1 พ.ค.วันกรรมกรสากลแรงงานแยกจัด 2 ขบวน

วันกรรมกรสากล 2 ขบวนแรงงานเรียกร้องสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรอง การปฏิรูปประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ

ความคืบหน้าการจัดงานวันเมย์เดย์ หรือ วันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. ซึ่งขบวนการแรงงานจัดแยกเป็น 2 เวที โดยกลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) จะไม่ร่วมกิจกรรม โดยเริ่มขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 09.00 น. เพื่อเดินไปยังหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ด้านสภาองค์การลูกจ้าง 15 องค์กร สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ซึ่งได้รับงบจัดงานจากรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน 4.9 ล้านบาท จัดงานที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชน กรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) โดยมีการรวมตัวกันที่สนามกีฬากองทัพบกถนนวิภาวดีเวลา 08.00 น.เพื่อเคลื่อนริ้วขบวนถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในงานนอกจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ และรับข้อเรียกร้องจากคณะผู้จัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2560 แล้ว ผู้นำแรงงานยังมีการปราศรัยให้ความรู้เรื่อง “อนาคตแรงงานไทย ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ” ทั้งนี้ช่วงรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน พร้อมชมคอนเสิร์ตศิลปินนักร้อง และยังมีการจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ด้านแรงงาน อีกด้วย

ประเด็นข้อเรียกร้องมีดังนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560  เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงาน โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

  1. รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

1.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย

1.2 ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

  1. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

2.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว  อีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ

2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

  1. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและ      การเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3มาตรา 48)
  2. รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดังนี้

4.1 ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ

4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ

4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

  1. รัฐต้องยกเลิก นโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว
  2. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ดังนี้

6.1 ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม

6.2 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พรบ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน

6.3 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33

6.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย

6.5 ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้ อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับที่ออกตาม พรบ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558

6.6 ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

  1. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)
  2. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม

ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ (กรณีศึกษา บริษัท บริติช-ไทยซินเทติค เท็กสไทล์ จำกัด)

  1. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ
  2. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ

โดยผู้ใช้แรงงานหวังว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการพิจารณาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขอความก้าวหน้าและมาตรการของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาในวันที่ 1 พ.ค. 2560

ด้านสภาองค์การลูกจ้าง 15 องค์กร สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบร่วมกับกระทรวงแรงงาน ยื่นข้อเรียกร้องในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 โดยมีข้อเรียกร้องจำนวน 5 ข้อ แบ่งเป็นแรงงานเอกชน 3 ข้อ รัฐวิสาหกิจ และแรงงานนอกระบบอย่างละ 1 ข้อ ดังนี้

  1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และ 98
  2. ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม ดังนี้

2.1 ให้รัฐบาลยกสถานะสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ

2.2 ให้รัฐมนตรีแก้ไขกฎกระทรวง กรณีลูกจ้างเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนครบตามสิทธิแล้ว ให้ลูกจ้างมีสิทธิใช้กองทุนประกันสังคมต่อไปได้

2.3 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 มีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเงินออมแห่งชาติ

  1. ให้กระทรวงแรงงานเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อการคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้มีสิทธิประโยชน์ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบ และให้จัดตั้งกรมคุ้มครอง และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ
  2. ขอให้รัฐบาลคงความเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง โดยไม่ลดสัดส่วนการถือครอง จากภาครัฐลงน้อยกว่าร้อยละ 50

4.1 ให้รัฐบาลลดหย่อนการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชย และเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้ายของลูกจ้าง

  1. ให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกสถานประกอบกิจการ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของคนทำงาน และในกรณีที่สถานประกอบการที่มีกองทุนเงินสะสมให้แปลงสถานะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

5.1 ให้รัฐบาลส่งเสริมการออมของลูกจ้างในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ในทุกสถานประกอบกิจการ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน