้าน ทำให้พวกเขาสามารถเปิดพื้นที่สื่อได้ และได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจในเวลาต่อมา ส่งผลทำให้ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลกรณีพิเศษ

โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ1. กลุ่มญาติผู้เสียชีวิต ได้รับเงินจำนวน 36 รายๆ ละ 200,000 บาท พร้อมทั้งทุนการศึกษาของบุตรผู้เสียชีวิต 7  ราย  ในยุคของรัฐบาลชวน หลีกภัย  ใช้เวลาในการเคลื่อนไหวเป็นเวลา 5 เดือน จึงได้รับการอนุมัติงบเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 25543   แม้พวกเขาจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐแล้วก็ตาม แต่ก็ยังดำเนินการเคลื่อนไหวต่อไป เพื่อให้นายจ้างรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำกับพวกเขา โดยการดำเนินการฟ้องร้องผ่านกระบวนการยุติธรรมต่อไป มาจนถึงขณะนี้ ที่เป็นทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยการฟ้องเรียกร้องจากนายจ้าง รายละ 500,000 บาท

สำหรับการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของชุมชนผู้เสียหายบ้านเรือน ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ที่ใช้ระยะเวลา 4 ปี เข้าร่วมกับสหพันธ์เกษตรภาคเหนือ และได้รับการอนุมัติงบช่วยเหลือจากรัฐ ยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากมีจำนวนมีผู้เสียหายจำนวนมาก ทำให้ความเสียหายมีจำนวนมาก รัฐบาลจึงต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากกลัวว่าเหตุการณ์อื่นๆ จะเอาไปเป็นตัวอย่าง เพราะเงินที่จ่ายเป็นเงินจากภาษีประชาชน  ดังนั้นรัฐบาลจึงอนุมัติและสั่งจ่ายเงินให้กับชาวบ้านที่ร้องเรียน จำนวน 208 รายเป็นเงิน  32,291,917  บาท   แต่การช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐก็ถือว่าล่าช้ามากในระหว่างการต่อสู้นั้นชาวบ้านต้องเผชิญกับภาระหนี้สินที่ไปกู้เงินที่อยู่ในระบบและนอกระบบ  เพื่อมาสร้างบ้านใหม่และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่งผลทำให้เกิดภาวะทางอารมณ์  ความรู้สึก และกลายเป็นโรคประจำตัว อาทิเช่น โรคจิต โรคเครียด และส่งผลให้บางรายเกิดเส้นเลือดในสมองแตกจนเสียชีวิตอัมพฤกและอัมพาธ ดังนั้นหลังจากได้รับการช่วยเหลือบางส่วนจากรัฐ จึงได้ถอนฟ้องดำเนินคดีกับหน่วยงานรัฐ (กระทรวงกลาโหม,กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)  แต่ยังคงดำเนินการฟ้องร้องกับเจ้าของโรงงาน มาจนถึงปัจจุบันนี้

หงษ์ไทย

การต่อสู้ของพวกเขายังคงดำเนินต่อไปมาจนถึง ณ เวลานี้ 17 ปีกว่า ยังไม่สิ้นสุดด้วยการดำเนินฟ้องร้องผ่านกระบวนการยุติธรรม ที่มีทั้งทางคดีอาญาและคดีแพ่ง  เนื่องจากนายจ้างและเจ้าของโรงงานที่เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดความเสียหายได้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้น    ผลจากการฟ้องร้องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ในทางคดีอาญา มีการดำเนินการมาจนถึงปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2546ได้มีดารตัดสินจาก ศาลชั้นต้นให้ผู้บริหารโรงงาน มีความผิดในข้อหาโยกย้ายยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุก 1  ปี แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี และสั่งปรับ 90,000 บาท ส่วนข้อหาประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น ศาลยกฟ้อง ดังนั้นผลการตัดสินครั้งนั้นทำให้เกิดความไม่มั่นใจและความไม่พอใจกับกระบวนการตัดสินของศาลยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่  จึงทำให้มีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยการไปยังศูนย์กลางประเทศ ที่จังหวัดกรุงเทพฯ  ในวันที่ 2 ตุลาคม 2546 เพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้มีความรู้ทางด้านคดีความ  ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน  ซึ่งไปยื่นหนังสือต่อนายกสภาทนายความ  นายสัก  กอสีเรือง เพื่อให้ช่วยดำเนินการอุทธรณ์ในคดีที่มีผลต่อคดีแพ่ง  และเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายพงเทพ  เทพกาญจนา เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือด้านคดีอาญา  โดยทั้งสองหน่วยงานรับปากและพร้อมจะให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

หลังจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและชาวบ้านผู้สูญเสียบ้านเรือน ที่ไปยื่นหนังสือที่ส่วนกลาง จึงทำให้สภาทนายความและอัยการจังหวัดเชียงใหม่ในส่วนภูมิภาค (จังหวัดเชียงใหม่)  ได้ติดต่อมายังกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เพื่อเตรียมการฟ้องร้องอุทธรณ์ต่อนายจ้างในข้อหาประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547  อัยการจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะโจทย์หลัก ส่วนกลุ่มญาติเป็นโจทย์ร่วม กระทำการฟ้องอุทธรณ์เช่นกัน ในข้อหาประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิตและการย้ายยุทธภัณฑ์ และการไม่ให้มีการรอลงอาญา ให้มีการลงโทษทันที  และต่อมามีการนัดฟังคำตัดสินของศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ได้มีคำพิพากษา สั่งให้จำคุกจำเลยที่ 2 (นายประธาน ตรีฉัตร ) และ 3 (นายเทิดพันธ์  ฉันทะโรจน์ศิริ) เป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน ในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตและบาดเจ็บ ข้อหาโยกย้ายยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 1 คือ บริษัท หงไทยเกษตรพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลศาลสั่งปรับเงิน 1.5  แสนบาท และจำเลยที่ 4 คือนายลีหงเตียน ชาวไต้หวันซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ ถูกจำคุก 10 ปี แต่หลบหนีไปต่างประเทศ ไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลจึงออกหมายจับ   ต่อมานายจ้างของประกันตัว และทำการยื่นในชั้นฎีกา จึงทำให้กลุ่มผู้เสียหายต้องรอมาจนถึงวันตัดสินเป็นระยะเวลา 8 ปี  จนถึงจุดสิ้นสุดทางคดีอาญา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ได้มีการนัดฟังคำตัดสินจากศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยศาลพิพากษาสั่งลงโทษจำเลยที่ 1 บริษัท หงไทยเกษตรพัฒนา จำกัด ปรับเป็นเงิน 60,000 บาท จำเลยที่ 2 นายประธาน ตรีฉัตร ผู้จัดการฯ จำคุก 6 ปี 10 เดือน 20 วัน จำเลยที่ 3 นายเทิดพันธ์ ฉันทะโรจน์ศิริ ประธานกรรมการบริหารบริษัทฯ จำคุก 10 ปี 2 เดือน และจำเลยที่ 4 นายลี หง เหวิน หุ้นส่วนชาวไต้หวัน จำคุก 10 ปี แต่จำเลยที่ 3 และ 4 หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาจึงออกหมายจับทันที

ในการตัดสินทางคดีอาญาที่มีผลต่อการฟ้องดำเนินการในคดีแพ่ง เพื่อการชดใช้ค่าเสียหายจากนายจ้าง/เจ้าของโรงงานที่เป็นธรรม  ซึ่งในทางคดีแพ่งมีการฟ้องร้องของแต่ละกลุ่ม โดยกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต ได้ดำเนินการฟ้องร้อง เมื่อปี พ.ศ. 2547ที่มอบหมายให้สภาทนายความจังหวัดลำพูนเป็นกระทำการแทน และ กลุ่มชุมชนผู้เสียหาย ได้ดำเนินการฟ้องเมื่อปีพ.ศ. 2548มอบหมายให้สภาทนายความจังหวัดเชียงใหม่กระทำการฟ้องร้องแทน  และเมื่อต้นปี พ.ศ. 2551  มีการตัดสินศาลชั้นต้นทางแพ่ง  ให้มีการจ่าย ค่าชดเชยต่อผู้ผู้เสียหาย ตามที่ฟ้องร้องและจ่ายดอกเบี้ยตามจำนวนปีที่ฟ้องร้อง  และหลังจากนั้นมีการอุทธรณ์จากเจ้าของโรงงาน/นายจ้าง จนกระทั้งมาถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2551   มีการนัดฟังพิพากษา แต่ไม่ได้ตัดสินทางแพ่งในชั้นอุทธรณ์ เนื่องจากการดำเนินการทางคดีอาญายังไม่ถึงที่สุด จึงให้มีการจำหน่วยคดีนี้ไว้ชั่วคราว  จนกว่าจะมีคำตัดสินของคดีอาญา

แม้ในการต่อสู้ทางคดีอาญา ได้ถึงที่สินสุดแล้ว แต่การดำเนินคดีแพ่งยังคงดำเนินต่อไปไม่รู้อีกเมื่อไหร่จะจบ    การต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นการใช้ระยะเวลาในการต่อสู้ที่ยาวนานมาก ในระหว่างการต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมที่เนินนานกลายเป็นอุปสรรค์ในการต่อสู้ของคนจนในชนบท  อย่างเช่น กลุ่มญาติผู้เสียชีวิต ที่ถอดใจและถอนตัวเองจากกลุ่มและยุติการต่อสู่ทางคดีแพ่งด้วยการยอมความและรับเงินจากนายจ้างรายละ 50,000 บาทที่เป็นผู้กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ ซึ่งเดิมได้มีการคำนวณร่วมกันจากลุ่มว่าจะเรียกร้องรายละ 500,000 บาท ดังนั้น ณ ปัจจุบันมีญาติผู้เสียชีวิตดำเนินการฟ้องร้องต่อทางแพ่ง 4 ราย ไปพร้อมกับกลุ่มชาวชุมชนที่เสียหาย  ที่ไม่มีใครยอมความ เพราะไม่ได้รับการติดต่อช่วยเหลือจากเจ้าของโรงงาน

ดังการดำเนินการต่อไปจึงหมายถึงต้องดำเนินการฟ้องร้องทางคดีแพ่ง โดยการติดตามเรื่องจากสภาทนายความในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้ดำเนินการต่อไป เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมจากผู้กระทำผิดต่อกรณีนี้ เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ให้กับคนรุ่นหลัง ต่อไป   โดยทางตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบฯ  จะไปยื่นหนังสือต่อนายกสภาทนายความสำนักงานใหญ่ ในวันที่ 29  กรกฎาคม 25559  เวลา 11.00 น. ช่วยดำเนินการติดตามทางคดีแพ่งอย่างต่อเนื่อง และเร่งด่วน ไม่ให้เกิดความล่าช้าจากที่ผ่านมา

“กระบวนการยุติธรรมที่ล้าช้า คือ กระบวนการอยุติธรรม”“ความล้าช้าเป็นการค่าเวลา” เนื่องจาก ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจน มีรายได้น้อย อาชีพไม่แน่นอน ไร้ที่ดินทำกิน  อาชีพรับจ้างทั่วไป  และมีหลายชีวิตตายและล้มป่วย ระหว่างการต่อสู้ก็มี อาทิเช่น  นายทา สิทธิโมะ  ญาติผู้เสียชีวิต และนางเรือน  ปัญญา ผู้เสียหายบ้านเรือน จากเหตุการณ์ที่ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นและมั่นคงในอนาคตข้างหน้า